“แป๊ะเจี๊ยะ” โรงเรียน คืออะไร ? จำเป็นต้องจ่ายไหม ?
ธรรมเนียมในการจ่ายค่า “แป๊ะเจี๊ยะ” ของโรงเรียนอยู่คู่กับสังคมไทยมานานแล้ว เราเคยได้ยินกระแสข่าวอยู่พักหนึ่งแล้วก็หายเงียบไปตามระเบียบ แม้ว่าโรงเรียนในไทยจะมีอยู่มากมาย แต่เมื่อผู้ปกครองที่มีกำลังทรัพย์ก็มักจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกเสมอ สิ่งนี้ทำให้โรงเรียนที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดมีคนแห่มาสมัครกันจนเต็มโควตา แทนที่หลายโรงเรียนจะใช้วิธีการสอบเพื่อคัดเลือกเป็นเกณฑ์หลักในการรับนักเรียน แต่มีอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันมากที่สุดก็คือ “แป๊ะเจี๊ยะ” นั่นเอง เป็นวิธีที่ง่าย สะดวกรวดเร็ว ขอแค่ผู้ปกครองมีเงินถึง
.
แล้วคำถามที่ว่าเราจำเป็นต้องจ่ายไหมคำตอบก็คือ “แล้วแต่คุณ” แต่โอกาสที่เด็กจะได้เข้าเรียนนั้นมีต่ำมากๆ จะเอาอะไรไปเทียบกับคนที่จ่ายเงิน ไม่ว่าจะเรียนเก่งแค่ไหนถ้าเกิดเด็กเส้นเต็มแล้ว ทำยังไงก็คงไม่ผ่านเข้าไปเรียนได้ ผู้ปกครองบางคนดูเหมือนว่าจะยินดีที่จะจ่ายเพื่อให้ลูกเข้าไปเรียน ในขณะที่บางคนมีฐานะยากจนแต่อยากให้ลูกเรียนดี ก็ต้องลำบากหาเงินมาจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะตามไปด้วย เพราะกลัวจะสู้คนอื่นไม่ได้
.
การจ่ายแป๊ะเจี๊ยะสร้างปัญหาตามมาหลายอย่าง อาทิ
1. เกิดความไม่เท่าเทียมกับของสังคม ยกตัวอย่างเด็กที่เรียนดีเรียนเก่ง แต่ไม่เข้าเรียนได้เพราะถูกเบียดเบียนจากบรรดาพ่อแม่ที่ร่ำรวย ให้เป็นแป๊ะเจี๊ยะเพื่อฝากลูกเข้าเรียน
2. ส่งเสริมความทุจริต สนับสนุนให้วงจรดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด
3. ไม่สามารถตรวจสอบเงินได้ว่าเอาไปทำอะไร ใครได้เงินไป ผู้ปกครองมีแนวโน้มที่จะจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่มีเกณฑ์ในการจ่ายเงิน ใช้ความรู้สึกเอาว่าเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ส่วนใหญ่มักจะให้เยอะเอาไว้ก่อน ในขณะที่คนอื่นอาจให้เงินน้อยกว่านี้
.
มีแนวทางใดในการแก้ไขปัญหานี้ได้บ้าง ?
เรารู้ว่าบางโรงเรียนมีความจำเป็นต้องรับภาระที่เกินตัว ในขณะที่หลายแห่งได้เงินแป๊ะเจี๊ยะจนเคยตัวจนไม่เป็นอันทำอะไร มีค่าใช้จ่ายก็มาอ้างเพื่อขอรับบริจาคไปเรื่อย เมื่อเป็นแบบนี้แล้วถ้าบริสุทธิ์ใจและต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพการเรียนให้ดีขึ้น ทำไม ? ไม่เปิดกองทุนรับบริจาคให้ถูกต้องไปเลย เชื่อว่ามีผู้ปกครองยอมจ่าย หากรู้ว่าเงินที่บริจาคให้นำไปใช้ทำประโยชน์อะไร ถูกต้องหรือไม่ วิธีการแบบนี้ไม่ได้เป็นการบังคับ ไม่ได้กำหนดว่าต้องบริจาคเท่าไหร่ สามารถนำไปตรวจสอบได้ แต่เชื่อเถอะว่าจะมีบรรดาผู้ปกครองแห่กันมาบริจาค เพราะอยากมีชื่อเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของสังคม ถ้าเมื่อไหร่ที่หันมาใช้วิธีนี้ได้ ไม่นานธรรมเนียมจ่ายเงินใต้โต๊ะก็จะหมดไปในไม่ช้า
.
แล้วคุณล่ะ มองเรื่องค่าแป๊ะเจี๊ยะกันยังไง ?