Monday, 4 December 2023
LIFE UP

บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง คว้าที่หนึ่งของคณะศึกษาศาสตร์ พร้อมเผยชีวิตในการเรียนตลอด 5 ปีและแนะนำเทคนิคการเรียนเก่ง

1. มุก ธัญยชนก ทองนพเก้า บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยได้เกรดเฉลี่ยรวม 3.90 ได้รับรางวัลบัณฑิตเกียรตินิยมสูงสุดประจำปีการศึกษา 2563 ปัจจุบัน บรรจุเป็นครูสอนวิชาคหกรรมอยู่ที่โรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ
.
2. การมาเรียนคณะนี้ เริ่มต้นมาจากอยากฝึกสอน เหมือนครูฝึกมาที่ฝึกตอนเรียนมัธยมดูแล้วมีความสุข และชอบวิชาคหกรรมเป็นทุนเดิม เพราะชอบงานสายปฏิบัติ
.
3. มุกเล่าว่า ตอนเรียนสนุกมาก เพราะเป็นรุ่นเกือบๆสุดท้ายที่เป็นแอดมิดชั่นล้วนทำให้ต้องเริ่มทุกอย่างใหม่ทั้งหมดด้วยกัน ด้วยคนในรุ่นมีน้อย ของจึงมีเพียงพอกับทุกคน เลยได้ลงมือทำทุกอย่าง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสำหรับวัตถุดิบในการเรียนค่อนข้างเยอะ ช่วงฝึกสอนเป็นช่วงที่ดีมาก เจอสังคมน่ารัก ทั้งครู เพื่อนฝึกสอนและนักเรียน รวมไปถึงพี่ร้านขายอาหารต่างๆ แถวโรงเรียนทำให้ช่วงฝึกสอนเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก
.
4. การได้ทุนครูคืนถิ่น ที่เป็นทุนสำหรับคนเรียนครูและอยากกลับมาบรรจุในพื้นที่แถวบ้าน โดยมุกสอบตั้งแต่ตอนเรียนปี 2 พอสอบติดก็จะต้องอยู่ภายใต้โครงการ และต้องยื่นคะแนนสอบภาษาอังกฤษตอนเรียนจบ ซึ่งตอนที่จบมานั้น เป็นช่วงที่ขรุขะมากเพราะติดสถานการณ์โควิด-19 พอดี
.
5. คำแนะนำในการเรียน มุกมีเพื่อนดี ทุกครั้งที่สอบ จะช่วยกันติวตามความถนัด ไม่หวงเทคนิคกัน รวมถึงการอ่านหนังสือตามเทคนิคของตน บางคนอ่านแล้วจำได้ บางคนใช้วิธีจด หรือฟัง หลังจากอ่านตามเทคนิคตนแล้วก็มารวมกลุ่มติวอีกที เพื่อแลกเปลี่ยนความเข้าใจ ทำให้ได้คะแนนดี เลยรู้สึกว่าโชคดีที่มีเพื่อนช่วย 
.
6. สำหรับคนที่สนใจอาชีพครู อยากให้ลองคิดว่าชอบสอน ชอบเจอคนเยอะตลอดเวลาหรือไม่ และต้องรักเด็กเป็นอันดับแรก ถ้าไม่ชอบ ก็ตัดอาชีพครูออกไปได้เลย และนักเรียนสามารถทักมาได้ตลอดเวลา คนที่ขี้รำคาญคงไม่ชอบ เงินเดือนอาจน้อยเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ไม่มีพักร้อน รวมถึงอาจต้องไปทำงานในวันหยุด 
.
7. นอกจากนี้ มุกยังเปรียบเทียบการฝึกสอน กับการเข้าไปทำงานจริงๆ สิ่งที่เหมือนเดิมคือมีครูพี่เลี้ยงที่ดี แต่ชีวิตครูแตกต่างจากครูฝึกสอนมาก เพราะมีภาระงานมีเพิ่มขึ้น งานเอกสารก็เยอะด้วยระบบราชการของไทย ครูเลยไม่ได้ทำหน้าที่แค่สอน แต่ต้องทำหน้าที่ตามฝ่ายของโรงเรียนด้วย ซึ่งตอนฝึกสอนไม่ได้มีหน้าที่นั้น จึงอยากให้เล็งเห็นปัญหาของครูทุกคนที่มีภาระงานที่เยอะมาก นอกเหนือจากการสอนหนังสือ
 


 

ติวเตอร์สอนภาษาจีน ฉบับใช้ได้จริง แห่งสถาบัน Chinese Pop-Up อุทิศตนเป็นสะพาน เชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน

1.) คุณป๊อป ณัฐพงศ์ นำศิริกุล หรือ ครูพี่ป๊อป เรียนจบจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ช่วงเข้ามหาวิทยาลัยเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะมีความใฝ่ฝันและชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก โดยมองว่าคณะสถาปัตย์เป็นสิ่งที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสายวิทย์และสายศิลป์ 

2.) ครูป๊อปมีความชอบหลายอย่าง ทั้งวาดรูป ฟังเพลง กีฬา ภาษา เมื่อเรียนในระดับมหาวิทยาลัยก็ยังคงฟังเพลงเพื่อชีวิต ดูหนังฝรั่ง ฟังเพลงฝรั่ง แต่ครูป๊อปพยายามมองหาอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น จึงเลือกไปเรียนต่อที่ประเทศจีน

