Thursday, 21 September 2023
THE STUDY TIMES

SMEs โตอย่าง ‘ยั่งยืน’ ได้จริง ง่ายๆ ด้วยหลัก ABC

A = Act
to Reduce Harm
เริ่มที่ไม่สร้างผลกระทบทางลบกับใคร เริ่มง่ายๆ กับพนักงาน

.

B = Benefit
to Stakeholder
ตามด้วยหาทางสร้างสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้า คู่ค้า และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

.

C = Contribute
Solution
ขยายผลด้วยการลงมือทำอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งมอบสู่คนรุ่นต่อไป

.

ที่มา : ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

9 ขั้นตอนธุรกิจสตาร์ทอัพ ปั้นสินค้าออกสู่ตลาด

>> PRELAUNCH เตรียมพร้อมก่อนนำสินค้าออกสู่ตลาด

- ตั้งเป้าหมายที่ถูกต้อง

- ทำความเข้าใจลูกค้าและึุณค่าของสินค้า

- เริ่มต้นในตลาดที่เหมาะสม

.

>> PRODUCT LAUNCH STRATEGY กลยุทธ์การนำสินค้าออกสู่ตลาด

- ใช้เครื่องมือและช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

- สื่อสารถึงลูกค้าด้วย STORYTELLING

- ทำให้กลุ่มเป้าหมานสนใจทดลองสินค้า

.

>> AFTER LAUNCH PRODUCT WITH GROWTH MARKETING เร่งการเติบโตด้วยตลาด

- เก็บ FEEDBACK เพื่อนำมาปรับปรุง

- สินค้าเริ่มตอบโจทย์ตลาด วัดจาก ORGANIC GROWTH 

- เร่งการเติบโตด้วย GROWTH MARKETING

.

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“หมอตำแย” หมอทำคลอดแท้ ๆ แต่ทำไม ? ต้อง “ตำแย”

ถ้าพูดถึงนางผดุงครรภ์คนส่วนใหญ่อาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่าหมอตำแย คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกันดีว่า หมายถึงหมอหรือผู้ชำนาญการในการทำคลอด
.
คำว่า “ตำแย” มีที่มาจากไหน ส.พลายน้อย เคยเล่าว่าพบคำว่า “daya” ในภาษาฮินดูสตานีหมายถึง หมอตำแย ในคัมภีร์ประถมจินดา หรือ ปฐมจินดา ซึ่งเป็นคัมภีร์แพทย์แผนไทยเกี่ยวกับการสูติกรรม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์อายุรเวทของอินเดีย มีการอ้างอิงถึงผู้แต่งคัมภีร์ว่าได้แก่มหาเถรตำแย
.
ดังในตอนหนึ่งของคัมภีร์ปฐมจินดาบันทึกไว้ว่า “ปุน จปรํ มาตุรัก์ขิปติฏ์ฐิตรํ ชีวกโกมาโรหรํ อาภตรํ ฐาเน อิทรํ สุตรํ อิติ เอต์ถ วจนัส์ส มหาเถรโต อโหสีติ (ปุน จปรํ) ว่าในถ้อยคำอนึ่งเล่า (อหํ) อันว่าเข้า (ชีวกโกมาโร) ชื่อชีวกโกมารภัจ (สุตํ) ได้สดับฟัง (มหาเถรโต) จากสำนักพระมหาเถรผู้ชื่อว่าตำแย (อาภตํ) เธอนำมา (ปติฏ์ฐิตํ) สำทับลงไว้ (มาตุคัพ์ภรัก์ขัม๎หิ) ในคัมภีร์ครรภ์ทรักษานี้ (เอต์ถ วจเน) ในถ้อยคำหนึ่งเล่า (อัส์ส มหาเถรัส์ส) แห่งพระมหาเถรนั้น (อิติ) ด้วยประการดังนี้”
.
บางท่านเห็นว่าคำ ตำแย เพี้ยนมาจากคำว่า อาเตรยะ ซึ่งเป็นชื่อของมหาฤๅษีผู้ทรงความรู้ทางด้านการแพทย์แห่งสำนักตักสิลา เชื่อกันว่าเป็นอาจารย์ของหมอชีวกโกมารภัจด้วย ส่วนคำว่า “ผดุงครรภ์” ว่ากันว่าเป็นคำที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ใช้ในการเรียกหมอตำแย จึงเป็นคำที่ใช้กันอย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นเรื่อยมา
.
นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ได้สืบค้นหารากศัพท์ในหลายแหล่งจนได้ความรู้มาว่า ในภาษาไทยยวนเรียกหมอตำแยว่า “แม่จ่าง” ภาษาไทใหญ่เรียกว่า “แม่เก็บ” ภาษาใต้แถบฝั่งอันดามันเรียกว่า “แม่ทาน” แต่ทางฝั่งอ่าวไทยเรียกว่า “หมอตำแย” ภาษาไทยดำในเมืองแถนหรือเดียนเบียนฟูเรียกว่า “หมอสิงแบ่” (สิง แปลว่า คลอด) หรือ “หมอเห็นหน้า” ภาษาจ้วงเรียกว่า “แม่ซึ้บเสง” ภาษาทางฝั่งอีสานใต้ สุรินทร์ ศรีษะเกษ เรียกว่า “แม่ตอบหมอบ” ภาษาลาวใต้ทางจำปาสัก ปากเซ เรียกว่า “แม่ตะหมอบ” ภาษาเขมรในเมืองเขมรเรียกว่า “ฉม็อบ (Chhmob)” หมายถึง หมอออกลูก ซึ่งในอีสานใต้และลาวอาจจะมีรากคำมาจากภาษาเขมรนั่นเอง แต่ในลาวเหนือหลวงพระบาง เวียงจัน เรียกว่า “หมอตำแย” หากในกลุ่มชาวมุสลิมก็เรียกว่า “โต๊ะบิแด” หรือ “บิดัน”
.
ทั้งคำว่าหมอตำแยและคำเรียกหมอตำแยในชื่อต่างๆ ของภาษาถิ่น นิพัทธ์พร เห็นว่า อาจสะท้อนให้เห็นความหลากหลายของความรู้ทางการแพทย์ท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรม การเรียกชื่อผู้ทำคลอดว่า หมอตำแย มีนัยเชื่อมโยงไปถึงการได้รับอิทธิพลของความรู้ทางการแพทย์แบบอายุรเวท ส่วนในพื้นที่ ๆ ไม่ได้รับอิทธิพลมากนักและมีความรู้ในการทำคลอดของตนเอง จึงยังมีชื่อเรียกผู้ทำคลอดตามวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ
.
ในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อมหาอำนาจชาติตะวันตกได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และอาณานิคมในดินแดนแถบตะวันออกเฉียงใต้ บรรดาคณะบุคคลต่างๆ ที่เข้ามาก็ได้นำเอาความรู้แขนงต่างๆ เข้ามาถ่ายทอดกับคนท้องถิ่นด้วย ความรู้ทางด้านการแพทย์แบบตะวันตกสมัยใหม่ก็เข้ามาในเวลานั้นด้วย บรรดาผู้ทรงความรู้ทางด้านการแพทย์ก็พยายามหักล้างความรู้ความเชื่อของท้องถิ่นด้วยวิทยาการทางการแพทย์แขนงต่างๆ เพื่อสร้างความศรัทธาต่อวิทยาการตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การปลูกฝี และการทำคลอดหรือการผดุงครรภ์แบบตะวันตกในดินแดนอาณานิคม
.
สำหรับสยามในเวลานั้น แม้จะไม่มีได้ตกเป็นอาณานิคมของชาติใด แต่การจูงใจให้หันมาใช้วิธีการทำคลอดแบบตะวันตกโดยหมอมิชชันนารีก็เป็นไปอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะหมอบรัดเลย์ (หรือนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ Dan Beach Bradley) หมอบรัดเลย์พยายามจูงใจให้บรรดาเชื้อพระวงศ์และขุนนางชั้นสูง เชื่อมั่นในวิธีการผดุงครรภ์แบบตะวันตกตั้งแต่ก่อนคลอดจนหลังคลอด และพยายามให้เลิกการอยู่ไฟด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทรมาน และได้รับทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เขียนตำรา “ครรภ์ทรักษา” พ.ศ. ๒๓๘๕ (ค.ศ. ๑๘๔๒) โดยตีพิมพ์เป็นจำนวน ๒๐๐ ฉบับ แจกจ่ายให้กับบรรดาหมอหลวงในเวลานั้น โดยย่อความจากคัมภีร์ครรภ์ทรักษาของแพทย์อเมริกาและแพทย์ยุโรปเวลานั้น
.
แต่ความตั้งใจของหมอบรัดเลย์ไม่สำเร็จผล จนเขาเห็นว่า “ประเพณีการคลอดของไทยนั้นมีอำนาจยิ่งกว่าอำนาจของพระมหากษัตริย์” ตลอดชีวิตของหมอบรัดเลย์ เขาไม่มีโอกาสเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการทำคลอดของสยาม กระทั่ง ๑๖ ปี หลังจากหมอบรัดเลย์เสียชีวิต สิ่งที่เขาลงแรงวางรากฐานทางความคิดไว้จึงออกผล ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ทรงเลิกการผทมเพลิง (การอยู่ไฟ) เมื่อประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า อัษฎางเดชาวุธ และทำให้ในพระราชวังก็ยกเลิกธรรมเนียมในการต่อมา และมีการจูงใจให้ชาวบ้านเลิกอยู่ไฟด้วย จนปัจจุบันนี้หมอตำแย แทบจะสูญไปจากสังคมไทย


