เมื่อพื้นที่สถานีรถไฟใต้ดิน ถูกนำมาใช้เป็นฟาร์มผักกาด

หลายท่านอาจเคยใช้งานรถไฟใต้ดินกันมาบ้าง ย่อมมีความรู้สึกต่อการคมนาคมประเภทนี้แตกต่างกันไป แต่ไต้หวันกำลังจะผลักดันสถานีรถไฟใต้ดินไปอีกขั้น เมื่อมีการเปลี่ยนสถานีรถไฟให้กลายเป็นฟาร์มผักกาด
.
ปัจจุบันที่ดินถือเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดโดยเฉพาะในประเทศขนาดเล็ก หลายแห่งขาดแคลนพื้นที่ทำให้ที่ดินมีราคาสูงจนยากจะจับต้อง แนวทางการใช้งานจึงจำเป็นต้องดึงศักยภาพของที่ดินผืนนั้นออกมาให้ถึงขีดสุด เพื่อไม่ให้มูลค่าที่กำลังสูงขึ้นทุกวันนี้สูญเปล่า นั่นทำให้หลายประเทศเริ่มนำพื้นที่ในตัวเมืองมาใช้งานให้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อไต้หวันกำลังเปลี่ยนพื้นที่ในรถไฟใต้ดินให้กลายเป็นแปลงการเกษตร
.
สำหรับเมืองหรือมหานครขนาดใหญ่หนึ่งในสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือสถานีรถไฟใต้ดิน หลายประเทศรวมถึงไทยเองก็มีใช้งานในทุกวันนี้ โดยเฉพาะในเมืองที่ต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้คุ้มค่า แต่ล่าสุดไต้หวันกำลังจะก้าวล้ำไปอีกขั้น กับการเปลี่ยนพื้นที่ในสถานีรถไฟใต้ดินเป็นฟาร์มการเกษตร
.
แนวคิดนี้เกิดขึ้นในสถานี Nanjing Fuxing ของเมืองไทเป บริษัท Unimicron Technology ได้ทำการสร้างฟาร์มแนวตั้งจากเทคโนโลยีอันล้ำหน้า โดยการควบคุมความชื้น อุณหภูมิ และปริมาณแสงจากหลอด LED ก่อเกิดเป็นสวนผักกาดที่ไม่ต้องใช้ดิน ภายในสถานีรถไฟใต้ดินขนาด 40 ตารางเมตร
.
ข้อดีของฟาร์มนี้คือการควบคุมปัจจัยในการเพาะปลูกรอบด้าน ช่วยให้ผลผลิตเจริญงอกงามโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งยาฆ่าแมลงหรือสารกำจัดศัตรูพืช และด้วยการควบคุมเข้มงวดแม้แต่การคัดกรองด้านอากาศ จึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะมีไข่แมลงหรือสารพิษเข้ามาเจือปนผักที่เรารับประทานอีกต่อไป
.
ข้อดีอีกประการของฟาร์มแนวตั้งนี้คือ ไม่จำเป็นต้องใช้ดินเพื่อการเพาะปลูกให้พืชเจริญเติบโต อาศัยเพียงปุ๋ยและแร่ธาตุที่ต้องการมาละลายในน้ำสะอาดด้วยอัตราส่วนที่พอเหมาะ นอกจากเพื่อการเกษตรแล้ว ที่นี่จะถูกจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เด็กนักเรียนเข้ามาศึกษาเพิ่มเติมอีกด้วย
.
ถือเป็นแนวคิดในการสร้างฟาร์มรูปแบบใหม่เพื่อให้เข้ากับชุมชนเมือง รวมถึงเป็นการพัฒนาฟาร์มอัจฉริยะอีกด้วย แนวคิดฟาร์มแนวตั้ง หรือ ฟาร์มอัจฉริยะ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะไต้หวันที่เป็นดินแดนเกาะอาณาเขตไม่กว้างนัก มีทรัพยากรที่ดินเพียง 36,197 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่มีประชากรถึง 23.57 ล้านคน จึงเริ่มมีแนวคิดเพื่อพัฒนาที่ดินที่มีอยู่เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตให้มากขึ้น
.
ฟาร์มอัจฉริยะคือ การอาศัยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลต่อพืชผลทางการเกษตร โดยใช้ทรัพยากรที่ดินและแรงงานในปริมาณน้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเป็นการดึงดูดคนหนุ่มสาวให้กลับมาสนใจงานภาคการเกษตรมากขึ้น
.