3.) ย้อนกลับไป 15 ปีก่อน ประเทศจีนไม่ได้เป็นที่นิยมเรียนต่อมากขนาดนี้ ครูป๊อบตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท หลักสูตร MBA บริหารธุรกิจ ภาค International ประเทศจีน โดยเรียนเป็นภาคภาษาอังกฤษ 100% เนื่องจากไม่มีทักษะภาษาจีนมาก่อน แต่ข้างนอกห้องเรียนจะพูดคุยกันเป็นภาษาจีนทั้งหมด จึงเป็นสิ่งที่บีบให้ครูป๊อปได้ใช้ทั้งสองภาษาโดยอัตโนมัติ 

4.) หลังเรียนจบ เมื่อมีทักษะภาษาจีน และได้ภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิม ครูป๊อปเลือกเป็นสถาปนิก ทำงานต่อ ณ ประเทศจีน โดยเจ้านายคนแรกเป็นชาวบรูไน พบเจอกันจากการไปเดินชมย่านเมืองเก่าในประเทศจีน จึงได้เข้าไปพูดคุย ด้วยความที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ และเจ้านายเป็นคนต่างชาติที่ทำงานในประเทศจีน เกิดความถูกใจจนรับเข้าทำงาน 

5.) เคล็ดลับในการฝึกภาษาจีนของครูป๊อป คือ ช่วงที่เรียนอยู่ประเทศจีน หากได้ยินคำไหนที่ไม่รู้จะจดไว้เป็นภาษาคาราโอเกะทันที ได้ยินยังไงก็พิมพ์ไปแบบนั้น แล้วนำมาถามเพื่อนคนจีน เทคนิคสำคัญขอเพียงแค่กล้าพูดและนำมาแก้ไข

6.) เมื่อครูป๊อปเดินทางกลับมาประเทศไทย เริ่มเป็นพิธีกรภาคภาษาจีนและรู้สึกว่าตัวเองสามารถสอนได้ ได้เริ่มสอนที่โรงเรียนสีตบุตรบำรุง เป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากนั้นอยากเปิดหลักสูตรเป็นของตัวเอง จึงได้เปิดสถาบัน Chinese Pop-Up นอกจากนี้ยังได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง 

7.) นอกจากจะเป็นติวเตอร์สอนภาษาจีนแล้ว ครูป๊อปยังเป็นทั้งพิธีกร อาจารย์พิเศษ และนักจัดรายการโทรทัศน์และวิทยุ ทุกวันนี้การสอนเป็นพาร์ทที่เล็กมากสำหรับครูป๊อป เนื่องจากหันมาผลิตรายการที่เป็นภาษาจีนซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะเล็งเห็นจุดอ่อนของสังคมไทยที่หาพิธีกรพูดภาษาจีนไม่ได้เลย อีกทั้งการฟังภาษาจีนรู้เรื่องทั้งหมด ทำให้สามารถสร้างมูลค่าได้ทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง 

8.) ความฝันของครูป๊อป คือ อยากเป็นสะพานพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนและประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น ผลักดันให้สองประเทศมีความสัมพันธ์อันดียิ่งๆ ขึ้นไปด้วยภาษา พยายามสร้างให้คนไทยได้ภาษาจีน และให้คนจีนรู้เรื่องเมืองไทย มีทัศนคติที่ดีระหว่างกัน


ข้อมูลจากรายการ THE STUDY TIMES Story วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 : https://youtu.be/asGSD5Vhf-A

จากคนที่ไม่เคยเรียนต่อต่างประเทศ ฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง คว้าตำแหน่งแอร์โฮสเตส สายการบินเอมิเรตส์

1.) คุณครีม ณัชชารีย์ สมศิริมงคล จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) คณะ Business English- IBM ซึ่งยังไม่เคยไปเรียนภาษาอังกฤษที่เมืองนอกมาก่อน แต่สามารถพูดได้ตามมาตรฐานผ่านการฝึกของตัวเอง 

2.) หลังจบการศึกษาจาก ABAC คุณครีมมีโอกาสได้ไปทำงานเป็น Promoter กับ Qatar Airways หลังจากนั้นรู้สึกว่าภาษาจีนมีความสำคัญ จึงตัดสินใจไปเรียนภาษาจีนที่ University of International Business and Economics ( 对外经贸大学, Beijing, China) ระยะเวลาหนึ่งปี

3.) สำหรับการฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ คุณครีมแนะนำว่า ต้องฝึกจากการฟัง พยายามพูดตาม การดูหนัง ฟังเพลง ฟังข่าวภาษาอังกฤษ จะทำให้ซึมซับไปในตัว สำหรับคุณครีมถ้าอยากได้สำเนียงแบบไหน จะเลียนแบบและฟังการพูดแบบนั้นทุกวัน อย่างน้อยวันละ 15 นาที 

4.) จุดเริ่มต้นอาชีพ แอร์โฮสเตส คุณครีมจุดประกายมาจากการทำงานที่ Qatar Airways เพราะความฝันที่จะได้เที่ยวรอบโลก เปิดโลกกว้าง เงินเดือนเยอะ ได้ฝึกทักษะภาษาอังกฤษ ดูยูนิฟอร์มของแอร์เอมิเรตส์แล้วเกิดความชื่นชอบ ตั้งเป้าไว้ว่าวันหนึ่งต้องได้ใส่ชุดนี้ 

5.) คุณครีมเล่าว่า ขั้นตอนการคัดเลือกแอร์เอมิเรตส์มีประมาณ 6 ด่าน ด่านแรก pre-screen ดูความพร้อมตั้งแต่ การแต่งตัว หน้าผม บุคลิก ภาษา บางคนแต่งหน้าทำผมอย่างดี ยื่นเรซูเม่ไม่ถึงห้าวินาที ได้กลับบ้าน การเป็นแอร์แต่ละสายการบินจะมีจุดแข็งจุดดีแตกต่างกัน การเตรียมตัวพร้อมยังไงก็ดีกว่าการไม่เตรียมตัวเลย