ที่มา https://www.sac.or.th/conference/2017/หมอตำแย/  
 

ชม “จันทรุปราคาเต็มดวง” ในวันลอยกระทงกันนะปีนี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  เผย ในวัน “ลอยกระทง 2565” 8 พฤศจิกายนนี้ เตรียมชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ตั้งแต่เวลาประมาณ 15:02 – 20:56 น. (ตามเวลาประเทศไทย
.
โดยสามารถสังเกตได้จากหลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ทวีปยุโรปตอนเหนือและตะวันออก ,ทวีปเอเชีย ,ทวีปออสเตรเลีย ,ทวีปอเมริกาเหนือ ,บางส่วนของทวีปอเมริกาใต้ ,มหาสมุทรแปซิฟิก ,มหาสมุทรแอตแลนติก ,มหาสมุทรอินเดีย , ขั้วโลกเหนือ ,และบางส่วนของขั้วโลกใต้
.
สำหรับประเทศไทย ตรงกับคืนเดือนเพ็ญ และเป็นวันลอยกระทงของปีนี้ด้วย ดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลา 17:44 น. จึงไม่สามารถสังเกตช่วงแรกของการเกิดปรากฏการณ์ได้ และจะเริ่มเห็นได้ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงพอดี สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของประเทศไทย บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17:44 น. เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลา 18:41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที
.
หลังจากนั้นจะเริ่มเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลก จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวงในเวลา 19:49 น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก เนื่องจาก ความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20:56 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
.
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง หรือช่วงขึ้น 14 – 15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อย ๆ จนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก
.
พิเศษกว่าเดิม ! คืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 สดร. จัดกิจกรรมสังเกตการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงคืนวันลอยกระทง พบกันได้ที่จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ,หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ,หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
.
เวลา 18:00 – 22:00 น. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 081-8854353
.
ข้อมูล :  NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ


ที่มา https://www.facebook.com/TV5HD1/posts/3284707685113796 
 

โรค “คิดไปเองว่าป่วย” 20-30 ปี เจอมากสุด

ในทางการแพทย์ยังมีโรคหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินหรือไม่เคยรู้จักมาก่อน กับโรคที่มีชื่อว่า โรค “คิดไปเองว่าป่วย” หรือ “Hypochondriasis” ผู้ป่วยจะมีความเชื่อว่าตนเองป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่ง และถึงแม้จะหาหมอเป็นสิบๆ ครั้ง และหมอบอกว่าไม่ได้เป็นอะไรก็จะไม่ยอมเชื่อง่ายๆ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อยเลย
.
อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรค Hypochondriasis คือ
เมื่อมีอาการทางกายบางอย่างจะพาลคิดไปว่าตัวเองป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่ง และจะชอบหาหมอหลายครั้ง เพราะจากการหาครั้งแรกแล้วหมอวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นอะไรก็จะไม่ยอมเชื่อ ทำให้ต้องหาหมอซ้ำอีก เมื่อผลวินิจฉัยออกมาเหมือนเดิม ก็จะไม่ยอมเชื่ออยู่อย่างนั้น ทำให้ต้องวิ่งเข้าวิ่งออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น เพราะคนกลุ่มนี้จะเชื่อว่าตัวเองป่วยจริง ๆ
.
อาการดังกล่าวเกิดขึ้นจาก “ความวิตกกังวล” ของคนไข้เอง
เกิดจากอาการทางกายบางอย่างหรือหลายอย่าง ทำให้คนไข้เกิดความวิตกกังวลไปต่างๆ นานา ที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือต่อชีวิต ยกตัวอย่างเช่น อาการปวดท้อง อาจเป็นอาการท้องอืด ท้องเฟ้อธรรมดา แต่ในคนที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวจะความรู้สึกไวกว่าคนปกติ และรู้สึกว่าปวดท้องหนักมาก ทำให้กังวลว่าจะเป็นโรคร้าย เป็นต้น เมื่อพบแพทย์แล้วแพทย์ทำการวินิจฉัยว่าไม่ได้ป่วยก็จะไม่ยอมเชื่อ
.
คนกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกว่าตัวเองป่วยจริงๆ และไม่ได้แกล้งทำ ซึ่งเกิดจากจิตใต้สำนึกของบุคคลนั้น ขณะที่บางรายมีอาการทางกายบางอย่าง แต่บางรายก็อาจไม่ได้มีอาการเลยก็ได้ เช่น การนั่งใกล้ผู้ติดเชื้อ HIV แล้วกังวลว่าตนเองจะได้รับเชื้อมาทางระบบทางเดินหายใจ เมื่อพบแพทย์และทำการวินิจฉัยโรคว่าไม่พบ ก็จะหายกังวลไปได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งแล้วกลับมากังวลใหม่ และพบแพทย์ใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ
.
ผู้ป่วยโรคนี้จะมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน
บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่ที่พบมากจะอยู่ในกลุ่มอายุ 20-30 ปี ส่วนมากคนที่มีความกังวลจะมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับโรคนั้นๆ เช่น การกังวลถึงการติดเชื้อ HIV ซึ่งเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ คนที่มีพฤติกรรมนี้ก็จะมีความกังวลต่อโรคนี้เป็นพิเศษ แต่ถ้าหากเป็นผู้สูงอายุที่เห็นคนใกล้ตัวเสียชีวิตเพราะโรคหัวใจ หรือพบเห็นข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้สูงอายุด้วยโรคหัวใจบ่อยๆ ก็จะมีความกังวลต่อโรคนี้มากกว่าโรคอื่นๆ เป็นต้น
.
นอกจากนี้การเป็นโรคของคนในครอบครัวก็มีส่วนที่ทำให้เกิดความกังวล อย่างผู้ป่วยบางรายที่อาจเคยมีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เมื่อตัวเองมีอาการแน่นหน้าอก ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดทั่วไป หากในคนปกติก็จะถอนหายใจสักสองสามครั้ง นั่งพักสักครู่ก็หาย แต่ถ้าเป็นคนป่วยด้วยโรค Hypochondriasis ซึ่งอาจมีความกังวลในเรื่องของโรคหัวใจอยู่แล้ว จากคนในครอบครัวที่เป็นโรคนี้มาก่อน เมื่อถอนหายใจแล้วจะสามารถหายไปได้ช่วงหนึ่ง แต่ก็จะกลับมาเป็นใหม่ เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับโรคดังกล่าวอยู่
.
วิธีการสังเกตตนเองว่าเป็นโรคนี้หรือไม่
ให้สังเกตที่จำนวนครั้งในการพบแพทย์ ในคนทั่วไปหากสงสัยว่าตนเองเป็นโรคอะไรอยู่ อาจมีการพบแพทย์ซ้ำเป็นครั้งที่สอง หากไม่เชื่อคำวินิจฉัยของแพทย์ในครั้งแรก อาจคิดว่าแพทย์ตรวจไม่พบ หรืออะไรก็ตาม แต่เมื่อพบแพทย์ครั้งที่สองแล้วไม่พบโรคอีก ก็จะเลิกพบไปในที่สุด แต่ถ้าหากมีการพบแพทย์ซ้ำมากกว่าสองครั้งขึ้นไป ก็เป็นไปได้ว่าอาจเป็นโรค Hypochondriasis อยู่
.
การวินิจฉัยโรคดังกล่าว
จะมีการตรวจทั้งทางกายและใจร่วมกัน ก่อนอื่นต้องตรวจให้แน่ใจก่อนว่าคนไข้ไม่ได้เป็นโรคที่กังวลอยู่จริงๆ หรือถ้าหากตรวจพบตามอาการที่คนไข้บอก ก็ต้องแน่ใจก่อนว่าอาการนั้นไม่ใช่โรคร้ายที่คนไข้กังวลอยู่ นั่นเป็นการตรวจทางกาย แล้วจึงตรวจทางใจร่วมกัน
.
วิธีการรักษาโรคดังกล่าว
โดยทั่วไปค่อนข้างรักษายาก เพราะเกิดจากความกังวลและเป็นตัวตนของคนไข้เอง ก่อนอื่นก็ต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจก่อนว่าร่างกายของคนไข้ปกติดี ไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไร ซึ่งต้องอาศัยท่าทีที่น่าเชื่อถือของแพทย์ร่วมด้วย หรืออาจอธิบายให้คนไข้เข้าใจว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้รุนแรงหรือเป็นโรคร้าย ขั้นต่อไปคือการให้ยาลดความวิตกกังวล รวมถึงการฝึกฝนคนไข้ใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมอง ความคิดของตัวเอง เกี่ยวกับอาการป่วยที่คนไข้กังวลอยู่ ในขั้นนี้จะเรียกว่าจิตบำบัด ที่สำคัญที่สุดคนรอบข้างต้องให้ความเข้าใจในตัวคนไข้อย่างมาก


ที่มา https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/โรคคิดไปเองว่าป่วย-hypochondriasis-หา/ 
 

