Thursday, 21 September 2023
CAREERS GUIDE

งานอนุรักษ์ไม่ใช่จิตอาสา แต่คือ “อาชีพแห่งอนาคต”

เก็บตกเวทีเสวนา SX Sustainability Expo 2022 คุยกับนักวิจัย นักสิ่งแวดล้อม ช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์เรื่อง “ก้าวต่อไปของอาชีพเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
.
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน น้ำท่วม ทำให้หลาย ๆ องค์กรหันมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันกับผู้บริโภคที่หันมาบริโภคในสิ่งที่เกิดผลดีต่อระบบนิเวศ เพราะหลายคนตระหนักได้ว่า “โลกเรากำลังมีปัญหา”
.
แต่ยังมีหลาย ๆ คนที่ไม่กล้าออกจากเซฟโซนกำแพงความคิดที่ขังตนเองไว้ว่า “งานสิ่งแวดล้อมเป็นแค่จิตอาสา ไม่สามารถเลี้ยงปากท้องได้” จึงเกิดเป็นงานเสวนา “การอนุรักษ์ไม่ใช่งานอาสา แต่คืออาชีพแห่งอนาคต” ที่จัดโดย NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย National Geographic (ประเทศไทย) ร่วมพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องและทำงานด้านนี้โดยตรง หาคำตอบกันจากปากนักวิจัย นักสิ่งแวดล้อม ช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์ว่า “อาชีพแห่งอนาคต” ในด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอย่างไร ทำไมพวกเขาถึงยังทำงานและขับเคลื่อนระบบนิเวศนี้อยู่
.
อเล็กซ์ เรนเดลล์ ผู้ก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา อธิบายว่า เมื่อก่อนตนเองเป็นคนที่สนใจเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม มีการลงพื้นที่บ้าง ศึกษางานเพิ่มเติมบ้าง มีทั้งจริงจังและไม่จริงจัง ซึ่งตอนแรกก็มองว่ามันเป็นงานจิตอาสา หรือ CSR ชนิดหนึ่ง แต่เมื่อมีโอกาสได้ไปร่วมการเสวนากับนักสิ่งแวดล้อมในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ตนเองนั่งอยู่ในห้องที่มีหลายคนมาพูดคุย หารือ หาทางออกให้กับสิ่งที่โลกเรากำลังจะเผชิญ
.
เช่น ภัยพิบัติ การทำให้คนสามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน จึงมองว่าเรื่อง “ธรรมชาติ” ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างดาร์ก เพราะมีหลายสิ่งอย่างที่กำลังเป็นปัญหาหนัก ๆ เนื่องจากมนุษย์นั้นมีมากกว่าทรัพยากรบนโลก ทำให้เข้าวงการศึกษาและวิจัยงานด้านนี้มาถึง 8 ปีเต็ม 
.
ทั้งนี้ อเล็กซ์มองว่า “การศึกษา” เป็นทางออกของหลาย ๆ ปัญหา เป็นตัวช่วยให้วิกฤติโลกต่าง ๆ ผ่านพ้นไปได้ การปลูกฝังและบ่มเพาะหลักสูตรที่สอดแทรกสิ่งแวดล้อมเข้าไปจะทำให้เยาวชนที่ค่อย ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่สามารถตระหนักได้ว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เป็นเทรนด์ แต่มันเป็นพาร์ตหนึ่งในชีวิตที่ทุกคนต้องช่วยกันทำ
.
“สิ่งแวดล้อมมันอยู่ในทุกอณูของชีวิตเรา ยกตัวอย่างเช่น คนที่ชอบเกี่ยวกับแฟชั่นที่ใช้น้ำเข้ามาเป็นส่วนประกอบเยอะ เด็กรุ่นใหม่ก็ต้องเข้ามามองว่าจะทำให้อย่างไรให้แฟชั่นมันมีผลกระทบกับโลกน้อยมากที่สุด การนำเรื่องการรีไซเคิ้ลมาประยุกต์ใช้ เอาพลาสติกที่ใช้แล้วมาทำเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น มันกลายเป็นเรื่องที่เท่ นี่แหละมันคือจุดเริ่มต้นของความยั่งยืน”
.
ก่อนหน้านี้อเล็กซ์ทำงานกับเด็ก ๆ โดยการทำค่ายลงพื้นที่ มีผู้ปกครองหลายคนที่ไม่อยากให้ลูกของตนเองทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เพราะยังมีความคิดว่า ทำงานด้านนี้จะไม่สามารถต่อยอดได้ในอนาคต
.
หากแต่ในปัจจุบัน สังเกตได้ว่าภาคองค์กร-ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก แม้แต่ตัวผู้บริโภคเองก็ยังเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จึงมองว่าในสายงานด้านนี้มีงานที่ให้ทำหลากหลายมากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน
.
“ไม่ว่าทุกคนจะจบสายไหนมา ก็สามารถเข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมได้ อาจจะทั้งทางตรงหรือทางอ้อม อยากให้ทุก ๆ คนได้เปลี่ยนความคิดว่า งานด้านอนุรักษ์ไม่ได้ใช้แค่แพชชั่นเพียงอย่างเดียว แต่มันสามารถเลี้ยงปากท้องของตนเองได้” อเล็กซ์ กล่าว
.
เช่นเดียวกันกับ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย นักชีววิทยาและช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์ที่ล้มลุกคลุกคลานกับอาชีพถ่ายภาพสารดี ตอนแรกตนเองนั้นไม่มีงานเข้ามา แต่เมื่อได้ถ่ายไปเรื่อย ๆ บวกกับแพชชั่นที่มีเต็มเปี่ยม ทำให้คนเริ่มเห็นผลงานและสนใจจ้างมากขึ้น จนตอนนี้ก็มีทีมและอยู่ในแวดวงของช่างภาพสารคดีที่มีหลายคนรู้จักผลงาน
.
การทำงานสื่อสารมีผลกระทบกับพฤติกรรมหรือความคิดของคน อาจจะเป็นส่วนน้อยหรือส่วนมากที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนบางอย่าง ศิรชัยได้ยกตัวอย่างภาพถ่ายพะยูนกำพร้า “มาเรียม” ที่เป็นกระแสตลอด 3-4 เดือน ทุกช่องต้องมีข่าวมาเรียม สิ่งนี้มันทำให้คนตระหนักเรื่องการใช้พลาสติกมากขึ้น จึงมองว่า “งานสื่อสาร” เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมได้
.
ธงรอง อ่างแก้ว ผู้ช่วยนักวิจัย ห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังต้องการบุคลากรด้านการวิจัยอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนที่สนใจวิจัยศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์ที่เฉพาะทางนั้นมีค่อนข้างน้อย จึงมองเห็นโอกาสของการเติบโตในด้านของการจ้างงาน แต่ประเด็นสำคัญคือ ทุนวิจัยเป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังขาด
.
ในส่วนของภาคเอกชนมีหลาย ๆ องค์กรที่มีทุนวิจัยเข้ามาสนับสนุน แต่ทางด้านธงรองย้ำชัดเจนว่า หากได้รับทุนวิจัยจากรัฐบาลหรือภาคองค์กรใหญ่ ๆ มากกว่านี้จะทำให้มีนักวิจัยหรืองานวิจัยที่เพิ่มขึ้น และขอบเขตของการศึกษาก็ไปได้มากขึ้น เพราะโครงการและแผนงานการพัฒนาต่างๆ จะเกิดขึ้นมาได้ ต้องอาศัย “ข้อมูล” มาช่วยในการวางแผนและการตัดสินใจทั้งหมด
.
“แต่ละงานกว่าเราจะต้องไปลงพื้นที่ เก็บข้อมูลซ้ำ ๆ ค่อนข้างใช้เม็ดเงินที่เยอะ คนที่เป็นผู้ช่วยภาคสนามก็ต้องมีรายจ่าย-รายเดือนเยอะเช่นเดียวกัน ซึ่งในต่างประเทศเขาให้ความสำคัญกับงานด้านสิ่งแวดล้อม คนที่ทำงานด้านนี้ก็จะได้รับผลตอบแทนที่สูง ขณะเดียวกันก็หวังว่าประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับอาชีพในสายนี้มากยิ่งขึ้น”
.
โลกต้องสร้างบุคลากรที่มองเห็นการเติบโตของตนเองด้านสิ่งแวดล้อมให้สามารถสร้างทีม และต่อยอดโครงการต่าง ๆ จนเกิดเป็นอาชีพได้ เพราะจะทำให้การอนุรักษ์ไม่ได้เป็นแค่งานจิตอาสา แต่จะเป็นอาชีพแห่งอนาคตเพื่อความยั่งยืน


ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1029519 
 

6 อาชีพสายดิจิทัลมาแรง จบใหม่ๆ ที่ไหนก็อยากรับ

โอกาสของการทำงานสาขาการตลาดดิจิทัล คณะบริหารธุรกิจ ตอบโจทย์กับยุคปัจจุบันมากที่สุด และสาขาการตลาดดิจิทัลยังมีการฝึกงานกับบริษัทชั้นนำที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ชั้นปีที่1 เน้นให้นักศึกษาเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จริง ที่สำคัญจบไปมีงานทำอย่างแน่นอน ชวนมาดูสายงานสาขาการตลาดดิจิทัลที่มาแรงกันเลยดีกว่า จะได้เห็นภาพกันมากขึ้น
.
ปฏิเสธไม่ได้เลยยุคนี้เป็นโลกของดิจิทัลและวิถีชีวิตแบบดิจิทัลอย่างแท้จริง ตั้งแต่เราตื่นนอน สิ่งแรกที่หลายๆ คนทำคือ เช็คข้อความแจ้งเตือน หรืออ่านข่าวสารต่างๆ ผ่านโทรศัพท์กันใช่ไหมคะ จะเห็นได้เลยว่าเครื่องมือดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากแค่ไหน จึงทำให้สายงานของการตลาดก็เปลี่ยนไปจากเดิม
.
1. นักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer) 
ปัจจุบันอาชีพ นักการตลาดดิจิทัลเป็นอาชีพที่คลาดแคลนและตลาดต้องการอย่างมาก น้องๆ ที่สนใจเรื่องการตลาดออนไลน์บวกกับชอบอัปเดตเทรนด์ต่างๆข่าวสาร ผ่านสื่อโซเชียล อาชีพนี้จะทำงานในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลการตลาดดิจิทัล  วิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ออกแบบและตรวจสอบแคมเปญการตลาด รวมถึงจัดหาช่องทางการลงสื่อดิจิทัล จัดทำสัญญา และประสานงานกับลูกค้า ดูแลด้านการตลาดดิจิทัลทั้งหมด เป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันของนักศึกษาการตลาดดิจิทัลทุกคนเลยก็ว่าได้ รายได้ของนักการตลาดดิจิทัล แน่นอนว่าต้องสูงกว่านักการตลาดทั่วไป รายได้เริ่มต้น 3-5 หมื่นบาท แต่แน่นอนว่าขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ซึ่งหมายความว่านักศึกษาการตลาดดิจิทัล ที่เข้าร่วมฝึกงาน เทียบเท่ากับมีประสบการณ์การทำงานแล้ว 1-2 ปีนั่นเอง
.
2. นักสื่อสารเนื้อหาคอนเทนต์ (Content Marketing)
ใครที่ชอบเขียนอยู่แล้วยิ่งดีเลย แต่อาชีพนี้เป็นมากกว่านักเขียน มากกว่าอย่างไร ขออธิบายง่ายๆว่า เป็นผู้นำเสนอเนื้อหาความรู้ในโลกออนไลน์ หรือ จะเรียกว่านักเขียนยุคดิจิทัลก็ได้ ซึ่งนักเขียนคอนเทนต์แต่ละคนก็จะมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันออกไป มักขึ้นอยู่กับความชอบ ไม่ว่าจะเป็นสายไอที สายกิน สายท่องเที่ยว สายยานพาหนะ สายแฟชั่น ต่างๆ นำข้อมูลเหล่านั้น ที่ผ่านจากประสบการณ์ หรือ จากการ Research มาวิเคราะห์และสรุปเป็นภาษาของเราเอง เขียนอย่างไรให้คนชอบ ใช้โครงสร้างคอนเทนต์แบบไหน ใช้กลยุทธ์อะไรในการเขียน แน่นอนว่าหลักสูตรการตลาดดิจิทัลของเรามีในส่วนของวิชา Digital Marketing Content and Design ซึ่งนักศึกษาที่ร่วมเข้าฝึกงานตั้งแต่ชั้นปีที่1 จะได้ประสบการณ์จริง ได้เขียนคอนเทนต์จริงๆ ให้กับบริษัทหรือองค์กร ทำหน้าที่ ตั้งแต่คิดหัวข้อคอนเทนต์ ถ่ายภาพสำหรับการทำคอนเทนต์ เขียนคอนเทนต์ คิดโครงสร้างคอนเทนต์ ขั้นตอนอื่นๆ อีกมากมาย ก่อนที่จะโพสต์ลงออนไลน์ และสอนการยิง ads โฆษณาอีกด้วย ถือประสบการณ์ที่ดี ที่หาไม่ได้จากที่ไหน
.
3. ผู้จัดการโซเชียลมีเดีย (Social Media Admin)
ในยุคนี้สื่อโซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือที่สำคัญของต่อการทำธุรกิจอย่างมาก เพราะอย่างนี้แบรนด์ องค์กรหรือบริษัทจำเป็นต้องมี Social Media อย่างน้อย 1 ช่องทางเพื่อไว้สื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภค ดังนั้นจึงมีอาชีพผู้จัดการโซเชียลมีเดียหรือที่เรียกกันว่าการเป็น “แอดมิน” นั่นเอง การเป็นแอดมินนั้นมีหลายฝ่าย ฝ่ายดูแลคอนเทนต์ ฝ่ายตัดต่อ ฝ่ายโฆษณาเป็นต้น เป็นแอดมินไม่จำเป็นต้องทำงานอยู่ที่บริษัทเท่านั้น มีความเป็นอิสระ สามารถทำงานที่บ้านก็ได้ ขอแค่มีอินเตอร์เน็ตกับโน๊ตบุ๊คคู่ใจสักเครื่องก็เพียงพอแล้ว หลายคนอาจจะนึกถึงการเป็นแอดมินมีแค่ Facebook แต่จริงๆ แล้วช่องทางอื่น ใน Social Media จำเป็นต้องมีแอดมินเช่นกัน ไม่จะว่าจะเป็น Website Line Instagram Twitter  อื่นๆ อีกมากมาย และเชื่อว่าในอนาคต ต้องจะมีช่องทางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน
.
4. ผู้เชี่ยวชาญด้าน SEM (SEM Specialist)
อะไรคือ SEM อาชีพนี้มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง อธิบายแบบง่ายๆ SEM หรือ Search Engine Marketing เหมือนการที่เราประมูลพื้นที่สำหรับโฆษณา เพื่อให้ขึ้นเป็นอันดับแรกของ Google โดยการจ่ายเงิน เพื่อให้ธุรกิจเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น SEM จึงมีความสำคัญต่อธุรกิจออนไลน์อย่างมาก เพราะ หากเว็บไซต์ได้รับความสนใจ ก็หมายความว่าคุณสามารถทำรายได้ทั้งจากการขาย ความนิยม และจำนวนคนเข้าชม และนั่นหมายถึงจำนวนรายได้ที่ตามเข้ามานั่นเอง จึงทำให้บริษัทหรือองค์กรต่างๆ ที่มีเว็บไซต์ จำเป็นต้องจ้างทำ SEM นั่นเอง เป็นอีกอาชีพในสาขาการตลาดดิจิทัลที่น่าสนใจมากๆ
.
5. นักวางแผนโฆษณา (Biddable Media)
เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยิน อาชีพนี้มีหน้าที่ในการวางแผนการซื้อสื่อโฆษณาให้เหมาะสมกับลูกค้าและเป้าหมายต่างๆ จัดแจงงบประมาณว่าควรจะซื้อสื่อประเภทไหน สามารถอธิบายแนะนำลูกค้าว่าทำไมถึงเลือกใช้สื่อโฆษณานี้ ควบคุมงบประมาณตามที่ตั้งไว้ ซึ่งสมัยก่อนการโฆษณาก็ต้องผ่าน TV หนังสือพิมพ์หรือไม่ก็ตามป้ายโฆษณาทางแยกเท่านั้น แต่ปัจจุบันสื่อมีเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook Instagram ที่ปรากฏอยู่หน้าฟีดหรือเรื่องราว YouTube ที่จะมีโฆษณาที่ขึ้นก่อนคลิปจะมาหรือแทรกอยู่ระหว่างคลิปก็ตาม หรือแม้แต่ Google เราจะใส่คีย์เวิร์ด เพื่อให้เว็บของเราอยู่อันแรกและเด่นชัดที่สุด เหล่านี้ล้วนใช้ความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีหรือดิจิทัลทั้งสิ้น ใครที่ชอบด้านนี้ ถือว่าเป็นอาชีพที่มาแรงและมีการเติบโตทางสายงานอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นเด็กจบใหม่สาขาการตลาดดิจิทัลไม่ตกงานอย่างแน่นอน
.
6. ธุรกิจส่วนตัว (Personal Business) 
เหมาะมากๆ กับคนที่มีธุรกิจออนไลน์อยู่แล้ว หรือมีความคิดที่อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพราะม.กรุงเทพ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้มีโอกาสพบกับอาจารย์พิเศษหรือวิทยากรที่ทำงานในบริษัทชั้นนำมาให้ความรู้และแชร์ประสบการณ์การทำงาน โดยเราจะสอนการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด จะมีวิธีการนำเสนอสินค้าของตนเองอย่างไรโดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ เพราะฉะนั้นหลักสูตรการตลาดดิจิทัลมีส่วนช่วยให้นักศึกษาประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน อยากเป็นวัยรุ่นเงินล้าน อยู่ใกล้แค่เอื้อมจริงๆ


