5 สิ่งควรรู้เมื่อเลือกเรียน สถาปัตยกรรมศาสตร์

ในช่วงวัยเรียนมัธยมเชื่อว่าหลายคนคงจะต้องเคยเจอคำถามที่ต้องคิดหนัก
จากเพื่อนหรือผู้ปกครอง เช่น ในอนาคตอยากจะเรียนอะไร ?  เรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ไหน ? จบออกมาทำอะไร ?
.
คำถามนี้เป็นทั้งแรงกดดันทำให้หลายคนเริ่มต้นการค้นหาตัวเอง หาข้อมูลต่างๆประกอบการเตรียมตัวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ตนเองสนใจ 
.
“คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์” ก็เป็นหนึ่งในหลายคณะที่น้องมัธยมปลายสนใจเข้าศึกษาต่อ แต่คนที่จะเรียนคณะนี้
การเตรียมตัวสอบจะต้องรู้อะไรบ้าง ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วงการเรียนสถาปัตยกรรมมาดูกันเลย
.
1. สถาปัตย์ไม่ได้เรียนวาดรูปอย่างเดียว
หากใครคิดว่าเรียนสถาปัตย์นั้น เรียนวาดรูปอย่างเดียวขอให้ปรับความคิดเสียใหม่ เพราะสถาปัตย์เป็นการออกแบบที่ใช้ทักษะทั้งศาสตร์ (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการวางผัง การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ กฎหมายอาคาร การคำนวณโครงสร้าง ทฤษฎีการออกแบบ) และศิลป์ (ใช้ทักษะการวาดทัศนียภาพเพื่อแสดงบรรยาการรูปลักษณ์ของอาคารที่ออกแบบ เขียนภาพไอโซเมตริก เขียนแบบทางสถาปัตย์)  ดังนั้นการออกแบบสถาปัตยกรรมต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ
และการวาดรูปเป็นเพียงการแสดงภาพสิ่งที่เราออกแบบให้คนอื่นเห็นภาพเข้าใจตรงกัน
.
2. เรียนสายวิทย์-คณิต ทำให้การเรียนสถาปัตย์ในมหาวิทยาลัยง่ายขึ้น
ส่วนใหญ่แล้วการสอบคัดเลือกเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มักจะกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครว่าต้องเรียนจบสายวิทย์-คณิต เท่านั้น (แต่ไม่ใช่ทุกที่ ) เพราะหลักสูตร5 ปีของคณะนี้ เราจะต้องเรียนวิชา mechanic หรือวิชาฟิสิกส์ คำนวณโครงสร้างคอนกรีต ที่จำเป็นต้องมีพื้นฐานการคำนวณ และการใช้สูตรทางฟิสิกส์ ที่เคยเรียนตอนมัธยมปลาย มาใช้เรียนต่อในเนื้อหาที่เฉพาะทางมากขึ้น หากคนที่ไม่ได้เรียนสายวิทย์-คณิตมา ก็จะรู้สึกว่าไม่เข้าใจ เรียนตามเพื่อนไม่ทัน 
.
หากน้องมัธยมต้น อยากจะเข้าเรียนทางสายนี้ เมื่อขึ้นมัธยมปลาย แนะนำให้เลือกเรียนสายวิทย์-คณิต ก็จะทำให้ทีโอกาสในการเลือกสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะนี้ได้มากขึ้น
.
3. ความสามารถทางภาษาอังกฤษทำให้เข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าคนอื่น 
ในการเรียนสถาปัตย์ การหาศึกษาตัวอย่างงานเพื่อเป็นไอเดียสำหรับการออกแบบอาคารจาก งานของสถาปนิกในต่างประเทศ  ข้อมูลที่อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดการออกแบบ การจัดการอาคาร การเลือกใช้วัสดุ ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาภาษาอังกฤษ มีอาคารของสถาปนิกคนดังหลายคนถูกนำมา วิเคราะห์และอธิบายโดยนักเรียนสถาปัตย์ต่างประเทศ
.
เราสามารถศึกษาข้อมูลเหล่านี้ได้ผ่านเว็ปไซต์และหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบบอาคารต่างๆ  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนถูกเขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษ หากน้อง ๆ คนไหนที่มีความสามารถในการอ่านเขียนและเข้าใจภาษาอังกฤษ ก็จะมีโอกาสในการศึกษาข้อมูลอาคารต่าง ๆ ได้มาก และนำแนวคิดเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบของตนเอง ทำให้สามารถแตกแขนงไอเดียการออกแบบของตนเองได้อย่างไม่จำกัด และจะไม่มีคำพูดว่า “คิดแบบไม่ออก” อีกต่อไป
.