ศธ.ปรับ 5 รูปแบบ การเรียนรับเปิดเทอม

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินหน้าจัดกระบวนการเรียนการสอนใหม่ รองรับเปิดเทอม ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ พร้อมดึงเด็กนักเรียนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด
.
(29 ต.ค. 65) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในรายการคุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า...
.
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ส่งผลกระทบให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะระบบการศึกษา เนื่องจากต้องมีการปิดการเรียนการสอน รัฐบาลจึงหาแนวทางโดยจัดวัคซีนมาฉีดให้กับครูเป็นกลุ่มแรก เพื่อให้ทันต่อการเปิดภาคเรียน จากนั้นทยอยนำวัคซีนมาฉีดให้กับเด็ก จนปีการศึกษาที่ผ่านมาสามารถเปิดเรียนได้ถึง 100% 
.
พร้อมกันนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้จัดกระบวนการเรียนการสอน 5 รูปแบบ เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนให้เหมาะสมแต่ละภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ การเรียนแบบ On- site, On-Line, On-Air, On-demand และ On-hand 
.
“ขอขอบคุณครูทุกคนที่ช่วยกันจัดกระบวนการเรียนการสอน ทำให้เด็กไม่ขาดกระบวนการเรียนรู้ รวมถึงจัดทำคลิปผ่านสื่อการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรมไว้ในแพลตฟอร์ม ‘ครูพร้อม’ เพื่อให้ครูและผู้ปกครองได้เข้าไปศึกษาและทำการสอนเด็ก”
.
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี ได้มีความเป็นห่วงจากผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงได้จัดสรรงบประมาณให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กับผู้ปกครองกว่า 2 หมื่นล้าน
.
“หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และมีการเปิดภาคเรียนแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ทำความตกลง MOU) ร่วมกับ 7 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง สำรวจเด็กหลุดจากระบบการศึกษา เพื่อนำเด็กนักเรียนดังกล่าว กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด ภายใต้โครงการนำน้องกลับมาเรียน” นางสาวตรีนุช กล่าว