ที่มา https://www.bu.ac.th/th/bu-magazine/view/354?fbclid=IwAR3UfNzi4iHPawq8zM6663BM_YCteh6KU9qUtepxJY7CoOuuiHwo8rg6AVY 
 

เรียนแพทย์ 6 ปี ต้องเจออะไร ? แกะเส้นทางสู่วิถีอาชีพ “หมอ”

อยากเป็นหมอ!! หมอ แพทย์ เป็นอาชีพต้นๆ ที่น้องๆ หลายๆคนใฝ่ฝันอยากจะเป็น โดยกว่าจะเป็นหมอได้นั้น ก็จะต้องเรียนอย่างหนักในขั้นต้นเพื่อเข้าในคณะแพทยศาสตร์ และเมื่อเข้าไปเรียนในคณะแพทยศาสตร์ได้แล้วนั้น จะต้องเจออะไรบ้าง สำหรับเส้นทางสู่วิถีอาชีพหมอ เข้าสู่คณะแพทยศาสตร์ เขาเรียนอะไรกันบ้าง
.
เรียนปี 1 ปรับพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ ม.ปลาย
จะเน้นวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ (ที่ใช้ในการแพทย์) เป็นหลัก ซึ่งคือการเรียนปรับพื้นฐานโดยใช้ความรู้จาก ม.ปลายนั่นเอง
.
เรียนปี 2 ก้าวสู่การเป็นแพทย์
เรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์ของแพทย์เพิ่มขึ้น โดยเรียนเกี่ยวกับโครงสร้างร่างกายและระบบการทำงานของร่างกายอย่างละเอียด เช่น ระบบประสาท ระบบเลือด ฯลฯ นอกจากนี้ยังเรียน วิชาทางกายวิภาค สรีรวิทยา พันธุศาสตร์ เป็นต้น และยังได้พบกับอาจารย์ใหญ่และคำปฏิญาณด้วย
.
เรียนปี 3 เรียนร่างกาย
หลักภูมิคุ้มกัน , ปรสิตวิทยา, พยาธิทั่วไป, เวชศาสตร์ชุมชนฯ และยาขั้นพื้นฐาน ในเภสัชวิทยา
.
เรียนปี 4 ก้าวแรกสู่คลินิก
เป็นปีแรกที่ก้าวเข้าสู่ชั้นคลีนิก เรียนรู้และทดลองดูแลคนไข้จริงที่โรงพยาบาล ซึ่งจะได้วนไปตามวอร์ดต่างๆ จนครบ จะเป็นปีที่สนุก ต้องตื่นเช้าและนอนดึก เป็นปีที่ไม่มีเวลา เพราะจะเรียนหนักมากเช่นกัน
.
เรียนปี 5 หนักหน่วงเพื่อแพทย์
ในการเรียนของปีที่ 5 จะมีรูปแบบคล้ายปีที่ 4 คือแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย และวนไปตามวอร์ดต่างๆ ตลอดทั้งปี แต่จะเป็นวอร์ดที่ไม่เคยเจอในปี 4 เช่น แผนกจิตเวช, แผนกนิติเวช เป็นต้น
.
เรียนปี 6 Extern
ปีสุดท้าย ความฝันอยากเป็นหมอใกล้เป็นจริง จะได้ทำงานจริงเหมือนแพทย์ตามโรงพยาบาล ตรวจคนไข้รักษา เย็บแผลเอง ทำคลองเอง ทำการผ่าตัดเล็กๆ เรียกว่าได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมด และยังได้ไปฝึกที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดด้วย เมื่อสอบ ก็จะได้จบมาเป็นหมอแล้ว
.
ทั้งนี้หลังจากเรียนจบ มาแล้ว ก็ยังมีการเรียนเฉพาะเจาะลึกของแต่ละด้าน ตามระดับ ซึ่งจะถูกเรียกแตกต่างกัน
.
แพทย์ใช้ทุน (อินเทิร์น , Intern)
โดยทั่วไปการ intern นี้กินเวลา 3 ปี แต่บางคนอาจจะออกมาก่อน Intern ก็คือหมอที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตร์ 6 ปี โดยนักศึกษาแพทย์คนไหนที่เรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐต้องไปเป็นคุณหมอใช้ทุนที่โรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลทั่วไปเพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์


แพทย์ประจำบ้าน (เรสซิเด้นท์ , Resident)
คือแพทย์ที่เรียนจบแล้ว และตัดสินใจกลับมาเรียนต่อในสาขาที่ตนสนใจ หรือเรียกง่ายๆว่ามาเรียนต่อเฉพาะทางนั่นเองครับ
.
แพทย์ประจำบ้านต่อยอด (เฟลโล่ชิป , Fellowship)
คือแพทย์ประจำบ้านที่จบการเรียนต่อเฉพาะทางในสาขาใดสาขาหนึ่ง แต่ในสาขานั้นๆยังคงมีเจาะลึกลงไปอีก เช่น สาขาอายุรศาสตร์ มีสาขาต่อยอดขึ้นไปอีก เช่น อายุรศาสตร์โรคหัวใจ อายุรศาสตร์โรคทางเดินอาหารเป็นต้น
.
สตาฟ หรือ staff คือเเพทย์ผู้ที่จบ เฉพาะทางหรือ เฉพาะทางต่อยอดเเละทำงานในโรงพยาบาลต่างๆ


ที่มา https://www.ondemand.in.th/%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%AD-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C-6 
 

