เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดจันทบุรี นอกเหนือจากภาพของเมืองท่องเที่ยวทั้งภูเขาและทะเลอันงดงามแล้ว ที่แห่งนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในเรื่องของ “พลอยเมืองจันท์” อันเลื่องชื่อ ที่ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ต่างมุ่งหมายที่จะเดินทางมายังเมืองงามนามจันทบุรี เพื่อชมความงามของพลอยน้ำดี ซึ่งผ่านการเจียระไนจากช่างผู้มีฝีมือที่นี่กันทั้งสิ้น
.
และแม้ว่าในปัจจุบัน พลอยแท้เมืองจันท์ จะหายากขึ้นตามคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ แต่ในตลาดพลอยใจกลางเมือง ก็ยังคงคึกคักไม่ต่างจากวันวาน เพราะที่นี่ยังคงเป็น ตลาดค้าพลอยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นแหล่งซื้อขายพลอยคุณภาพดีจากทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังเป็นเหมือน One stop service ที่รวมช่างเจียระไน ช่างทำเครื่องประดับจากพลอย ไปจนถึงผู้ประกอบการ เจ้าของร้านค้าพลอยอีกจำนวนมาก
.
ไม่เพียงเท่านั้น ถ้ากล่าวในบริบทของ “อุตสาหกรรมอัญมณีไทย” ก็ถือว่ามีอัตราการเติบโตที่สดใสอย่างมาก จากข้อมูลล่าสุดของ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ในช่วงครึ่งปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 8,713.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 93.86% หรือคิดเป็นเงินบาท มีมูลค่า 286,091.04 ล้านบาท
.
โดยปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกให้ขยายตัวต่อเนื่อง มาจากการฟื้นตัวของการบริโภคจากการเปิดประเทศในหลายประเทศทั่วโลก มีการเพิ่มระดับสินค้าคงคลังที่ลดลงไปในช่วงก่อนหน้า ได้อานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า ที่ช่วยสนับสนุนการส่งออก และตลาดส่งออกสำคัญเพิ่มขึ้น ทั้งสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป อินเดีย ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง เป็นต้น ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทยที่จะกลับมาฟื้นตัว หลังเจอภาวะทรงตัวจากผลกระทบของโควิด-19 อยู่กว่า 2 ปี
.
และในฐานะที่เป็นเมืองแหล่งพลอยคุณภาพดีดังที่เกริ่นมาข้างต้น วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี จึงเป็น 1 ใน 3 วิทยาลัยทั่วไทย ที่เปิดสอนใน หลักสูตรเครื่องประดับและอัญมณี โดยมีประสบการณ์การเปิดสอนในระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 รวมจนถึงตอนนี้ก็ประมาณ 13 ปีแล้ว
.
ทว่า เป็นที่น่าเสียดายไม่น้อยที่ในตอนนี้วิชาชีพหรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับการทำอัญมณี กลับไม่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่เท่าที่ควร และประเทศไทยกำลังขาดแคลนบุคลากรที่จะมาทำงานในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งที่เป็น “อาชีพทำเงิน” ที่มีสายงานให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่งานช่างฝีมือ งานออกแบบ ไปจนถึงการเป็นผู้ประกอบการ ที่มีธุรกิจขายเครื่องประดับพลอยเป็นของตนเอง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ก็ส่งผลต่อเนื่องทำให้ที่ แผนกวิชาเครื่องประดับอัญมณี วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี มีจำนวนผู้เรียนที่น้อยลงทุกปีเช่นกัน
.
และถ้าจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหานี้ ก็เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งอัตราเด็กเกิดที่น้อยลง ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน ที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่เบนเข็มไปเลือกเรียนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล สารสนเทศ และเทคโนโลยี ทำให้การเรียนสายวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานฝีมือ งานออกแบบ เครื่องประดับและอัญมณี ได้รับความสนใจลดลงเรื่อย ๆ
.
ทั้งนี้ ยังมีเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในจังหวัดจันทบุรีเอง ที่มุ่งไปยังอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งผลิตผลไม้สำคัญของไทย ที่สร้างรายได้ให้คนในจังหวัดอย่างมหาศาล เช่นกันกับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่ทำรายได้ให้ชาวจันทบุรีได้มากไม่แพ้กัน จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่ผู้ปกครองของเยาวชนในจันทบุรี จะส่งเสริมให้บุตรหลานเล่าเรียนตามเทรนด์ธุรกิจที่กำลังทำเงินอยู่ในตอนนี้ จนทำให้ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับเครื่องประดับและอัญมณี ได้รับการมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย
.
ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากให้ทุกคนได้มาทำความรู้จักกับ หลักสูตรเครื่องประดับและอัญมณี วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตบุคลากรวิชาชีพตอบสนองอุตสาหกรรมอัญมณีไทย ให้มากขึ้น ซึ่งในตอนนี้ วิทยาลัยที่เปิดสอนในหลักสูตรเครื่องประดับและอัญมณี ในประเทศไทย มีอยู่ 3 แห่งเท่านั้น คือ วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี กาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง และ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี
.