ที่มา https://thestatestimes.com/post/2022102917 
 

เมื่อพื้นที่สถานีรถไฟใต้ดิน ถูกนำมาใช้เป็นฟาร์มผักกาด

หลายท่านอาจเคยใช้งานรถไฟใต้ดินกันมาบ้าง ย่อมมีความรู้สึกต่อการคมนาคมประเภทนี้แตกต่างกันไป แต่ไต้หวันกำลังจะผลักดันสถานีรถไฟใต้ดินไปอีกขั้น เมื่อมีการเปลี่ยนสถานีรถไฟให้กลายเป็นฟาร์มผักกาด
.
ปัจจุบันที่ดินถือเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดโดยเฉพาะในประเทศขนาดเล็ก หลายแห่งขาดแคลนพื้นที่ทำให้ที่ดินมีราคาสูงจนยากจะจับต้อง แนวทางการใช้งานจึงจำเป็นต้องดึงศักยภาพของที่ดินผืนนั้นออกมาให้ถึงขีดสุด เพื่อไม่ให้มูลค่าที่กำลังสูงขึ้นทุกวันนี้สูญเปล่า นั่นทำให้หลายประเทศเริ่มนำพื้นที่ในตัวเมืองมาใช้งานให้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อไต้หวันกำลังเปลี่ยนพื้นที่ในรถไฟใต้ดินให้กลายเป็นแปลงการเกษตร
.
สำหรับเมืองหรือมหานครขนาดใหญ่หนึ่งในสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือสถานีรถไฟใต้ดิน หลายประเทศรวมถึงไทยเองก็มีใช้งานในทุกวันนี้ โดยเฉพาะในเมืองที่ต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้คุ้มค่า แต่ล่าสุดไต้หวันกำลังจะก้าวล้ำไปอีกขั้น กับการเปลี่ยนพื้นที่ในสถานีรถไฟใต้ดินเป็นฟาร์มการเกษตร
.
แนวคิดนี้เกิดขึ้นในสถานี Nanjing Fuxing ของเมืองไทเป บริษัท Unimicron Technology ได้ทำการสร้างฟาร์มแนวตั้งจากเทคโนโลยีอันล้ำหน้า โดยการควบคุมความชื้น อุณหภูมิ และปริมาณแสงจากหลอด LED ก่อเกิดเป็นสวนผักกาดที่ไม่ต้องใช้ดิน ภายในสถานีรถไฟใต้ดินขนาด 40 ตารางเมตร
.
ข้อดีของฟาร์มนี้คือการควบคุมปัจจัยในการเพาะปลูกรอบด้าน ช่วยให้ผลผลิตเจริญงอกงามโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งยาฆ่าแมลงหรือสารกำจัดศัตรูพืช และด้วยการควบคุมเข้มงวดแม้แต่การคัดกรองด้านอากาศ จึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะมีไข่แมลงหรือสารพิษเข้ามาเจือปนผักที่เรารับประทานอีกต่อไป
.
ข้อดีอีกประการของฟาร์มแนวตั้งนี้คือ ไม่จำเป็นต้องใช้ดินเพื่อการเพาะปลูกให้พืชเจริญเติบโต อาศัยเพียงปุ๋ยและแร่ธาตุที่ต้องการมาละลายในน้ำสะอาดด้วยอัตราส่วนที่พอเหมาะ นอกจากเพื่อการเกษตรแล้ว ที่นี่จะถูกจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เด็กนักเรียนเข้ามาศึกษาเพิ่มเติมอีกด้วย
.
ถือเป็นแนวคิดในการสร้างฟาร์มรูปแบบใหม่เพื่อให้เข้ากับชุมชนเมือง รวมถึงเป็นการพัฒนาฟาร์มอัจฉริยะอีกด้วย แนวคิดฟาร์มแนวตั้ง หรือ ฟาร์มอัจฉริยะ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะไต้หวันที่เป็นดินแดนเกาะอาณาเขตไม่กว้างนัก มีทรัพยากรที่ดินเพียง 36,197 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่มีประชากรถึง 23.57 ล้านคน จึงเริ่มมีแนวคิดเพื่อพัฒนาที่ดินที่มีอยู่เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตให้มากขึ้น
.
ฟาร์มอัจฉริยะคือ การอาศัยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลต่อพืชผลทางการเกษตร โดยใช้ทรัพยากรที่ดินและแรงงานในปริมาณน้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเป็นการดึงดูดคนหนุ่มสาวให้กลับมาสนใจงานภาคการเกษตรมากขึ้น
.
โดยฟาร์มแนวตั้งในสถานีรถไฟใต้ดินนี้ สามารถสร้างผลผลิตผักกาดหอมได้ราว 36 กิโลกรัม/สัปดาห์ โดยปัจจุบันมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องเพื่อศึกษาและวิเคราะห์หาแนวทางเพิ่มผลผลิต อีกทั้งยังมีแนวคิดในการขยายพืชเพาะปลูกไปยังมะเขือเทศ พริกหยวก และบร็อคโคลี่ ที่ค่อนข้างให้ผลลัพธ์ที่ดีเมื่อมีการทดลองปลูกในแนวตั้ง
.
น่าเสียดายที่ในปัจจุบันปริมาณพืชที่สามารถปลูกได้ด้วยกรรมวิธีนี้มีจำกัดเพียงไม่กี่ชนิด พืชพันธุ์หลายประเภทไม่เหมาะสมในการปลูกด้วยกรรมวิธีแบบนี้นัก จากข้อจำกัดทั้งปริมาณสารอาหารและพื้นที่ ปัจจุบันการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นจึงอยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
.
แนวคิดฟาร์มแนวตั้ว/ฟาร์มอัจฉริยะทำไมจึงสำคัญ ?  แน่นอนคำตอบแรกจากข้อจำกัดด้านพื้นที่โดยเฉพาะดินแดนที่มีพื้นที่จำกัดไม่สอดคล้องต่อประชากร เมื่อไม่สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกอาหารออกไปได้นี่จึงเป็นแนวทางที่จำเป็น แต่หลายประเทศที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่เองก็ให้ความสนใจ และพัฒนาฟาร์มอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารจนหลายท่านอาจสงสัยว่าทำไม ? 
.
สาเหตุมาจากสถานการณ์ของโลกและมนุษยชาติที่กำลังเดินหน้ามุ่งตรงเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาหารอย่างชัดเจน
.
ดังที่เราทราบกันว่าประชากรโลกทุกวันนี้แม้หลายประเทศจะประสบปัญหาเด็กเกิดใหม่ แต่เมื่อมองในภาพรวมประชากรทั่วโลกทวีจำนวนขึ้นทุกวัน โดยปัจจุบันโลกมีประชากรราว 7 พันล้านคน คาดว่าในปี 2050 ประชากรโลกอาจถึง 9 พันล้านราย ซึ่งจะทำให้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารยิ่งร้ายแรง
.
สำหรับประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารเพียงพออาจไม่เดือดร้อน แต่หลายประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกไม่เพียงพอเริ่มมองเห็นปัญหา การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตทางอาหารและการสร้างฟาร์มอัจฉริยะทั้งหลายจึงเกิดขึ้น เพื่อรองรับความต้องการด้านอาหารในอนาคต
.
อีกทั้งปัจจุบันข้อมูลจากสหประชาชาติประเมินว่า ผืนดินกว่า 40% ทั่วโลกอยู่ในภาวะทรุดโทรม ไม่สามารถนำมาใช้เพาะปลูกอย่างได้ผล จากผลของกิจกรรมมากมายของมนุษย์ทั้งการทำฟาร์ม, สร้างเขื่อน, สร้างที่อยู่อาศัย, ทำเหมือง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ลดพื้นที่ผลิตอาหารซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต
.
นอกจากที่ดินเสื่อมโทรมและจำนวนประชากรแล้วยังมีเหตุไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งสภาพอากาศแปรปรวนส่งผลให้ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นทุกปี ภัยพิบัติในอนาคตที่อาจส่งผลเป็นวงกว้าง หรือแม้แต่สงครามซึ่งอาจทำลายพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรจนอาจกลายเป็นความเสี่ยงได้เช่นกัน
.
ฟาร์มอัจฉริยะ หรือ ฟาร์มแนวตั้ง จึงอาจเป็นทางออกของปัญหาเพื่อให้เราใช้ทุกตารางนิ้วอย่างคุ้มค่า
.
หลายท่านอาจรู้สึกว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องไกลตัว ฟาร์มอัจฉริยะอาจไม่มีประโยชน์ต่อประเทศที่ไม่ขาดแคลนอาหารมากนัก แต่อย่างน้อยการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรให้ก้าวหน้า ก็ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตให้สูงขึ้น ถือเป็นหัวใจสำคัญที่บรรดาเกษตรกรต้องการเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตและกำไรให้กับภาคการเกษตร
.
ดังนั้นการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีนี้จึงไม่มีทางเป็นเรื่องสูญเปล่าและควรเกิดขึ้นในทุกประเทศบนโลก


