“หมอตำแย” หมอทำคลอดแท้ ๆ แต่ทำไม ? ต้อง “ตำแย”

ถ้าพูดถึงนางผดุงครรภ์คนส่วนใหญ่อาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่าหมอตำแย คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกันดีว่า หมายถึงหมอหรือผู้ชำนาญการในการทำคลอด
.
คำว่า “ตำแย” มีที่มาจากไหน ส.พลายน้อย เคยเล่าว่าพบคำว่า “daya” ในภาษาฮินดูสตานีหมายถึง หมอตำแย ในคัมภีร์ประถมจินดา หรือ ปฐมจินดา ซึ่งเป็นคัมภีร์แพทย์แผนไทยเกี่ยวกับการสูติกรรม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์อายุรเวทของอินเดีย มีการอ้างอิงถึงผู้แต่งคัมภีร์ว่าได้แก่มหาเถรตำแย
.
ดังในตอนหนึ่งของคัมภีร์ปฐมจินดาบันทึกไว้ว่า “ปุน จปรํ มาตุรัก์ขิปติฏ์ฐิตรํ ชีวกโกมาโรหรํ อาภตรํ ฐาเน อิทรํ สุตรํ อิติ เอต์ถ วจนัส์ส มหาเถรโต อโหสีติ (ปุน จปรํ) ว่าในถ้อยคำอนึ่งเล่า (อหํ) อันว่าเข้า (ชีวกโกมาโร) ชื่อชีวกโกมารภัจ (สุตํ) ได้สดับฟัง (มหาเถรโต) จากสำนักพระมหาเถรผู้ชื่อว่าตำแย (อาภตํ) เธอนำมา (ปติฏ์ฐิตํ) สำทับลงไว้ (มาตุคัพ์ภรัก์ขัม๎หิ) ในคัมภีร์ครรภ์ทรักษานี้ (เอต์ถ วจเน) ในถ้อยคำหนึ่งเล่า (อัส์ส มหาเถรัส์ส) แห่งพระมหาเถรนั้น (อิติ) ด้วยประการดังนี้”
.
บางท่านเห็นว่าคำ ตำแย เพี้ยนมาจากคำว่า อาเตรยะ ซึ่งเป็นชื่อของมหาฤๅษีผู้ทรงความรู้ทางด้านการแพทย์แห่งสำนักตักสิลา เชื่อกันว่าเป็นอาจารย์ของหมอชีวกโกมารภัจด้วย ส่วนคำว่า “ผดุงครรภ์” ว่ากันว่าเป็นคำที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ใช้ในการเรียกหมอตำแย จึงเป็นคำที่ใช้กันอย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นเรื่อยมา
.
นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ได้สืบค้นหารากศัพท์ในหลายแหล่งจนได้ความรู้มาว่า ในภาษาไทยยวนเรียกหมอตำแยว่า “แม่จ่าง” ภาษาไทใหญ่เรียกว่า “แม่เก็บ” ภาษาใต้แถบฝั่งอันดามันเรียกว่า “แม่ทาน” แต่ทางฝั่งอ่าวไทยเรียกว่า “หมอตำแย” ภาษาไทยดำในเมืองแถนหรือเดียนเบียนฟูเรียกว่า “หมอสิงแบ่” (สิง แปลว่า คลอด) หรือ “หมอเห็นหน้า” ภาษาจ้วงเรียกว่า “แม่ซึ้บเสง” ภาษาทางฝั่งอีสานใต้ สุรินทร์ ศรีษะเกษ เรียกว่า “แม่ตอบหมอบ” ภาษาลาวใต้ทางจำปาสัก ปากเซ เรียกว่า “แม่ตะหมอบ” ภาษาเขมรในเมืองเขมรเรียกว่า “ฉม็อบ (Chhmob)” หมายถึง หมอออกลูก ซึ่งในอีสานใต้และลาวอาจจะมีรากคำมาจากภาษาเขมรนั่นเอง แต่ในลาวเหนือหลวงพระบาง เวียงจัน เรียกว่า “หมอตำแย” หากในกลุ่มชาวมุสลิมก็เรียกว่า “โต๊ะบิแด” หรือ “บิดัน”
.