กว่าจะมาเป็นจิตแพทย์ หมอผู้รักษาและเยียวยาโรคซึมเศร้า

เชื่อว่าทุกคนคงจะเคยได้ยินข่าว หรือได้ยินคนรอบตัวคุยกันเรื่องโรมซึมเศร้ากันมาบ้าง ซึ่งจะมีอาการจำพวก เบื่อ นอนไม่หลับ เครียดสะสม เศร้าสะสม ไม่มีสมาธิ และรู้สึกไร้ค่า เวลาคุยเรื่องโรคซึมเศร้าทีไร อาชีพที่จะถูกพูดถึงอยู่ตลอดเวลาก็คือจิตแพทย์ ซึ่งเป็นหมอเฉพาะทางที่มีหน้าที่รักษาและพูดคุยกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เราไปทำความรู้จักอาชีพจิตแพทย์กันว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง และต้องเรียนอะไรบ้างถึงจะเป็นจิตแพทย์ได้
.
เส้นทางสู่การเป็นจิตแพทย์นั้น เริ่มต้นจากการเรียนหมอทั่วไปที่คณะแพทยศาสตร์ 6 ปี จากนั้นก็ไปทำงานเพิ่มพูนทักษะและใช้ทุนที่ต่างจังหวัด 3 ปี ก่อนจะกลับมาเรียนแพทย์เฉพาะทางในภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หรือที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา โดยเรียนเป็นเวลา 3 ปี สำหรับหลักสูตรจิตแพทย์ทั่วไป และ 4 ปี สำหรับหลักสูตรจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เมื่อเข้ามาเรียนแล้ว ระหว่างนี้เราจะเรียกว่าเป็นแพทย์ประจำบ้านจิตเวชศาสตร์ (resident in psychiatry)
.
ในส่วนเนื้อหาการเรียน ปี 1 จะเรียนจิตเวชศาสตร์พื้นฐานทั่ว ๆ ไป ทฤษฏีต่าง ๆ ทางจิตวิทยา ความผิดปกติทางจิต และโรคทางจิตเวชและการรักษา เมื่อเข้าสู่ช่วงปีที่ 2 แล้ว จะเน้นการดูแลผู้ป่วยโรคทางร่างกายและที่มีปัญหาทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า เมื่อก้าวสู่ปีสุดท้าย ก็จะเรียนลงลึกมากขึ้น เช่น เรียนเกี่ยวกับผู้ติดยาเสพติด จิตเวชชุมชน การทำจิตบำบัดแนวลึก เป็นต้น
.
เมื่อเรียนจบ 3 หรือ 4 ปีแล้ว ก็จะมีการสอบใหญ่รวมทุกสถาบัน โดยราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย โดยใช้เวลาสอบประมาณ 7 วัน ทั้งการสอบข้อเขียนและสอบปฏิบัติ เมื่อสอบผ่านแล้วก็จะได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบอาชีพวิชาชีพเวชกรรม สาขาจิตเวชศาสตร์ จากแพทยสภา มาถึงตรงนี้ก็ถือว่าได้เป็นจิตแพทย์ พร้อมทำหน้าที่รักษาโรคซึมเศร้า และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ แล้ว
.
หน้าที่ของจิตแพทย์มีอะไรบ้าง ? 
หน้าที่ของจิตแพทย์นั้น นอกจากจิตแพทย์จะทำหน้าที่รักษาโรคซึมเศร้าแล้ว จิตแพทย์ยังมีหน้าที่อื่น ๆ อีก ได้แก่
1. ให้คำปรึกษา และแนะนำ ปัญหาต่างๆ เช่น ปรึกษาปัญหาครอบครัวปัญหาพัฒนาการเด็ก  ปัญหาการเรียน ปัญหาชีวิตคู่  ปรึกษาปัญหาก่อนแต่งงาน  ปัญหาความขัดแย้งในใจ
2. รักษาโรคทางจิตเวช (Psychiatric disorders) ตัวอย่าง เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรควิตกกังวล โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นต้น
3. รักษาโรคทางระบบประสาท (Neurology) และประสาทจิตเวช (Neuropsychiatry)คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างบางส่วนของสมอง แล้วมีผลทำให้เกิดปัญหาเรื่องอารมณ์ พฤติกรรมและอาการทางจิต เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)  ภาวะบาดเจ็บที่สมอง (Traumatic brain injury) เป็นต้น
4. เป็นส่วนหนึ่งในทีมรักษาร่วมกับแพทย์สาขาอื่นๆ เพื่อร่วมกันดูแลรักษาในแบบองค์รวม เช่น หน่วยผู้ป่วยวาระสุดท้าย (end of life care), หน่วยรักษาความเจ็บปวด (pain unit), การปลูกถ่ายอวัยวะ (organ transplantation), หน่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke unit) เป็นต้น
.
จะเป็นจิตแพทย์ได้ต้องพูดเก่งไหม ? 
หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าต้องให้คำปรึกษา และแนะนำคนไข้อยู่ตลอดเวลา จะต้องเป็นคนพูดเก่งแน่ ๆ เลย ในความเป็นจริงแล้ว คนที่เป็นจิตแพทย์ไม่จำเป็นต้องพูดเก่งเสมอไป คนไข้บางคนอาจพูดเก่ง และต้องการจิตแพทย์ที่รับฟังเขา หรืออาจจะกลับกัน ไม่ว่าเราจะเป็นคนพูดเก่งหรือไม่ค่อยพูด สร้างความสัมพันธ์เก่งหรือไม่เก่งก็ตาม เมื่อเข้ามาฝึกเป็นแพทย์เฉพาะทางแล้ว เราจะได้รับการสอนให้รู้ว่า สถานการณ์ไหนควรพูด และสถานการณ์ไหนควรเป็นผู้ฟัง โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนบุคลิกตัวเอง เพราะฉะนั้นแล้ว พูดไม่เก่ง เป็นคนเงียบ ก็สามารถเป็นจิตแพทย์ได้ ถ้ามีใจรักในอาชีพนี้
.
แล้ว “จิตแพทย์” แตกต่างกับ “นักจิตวิทยาคลินิก” ยังไง ? 
อีกข้อ ที่หลาย  ๆ คนตั้งคำถามก็คือ จิตแพทย์ต่างจากนักจิตวิทยายังไง ?  คำตอบก็คือ ถึงแม้จิตแพทย์และนักจิตวิทยาจะมีหน้าที่ฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยเหมือนกัน แต่ทั้งคู่ก็ทำงานต่างกัน โดยจิตแพทย์ คือ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวช มีความเชี่ยวชาญด้านการวินิจฉัยและรักษาอาการป่วยทางจิต ขณะที่นักจิตวิทยา คือ ผู้ที่เรียนทางจิตวิทยาและได้รับการฝึกจนเป็นนักจิตวิทยาคลินิก มีหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือบำบัดผู้ป่วยด้วยการพูดคุย แต่นักจิตวิทยาจะไม่สามารถสั่งจ่ายยาหรือวินิจฉัยอาการทางการแพทย์ได้ โดยทั่วไป นักจิตวิทยาและจิตแพทย์มักทำงานร่วมกันเพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตของผู้ป่วย
.
ต้องบอกว่ากว่าจะมาเป็นอาชีพจิตแพทย์ได้นี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย แต่ก็เชื่อว่าหลาย ๆ คนมีใจรักที่อยากจะรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่น ๆ  ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยด้านจิตเวชมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจิตแพทย์คือแพทย์คนสำคัญที่จะช่วยเหลือพวกเขา ใครที่อยากเป็นจิตแพทย์ ขอให้สู้ ๆ และโชคดีได้เป็นจิตแพทย์สมใจนะ


ที่มา https://www.webythebrain.com/article/known-to-psychiatrist
 

แอร์โฮสเตส อาชีพนี้เรียนคณะอะไร ?

อาชีพแอร์โฮสเตสเป็นอาชีพในฝันของใครหลายๆคน แอร์โฮสเตสเรียนคณะอะไร? หลายคนเข้าใจผิดว่าต้องจบตรงสายถึงจะเป็นแอร์โฮสเตสหรือสจ๊วตได้ อยากเป็นแอร์โฮสเตสเรียนกี่ปี?  แอร์โฮสเตสต้องเรียนสายอะไร? แต่จริงๆแล้วทุกสายการบินไม่เคยมีการระบุว่าจะต้องจบคณะอะไรมาถึงจะเป็นแอร์โฮสเตสได้
.
อาชีพแอร์โฮสเตสเป็นอาชีพที่มีรายละเอียดเฉพาะตัวมาก ๆ นอกจากที่เราเห็นว่าอาชีพแอร์โฮสเตสจะต้องบริการผู้โดยสารแล้ว อาชีพนี้ยังต้องทำหน้าที่อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปฐมพยาบาล, นักดับเพลิง, ควบคุมสถานการณ์, ดูและความปลอดภัย, เลี้ยงเด็ก, ดูแลภาพลักษณ์ หรืออื่นๆ ทำให้ความจริงแล้วอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหรือ ที่เราเรียกกันสั้นๆว่า ‘แอร์’ นั้นต้องการคนที่มีความสามารถรอบด้าน ดั้งนั้นเพื่อตอบคำถามที่ว่า แอร์โฮสเตสเรียนคณะอะไร? บอกได้เลยตรงนี้ว่า เรียนคณะอะไรก็สามารถเป็นแอร์โฮสเตสได้เหมือนกันหมด เพราะหากเรามองกันลึกๆ ทุกสายวิชาก็จะเป็นสายที่มีความสามารถเฉพาะทางที่เกิดประโยชน์กับอาชีพนี้ได้ทั้งนั้น


เส้นทางสู่อาชีพแอร์โฮสเตสนั้นหากเรามีความรู้ด้านภาษา และ ภาษาที่ 3 ก็จะสามารถสร้างโอกาสที่มากขึ้นให้กับผู้สมัครได้ เพราะความจริงแล้วสายการบินทุกสายสามารถสอนเราทุกเรื่องที่เราควรรู้บนเครื่องบินได้ภายในเวลา 3 เดือน แต่สำหรับภาษา สายการบินเค้าไม่มีเวลามาสอนเรา ดังนั้นนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า สายการบินจะต้องมีการสอบภาษาหรือให้ยื่นผลภาษาก่อนเข้านั่นเอง ดังนั้นทางที่ดีการเลือกเรียนสายภาษาจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับผู้ที่อยากพัฒนาในภาษาอังกฤษ หรือมั่นใจในภาษาอังกฤษของตัวเองในระดับนึงแล้ว การมีภาษาที่ 3 ก็จะเป็นตัวเลือกที่จะทำให้เราดูน่าสนใจกับสายการบินมากยิ่งขึ้น 