ที่มา https://www.posttoday.com/post-next/innovation/2063 
 

5 สิ่งควรรู้เมื่อเลือกเรียน สถาปัตยกรรมศาสตร์

ในช่วงวัยเรียนมัธยมเชื่อว่าหลายคนคงจะต้องเคยเจอคำถามที่ต้องคิดหนัก
จากเพื่อนหรือผู้ปกครอง เช่น ในอนาคตอยากจะเรียนอะไร ?  เรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ไหน ? จบออกมาทำอะไร ?
.
คำถามนี้เป็นทั้งแรงกดดันทำให้หลายคนเริ่มต้นการค้นหาตัวเอง หาข้อมูลต่างๆประกอบการเตรียมตัวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ตนเองสนใจ 
.
“คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์” ก็เป็นหนึ่งในหลายคณะที่น้องมัธยมปลายสนใจเข้าศึกษาต่อ แต่คนที่จะเรียนคณะนี้
การเตรียมตัวสอบจะต้องรู้อะไรบ้าง ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่วงการเรียนสถาปัตยกรรมมาดูกันเลย
.
1. สถาปัตย์ไม่ได้เรียนวาดรูปอย่างเดียว
หากใครคิดว่าเรียนสถาปัตย์นั้น เรียนวาดรูปอย่างเดียวขอให้ปรับความคิดเสียใหม่ เพราะสถาปัตย์เป็นการออกแบบที่ใช้ทักษะทั้งศาสตร์ (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการวางผัง การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ กฎหมายอาคาร การคำนวณโครงสร้าง ทฤษฎีการออกแบบ) และศิลป์ (ใช้ทักษะการวาดทัศนียภาพเพื่อแสดงบรรยาการรูปลักษณ์ของอาคารที่ออกแบบ เขียนภาพไอโซเมตริก เขียนแบบทางสถาปัตย์)  ดังนั้นการออกแบบสถาปัตยกรรมต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ
และการวาดรูปเป็นเพียงการแสดงภาพสิ่งที่เราออกแบบให้คนอื่นเห็นภาพเข้าใจตรงกัน
.
2. เรียนสายวิทย์-คณิต ทำให้การเรียนสถาปัตย์ในมหาวิทยาลัยง่ายขึ้น
ส่วนใหญ่แล้วการสอบคัดเลือกเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มักจะกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครว่าต้องเรียนจบสายวิทย์-คณิต เท่านั้น (แต่ไม่ใช่ทุกที่ ) เพราะหลักสูตร5 ปีของคณะนี้ เราจะต้องเรียนวิชา mechanic หรือวิชาฟิสิกส์ คำนวณโครงสร้างคอนกรีต ที่จำเป็นต้องมีพื้นฐานการคำนวณ และการใช้สูตรทางฟิสิกส์ ที่เคยเรียนตอนมัธยมปลาย มาใช้เรียนต่อในเนื้อหาที่เฉพาะทางมากขึ้น หากคนที่ไม่ได้เรียนสายวิทย์-คณิตมา ก็จะรู้สึกว่าไม่เข้าใจ เรียนตามเพื่อนไม่ทัน 
.
หากน้องมัธยมต้น อยากจะเข้าเรียนทางสายนี้ เมื่อขึ้นมัธยมปลาย แนะนำให้เลือกเรียนสายวิทย์-คณิต ก็จะทำให้ทีโอกาสในการเลือกสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะนี้ได้มากขึ้น
.
3. ความสามารถทางภาษาอังกฤษทำให้เข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าคนอื่น 
ในการเรียนสถาปัตย์ การหาศึกษาตัวอย่างงานเพื่อเป็นไอเดียสำหรับการออกแบบอาคารจาก งานของสถาปนิกในต่างประเทศ  ข้อมูลที่อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดการออกแบบ การจัดการอาคาร การเลือกใช้วัสดุ ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาภาษาอังกฤษ มีอาคารของสถาปนิกคนดังหลายคนถูกนำมา วิเคราะห์และอธิบายโดยนักเรียนสถาปัตย์ต่างประเทศ
.
เราสามารถศึกษาข้อมูลเหล่านี้ได้ผ่านเว็ปไซต์และหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบบอาคารต่างๆ  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนถูกเขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษ หากน้อง ๆ คนไหนที่มีความสามารถในการอ่านเขียนและเข้าใจภาษาอังกฤษ ก็จะมีโอกาสในการศึกษาข้อมูลอาคารต่าง ๆ ได้มาก และนำแนวคิดเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับงานออกแบบของตนเอง ทำให้สามารถแตกแขนงไอเดียการออกแบบของตนเองได้อย่างไม่จำกัด และจะไม่มีคำพูดว่า “คิดแบบไม่ออก” อีกต่อไป
.
4. วาดรูปไม่สวยไม่ได้หมายความว่าเรียนสถาปัตย์ไม่ได้
เรียนสถาปัตย์ไม่จำเป็นต้องวาดรูปสวย เพียงแต่เข้าใจหลักการวิธีการวาด เพื่อแสดงแบบอาคารที่เราออกแบบให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย เราต้องรู้ว่าวิธีการวาดแบบแบบไหนเหมาะสำหรับ อธิบายรูปแต่ละแบบอย่างไร เช่น การเขียนภาพทัศนียภาพ เพื่อให้คนดูเห็นภาพบรรยากาศภายนอก ภายในของอาคารว่าให้ความรู้สึกอย่างไร การวาดเขียนแบบผังอาคาร เพื่ออธิบายขนาดของพื้นที่ การจัดพื้นที่ใช้งาน บอกระยะต่าง ๆ ภายในห้องหรืออาคารนั้นอย่างชัดเจน การเขียนภาพไอโซเมตริก เป็นการอธิบายงานออกมาเป็นภาพ 3 มิติ ให้เข้าใจขนาดกว้าง ยาวและสูงของอาคารนั้น
.
ดังนั้นทักษะการวาดเป็นเพียงการจับคู่ระหว่างวิธีการวาดให้ตรงกับความต้องการแสดงแบบให้คนที่ดูภาพเข้าใจมิติต่างๆของอาคาร หากเราเลือกวิธีการวาดได้ดี และทำให้คนดูภาพของเราแล้วเข้าใจ การวาดรูปสวยจึงไม่สำคัญเท่ากับการเลือกการแสดงแบบให้ตรงกับความต้องการของเรา และในยุคนี้ก็นิยมใช้คอมพิวเตอร์ในการทำภาพ 3 มิติ ให้เหมือนของจริงมากขึ้น คุณภาพงานที่ทำออกมาของแต่ละคนจึงไม่ต่างกันมากนัก
.
5. เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเริ่มเรียนติวสถาปัตย์เพิ่มเติมอย่างจริงจัง 
เมื่อเราตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านสถาปัตย์แล้ว การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเรียนเสริมก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เริ่มจากการลองหาตัวอย่างข้อสอบย้อนหลัง มาลองทำดูเราจะรู้ว่าเนื้อหาที่ต้องอ่าน
.
ศึกษาทำความเข้าใจเพื่อใช้สอบมีเรื่องอะไรบ้าง ข้อสอบวาดรูปหน้าตาประมาณไหน และจะต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับวาดอะไรบ้าง จะต้องใช้เวลาในการทำข้อสอบเฉลี่ยข้อละกี่นาที ถึงจะทำข้อสอบได้ทัน
.
เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ให้น้อง ๆ ลองทำแบบฝึกหัดทั้งทฤษฎีและแบบฝึกหัดวาดดู เราจะเริ่มรู้ว่ามีบางส่วนของข้อสอบที่เราไม่เข้าใจหรือวาดไม่ได้ นี่คือสิ่งที่น้อง ๆ จะต้องไปหาข้อมูลทำความเข้าใจและฝึกวาดเพิ่มเติม อาจจะหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต แล้วฝึกทำด้วยตนเอง หรือเข้าไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม
.
ทั้ง 2 อย่างนี้แนะนำว่าควรทำควบคู่กันไป เพราะอย่างน้อย การเรียนด้วยตนเองทำให้เรารู้ว่าเราเข้าใจเรื่องที่ฝึกทำมากน้อย แค่ไหนและการเรียนพิเศษ เป็นการรีเช็คความเข้าใจ ของเราว่าที่ศึกษามาเองนั้น เข้าใจถูกต้องหรือไม่ ให้ถามครูสอนพิเศษ ครูจะได้ช่วยอธิบายในสิ่งที่เราไม่เข้าใจหรือทำไม่ได้ให้กระจ่างขึ้น
.
5 สิ่งที่ควรรู้สำหรับคนที่เลือกเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ คงจะทำให้น้องหลาย ๆ คน พอที่จะเข้าใจถึงการเตรียมตัวเบื้องต้น ช่วยไขข้อสงสัยบางประการให้กระจ่าง อาจทำให้บางคนความมั่นใจในการเลือกเรียนสถาปัตย์มากขึ้น เมื่อทราบอย่างนี้แล้วใครที่คิดว่าสายนี้ใช่ เรามาเริ่มลงมือเรียนกันเลย