6.) การจะเป็นแอร์โฮสเตสของสายตะวันออกกลาง ต้องสอบภาษาอังกฤษของสายการบินด้วย แต่ถ้าสายในไทยจะใช้ TOEIC นอกจากนี้ยังมีการทดสอบพูด Public Speaking ต่อหน้ากรรมการ โดยที่ไม่มีโจทย์มาให้ก่อน 

7.) คุณครีมคิดว่า สิ่งที่ทำให้คุณครีมได้รับการคัดเลือก น่าจะเป็นเพราะเรื่องของทีมเวิร์ก การตอบคำถาม การแก้ปัญหา ซึ่งทุกด่านใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด

8.) ประสบการณ์เป็นแอร์เอมิเรตส์ กว่า 5 ปีที่ผ่านมา คุณครีมเล่าว่า ได้ครบทุกรสชาติ สิ่งที่ดีที่สุด มีทั้งการได้เป็น Dubai influencer ได้ทำหน้าที่รีวิวตามสถานที่ต่างๆ ไม่ใช่แอร์ทุกคนจะได้รับโอกาสนี้ การเป็นแอร์เอมิเรตส์  มีข้อดีคือเป็นแบรนด์ที่ทุกคนรู้จักกันทั่วโลก 

9.) ถึงวันหนึ่งที่ต้องมีการคัดคนออก เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 คุณครีมเป็นล็อตสุดท้ายที่โดนจ้างออก และเที่ยวสุดท้ายที่ได้บินมีผู้โดยสารติดโควิด ถือว่าเป็นจุดที่ทำให้รู้สึกแย่อยู่บ้าง

10.) หลังจากช่วงที่โดนจ้างออก คุณครีมได้ไปลงเรียนเพื่อรับใบรับรองการสอนภาษาอังกฤษ Cambridge Certificate in teaching English (CELTA) เป็นโปรแกรมอบรมการสอน 2 เดือนเต็มทางออนไลน์ 

11.) สืบเนื่องจากตอนที่อยู่ดูไบ คุณครีมได้ทำทั้ง YouTube Instagram Facebook TikTok  มีฐานผู้ติดตามกว่าสองแสนคน ที่สนใจในเรื่องของการเป็นแอร์โฮสเตส และการฝึกทักษะภาษาอังกฤษ จึงเป็นจุดต่อยอดในการเปิด Flywithcream Academy สอนภาษาอังกฤษและพัฒนาบุคลิกภาพ  
 
12.) สำหรับผู้ที่สนใจ อยากติดตามรีวิวสาระน่ารู้ เกี่ยวกับอาชีพแอร์โฮสเตส สจ๊วต การบิน เครื่องบิน รวมทั้งสอดแทรกการสอนภาษาอังกฤษ สามารถติดตามได้ทาง Youtuber, Facebook fanpage : flywithcream 


ข้อมูลจากรายการ THE STUDY TIMES Story วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 : https://www.youtube.com/watch?v=d-8KUfMZEdQ&ab_channel=THESTUDYTIMES

ครูติวสอบเรียนต่อประเทศสิงคโปร์ ระดับแนวหน้าของเมืองไทย เพราะความประทับใจระบบการศึกษาวัยเด็ก สานฝันแนะแนวเด็กไทยเรียนสิงคโปร์

1.) คุณเบล ศุภนุช ชือรัตนกุล หรือ ครูเบล ได้ไปศึกษาอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่ช่วงชั้นประถม แรกเริ่มเข้า ป.4 จนกระทั่งจบชั้นม. 4 

2.) ครูเบล เล่าว่า การเรียนการสอนที่สิงคโปร์จะมีเรียนเพียงครึ่งวัน อีกครึ่งวันจะมีกิจกรรมให้เลือกทำ เลิกเรียนก็จะกลับบ้านมาอยู่กับโฮสต์แฟมิลี่ ที่สิงคโปร์มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทย แต่บุคลิกอาจแตกต่างกันบ้าง เช่น คนสิงคโปร์เป็นคนทำอะไรรวดเร็ว ทั้งการเดินและการพูด 

3.) ที่สิงคโปร์จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก บางครั้งมีการผสมภาษาจีนเข้ามาในการสื่อสารด้วย ตอนไปครั้งแรกครูเบลยังไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนได้เลย ช่วงสามเดือนแรกแทบไม่คุยกับใคร เพราะพูดไม่รู้เรื่อง ไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นสภาพแวดล้อมและสถานการณ์บังคับให้ฟังออกและพูดได้ 

4.) ครูเบลเล่าว่า ช่วงป.4 ผลการเรียนถือว่าแย่มาก เป็นช่วงแห่งการปรับตัวและเริ่มเรียนภาษาจีนอย่างจริงจัง กระทั่งช่วงปิดเทอมม.1 กลับมาที่ไทย คุณแม่ได้ส่งไปเข้าค่ายยุวพุทธ 3 วัน 2 คืน ฝึกนั่งสมาธิ ฝึกการโฟกัส สอนให้มีสติกับสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ได้นำตรงนั้นมาใช้ช่วงกลับมาเรียนที่สิงคโปร์ จนสามารถทำผลการเรียนเป็นอันดับ 1 ของชั้นติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ที่โรงเรียน Tampines Secondary School 