เรื่องน่าสนใจของแต่ละคณะกับการสมัครแอร์ฯ
หลังจากที่ทราบแล้วว่าจบคณะอะไรก็สามารถเป็นแอร์โฮสเตส / สจ๊วตได้ มาทำความรู้จักกันดีกว่าว่าแต่ละคณะที่เรากำลังเรียนหรือกำลังจะจบมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง เมื่อต้องไปสมัครเป็นแอร์ 
.
1. คณะบริหารธุรกิจ สาขาบริหารการบิน หรือ สาขาการจัดการธุรกิจการบิน
หลายคนที่มีความฝันอยากเป็นแอร์โฮสเตสมักจะสนใจในสาขานี้เนื่องจากมองว่าน่าจะใกล้เคียงกับแอร์โฮสเตสมากที่สุด หากแต่เราได้ศึกษาอย่างลึกๆ แล้ว สาขานี้เป็นสาขาที่เกี่ยวกับการจัดการด้านการบินทั้งหมด และเทคนิคการบริหารการบินในหลากหลายแง่มุม หากใครที่เลือกสาขานี้เราจะต้องเรียนและทำความเข้าใจกับอาชีพที่เกี่ยวกับการบินในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงานตั้งแต่ภาคพื้นไปจนถึงงานบนเครื่องบิน แต่หากตั้งใจอยากจะเรียนสาขานี้เพื่อเป็นแอร์โฮสเตสอย่างเดียวอาจจะทำให้เราจะต้องเรียนในส่วนอื่นที่เราอาจจะไม่สนใจ แต่สำหรับใครที่มีความหลงใหลทางด้านการบินมาก ๆ ก็อาจจะสนุกและตื่นตาที่เราจะได้รู้ทุกแง่มุมของการบริหารจัดการธุรกิจการบิน
.
2. คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว
สาขานี้จะเสริมให้มีทักษะในด้านอุตสาหกรรมบริการ พัฒนาความรู้ในเรื่องการจัดการด้านการท่องเที่ยวและคุณลักษณะของบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งก็เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบงานบริการ อาชีพแอร์โฮสเตสก็เป็นอีกอาชีพที่เราจะต้องบริการและให้ความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร หากเป็นคนที่ชอบงานด้านบริการและการท่องเที่ยวอยู่แล้ว สาขานี้ก็เป็นอีกสาขานึงที่เหมาะสำหรับผู้ที่ที่มีความฝันอยากเป็นแอร์โฮสเตส
.
3. คณะนิเทศศาสตร์ หรือ คณะที่เกี่ยวกับการสื่อสารมวลชน
เป็นสาขาที่จะได้พัฒนา การพูดการสื่อสาร ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญส่วนหนึ่งของอาชีพแอร์โฮสเตสเช่นกัน แอร์โฮสเตสจะต้องเป็นคนที่มีการสื่อสารที่ดี รู้จักการวางตัว การพูดคุย รวมถึงจะต้องเป็นคนที่อยู่ต่อหน้ากับคนหมู่มากอยู่ตลอดเวลาทำให้ การเลือกเรียนสาขานี้ก็จะทำให้เราเลือกใช้การพูดที่เหมาะสม และยังเป็นคนที่สามารถพูดให้คนรอบข้างรู้สึกดึงดูดได้ตลอดเวลา
.
4. คณะอักษรศาสตร์, มนุษยศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์ 
สำหรับผู้ที่กำลังเลือกเรียนในสาขาเหล่านี้ จะมีเอกที่เกี่ยวกับภาษาเราสามารถเลือกที่จะพัฒนาด้านภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาที่สามก็ได้ หากมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษที่แน่นแล้วเราอาจจะเลือกเรียนคณะนี้เพื่อเน้นเพิ่มเติมด้านภาษาที่ 3 ก็ได้เพื่อที่จะทำให้เราได้เปรียบมากกว่าผู้สมัครแอร์คนอื่น ๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกภาษาที่ 3 ที่สายการบินสนใจ เราจะต้องดูด้วยว่าสายการบินที่เราสนใจเค้ามีเส้นทางเดินทางไปประเทศไหนจำนวนมาก ซึ่งสายการบินที่สนใจภาษาที่ 3 อันดับต้น ๆ มีตัวอย่างเช่น จีน , ญี่ปุ่น, เกาหลี แต่หากเราได้ภาษาที่ 3 ที่นอกเหนือจากนี้ก็อาจจะเป็นที่สนใจของสายการบินแต่ก็อาจจะไม่เยอะมาก
.
5. คณะศึกษาศาสตร์, ครุศาสตร์ 
คณะนี้เป็นสายที่หลายคนมองว่าเป็นคณะที่เกี่ยวกับอาชีพครูหรืองานอาจารย์ คณะนี้ถือว่าจะเลือกเรียนได้ทั้ง ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปะศาสตร์และอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็นำมาปรับใช้กับอาชีพแอร์โฮสเตสได้เช่นกันไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา หรือทักษะการเข้าใจคน เข้าใจผู้เรียน เข้าใจคนอื่นและ รู้จักการจัดการ
.
6. คณะสังคมศาสตร์ หรือ รัฐศาสตร์
ทั้ง 2 คณะนี้เราจะต้องเป็นคนที่เข้าใจสังคมเข้าใจภาพรวมของสังคม วัฒนธรรม และการปกครอง ทั้งภายในและต่างประเทศ เราจะได้เรียนรู้การเจรจา การวางแผน การเข้าใจคนหมู่มากเพื่อที่จะสามารถเข้าใจคนอื่นๆได้ง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับงานอาชีพแอร์โฮสเตสที่จะต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงานและต้อนรับผู้โดยสารมากมายทั่วโลก
.
7. คณะวิทยาศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, นิติศาสตร์, สถาปัตย์ หรือ อื่นๆ
หลายคนอาจจะมองว่าสาขาเหล่านี้ดูไม่เกี่ยวข้องกับอาชีพแอร์โฮสเตสเลยแต่ต้องบอกเลยว่าจริง ๆ แล้วสาขาเหล่านี้ก็ทำให้เรามีความรู้และเป็นแอร์โฮสเตสได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการ การวางแผน ความใส่ใจในรายละเอียด หรือ ความที่เราชั่งสังเกตและระมัดระวังก็สามารถทำให้กรรมการคัดเลือกสนใจได้เช่นกัน



ดังนั้นอย่างที่บอกตั้งแต่ข้างต้น ไม่ว่าจะเลือกเรียนคณะอะไรก็สามารถที่จะทำงานในสายอาชีพแอร์โฮสเตสได้อย่างแน่นอน เพียงแต่เราจะต้องมีความชำนาญในด้านนั้น ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์กับสายการบินซึ่งเราอาจจะเป็นคนที่กรรมการต้องการก็ได้ แต่อย่างไรก็แล้วแต่ไม่ว่าจะเก่งด้านอะไร สิ่งที่ขาดไม่ได้นั่นคือเรื่องของภาษาอังกฤษ เราจะต้องมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับอาชีพนี้ ดังนั้นเราจะต้องไม่ลืมพัฒนาตนเองควบคู่ไปกับการพัฒนาภาษาอังกฤษอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน 


ที่มา https://crewwingseducation.com/tips/cabincrew-faculty/ 
 

เรียน “บริหารธุรกิจ” จบมาแล้วทำงานอะไรได้บ้าง ?

คณะบริหารธุรกิจ ถือเป็นอีกหนึ่งคณะที่มีการเรียนการสอนครอบคลุมความรู้ในหลากหลายสาขาวิชา แตกต่างกันไปในแต่ละสถาบัน ซึ่งหลักสูตรของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในประเทศก็จะประกอบไปด้วยสาขาหลักๆ ที่คล้ายคลึงกัน เช่น การจัดการทั่วไป การเงินและการธนาคาร การบัญชี การตลาด การผลิต การบริหารงานบุคคล โลจิสติกส์ ธุรกิจการประกันภัย ประกันชีวิตและสุขภาพ เป็นต้น


เอาล่ะ สำหรับใครที่มีคำถาม อยากจะรู้ว่าเมื่อเข้ามาเรียนคณะบริหารและจบมาแล้วสามารถจะประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง ตามมาดูบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจได้เลย
.
1. นักธุรกิจ/เจ้าของธุรกิจส่วนตัว
การเรียนบริหารจะทำให้เรารู้หลักพื้นฐานในการประกอบธุรกิจต่างๆ เช่น หลักการวางแผน การจัดการ การบริหารทรัพยากรบุคคล การจัดการเชิงกลยุทธ์ ซึ่งขั้นตอนและหลักการเหล่านี้จะทำให้เรามีพื้นความรู้ในสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองได้
.
2. นักการธนาคาร/นักลงทุน
สำหรับคนที่เรียนจบคณะบริหาร สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร คุณจะสามารถบริหารเงินอย่างสร้างสรรค์ รู้หลักโครงสร้างการบริหารสถาบันการเงินและตลาดหลักทรัพย์ หลักการลงทุน นโยบายการเงินการคลัง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานบริการด้านการเงิน บริหารสินเชื่อ วิเคราะห์หลักทรัพย์ งานการธนาคาร งานลงทุน และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
.
3. นักการตลาด
สาขาการตลาด จะทำให้คุณเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค มีการวางแผนการตลาดอย่างสร้างสรรค์ ฝึกวิจัยการตลาดและการส่งเสริมการขาย พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีในการวางแผนทางการตลาด ทำงานวิจัยการตลาด บริหารลูกค้าสัมพันธ์ และงานการขายอื่นๆ ซึ่งสาขานี้ถือเป็นงานที่ขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาดงานอย่างมากในปัจจุบันรวมทั้งเป็นสายงานที่มีค่าตอบแทนสูงอีกสาขาหนึ่ง
.
4. พนักงานฝ่ายบุคคล
ในการเรียนคณะบริหารธุรกิจ สิ่งสำคัญที่จะได้ในหลักการเบื้องต้นทุกอย่างคือ เรื่องการสรรหาคัดเลือกบุคคลที่มีคุณภาพ จัดการฝึกอบรม พัฒนา ประเมินผลงานบุคคลทุกหน่วยงานในองค์กร เพื่อสามารถวางแผนกำลังคน จ่ายค่าตอบแทน และทำแรงงานสัมพันธ์ได้ ซึ่งอาชีพที่ต่อยอดจากการเป็นพนักงานฝ่ายบุคคล คือ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ผู้จัดการแผนกการจ้างงาน เป็นต้น
.
5. ผู้บริหาร/ผู้จัดการ ในองค์กรต่างๆ
ด้วยศาสตร์ความรู้ที่หลากหลายครอบคลุมการบริหารและการจัดการ ทำให้ตำแหน่งงานของผู้ที่เรียนจบคณะนี้มีไม่จำกัดโดยผู้ที่จบจากคณะบริหารธุรกิจสามารถทำงานในตำแหน่งผู้บริหารหรือผู้จัดการในองค์กรเอกชนหรือหน่วยงานราชการได้ ทุกภาคส่วน