ที่มา https://nutdesignstudio.com/th/articles/180649-5items-arch 
 

รู้จัก Samhainophobia โรคกลัววันฮาโลวีน

เทศกาลฮาโลวีนใกล้เข้ามาแล้ว น่าจะเป็นหนึ่งในเทศกาลที่หลายคนชื่นชอบกับการแต่งผีแล้วมา Trick or Treat หลอกหรือเลี้ยงกัน แต่รู้ไหมว่ามีคนบางกลุ่มที่ไม่ชอบและกลัววันฮาโลวีนอยู่ โดยอาการนี้เรียกว่า Samhainophobia
.
Samhainophobia รากศัพท์มาจากคำว่า Samhain Festival เป็นเทศกาลของกลุ่มเซลติค (Celtic) ราวๆ 2,000 ปีก่อน โดยถือว่าวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเป็นวันที่โลกของคนตายเข้าใกล้โลกของคนเป็นมากที่สุด ผู้คนเลยต้องแต่งตัวเป็นผี เพื่อให้วิญญาณสับสนแล้วไม่มาสิงร่างของตัวเอง
.
ส่วนอีกคำคือคำว่า phobia คำที่ใช้อธิบายถึงการเป็นโรคกลัวอะไรบางอย่าง พอสองคำรวมกันก็หมายถึงคนที่มีความกลัววันฮาโลวีน
.
อาการของ Samhainophobia นั้นก็คล้ายกับอาการโฟเบียอื่นๆ เช่น มีอาการเหงื่อออก ,หัวใจเต้นเร็ว ,รู้สึกไม่สบายใจ ,ร้องไห้ ,หนีความมืด ,พยายามวิ่งหนี ,เกิดอาการสั่นกลัว
.
สาเหตุของ  Samhainophobia ส่วนใหญ่สาเหตุและผู้ที่เป็นมักเป็นเด็ก เนื่องจากไม่สามารถแยกได้ว่าอะไรคือเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง การแต่งกายเป็นผีอาจจะทำให้เด็กกลัวไม่สามารถแยกได้ บางรายอาจกระทบจิตใจจนเป็นภาพจำที่ไม่ดี ถูกแกล้งหลอกผี ขังให้อยู่คนเดียวกับความมืด
.
สำหรับใครที่รู้สึกมีอาการแบบนี้ เบื้องต้นพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดอาการ พยายามทำความเข้าใจ หากกระทบต่อสุขภาพแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป


ที่มา https://www.innnews.co.th/lifestyle/news_433382/ 
 

โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน”สะกดทัพ” กับเบื้องหลัง ฉาก-ประติมากรรม สุดอัศจรรย์