5.) ครูเบล เผยว่า การเรียนที่สิงคโปร์จะสอนว่าทุกอย่างที่เรียนจะนำมาใช้ได้อย่างไร เน้นที่การประยุกต์ใช้เป็นหลัก เมื่อกลับมาเรียนที่เมืองไทยเลยค่อนข้างง่าย เพราะถูกสอนมาอย่างดี

6.) หลังจากจบการศึกษาที่สิงคโปร์ ครูเบลได้กลับมาศึกษาระดับปริญญาตรีที่ Mahidol University International College (MUIC) สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผลการเรียนเกียรตินิยมอันดับ 1 และได้รับทุนรัฐบาลไทยให้ศึกษาต่อปริญญาโทที่สถาบัน Asian Institute of Technology (AIT) เรียนเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรทางทะเล โดยมีความสนใจด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิม

7.) จุดเริ่มต้น ครูติวสอบเรียนต่อประเทศสิงคโปร์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย เนื่องจากช่วงที่ครูเบลกลับมาจากสิงคโปร์ เป็น TA ช่วยสอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ระหว่างนั้นมีรุ่นน้องที่อยู่สิงคโปร์มาขอให้ช่วยติวข้อสอบ เป็นจุดเริ่มต้นการสอนมาตั้งแต่สมัยเรียน จนถึงปัจจุบัน

8.) ครูเบลเล่าว่า สมัยก่อนการไปเรียนสิงคโปร์ยังไม่ได้รับความนิยมขนาดนี้ จนกระทั่งจีนเปิดประเทศมากขึ้น คนจึงอยากส่งลูกเข้าไปเรียนที่สิงคโปร์ ทำให้การเรียนของสิงคโปร์ดรอปลง จึงยกระดับการศึกษาด้วยการจัดสอบ AEIS (Admission Examination for International Students) คือ ข้อสอบสำหรับนักเรียนทุกคนที่ต้องการสอบเข้าโรงเรียนรัฐบาลสิงคโปร์ สำหรับเด็กต่างชาติโดยเฉพาะ ความยากคือต้องแข่งขันกับเด็กต่างชาติทั่วทุกมุมโลก

9.) การสอบ AEIS สามารถสอบได้ตั้งแต่ระดับ ป.2 จนถึง ม.3 จะสอบไม่ได้ช่วงป.6 และ ม.4 เพราะเป็นช่วงที่มีข้อสอบใหญ่ ยิ่งระดับโตขึ้นการสอบจะยิ่งยากขึ้น 

10.) ครูเบลกล่าวว่า ผู้ปกครองส่งเด็กไทยไปเรียนสิงคโปร์กันเยอะ มีเหตุผลอยู่ 4 ข้อ คือ 1. ใกล้ 2. ระบบการศึกษาดี 3. ปลอดภัย และ 4. ได้ภาษาจีน ที่สำคัญสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาเหมาะกับเด็กเล็ก  

11.) สำหรับเด็กที่อยากไปเรียนต่อประเทศสิงคโปร์ ครูเบลแนะนำว่า ต้องฝึกวิชาภาษาอังกฤษและเลข เพราะวิชาที่ต้องสอบมีเพียงสองวิชานี้ ให้เตรียมตัวในระบบของสิงคโปร์ ติวข้อสอบของสิงคโปร์ไว้ได้เลย


ข้อมูลจากรายการ THE STUDY TIMES Story วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 : https://www.youtube.com/watch?v=CLXgt0AQX84&ab_channel=THESTUDYTIMES

ชิงทุนอาเซียน เรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำสิงคโปร์ คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 ใน 3 ปีครึ่ง

1.) คุณอ๋อง พชรพล ชัฎอนันต์ ก่อนไปเรียนต่อที่สิงคโปร์ ได้ศึกษาระดับชั้นมัธยมต้น ณ โรงเรียนสาธิตปทุมวัน ภาคไทย เป็นเด็กเรียนดีปกติ ทำเกรดได้ 4.00 ไม่ได้เป็นเด็กแข่งขันทางวิชาการ แต่ที่บ้านสนับสนุน ทั้งการเรียนและกิจกรรม 

2.) กระทั่งครูประจำชั้น น้องสาวและคุณแม่ แนะนำให้ลองสมัครทุนที่ชื่อว่า ASEAN Scholarship เป็นทุนที่รัฐบาลไทยมอบให้กับเด็กนักเรียนในประเทศอาเซียน วิธีการสมัครคือ ให้ส่งใบสมัครเป็นโปรไฟล์ไปพิจารณาก่อน หากผ่านรอบโปรไฟล์จะต้องไปสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ สำหรับทุนนี้ ไม่ได้มองหาเฉพาะเด็กที่เก่งทางด้านวิชาการเท่านั้น แต่ต้องทำได้ดีทั้งการเรียน กิจกรรม จิตอาสา มีความเป็นผู้นำ และมีศักยภาพ

3.) คุณอ๋องได้รับเลือกเข้าไปสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ ตอนนั้นภาษาอังกฤษไม่ได้แข็งแรง เพราะเรียนภาคไทยมาตลอด แต่คิดว่ากรรมการน่าจะเห็นบางอย่างจากการตอบคำถาม 

4.) ปีแรกที่สิงคโปร์ คุณอ๋องเริ่มเรียนในระดับชั้น ม.3 และ ม.4 ที่เรียนโรงเรียนชายล้วน Victoria Secondary School, St Andrew’s Junior College เป็นช่วงชีวิตการเรียนที่ยากลำบากที่สุด เพราะต้องปรับตัวทั้งภาษา วัฒนธรรม การออกจาก Comfort Zone และอื่น ๆ 