ที่มา https://www.admissionpremium.com/business/news/2184 
 

หมอแล็บ เขาเรียนอะไรกัน รีวิวคณะเทคนิคการแพทย์แบบสังเขป

เชื่อว่าน้อง ๆ ม.ปลายหลายคนคงได้เคยยินชื่อ คณะเทคนิคการแพทย์ หรือคณะสหเวชศาสตร์ กันมาบ้างแล้วอย่างแน่นอน แต่ก็ยังคงมีน้อง ๆ หลายคนที่ไม่รู้ว่าคณะเรียนเกี่ยวกับอะไร เรียนเหมือนกับแพทย์หรือเภสัชศาสตร์หรือเปล่า จบมาแล้วทำงานอะไรได้บ้าง มีมหาวิทยาลัยไหนเปิดสอนบ้าง และถ้าจะสมัครเข้าศึกษาต่อจะต้องใช้คะแนนอะไรบ้าง ในบทความนี้ ได้รวบรวมข้อมูลน่ารู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับคณะเทคนิคการแพทย์มาให้น้อง ๆ ได้ศึกษาทำความเข้าใจกันก่อนสมัครเรียน ถ้าพร้อมไปลุยกันเลย


คณะเทคนิคการแพทย์ เรียนเกี่ยวกับอะไร?
เทคนิคการแพทย์ (Medical technologist) หรือที่ทุกคนมักจะเรียกกันว่า หมอแล็บ เป็นสาขาวิชาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเป็นงานที่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังการรักษาของคุณหมอ โดยมีหน้าที่ในการตรวจสอบระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคและการติดตามการรักษา เช่น การตรวจสารชีวเคมีในเลือด ปัสสาวะ น้ำคัดหลั่ง เซลล์เม็ดเลือด การตรวจวิเคราะห์พยาธิ การตรวจแยกชนิดและการทดสอบยาปฎิชีวนะ การตรวจภูมิคุ้มกันต่างๆ การเพาะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ
.
นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการวิเคราะห์สารเสพติดและสารพิษในร่างกาย ในอาหาร และในสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ยาบ้า เฮโรอีน สารตะกั่ว และสารปรอท เป็นต้น คณะเทคนิคการแพทย์เรียน 4 ปีด้วยกัน โดยในแต่ละปีการศึกษาน้อง ๆ จะเจอวิชาเรียน ดังต่อไปนี้
.
ชั้นปีที่ 1 น้อง ๆ จะเรียนปรับพื้นฐานด้านวิทย์-คณิตในวิชาต่าง ๆ อาทิ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ (เน้นเรื่องสถิติและแคลคูลัส) ภาษาอังกฤษ สังคมศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น 
.
ชั้นปีที่ 2 จะเริ่มมีการปูพื้นฐานให้น้อง ๆ มีความเข้าใจถึงระบบต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์มากยิ่งขึ้น ทั้งระบบการทำงานต่าง ๆ ภายในร่างกาย โครงสร้างกระดูก กล้ามเนื้อ ระบบประสาท เคมี และชีวโมเลกุลที่เป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต
.
ชั้นปีที่ 3 จะเรียนวิชาเฉพาะด้านเทคนิคการแพทย์ โดยจะเรียนเกี่ยวกับการตรวจสอบสารคัดหลั่งของมนุษย์เพื่อนำมาใช้ในการวินิจฉัย การติดตามโรค การพยากรณ์โรค การป้องกันโรค ตัวอย่างวิชาที่เรียน เช่น โลหิตวิทยาคลินิก ซึ่งเรียนเกี่ยวกับการตรวจแยกเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว ฯลฯ
.
และในชั้นปีที่ 4 จะเป็นการทำวิทยานิพนธ์และฝึกปฏิบัติงาน โดยในเทอมที่ 1 จะเรียนเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีด้านเทคนิคการแพทย์ กฎหมายวิชาชีพ และนอกจากนี้ยังจะต้องทำวิทยานิพนธ์ด้วย ส่วนในเทอมที่ 2 จะเป็นการฝึกปฏิบัติงานจริงในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข สภากาชาด ฯลฯ
.
คุณสมบัติของผู้สมัครเรียน
•    สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในแผนการเรียนวิทย์-คณิต
•    มีสุขภาพดี ไม่มีอาการของตาบอดสี
** ในบางมหาวิทยาลัยอาจจะมีการกำหนดผลการเรียนเฉลี่ยสะสม (GPAX) ขั้นต่ำด้วย ดังนั้นน้อง ๆ ควรจะต้องดูรายละเอียดในข้อดีกันให้ดีด้วย


มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน 
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / มหาวิทยาลัยขอนแก่น / มหาวิทยาลัยรังสิต / 
มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ / มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ / มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
มหาวิทยาลัยมหิดล / มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / มหาวิทยาลัยบูรพา / มหาวิทยาลัยนเรศวร ฯลฯ
.
จบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง
นักเทคนิคการแพทย์ / นักวิจัย / นักรังสีเทคนิค / นักทัศนมาตรศาสตร์ / เซลล์ขายอุปกรณ์ทางการแพทย์
เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์สุขภาพและความงาม / อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์สุขภาพ / ครู/อาจารย์ ฯลฯ


ที่มา https://campus.campus-star.com/education/130057.html 
 

10 วิธีสู่การเป็นเด็กฝึกหัด K-Pop

ก่อนนักร้องเกาหลีจะมาเป็นคนดังได้นั้น พวกเขาต้องเป็นเด็กฝึกหัดมาก่อน เด็กฝึกหัดคือการฝึกเหล่านักร้องเกาหลี ซึ่งพวกเขาต้องใช้ชีวิต ฝึกซ้อม และแสดงด้วยกันตั้งแต่อายุ 9 หรือ 10 ปี ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากค่ายเพลง ลองดูขั้นตอนที่ 1 ด้านล่างเพื่อเรียนรู้วิธีการเป็นเด็กฝึกหัดและเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักร้องเกาหลีเลย ! 
.
1. เข้าใจก่อนว่าการเป็นเด็กฝึกหัดนักร้องเกาหลีคืออะไร เตรียมตัวฝึกซ้อมอย่างหนัก ซึ่งอาจมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน แม้การดูนักร้องคนหรือวงที่คุณชอบอาจสนุก แต่การเป็นนักร้อง K-Pop (หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ไอดอล”) นั้นไม่ใช่งานง่าย แม้หลายคนเชื่อว่าการเป็นคนดังจะทำให้รวยทันที แต่วงการเพลงเกาหลีนั้นไม่จ่ายค่าตอบแทนที่นักร้องควรได้รับเสมอไป และอย่าลืมว่าการเป็นเด็กฝึกหัดก็ไม่ช่วยการันตีว่าคุณจะได้เป็นนักร้องหลังจากนั้น คุณอาจฝึกหลายปี แต่ไม่มีโอกาสเดบิวต์เช่นกัน
.
2. เรียนร้องเพลงและ Rap. การจะเป็นเด็กฝึกหัด K-Pop ได้นั้น คุณต้องร้องเพลง (หรือ Rap) ได้ เพราะงานหลักของคุณคือการร้องเพลงที่ต้องอาศัยเสียงร้อง หากคุณร้องเพลงได้ดีอยู่แล้วก็จะดีมาก หากคิดว่าทักษะการร้องเพลงยังบกพร่องอยู่ ให้ไปเรียนร้องเพลง จ้างครูฝึกร้องเพลง หรือค้นหาแบบฝึกเสียงร้องในอินเตอร์เน็ตเพื่อซ้อมทุกวัน หากคุณร้องเพลงได้ไม่ดี แต่มีเสน่ห์และหน้าตาดี คุณก็อาจได้รับเลือกให้เป็น Rapper 
.
3. ฝึกเต้น หากคุณออดิชั่นกับบริษัทเช่น SM Town, JYP หรือ YG คุณจะถูกขอให้เต้นให้ดูด้วย หากคุณเต้นไม่ได้ ควรบอกไปตรงๆ ศิลปิน K-Pop บางคน เช่น ลีฮาอี ก็ไม่เต้นเลยเช่นกัน แต่การเต้นได้ดีนั้นมักเป็นข้อได้เปรียบ หากคุณมีพรสวรรค์ในการเต้น คุณควรฝึกกับโค้ชหรือฝึกเองเพื่อเปลี่ยนมันเป็นทักษะที่ขายได้
.
4. เรียนการแสดง ศิลปินเกาหลีหลายคนต้องผ่านการแสดงกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นในมิวสิควิดีโอหรือในผลงานละคร แม้ทักษะการร้องและเต้นนั้นต้องมาก่อน แต่ทักษะการแสดงอาจเป็นประโยชน์มากตอนออดิชั่น
.
5. เรียนภาษาเกาหลี นักร้อง K-Pop มักร้องเนื้อร้องภาษาอังกฤษโดยไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ แต่กรณีนี้เทียบไม่ได้กับการร้องเพลงเป็นภาษาเกาหลี การเป็นนักร้อง K-Pop นั้น อย่างน้อยที่สุด คุณต้องรู้ภาษาเกาหลีพอสมควร สิ่งนี้อาจใช้เวลาและความพยายามอย่างมากหากคุณเริ่มจากศูนย์