การสร้างฉากและประติมากรรมประกอบการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ  ตอน”สะกดทัพ” ปีนี้ ได้พัฒนาให้อลังการมากขึ้น   นอกจากมีส่วนสำคัญยิ่งกับการแสดงโขนและช่วยให้คนดูมีความรู้สึกและจินตนาการไปกับเรื่องราว  ยังมีส่วนสำคัญในการสืบสานงานศิลปกรรมช่างไทยทุกแขนงด้วย
.
ก่อนการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จะโลดแล่นบนเวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยปลายเดือนตุลาคมนี้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชวนชมห้องปฏิบัติงานสร้างฉากโขนสะกดทัพ  ณ อาคารเรียน-รู้-เรื่อง-โขน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยาโดยมีอาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการสร้างประติมากรรม และเครื่องประกอบฉาก พาชมเบื้องหลังการจัดสร้างประติมากรรมยักษ์หนุมานแปลงกายสุดยิ่งใหญ่ ที่เหล่าช่างฝีมือมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กว่า 50 ชีวิต  จัดทำด้วยความมุ่งมั่น  รวมถึงงานจิตรกรรมฉากที่ทีมเพาะช่างเกือบ 20 คน บรรจงรังสรรค์ ภายใต้การนำทีมของอาจารย์วิชัย รักชาติ ผู้ดูแลการเขียนฉาก
.
อาจารย์สุดสาคร ชายเสม   กล่าวว่า การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน”สะกดทัพ” มีความคืบหน้างานฉากและประติมากรรมประกอบการแสดงโขน 95%  มีฉากไฮไลท์ที่แตกต่างจากเดิม เนื่องจากเป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ได้แก่ ฉากหนุมานแผลงฤทธิ์ แปลงร่างใหญ่ยักษ์ 4 พักตร์ 8 กร สูงเทียมฟ้า ประติมากรรมหนุมานแปลงกายอ้างอิงมาจากภาพจิตรกรรมวัดพระแก้วและภาพหนุมานแปลงกายจากตู้พระธรรมโบราณสมัยอยุธยา  พร้อมมีเทคนิคพิเศษในการออกแบบกลไกให้เคลื่อนไหวได้เพื่อให้เป็นไปตามบทพระราชนิพนธ์  ที่หนุมานใช้มือจับแมลงภู่ในหุบเขาไร้รักแล้วขยี้จนตาย ไมยราพที่ฝากดวงใจไว้ในแมลงภู่ก็ขาดใจตายในที่สุดจากนั้นหนุมานช่วยพระรามที่ถูกขังไว้ในดงตาล เข้าสู่ฉากสุดท้ายเหล่าเทพมาชุมนุมยินดี
.
“เหตุที่เลือกฉากจบ ตอน”สะกดทัพ” ตามบทพระราชนิพนธ์ร.1 เพราะมีความพิเศษตอนที่หนุมานใช้มือขยี้แมลงภู่ ห้ามกระพริบตา  นอกจากนี้ ยังได้โชว์หนุมานขนาดใหญ่สูงถึง 7.50 เมตร  ถือเป็นประติมากรรมหนุมานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา ยิ่งกว่านั้นเด็กๆ ชอบฉากหนุมานมาก” อาจารย์สุดสาคร ย้ำไฮไลท์
.
นอกจากนี้ อาจารย์สุดสาครเผยมีฉากที่เคยสร้างความประทับใจอย่าง ฉากหนุมานอมพลับพลา ขนาดใหญ่ สูง 8.50 เมตร ซึ่งนำโครงสร้างเดิมนำกลับซ่อมบำรุงปรับปรุงใหม่ให้อลังการและมีความคงทนถาวรมากขึ้น เพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้ง ฉากกึ่งถาวรนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้งานศิลปกรรมฉากให้กับคนรุ่นหลัง ซึ่งตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระพันปีหลวงสัมฤทธิ์แล้วในการฟื้นฟูโขน ฟื้นฟูศิลปะราชสำนัก ตระกูลช่างหลวง ชาติไทยเรารักษาเก่ง เป็นสิ่งที่เราประสบความสำเร็จ สมเด็จพระพันปีหลวงพระวิสัยทัศน์กว้างไกล
.
“ การสร้างสรรค์งานฉากและประติมากรรมประกอบการแสดงโขนเป็นความตั้งใจถวายพระเกียรติพระองค์ท่าน  งานฉากทั้งรูปแบบและความงดงามเป็นตัวเล่าเรื่องและขยายจินตนาการของผู้ชมที่เคยฝันไว้ในบทพระราชนิพนธ์ออกมาเป็นจริง  ช่วยขยายความท่าร่ายรำตัวละครโขนอยู่ในเหตุการณ์อะไร  สร้างรสนิยมให้ผู้ชมในการชมศิลปะการแสดงในราชสำนักชั้นสูง เพิ่มอรรถรส และความตื่นเต้นให้กับคนดู  เช่น ฉากเขาชนกัน ซึ่งหนุมานต้องฝ่าด่านภูเขาไฟที่ร้อนระอุ นอกจากงานฉาก ยังมีเทคนิคแสง สี เสียง ทำงานร่วมกัน โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดแล้ว อยากให้คนไทยได้มาชมพระอัจฉริยะภาพของสมเด็จพระพันปีหลวง รวมถึงมาให้กำลังให้คนทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง  “ อาจารย์สุดสาคร กล่าว
.
การสร้างฉากที่จะดึงดูดสายตาผู้ชมโขน ตอน”สะกดทัพ” อาจารย์สุดสาคร เล่าว่า  ฉากออกแบบและเขียนใหม่เกือบทั้งหมดระดมช่างฝีมือดีมาช่วยกันสร้างสรรค์ฉากให้สวยสมบูรณ์แบบ โดยมีฉากใหญ่ 4 ฉาก เช่น ฉากเขาชนกัน ฉากป่าตาล ฉากป่าทึบ ฉากม่านพระ และฉากขา ซึ่งเป็นฉากย่อย
.
ความพิเศษเป็นฉากม่านพระจัดทำขึ้นใหม่แทนฉากเดิมที่ทอด้วยพรมของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต  ซึ่งชำรุดเสียหายไปหมดแล้ว โดยฉากม่านพระใช้ผ้าทอไร้รอยต่อจากประเทศจีน สูง 12 เมตร ยาว 20 เมตร ออกแบบภายใต้แนวคิดการจัดงานพิธีที่ต้องอัญเชิญพระพุทธเจ้า และทวยเทพทุกพระองค์  อาทิ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระภรตมุนี พระพิฆเนศวร พระวิษณุกรรม พระประโคนธรรพ พระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นต้น  นับเป็นฉากที่ต้องใช้ความปราณีตในการจัดทำ มีความยาก วาดด้วยลายรดน้ำสีทองบนพื้นสีดำ ใช้เวลาทำเพียง 1 สัปดาห์ นับเป็นอีกความอัศจรรย์ของงาน และเป็นความสิริมงคลกับผู้ชม
.
“ ฉากออกแบบให้มีความประสานกับนาฏศิลป์โขนละครที่จะแสดง รวมถึงได้แรงบันดาลใจจากจิตรกรรมฝาผนังชั้นครู เพื่อให้คนไทยเห็นคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมที่ครูบาอาจารย์สั่งสมงานศิลปกรรมให้กับลูกศิษย์ได้ใช้สร้างงานจนทุกวันนี้ ซึ่งงานเขียนฉากทีมศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ รับผิดชอบทุกปี  ตนมีแนวคิดจัดทำหนังสือกว่าจะเป็นการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในอนาคต “ อาจารย์สุดสาคร กล่าว
.
ความวิจิตรบนเวทีนอกจากฉากและประติมากรรม ยังมีความวิจิตรเครื่องโขนที่เตรียมสะกดทุกสายตา ทั้งพัสตราภรณ์ เครื่องแต่งกายโขน และถนิมพิมพาภรณ์ เครื่องประดับตกแต่ง ซึ่งจัดทำโดยช่างฝีมือรุ่นใหม่ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่มีทักษะฝีมือและความเชี่ยวชาญมากว่า 10 ปี ครั้งนี้ มีการสร้างเครื่องแต่งกายของไมยราพและตัวโขนอื่นๆเพิ่มอีกกว่า 100 ชุด เพื่อให้พัสตราภรณ์งดงามสมการรอคอยโขนมากว่า 3 ปี  

สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน”สะกดทัพ” กำหนดจัดแสดงวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 5 ธันวาคม 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จฯ มาทอดพระเนตรการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในวันที่ 28 ต.ค.นี้


ที่มา https://www.thaipost.net/news-update/245213/ 
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top