5.) คุณอ๋องเล่าว่า ปีแรกที่ไป สิ่งที่ยากที่สุดคือ วิชาภาษาอังกฤษและสังคม เพราะวิชาภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์ ไม่โฟกัสกันที่ Vocab หรือ Grammar เหมือนตอนเรียนที่ไทยแล้ว แต่จะสอนเกี่ยวกับ Writing และ Content ช่วงพักกลางวันหรือหลังเลิกเรียน คุณอ๋องต้องไปอ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่ห้องสมุด ท่องคำศัพท์ทุกวัน 

6.) คุณอ๋องเคยเครียดมาก เพราะสอบตกในวิชาภาษาอังกฤษและสังคมตั้งแต่ครั้งแรก จากเคยเรียนที่ไทยได้ 4.00 มาตลอด เกิดความเครียดจนร้องไห้ แต่โชคดีที่พ่อแม่ไม่กดดันและคอยช่วยเหลือ หาวิธีแก้ไข เมื่อแรงกดดันน้อยลง ความเครียดก็ลดลง ทำอะไรได้ดีขึ้นเป็นลำดับ

7.) ผ่านไป 2 ปี คุณอ๋องต้องไปสอบ O level ซึ่งเป็น National exam ของสิงคโปร์เพื่อเข้าเรียน Pre University หรือ Junior College ระดับชั้น ม.5 – ม.6 ได้เข้าโรงเรียนที่ชื่อว่า St Andrew’s Junior College โดยได้อยู่ห้อง Talent Development Program ซึ่งการเรียนที่นี่จะลดวิชาเรียนลงไปเยอะมาก 

8.) หลังจากเรียนจบ 4 ปี มีการสอบ A level เป็น National exam เช่นกัน ใช้คะแนนยื่นสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่สิงคโปร์  โดยคุณอ๋องได้รับ Offer พร้อมทุน จาก Nanyang Technological University คณะ Computer Engineering

9.) สิ่งที่ทำให้คุณอ๋องเรียนจบภายใน 3.5 ปี คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาครองได้ เพราะที่สิงคโปร์นักเรียนทุกคนจะมีโอกาสได้ไปเรียนแลกเปลี่ยนต่างประเทศครึ่งปี แต่คุณอ๋องเลือกที่จะไม่ไป ทำให้เรียนจบได้ไว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ การรู้จักตัวเอง รู้ความสามารถของตัวเอง 

10.) คุณอ๋องเชื่อว่า เวลาในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีไว้เรียนอย่างเดียว มหาวิทยาลัยเป็นสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ที่จะทดลองสิ่งต่าง ๆ และทำข้อผิดพลาด เวลาส่วนใหญ่สามารถไปทดลองทำนู่นทำนี่ได้เยอะพอสมควร 

11.) เป้าหมายในอนาคต คุณอ๋องมีความสนใจในด้านการศึกษา นอกเหนือจากการทำงาน Full-time แล้ว เวลาว่างเสาร์อาทิตย์ยังรับสอนพิเศษให้น้อง ๆ ที่จะเตรียมไปสอบทุนอาเซียน ในอนาคตอยากจะเปิดเป็นเซนเตอร์ที่จะซัพพอร์ตน้อง ๆ ที่ต้องการหาทุน หรือหาโอกาสเพื่อไปต่อยอด ดึงศักยภาพของน้อง ๆ ออกมา


ข้อมูลจากรายการ THE STUDY TIMES Story วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 : https://www.youtube.com/watch?v=uEbrFlgbSng&ab_channel=THESTUDYTIMES

เรียนเก่ง กิจกรรมเลิศ คว้าทุนเรียนกฎหมาย มหาวิทยาลัย Top ของจีน

1.) บุ๋น พิมพ์บุญ สถิตมั่นในธรรม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 

2.) ย้อนกลับไป บุ๋นถือเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดีมาตลอด ทุกคนเชียร์ให้เข้าสายวิทย์ แต่พบว่าตัวเองไม่ได้อิน กระทั่งค้นพบว่าตัวเองมีความสนใจด้านภาษา จึงตัดสินใจสอบเข้าสายศิลป์ภาษาจีน ที่เตรียมอุดมศึกษา ได้ลำดับที่ 1 มาครอง

3.) นอกจากเรียนเก่งแล้ว เรื่องกิจกรรมก็ไม่น้อยหน้า เพราะช่วงที่เรียนอยู่เตรียมอุดมฯ บุ๋นได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ เข้ากิฟต์ไทย ทำคณะกรรมการตึก ไปแข่งขันเล่านิทานภาษาจีน สุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ 

4.) แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนต่อนิติศาสตร์ของบุ๋น มาจากความชื่นชอบดูหนังที่เกี่ยวกับนักกฎหมาย ทนายความ หนังสืบสวนสอบสวน รู้สึกอิน ทำให้เลือกนิติฯ ในทุกสนามที่ไปสอบ

5.) ครั้งแรกที่เดินทางไปเรียนต่อประเทศจีน บุ๋นไปด้วยทุนโดยตรงของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นโควตาของนักเรียนต่างชาติ โดยมหาวิทยาลัยมาตามหาเด็กแลกเปลี่ยนที่มีศักยภาพพอที่จะไปเรียนได้ 