6. เลือกบริษัทที่จะไปออดิชั่น. มีบริษัทหลากหลายในวงการเกาหลีที่อวดอ้างศิลปิน K-Pop ของตัวเอง แต่บริษัทที่ดังๆ ได้แก่ SM, JYP, YG, Cube, LOEN, Pledis, Woolim และ BigHit ทุกบริษัทก็มีเป้าหมายในการเลือกเด็กฝึกหัดที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ว่ากันว่า SM Entertainment จะเลือกคนที่สวยหรือหล่อ JYP จะเลือกจากหน้าตาและความสามารถพอๆ กัน, และ YG จะเลือกจากความสามารถมากกว่าหน้าตา คุณอาจต้องนึกถึงคำเล่าลือเหล่านี้ไว้ด้วยในตอนที่จัดตารางออดิชั่น
.
7. ไปออดิชั่น! เชื่อหรือไม่ว่าการเปิดออดิชั่น K-Pop นั้นมีหลายที่ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะเหมือนทั่วไป คือคุณแสดงต่อหน้ากรรมการ แต่คุณก็อาจได้รับเลือกจากการออดิชั่นทาง YouTube เช่นกัน! นอกจากนี้ ยังมีรายการแสดงความสามารถ เช่น K-Pop Star (เป็นรายการที่กรรมการ 3 คนมองหานักร้อง K-Pop) ซึ่งคุณสามารถไปออดิชั่นได้
.
8. แม้คุณไม่จำเป็นต้องมีเชื้อสายเกาหลีหรือเอเชียตะวันออก แต่ศิลปินส่วนใหญ่นั้นเป็นคนเกาหลี. อย่างไรก็ตาม ศิลปินเหล่านี้จะเกิดในเกาหลีหรือที่อื่นนั้นไม่สำคัญเท่าไหร่ ความชอบเรื่องนี้ไม่ได้มาจากการเหยียดเชื้อชาติ แต่เป็นเพราะความสวยแบบที่คนเกาหลีนิยมนั้นมักพบได้ในคนเกาหลีเท่านั้น บางทีเหตุผลที่ K-Pop ไม่ค่อยมีคนเชื้อชาติอื่นนอกจากเอเชียเป็นเพราะเป็นวงการเกิดใหม่ และเพิ่งได้รับความสนใจจากตะวันตกเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
.
9. หาสไตล์การแต่งตัวที่ใช่ การนำเสนอนั้นสำคัญมาก ! เวลาออดิชั่น อย่าใส่เสื้อผ้าหรือรองเท้าที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ควรใส่เสื้อแบบที่ใส่ไปปาร์ตี้ ในทางกลับกัน ควรใส่เสื้อที่ดูสง่าและเรียบร้อยซึ่งรับกันดีกับตัวตนโดยปกติของคุณ อะไรธรรมดาๆ เช่น กางเกงยีนส์และเสื้อเชิ้ตธรรมดาก็อาจเพียงพอแล้วหากคุณใส่แล้วดูดี ! หากแต่งหน้า ควรแต่งหน้าเบาๆ กรรมการอยากเห็นความสวยแบบธรรมชาติของคุณ
.
10. มีความมุ่งมั่น. ความสำเร็จอาจคว้ามาได้ยาก แต่อย่ายอมแพ้! หากคุณมีใจรักอยากเข้าวงการ K-Pop จริง ควรไปออดิชั่นหลายๆ ที่จนกว่าจะได้ อย่าปล่อยให้การออดิชั่นที่ล้มเหลวไม่กี่ครั้งรั้งคุณไว้ ความมุ่งมั่นจะตอบแทนคุณอย่างแน่นอน


เวลาออดิชั่นนั้นจะสั้น อาจไม่เกินหนึ่งนาที หากคุณผ่านออดิชัน ก็อาจต้องไปอยู่เกาหลีใต้เพื่อฝึก ตารางเวลาของคุณจะแน่นมาก คุณจะไม่มีเวลานอน และยังมีการฝึกหนักอีกด้วย ควรคิดให้ดีก่อนเป็นเด็กฝึกหัดเพราะคุณอาจไม่มีเวลาเจอครอบครัวหรือเพื่อนได้บ่อยอีกต่อไป ศึกษาเกี่ยวกับบริษัทที่คุณอยากไป ควรแน่ใจว่าบริษัทมีชื่อเสียงด้านดีเรื่องเด็กฝึกหัด


ที่มา https://th.wikihow.com/ 
 

เส้นทางนักแข่งรถยนต์ ถนนสายความเร็วที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

สำหรับคนที่ชอบความเร็วแล้ว การแข่งขันรถยนต์ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ตอบโจทย์คนชอบความเร็วได้ไม่น้อยเลย เพราะมีความท้าทาย ตื่นเต้น เร้าใจ หากใครที่รู้ตัวว่าชอบความเร็วและอยากเข้าสู่เส้นทางสายนักแข่งก็สามารถเริ่มทำได้เลย เพราะการเป็นนักแข่งรถนั้นไม่ยากอย่างที่คิดหากเริ่มต้นอย่างถูกวิธี หากพร้อมแล้วไปดูกันเลยว่าต้องทำอย่างไรบ้างและมีเรื่องน่ารู้อะไรบ้าง
.
6 ขั้นตอนการเข้าสู่เส้นทางสายนักแข่ง
1. มีใบอนุญาตขับขี่ อันดับแรก ผู้ที่จะลงแข่งขันทุกคนจะต้องมีใบอนุญาตขับขี่ที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัย
2. เลือกประเภทการแข่งที่ชื่นชอบ เพราะการแข่งขันรถยนต์มีหลายประเภทจึงควรดูก่อนว่าตนเองชอบการแข่งขันแบบไหน
เรียนรู้เกี่ยวกับการแข่งขันรถยนต์ ควรเรียนการแข่งขันรถยนต์ก่อน โดยเริ่มตั้งแต่หลักสูตรพื้นฐานไปจนถึงหลักสูตรที่ลงสนามแข่งจริง เพราะเป็นการสอนเกี่ยวกับการขับรถแข่งโดยเฉพาะ เช่น สัญลักษณ์ในสนาม การเข้าโค้ง การใช้ความเร็ว รวมถึงข้อห้ามและกฎระเบียบในการแข่งขันด้วย
3. ฝึกจากรถขนาดเล็กก่อนได้ เช่น รถโกคาร์ท การขับรถโกคาร์ทเป็นรถที่ช่วยให้เรามีทักษะดี ๆ ในการแข่งขันรถยนต์ หากไปเที่ยวที่ไหนแล้วมีให้ขับก็สามารถลองไปขับได้ หรือจะเล่นในสนามโกคาร์ทต่าง ๆ ก็ได้
4. ลงสนามจริง เมื่อผ่านทักษะต่าง ๆ แล้วก็ถึงเวลาลงสนามจริง การลงสนามแข่งจริงจะช่วยให้เราปรับตัวได้ดีขึ้น ช่วยสร้างความคุ้นเคย และใช้ทักษะต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
5. หมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ ควรฝึกฝนทักษะอยู่เสมอ โดยแนะนำให้ฝึกในสนามแข่งเพราะมีความปลอดภัยมากกว่า