ทั้งคำว่าหมอตำแยและคำเรียกหมอตำแยในชื่อต่างๆ ของภาษาถิ่น นิพัทธ์พร เห็นว่า อาจสะท้อนให้เห็นความหลากหลายของความรู้ทางการแพทย์ท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรม การเรียกชื่อผู้ทำคลอดว่า หมอตำแย มีนัยเชื่อมโยงไปถึงการได้รับอิทธิพลของความรู้ทางการแพทย์แบบอายุรเวท ส่วนในพื้นที่ ๆ ไม่ได้รับอิทธิพลมากนักและมีความรู้ในการทำคลอดของตนเอง จึงยังมีชื่อเรียกผู้ทำคลอดตามวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ
.
ในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อมหาอำนาจชาติตะวันตกได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และอาณานิคมในดินแดนแถบตะวันออกเฉียงใต้ บรรดาคณะบุคคลต่างๆ ที่เข้ามาก็ได้นำเอาความรู้แขนงต่างๆ เข้ามาถ่ายทอดกับคนท้องถิ่นด้วย ความรู้ทางด้านการแพทย์แบบตะวันตกสมัยใหม่ก็เข้ามาในเวลานั้นด้วย บรรดาผู้ทรงความรู้ทางด้านการแพทย์ก็พยายามหักล้างความรู้ความเชื่อของท้องถิ่นด้วยวิทยาการทางการแพทย์แขนงต่างๆ เพื่อสร้างความศรัทธาต่อวิทยาการตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การปลูกฝี และการทำคลอดหรือการผดุงครรภ์แบบตะวันตกในดินแดนอาณานิคม
.
สำหรับสยามในเวลานั้น แม้จะไม่มีได้ตกเป็นอาณานิคมของชาติใด แต่การจูงใจให้หันมาใช้วิธีการทำคลอดแบบตะวันตกโดยหมอมิชชันนารีก็เป็นไปอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะหมอบรัดเลย์ (หรือนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ Dan Beach Bradley) หมอบรัดเลย์พยายามจูงใจให้บรรดาเชื้อพระวงศ์และขุนนางชั้นสูง เชื่อมั่นในวิธีการผดุงครรภ์แบบตะวันตกตั้งแต่ก่อนคลอดจนหลังคลอด และพยายามให้เลิกการอยู่ไฟด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทรมาน และได้รับทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เขียนตำรา “ครรภ์ทรักษา” พ.ศ. ๒๓๘๕ (ค.ศ. ๑๘๔๒) โดยตีพิมพ์เป็นจำนวน ๒๐๐ ฉบับ แจกจ่ายให้กับบรรดาหมอหลวงในเวลานั้น โดยย่อความจากคัมภีร์ครรภ์ทรักษาของแพทย์อเมริกาและแพทย์ยุโรปเวลานั้น
.
แต่ความตั้งใจของหมอบรัดเลย์ไม่สำเร็จผล จนเขาเห็นว่า “ประเพณีการคลอดของไทยนั้นมีอำนาจยิ่งกว่าอำนาจของพระมหากษัตริย์” ตลอดชีวิตของหมอบรัดเลย์ เขาไม่มีโอกาสเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการทำคลอดของสยาม กระทั่ง ๑๖ ปี หลังจากหมอบรัดเลย์เสียชีวิต สิ่งที่เขาลงแรงวางรากฐานทางความคิดไว้จึงออกผล ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ทรงเลิกการผทมเพลิง (การอยู่ไฟ) เมื่อประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า อัษฎางเดชาวุธ และทำให้ในพระราชวังก็ยกเลิกธรรมเนียมในการต่อมา และมีการจูงใจให้ชาวบ้านเลิกอยู่ไฟด้วย จนปัจจุบันนี้หมอตำแย แทบจะสูญไปจากสังคมไทย


ที่มา https://www.sac.or.th/conference/2017/หมอตำแย/