6.) สำหรับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง นักเรียนต่างชาติสามารถเข้ามาได้หลายวิธี บุ๋น เป็นเด็กที่ถูกคัดมาจากประเทศต่างๆ ต้องไปเรียน Pre-University ก่อนหนึ่งปี ซึ่งถ้าสามารถเรียนผ่าน สอบผ่าน ถึงจะได้ขึ้นมหาวิทยาลัย แต่หากไม่ผ่านก็ต้องไปตามทางของตัวเอง ซึ่งมีอัตราแข่งขันครึ่งต่อครึ่ง สอบร้อยคน ได้ขึ้นไปเรียนมหาลัยไม่เกิน 50 คน 

7.) บุ๋นเล่าประสบการณ์การเรียน Pre-University ว่าเป็นปีที่ลำบากที่สุด เป็นปีแห่งการปรับตัว ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิต การเรียนที่หนักหน่วง การที่จะไปเรียนร่วมกับคนจีนได้ ต้องมีทักษะภาษาและความรู้พื้นฐานที่เพียงพอ โดยทักษะที่สำคัญคือต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ในเวลาจำกัดให้ได้

8.) ประสบการณ์เรียนต่อ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน บุ๋นเล่าว่า ในเรื่องของตัววิชานิติศาสตร์ทั้งไทยและจีนไม่ได้ต่างกันมาก มีทั้งที่จีนทำได้ดีกว่า หรือไทยพัฒนาได้ดีกว่า ขึ้นอยู่กับแง่มุมที่ศึกษา แต่สุดท้ายสามารถเชื่อมโยงกันได้ ด้วยหลักทางกฎหมายที่ไม่ได้ต่างกันมาก

9.) สิ่งที่ท้าทายคือ การเรียนกฎหมายต้องอ่านและเขียนเยอะมาก ซึ่งบุ๋นกังวลเพราะไม่สามารถทำได้เร็วเท่าคนจีน แต่บุ๋นเชื่อว่า การที่เราเป็นคนที่ไม่ได้เก่งมาก ในกลุ่มคนที่เก่งมาก จะทำให้เราพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ

10.) ปัจจุบัน บุ๋นกำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 4 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ยังไม่สามารถเดินทางกลับไปประเทศจีนได้ จึงสมัครเรียนควบนิติรามคำแหงอีกหนึ่งปริญญา ส่วนในอนาคตจะมีการวางแผนอีกที ว่าจะเลือกเรียนต่อหรือทำงาน 


ข้อมูลจากรายการ THE STUDY TIMES Story วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 : https://www.youtube.com/watch?v=SxBIlVxETvg&ab_channel=THESTUDYTIMES

ก้าวออกจาก Comfort Zone เรียนต่อ ทำงาน ใช้ชีวิตที่ออสเตรเลียยาวนาน 17 ปี

1.) คุณตั๋น ธนันพัชญ์ รัตนโชติจิรสิน เติบโตและเรียนในโรงเรียนไทยมาโดยตลอด กระทั่งจบปริญญาตรี ศิลปศาสตร์ เอกภาษาฝรั่งเศส ม.ธรรมศาสตร์ จึงเลือกไปเรียนต่อประเทศออสเตรเลีย 

2.) ในตอนแรกตั้งใจว่าจะไปเรียนแค่ภาษา แต่พบว่าออสเตรเลียมีสาขาที่น่าสนใจในการเรียนต่อ ด้านเกี่ยวกับธุรกิจ จึงเลือกเรียนต่อปริญญาโทใน Master of commerce in Business, Macquarie Uni, Sydney Australia เป็นระยะเวลา 2 ปี

3.) คุณตั๋นเล่าว่า สิ่งที่ทำให้เบนเข็มเลือกเรียนต่อออสเตรเลีย จากตอนแรกที่ตั้งใจว่าจะไปเรียนต่อที่อเมริกานั้น เป็นเพราะสภาพสังคม เพื่อน และความเฟรนด์ลี่ของคนที่ออสเตรเลีย โชคดีที่เจอเพื่อนดี พื้นฐานของคนออสเตรเลียเป็นคนใจดี รีแลกซ์   

4.) การเป็นนักเรียน International Student ที่ออสเตรเลียนั้น คุณตั๋นเล่าว่า ต้องทำเกรดเฉลี่ยให้ได้ 3 ขึ้นไป จึงจะมีโอกาสได้ฝึกงาน โดยคนที่จะขอฝึกงานได้จะต้องมีสกิลด้านภาษาที่สามารถนำไปใช้ในสายงานที่จะขอฝึก ซึ่งการฝึกงานนี้ จะเป็นการต่อยอดให้เริ่มทำงานจริง

5.) ในช่วงที่เรียนอยู่ คุณตั๋นทำงานเสริมควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะทำในเย็นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เพราะวันจันทร์ถึงพฤหัสจะให้เวลากับเรื่องเรียนเป็นหลัก โดยงานที่เริ่มทำช่วงแรกคือ ร้านอาหารไทย ทำทั้งเสิร์ฟ งานในครัว ล้างจาน หุงข้าว เรียกว่าทำมาหมดแล้ว ซึ่งตอนนั้นยังพูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง

6.) หลังเรียนจบคุณตั๋นตัดสินใจทำงานอยู่ที่ออสเตรเลีย โดยคุณตั๋นเล่าว่า เป็นความโชคดีที่ในตอนนั้นมีวีซ่าสำหรับคนที่เรียนจบมา เพื่อยื่นขออยู่ทำงานต่อ 18 เดือน การทำงานตำแหน่งแรกหลังฝึกงานจบ คุณตั๋นทำในบริษัทไอที โดยมีความคิดว่าอยากได้ประสบการณ์ต่อ ชอบและมีความสุขกับการอยู่ออสเตรเลีย จึงได้ทำงานต่อเนื่องมา กระทั่งบริษัทได้ทำ Work Permit ให้ สุดท้ายอยู่ที่ออสเตรเลียยาวนานถึง 17 ปี