7 เรื่องควรรู้สำหรับนักแข่งรถ
1. ต้องมีใบอนุญาตขับแข่ง ใบอนุญาตขับแข่ง คือใบอนุญาตที่ใช้ในการขับแข่งรถยนต์ในสนามต่าง ๆ มีอายุการใช้งานอยู่ที่ 1 ปี
2. ต้องมีใบตรวจสุขภาพ ผู้ลงแข่งจะต้องมีใบตรวจสุขภาพเพื่อยืนยันว่ามีสุขภาพดีพร้อมสำหรับการลงแข่งขัน
3. การแข่งขันรถยนต์มีหลายประเภท เช่น การแข่งเซอร์กิต ยิมคาน่า (Gymkhana) แรลลี่ (Rally Car) แดร็ก (Drag Race) ดริฟต์ (Drifting) ฯลฯ
4. ควรเริ่มเรียนจากหลักสูตรพื้นฐานก่อน การแข่งรถยนต์ควรเรียนรู้ให้ครบในทุกหลักสูตร เพราะแต่ละหลักสูตรจะสอนไม่เหมือนกัน
5. ขับในสนามปลอดภัยกว่าเสมอ ในการแข่งรถยนต์ควรแข่งเฉพาะในสนามที่เปิดให้แข่งเท่านั้นเพราะมีความปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากเป็นสนามที่ได้มาตรฐานและรองรับความเร็วโดยเฉพาะ
6. ความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรก ควรคำนึงถึงความปลอดภัยก่อนเสมอ ควรปฏิบัติตามกฎการแข่งขันอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมสนาม
7. มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง การแข่งขันรถยนต์นั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยเริ่มค่าเรียน การซื้อรถยนต์ อุปกรณ์แข่ง การซ่อมแซม และค่าบริการอื่น ๆ
.
ได้ทราบเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับการเป็นนักแข่งรถยนต์กันไปแล้ว ซึ่งต้องบอกว่าไม่ได้เป็นกันง่าย  ๆ  แต่หากใครพร้อมที่จะเข้าสู่เส้นทางสายนักแข่ง เส้นทางที่จะทำให้คุณพบกับความสนุก ตื่นเต้น ท้าทาย ก็ต้องเริ่มกันไปที่โรงเรียนสอนการขับรถยนต์เพื่อการแข่งขัน อาทิ Toyota Racing School ที่มีหลักสูตรตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงระดับมืออาชีพ /  TSS Racing Academy เป็นการสอนในระดับ Intermediate เป็นต้น เพื่อเตรียมพร้อมสู่เส้นทางของนักแข่งอย่างเต็มตัว หรือถ้าใครยังไม่พร้อมก็สามารถฝึกทักษะจากการเล่นเกมออนไลน์เกี่ยวกับการแข่งรถกันก่อนได้ 


ส่วนใครที่สนใจอยากทราบถึงเส้นทางการเป็นนักแข่งมอเตอร์ไซค์ THE STUDY TIMES จะนำมาเสนอในตอนต่อไปนะคะ


ที่มา https://actionfans.net
 

นักร้องอาชีพ ฝันที่ไม่ง่าย แต่ไม่ยากเกินเอื้อมถึง

นักร้องเป็นอาชีพในฝันของใครหลายๆ คน ปัจจุบันการเป็นนักร้องดูง่ายขึ้นจากการที่ผู้คนเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ง่ายขึ้น เพราะสามารถแชร์ผลงานการร้องเพลงของตนเองให้ทุกคนเข้าดูได้เลย หรือจะไปรายการประกวดก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะมีหลายรายการให้เลือก และเป็นรายการที่ได้รับความนิยมจากคนดูอยู่เสมอ


ช่องทางการเป็นนักร้อง

1. ประกวดร้องเพลง : ปัจจุบันมีรายการประกวดร้องเพลงมากมาย ผู้ชนะการประกวดมักจะได้ออก Single เพลงของตัวเองหลังประกวด หรือเซ็นสัญญากับค่ายเพลงทันที หรือถึงจะไม่ชนะการประกวด แต่ก็อาจมีแมวมองสนใจติดต่อมา หรืออาจมีฐานแฟนคลับเพิ่ม ทำให้มีชื่อเสียงเพิ่มมากขึ้น

2. ทำ Demo ให้ค่ายเพลง : วิธีนี้เป็นวิธีดั้งเดิม แม้ปัจจุบันไม่ค่อยได้รับความนิยมแล้ว แต่ก็มีโอกาสที่ค่ายเพลงจะให้ความสนใจ และหากเข้าตาก็อาจจะติดต่อมาพูดคุย

3. ใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ : การอัดคลิปวิดีโอขณะตนเองร้องเพลงแล้วเผยแพร่ลงโซเชียลมีเดียจะช่วยเพิ่มฐานแฟนคลับ และทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น โดยมีหลายช่องทาง เช่น YouTube, Facebook อย่างไรก็ตามอาจจะใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะมียอดผู้ติดตามหรือแฟนคลับประมาณหนึ่งจึงต้องใช้ความพยายามและความสม่ำเสมอ

4. ทำเพลงเอง : ข้อนี้สิ่งสำคัญคืองบประมาณ เพราะคุณภาพเพลงจะออกมาดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับงบ ทั้งห้องอัด อุปกรณ์ เครื่องดนตรีต่างๆ หรือบางทีถ้ามีมิวสิควิดีโอด้วยก็อาจต้องใช้ความสร้างสรรค์เพื่อประหยัดงบ จากนั้นเผยแพร่เพลงของตนเองผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งถ้ามีฐานแฟนคลับอยู่แล้วก็อาจประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น


ข้อควรรู้สำหรับคนที่อยากเป็นนักร้อง

1. ฝึกฝนอย่างหนัก: การเป็นนักร้องไม่ใช่ว่าเสียงดีแล้วจะเป็นได้เลย แต่ต้องฝึกฝนเทคนิคการร้องต่างๆ มากมาย ทั้งการฝึกหายใจ เทคนิคการออกเสียง การแสดงอารมณ์ การสื่อสาร สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องใช้การฝึกฝนเพื่อให้ผลงานเพลงออกมาดีที่สุด

2. ร้องเพลง Cover: หากต้องการมีฐานแฟนคลับในโซเชียลมีเดีย การร้องเพลง Cover จะเพิ่มโอกาสมากขึ้น โดยควรเลือกเพลงที่มีชื่อเสียงหรือเป็นกระแสในระหว่างนั้นมาร้อง แต่อย่าลืมว่าต้องเป็นเพลงที่เหมาะกับสไตล์การร้องของตนเองด้วย

3. หาโอกาสร้องเพลงต่อหน้าคนดู: ควรหาช่องทางในการร้องเพลงต่อหน้าคนดูจริงๆ เช่น รับงานตามงานปาร์ตี้ บาร์ที่มีแสดงดนตรีสด งานแต่งงาน เพื่อให้คนรู้จักมากขึ้น

4. มีช่อง YouTube ของตนเอง: เรียกได้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นเลยทีเดียวสำหรับคนที่อยากเป็นนักร้องในยุคที่อินเทอร์เน็ตแพร่หลาย และมีนักร้องหลายคนที่โด่งดังได้จากการโพสต์คลิปวิดีโอของตนเองบนยูทูปนั่นเอง

5. อย่าใส่ใจคอมเม้นแย่ๆ: นักคอมเม้นที่ดีจะช่วยให้เราพัฒนาและปรับปรุงตัวเองได้มากขึ้น หรือรู้ข้อบกพร่องว่าคืออะไร แต่คอมเม้นแย่ๆ จะไม่ช่วยให้รับรู้ข้อบกพร่องของตนเอง อาจเป็นการเม้นเพื่อความสะใจหรือเกรียนคีย์บอร์ด ดังนั้นต้องรู้จักแยกแยะและอย่าเก็บมาใส่ใจ เพราะอาจทำให้ท้อและหมดกำลังใจได้

6. ระวังในการโพสต์: จดจำไว้ว่าการโพสต์อะไรบนโลกออนไลน์นั้นเรียกคืนไม่ได้ ถึงจะลบโพสต์ไปแล้วก็อาจมีคนเซฟหรือแคปเก็บไว้ทัน ดังนั้นก่อนโพสต์พิจารณาว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือภูมิใจหรือไม่ ไม่อย่างนั้นอาจส่งผลต่อชื่อเสียงในอนาคตได้

7. หาคอนเน็คชั่น: การมีคนที่อยู่ในแวดวงการร้องเพลงเหมือนกัน นอกจากจะทำให้ได้พัฒนาเทคนิคต่างๆ แล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการแสดงผลงานด้วย

8.ระวังมิจฉาชีพ: ข้อควรรู้ในการจะเซ็นสัญญากับค่ายเพลงใดๆ คือศิลปินไม่จำเป็นต้องเสียเงิน และก่อนเซ็นสัญญาควรอ่านอย่างละเอียดก่อนเซ็นสัญญา เพื่อที่จะรับรู้ข้อตกลง หากรู้สึกไม่เป็นธรรมไม่ควรเซ็น หรือควรจ้างทนายมาช่วยดูด้วย ขณะเดียวกันการไม่มีการเซ็นสัญญาแต่รับปากด้วยปากเปล่าก็ควรระวังเอาไว้เช่นกัน


อย่างไรก็ตาม ถึงจะดูมีช่องทางและโอกาสมากมายในการเป็นนักร้อง แต่ถ้ายังมีฝีมือไม่มากพอ หรือไม่เข้าตาคนดู ก็อาจใช้เวลานานมากกว่าจะประสบผลสำเร็จ ดังนั้นควรมีความอดทนพยายามอยู่เสมอ และไม่ท้อถอยง่ายๆ


ที่มา https://www.finance-rumour.com/lifestyle/work/being-singer/ 
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top