"ท้องร้อง" อาจไม่ได้แปลว่า “หิว” เสมอไป ตรวจสอบ อาการ เสี่ยง โรคหรือไม่ ?
ท่ามกลางความเงียบ แล้วอยู่ ๆ ก็มีเสียงท้องร้องโครกครากออกมา เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบพบเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ จนคิดว่า กำลังเกิดความหิว แต่บางครั้งท้องร้อง ไม่ได้เกิดจากความหิว หรือเพิ่งทานข้าวอิ่ม ท้องก็ยังร้องเสียงดัง รู้หรือไม่ว่า สาเหตุที่ท้องร้อง อาจไม่ใช่หิวเสมอไป แต่อาการท้องร้องเสียงดังมีสาเหตุมาจากสมอง ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมความรู้สึกหิวของเรากำลังจัดลำดับการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ถ้าในเลือดมีสารอาหารเพียงพอ สมองก็จะสั่งให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง แต่เมื่อใดที่มีสารอาหารในเลือดน้อย ระบบย่อยอาหารจะทำงานเร็วขึ้น และกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารจะหดตัวแรงกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการสั่นของกระเพาะอาหาร เราจึงได้ยินเสียงท้องร้องโครกคราก
.
แม้ว่าเสียงท้องร้อง จะเกิดขึ้นบ่อย ๆ เมื่อหิว แต่จริง ๆ แล้วสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะตอนที่กระเพาะอาหารว่างหรือไม่ก็ตาม และยิ่งกว่านั้น เสียงท้องร้องที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากกระเพาะอาหารเท่านั้น แต่สามารถมาจากลำไส้เล็กได้อีกด้วย เช่น เสียงท้องร้องตอนกินข้าว ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กบีบตัว เพื่อคลุกเคล้าอาหาร และทำการย่อย นอกจากนี้ การกินอาหารในปริมาณที่มาก อาหารที่มีรสจัด อาจทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้เร็วขึ้น มีการบีบตัวของทางเดินอาหารมากขึ้น สำหรับคนที่มีรูปร่างเล็ก จะมีเสียงท้องร้องโครกครากที่ชัดกว่าคนที่มีรูปร่างใหญ่ และถ้านอนหงายก็จะเกิดอาการท้องร้องได้ง่ายขึ้น เพราะลำไส้บีบตัวได้สะดวกกว่า แต่หากอาการท้องร้องเกิดขึ้นบ่อย ๆ หรือร้องเสียงดัง อาจเกิดได้จาก
.
1. อาหารค้างในลำไส้เล็กมาก จากการกินอาหารปริมาณมากไป ลำไส้จึงใช้เวลานานในการย่อย
2. กินอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ ๆ หรือเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ทำให้อาหารตกค้างในลำไส้เล็กเช่นกัน
3. สาเหตุเดียวกันกับที่ทำให้เกิดท้องอืด ซึ่งอาการท้องอืดคือการมีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้มากไป ทำให้เวลา
กระเพาะอาหารและลำไส้บีบตัว ยิ่งเกิดเสียงดังได้มากกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ท้องอืด ได้แก่
• การกลืนอากาศเข้าไปปริมาณมาก จากการอ้าปาก พูดคุย หัวเราะ หรือหายใจทางปาก การกินหรือดื่มเร็วเกินไป การใช้หลอดดูดเครื่องดื่ม การเคี้ยวหมากฝรั่ง
• การกินอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส หรือเครื่องดื่มที่มีแก๊ส เช่น น้ำอัดลม ถั่วต่าง ๆ เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ
• การกินยาบางชนิด ยาแก้ปวดชนิดเสพติด อาหารเสริมธาตุเหล็ก
• โรคกระเพาะอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารเป็นแผล โรคกรดไหลย้อน
• ขาดน้ำย่อยอาหารบางชนิด เช่น น้ำย่อยย่อยโปรตีนนม แล้วได้ดื่มนมเข้าไป
4. มีความเครียด วิตกกังวล ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานไม่ดีอาหารตกค้างในลำไส้ได้เช่นกัน
5. โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ซึ่งส่งผลต่อการย่อยละดูดซึมอาหาร แต่มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ท้องเสียสลับ
ท้องผูก อุจจาระมีมูกปน เป็นต้น
6. ลำไส้อุดตัน ทำให้อาหารและน้ำค้างอยู่ในลำไส้ แต่จะไม่มีการถ่ายอุจจาระ หรือผายลมออกมา มีอาการคลื่นไส้
อาเจียนร่วมด้วย เป็นต้น
.
คำแนะนำเบื้องต้น คือ ลดปริมาณอาหารที่กินลงในแต่ละมื้อ กินอาหารที่ย่อยง่าย ลดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาหารต้องรสไม่จัด เคี้ยวช้า ๆ ให้ละเอียด ไม่กินและกลืนเร็ว ไม่ดื่มน้ำอัดลม อัดแก๊สต่าง ๆ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทถั่ว และธัญพืช รวมถึงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอดต่าง ๆ เป็นต้น
.
ทั้งนี้ เสียงท้องร้องโครกคราก มักเป็นสภาวะที่ไม่อันตราย อาจมีส่วนน้อยที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า มีสภาวะอันตรายเกิดขึ้น แต่มักจะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การปวดท้องรุนแรง จุกเสียด อาเจียน อาจจะส่งผลก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา ก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรักษาให้ทันท่วงที
ที่มา https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/health/530558