7.) เสน่ห์ของออสเตรเลียที่ทำให้คุณตั๋นติดใจ มาจากหลายๆ องค์ประกอบรวมกัน ตั้งแต่สภาพภูมิประเทศ อากาศ ผู้คน วัฒนธรรม ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน บนพื้นฐานการเคารพซึ่งกันและกัน อีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องของงาน เพราะยังเอ็นจอยกับงานที่ทำและได้พัฒนาสกิล ได้ลองอะไรใหม่ๆ 

8.) ในสังคมออสเตรเลียต่อ LGBT คุณตั๋นเล่าว่า ที่รู้สึกคือสังคมที่นั่นไม่ได้มองคนที่เพศสภาพ แต่มองว่าบุคคลคนนั้นคือบุคคลคนนั้น มีความสามารถด้านไหน มีปฏิสัมพันธ์กันในฐานะอะไร อีกทั้งออสเตรเลียเป็นประเทศที่ผู้หญิงผู้ชายค่อนข้างเท่าเทียมกัน

9.) หลังจากกลับมาทำงานที่ไทยแล้ว คุณตั๋นเปรียบเทียบความแตกต่างของการทำงานไว้ว่า มีความต่างในเรื่องของการจัดการเวลา ที่ออสเตรเลียจะพูดเสมอว่าต้องมี work-life balance คนที่นั่นจะมาก่อนเวลา และเมื่อถึงเวลาก็จะเริ่มทำงานทันที ทุกคนรู้หน้าที่ตัวเอง การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการทำงานกับต่างชาติ 

10.) ล่าสุดในเดือนมีนาคม นี้ คุณตั๋นให้ข้อมูลว่า จะย้ายกลับไปทำงานบริษัทเดิมที่ออสเตรเลีย ในตำแหน่ง Operations Manager 

11.) คุณตั๋นฝากทิ้งท้ายเป็นกำลังใจสำหรับคนที่อยากไปเรียนหรือทำงานต่อที่ต่างประเทศ ว่า หนึ่งในสิ่งที่สังเกตเห็น คือ เพื่อนๆ คนไทยชอบดูถูกตัวเอง ชอบคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถ ไม่เก่งภาษาอังกฤษ เลิกดูถูกตัวเอง มองก่อนว่าตัวเองมีความสามารถอะไร กล้าที่จะลองผิดลองถูก อยากบอกทุกคนให้ลองออกจาก Comfort Zone การเครียดบ้างเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่มันทำให้เราพัฒนาตัวเอง 


ข้อมูลจากรายการ THE STUDY TIMES Story วันที่ 28 เมษายน 2564 : https://www.youtube.com/watch?v=-TKnNev-nQU&ab_channel=THESTUDYTIMES

สาวชาวไทย เอาชนะอุปสรรคทางภาษา บินลัดฟ้าใช้ชีวิตในฝัน ที่สวิตเซอร์แลนด์

1.) คุณตาล วัณย์ทิศากร พิณแพทย์ สาวชาวไทย ที่ตัดสินใจบินลัดฟ้าไปใช้ชีวิตหลังแต่งงานอยู่ที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Client Form Publishing Generalist, Private Bank Julius Baer

2.) ย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้ว คุณตาลรู้จักกับแฟนตอนอายุ 20 ปี ขณะเรียนอยู่ระดับปวส. ช่วงใกล้จบได้ทบทวนตัวเองแล้วว่าวุฒิปวส. ที่ไทยไม่สามารถนำมาทำอะไรได้ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่ออายุได้ 21 ปี จึงตัดสินใจแต่งงาน และย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ที่สวิส 

3.) คุณตาลเล่าว่า เริ่มต้นชีวิตที่สวิส เหมือนการนับจาก -1 เหมือนโดนจับโยนลงใส่น้ำเย็น ต้องจัดการชีวิตตัวเอง ด้วยตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องของภาษา จาก เอ บี ซี ของภาษาอังกฤษ ต้องมาเริ่ม อา เบ เซ ในภาษาเยอรมัน 

4.) คุณตาลเรียนภาษาอยู่ประมาณ 4 เดือน ซึ่งที่ที่คุณตาลอยู่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาราชการ ส่วนภาษาทั่วๆ ไปที่ใช้ คือภาษาสวิส ที่นี่ไม่มีภาษาเขียน มีแต่ภาษาพูด ในระหว่างนั้นต้องคิดเป็นภาษาไทย พูดอังกฤษ ฟังสวิส เขียนเยอรมัน พางงไม่น้อย

5.) ในแง่ของการฝึกภาษา คุณตาลเล่าว่า ตนเรียนรู้จากวิถีชีวิตของทุกคน มีเพื่อนส่วนใหญ่เป็นคนสวิส หากอยากจะเข้าถึงภาษาของเจ้าของภาษาจริงๆ ต้องคุยกับคนสวิสให้เยอะ คุณตาลมีความเชื่อว่าภาษาต่างประเทศนั้นไม่ใช่ภาษาของเรา การพูดผิดถือว่าไม่แปลก ถ้าเราไม่พูดเราก็จะไม่ผิด แต่เราก็จะไม่ได้เรียนรู้เลย เพราะฉะนั้นต้องกล้าพูด ฝึกฝนด้วยการคุยกับผู้คนเยอะๆ จะได้สำเนียงด้วย 