โดยฟาร์มแนวตั้งในสถานีรถไฟใต้ดินนี้ สามารถสร้างผลผลิตผักกาดหอมได้ราว 36 กิโลกรัม/สัปดาห์ โดยปัจจุบันมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องเพื่อศึกษาและวิเคราะห์หาแนวทางเพิ่มผลผลิต อีกทั้งยังมีแนวคิดในการขยายพืชเพาะปลูกไปยังมะเขือเทศ พริกหยวก และบร็อคโคลี่ ที่ค่อนข้างให้ผลลัพธ์ที่ดีเมื่อมีการทดลองปลูกในแนวตั้ง
.
น่าเสียดายที่ในปัจจุบันปริมาณพืชที่สามารถปลูกได้ด้วยกรรมวิธีนี้มีจำกัดเพียงไม่กี่ชนิด พืชพันธุ์หลายประเภทไม่เหมาะสมในการปลูกด้วยกรรมวิธีแบบนี้นัก จากข้อจำกัดทั้งปริมาณสารอาหารและพื้นที่ ปัจจุบันการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นจึงอยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
.
แนวคิดฟาร์มแนวตั้ว/ฟาร์มอัจฉริยะทำไมจึงสำคัญ ?  แน่นอนคำตอบแรกจากข้อจำกัดด้านพื้นที่โดยเฉพาะดินแดนที่มีพื้นที่จำกัดไม่สอดคล้องต่อประชากร เมื่อไม่สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกอาหารออกไปได้นี่จึงเป็นแนวทางที่จำเป็น แต่หลายประเทศที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่เองก็ให้ความสนใจ และพัฒนาฟาร์มอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารจนหลายท่านอาจสงสัยว่าทำไม ? 
.
สาเหตุมาจากสถานการณ์ของโลกและมนุษยชาติที่กำลังเดินหน้ามุ่งตรงเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาหารอย่างชัดเจน
.
ดังที่เราทราบกันว่าประชากรโลกทุกวันนี้แม้หลายประเทศจะประสบปัญหาเด็กเกิดใหม่ แต่เมื่อมองในภาพรวมประชากรทั่วโลกทวีจำนวนขึ้นทุกวัน โดยปัจจุบันโลกมีประชากรราว 7 พันล้านคน คาดว่าในปี 2050 ประชากรโลกอาจถึง 9 พันล้านราย ซึ่งจะทำให้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารยิ่งร้ายแรง
.
สำหรับประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารเพียงพออาจไม่เดือดร้อน แต่หลายประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกไม่เพียงพอเริ่มมองเห็นปัญหา การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตทางอาหารและการสร้างฟาร์มอัจฉริยะทั้งหลายจึงเกิดขึ้น เพื่อรองรับความต้องการด้านอาหารในอนาคต
.
อีกทั้งปัจจุบันข้อมูลจากสหประชาชาติประเมินว่า ผืนดินกว่า 40% ทั่วโลกอยู่ในภาวะทรุดโทรม ไม่สามารถนำมาใช้เพาะปลูกอย่างได้ผล จากผลของกิจกรรมมากมายของมนุษย์ทั้งการทำฟาร์ม, สร้างเขื่อน, สร้างที่อยู่อาศัย, ทำเหมือง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ลดพื้นที่ผลิตอาหารซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต
.
นอกจากที่ดินเสื่อมโทรมและจำนวนประชากรแล้วยังมีเหตุไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งสภาพอากาศแปรปรวนส่งผลให้ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นทุกปี ภัยพิบัติในอนาคตที่อาจส่งผลเป็นวงกว้าง หรือแม้แต่สงครามซึ่งอาจทำลายพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรจนอาจกลายเป็นความเสี่ยงได้เช่นกัน
.
ฟาร์มอัจฉริยะ หรือ ฟาร์มแนวตั้ง จึงอาจเป็นทางออกของปัญหาเพื่อให้เราใช้ทุกตารางนิ้วอย่างคุ้มค่า
.
หลายท่านอาจรู้สึกว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องไกลตัว ฟาร์มอัจฉริยะอาจไม่มีประโยชน์ต่อประเทศที่ไม่ขาดแคลนอาหารมากนัก แต่อย่างน้อยการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรให้ก้าวหน้า ก็ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตให้สูงขึ้น ถือเป็นหัวใจสำคัญที่บรรดาเกษตรกรต้องการเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตและกำไรให้กับภาคการเกษตร
.
ดังนั้นการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีนี้จึงไม่มีทางเป็นเรื่องสูญเปล่าและควรเกิดขึ้นในทุกประเทศบนโลก


ที่มา https://www.posttoday.com/post-next/innovation/2063