สำหรับ วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี เปิดทำการเรียนการสอนในระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 รวมเวลามาถึงตอนนี้ก็ประมาณ 13 ปีแล้ว เริ่มแรกเป็นวิชาชีพเลือกเสรี ที่เกี่ยวข้องกับวิชาในเชิงการอนุรักษ์ โดยเปิดพร้อมกับวิชาทอเสื่อ เพราะอัญมณีกับเสื่อกกจันทบูรถือเป็นสินค้าประจำจังหวัดจันทบุรี จึงเลือก 2 วิชานี้มาเป็นวิชาชีพเลือกเสรีให้นักศึกษาได้เรียน ซึ่งเนื้อหาวิชาหลัก คือ การเรียนในเรื่องการเจียระไนพลอยซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะของทางจังหวัดจันทบุรี
.
หลังจากนั้นในปี 2559 เริ่มมีการประกาศเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ ปวช. วิชาเครื่องประดับและอัญมณี จึงขยับฐานขึ้นมาเปิดเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ ก็คือ ปวช. และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง คือ ปวส. แต่สอนในแผนกวิชา โดยการเรียนการสอนจะสอนทั้งระบบปกติหรือทวิภาคี แล้วแต่นักเรียนจะเลือกเรียน ส่วน ปวส. ตอนที่เปิดปี 2559 เราเปิดเป็นสาขางานเครื่องประดับอัญมณีก่อน หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุงหลักสูตรในปี 2563 แล้วมาเปิดเป็นสาขางานออกแบบเครื่องประดับอัญมณีในระดับ ปวส.
.
ในระดับชั้น ปวช. นักศึกษาต้องเรียนเกี่ยวกับงานรูปพรรณ การขึ้นรูปตัวเรือน ซึ่งนักศึกษาไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานอะไรมาก่อนเพราะทางวิทยาลัยฯจะสอนให้หมด ทั้งในระดับ ปวช. และปวส. เด็ก ๆ ต้องมาเรียนพื้นฐานศิลปะใหม่ทั้งหมด ตามกลุ่มวิชาสมรรถนะวิชาชีพพื้นฐานจะมีวิชาศิลปะปูพื้นให้
.
ส่วนระดับ ปวส. ในหลักสูตรเก่านักศึกษา จะเรียนแบบทวิภาคี คือเรียนแค่ 1 ปี แล้วอีกปีหลังจากนั้นก็ไปฝึกงานกับสถานประกอบการทั้งปี ส่วนหนึ่งเด็กจะเรียนรู้เร็วเพราะว่าเด็กส่วนใหญ่จะจบ ปวช. มาแล้ว ก็จะมีพื้นฐานมา แต่การเรียนในระดับ ปวส. จะเน้นการเรียนรู้ในงานที่ซับซ้อนขึ้น โดยจะไปเรียนรู้ในสถานประกอบการ ซึ่งก็จะได้เรียนรู้ทักษะชีวิตไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมงานกับคนอื่น การรับ-ส่งงาน การตรวจสอบงาน โดยทักษะฝีมือที่กระบวนการอุตสาหกรรมต้องการจริงๆ นักศึกษาก็ต้องไปเรียนรู้ในสถานประกอบการจริง ในระบบทวิภาคีซึ่งเป็นนโยบายหลักของวิทยาลัยอาชีวศึกษาอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อศึกษาจบ นักศึกษาก็เลือกได้ว่าจะทำงานในภาคอุตสาหกรรม หรือมาเป็นเจ้าของธุรกิจเอง
.
โดยที่ผ่านมา จากการทำการเรียนการสอนในระบบทวิภาคี ได้มีการสร้างความร่วมมือกับทางสถานประกอบการ ส่งนักศึกษาไปเรียนรู้และฝึกงานในสถานที่ทำงานจริง ก็พบว่าเกิดผลดีในหลายทาง ทั้งนักศึกษาเองก็ได้เรียนรู้จากเครื่องไม้เครื่องมืออันทันสมัยในสถานประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อนักศึกษาที่ไปฝึกงานเรียนจบ ทางสถานประกอบการก็จะรับเข้าทำงานต่อทันที เพราะนักศึกษาคนนั้นได้ผ่านการเทรน อบรมทักษะการทำงาน ในแบบที่สถานประกอบการนั้นต้องการแล้ว
.
ถ้านักศึกษาต้องการเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ทางวิทยาลัยฯก็ได้สร้างความร่วมมือไว้กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ที่มีการเรียนการสอน คณะอัญมณีศาสตร์และประยุกต์ศิลป์ หรือที่ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ก็มีเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต (สาขาวิชาการออกแบบเครื่องประดับ) ซึ่งสามารถไปสมัครเพื่อศึกษาต่อได้เลยเช่นกัน
ที่มา https://www.salika.co/2022/09/28/jewelry-design-program-at-chantaburi-technical-college/