4. วาดรูปไม่สวยไม่ได้หมายความว่าเรียนสถาปัตย์ไม่ได้
เรียนสถาปัตย์ไม่จำเป็นต้องวาดรูปสวย เพียงแต่เข้าใจหลักการวิธีการวาด เพื่อแสดงแบบอาคารที่เราออกแบบให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย เราต้องรู้ว่าวิธีการวาดแบบแบบไหนเหมาะสำหรับ อธิบายรูปแต่ละแบบอย่างไร เช่น การเขียนภาพทัศนียภาพ เพื่อให้คนดูเห็นภาพบรรยากาศภายนอก ภายในของอาคารว่าให้ความรู้สึกอย่างไร การวาดเขียนแบบผังอาคาร เพื่ออธิบายขนาดของพื้นที่ การจัดพื้นที่ใช้งาน บอกระยะต่าง ๆ ภายในห้องหรืออาคารนั้นอย่างชัดเจน การเขียนภาพไอโซเมตริก เป็นการอธิบายงานออกมาเป็นภาพ 3 มิติ ให้เข้าใจขนาดกว้าง ยาวและสูงของอาคารนั้น
.
ดังนั้นทักษะการวาดเป็นเพียงการจับคู่ระหว่างวิธีการวาดให้ตรงกับความต้องการแสดงแบบให้คนที่ดูภาพเข้าใจมิติต่างๆของอาคาร หากเราเลือกวิธีการวาดได้ดี และทำให้คนดูภาพของเราแล้วเข้าใจ การวาดรูปสวยจึงไม่สำคัญเท่ากับการเลือกการแสดงแบบให้ตรงกับความต้องการของเรา และในยุคนี้ก็นิยมใช้คอมพิวเตอร์ในการทำภาพ 3 มิติ ให้เหมือนของจริงมากขึ้น คุณภาพงานที่ทำออกมาของแต่ละคนจึงไม่ต่างกันมากนัก
.
5. เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเริ่มเรียนติวสถาปัตย์เพิ่มเติมอย่างจริงจัง 
เมื่อเราตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านสถาปัตย์แล้ว การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเรียนเสริมก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เริ่มจากการลองหาตัวอย่างข้อสอบย้อนหลัง มาลองทำดูเราจะรู้ว่าเนื้อหาที่ต้องอ่าน
.
ศึกษาทำความเข้าใจเพื่อใช้สอบมีเรื่องอะไรบ้าง ข้อสอบวาดรูปหน้าตาประมาณไหน และจะต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับวาดอะไรบ้าง จะต้องใช้เวลาในการทำข้อสอบเฉลี่ยข้อละกี่นาที ถึงจะทำข้อสอบได้ทัน
.
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ให้น้อง ๆ ลองทำแบบฝึกหัดทั้งทฤษฎีและแบบฝึกหัดวาดดู เราจะเริ่มรู้ว่ามีบางส่วนของข้อสอบที่เราไม่เข้าใจหรือวาดไม่ได้ นี่คือสิ่งที่น้อง ๆ จะต้องไปหาข้อมูลทำความเข้าใจและฝึกวาดเพิ่มเติม อาจจะหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต แล้วฝึกทำด้วยตนเอง หรือเข้าไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม
.
ทั้ง 2 อย่างนี้แนะนำว่าควรทำควบคู่กันไป เพราะอย่างน้อย การเรียนด้วยตนเองทำให้เรารู้ว่าเราเข้าใจเรื่องที่ฝึกทำมากน้อย แค่ไหนและการเรียนพิเศษ เป็นการรีเช็คความเข้าใจ ของเราว่าที่ศึกษามาเองนั้น เข้าใจถูกต้องหรือไม่ ให้ถามครูสอนพิเศษ ครูจะได้ช่วยอธิบายในสิ่งที่เราไม่เข้าใจหรือทำไม่ได้ให้กระจ่างขึ้น
.
5 สิ่งที่ควรรู้สำหรับคนที่เลือกเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ คงจะทำให้น้องหลาย ๆ คน พอที่จะเข้าใจถึงการเตรียมตัวเบื้องต้น ช่วยไขข้อสงสัยบางประการให้กระจ่าง อาจทำให้บางคนความมั่นใจในการเลือกเรียนสถาปัตย์มากขึ้น เมื่อทราบอย่างนี้แล้วใครที่คิดว่าสายนี้ใช่ เรามาเริ่มลงมือเรียนกันเลย


ที่มา https://nutdesignstudio.com/th/articles/180649-5items-arch