6.) งานแรกที่คุณตาลไปสมัคร คือ งานล้างจานในร้านอาหารของบริษัทไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในรัฐซูริค ทำในตำแหน่งล้างจานอยู่ 4 เดือน จนได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยแม่ครัว สลับกับแคชเชียร์ ทำอยู่ที่นี่ได้ประมาณ 15 เดือนก็ต้องลาออก เพราะยังรับกับวัฒนธรรมของที่นี่ไม่ค่อยได้ ยังอ่อนไหวกับสิ่งต่างๆ อยู่มาก

7.) ความยากในการใช้ชีวิตอยู่ที่สวิสของคุณตาล คือความคิดถึงครอบครัว เพราะในสมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต จะติดต่อกับแม่ได้ต้องไปซื้อบัตรโทรศัพท์ ร้องไห้บ่อยแต่กลับไม่เคยรู้สึกท้อ

8.) สำหรับวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนสวิส คุณตาลเล่าว่า บริบทของคนรอบตัวคุณตาล ไม่มีใครสนใจชุดความคิดที่ว่า เธออ้วนขึ้น ผอมลง ดำไหม ขาวไหม ถือกระเป๋ายี่ห้ออะไร ได้เงินเท่าไหร่ คนสวิสที่คุณตาลรู้จัก ให้ค่ากับชีวิตของตัวเอง ใช้ชีวิตของตัวเองเป็นไปตามครรลอง ตื่นเช้ามาเคยทำอะไรก็ทำ ทำงาน ท่องเที่ยว เข้าฟาร์ม มีความสุขกับสิ่งที่ทำ 

9.) คุณตาล ทิ้งท้ายไว้ว่า พึงพอใจกับชีวิต ณ วันนี้มาก อยู่ที่ในอนาคตเรามองเห็นตัวเองยังไง ในวันนั้นคุณตาลมองเห็นตัวเองยืนอยู่ตรงนี้ และนำพาตัวเองไป ไม่ได้รอว่า ฉันอยู่ตรงจุดนั้น แล้ววันนึงฉันจะได้ไปอยู่ อยากเป็นคนแบบไหน ต้องพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนั้น ใกล้ๆ กับคนแบบนั้น แล้วเราจะกลายเป็นคนแบบนั้นไปด้วย ทำดี คิดดี ไม่ว่าจะทำอะไรหากเรามีความมุ่งมั่นมากพอ เราทำได้หมด


ข้อมูลจากรายการ THE STUDY TIMES Story วันที่ 28 เมษายน 2564 : https://www.youtube.com/watch?v=o6dSuQf1BfM&ab_channel=THESTUDYTIMES

เด็กนักกิจกรรม มุ่งส่งเสริมการศึกษา พัฒนาการเรียนรู้ ผ่านวิถีแห่งบ้านเกิด

1.) หนูดี สริภา สุจิตต์ นิสิต นักกิจกรรม และนักร้อง อายุ 19 ปี ปัจจุบันเรียนอยู่ ชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

2.) เนื่องจากหนูดีเรียนในโรงเรียนระบบไทยมาตลอด และย้ายโรงเรียนบ่อย ทำให้เห็นจุดอ่อนของการศึกษาไทย เริ่มจากช่วงประถมเรียนในโรงเรียนรัฐบาล และมัธยมย้ายมาอยู่โรงเรียนสาธิต เห็นความแตกต่างของโรงเรียนทั้งสองรูปแบบ

3.) หนูดีเล่าว่า โรงเรียนสาธิตมีนักเรียนน้อยกว่า การเรียนมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด ทำให้ได้นวัตกรรมใหม่ในการเรียน ไม่ได้มีแผนการเรียนที่ชัดเจน เหมือนเป็นการสาธิตการสอน เพื่อหาวิธีการสอนให้กับระบบการศึกษาใหม่ๆ ขณะที่โรงเรียนรัฐบาลมีแบบแผนที่ตายตัว ไม่มีความแปลกใหม่หรือสับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการให้แตกต่างจากโรงเรียนอื่น

4.) สำหรับหนูดี โรงเรียนทั้งสองรูปแบบมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ระบบสาธิตจะมีเนื้อหาใหม่ๆ วิทยาการใหม่ๆ ให้เด็กได้ทดลองเรียน ข้อเสียคือ ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งวิธีการเรียนใหม่ๆ อาจไม่ได้ดีสำหรับทุกคน ส่วนระบบรัฐบาลที่มีแบบแผนชัดเจน ดีสำหรับเด็กกลุ่มหนึ่งที่รู้ว่าตัวเองชอบเรียนแบบไหน ตรงกับที่สอนกันทั่วไปอยู่แล้ว 

5.) หนูดีมองว่าการเรียนไม่ควรเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ การเรียนรู้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ควรแยกเป็นของแต่ละบุคคล ว่าใครเหมาะสมกับแบบไหน

6.) นอกจากนี้ หนูดีเดินหน้าทำโปรเจกต์เกี่ยวกับการเรียนรู้ผ่านวิถีบ้านเกิด โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการเรียนประวัติศาสตร์ และได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของบ้านเกิดตัวเองในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เที่ยวชมวัดและรับรู้เกี่ยวกับที่มา ความสำคัญของสถานที่นั้นๆ ต่อยอดให้อยากรวบรวม และเรียนรู้พื้นที่ที่ตัวเองอยู่มากยิ่งขึ้น

7.) ข้อดีของการทำโปรเจกต์นี้ หนูดีมองว่า หากได้เรียนรู้บ้านเกิดตัวเองมากขึ้น ก็จะเข้าใจว่าบ้านเกิดเรามีอะไร ส่งเสริมทั้งการท่องเที่ยว และอาชีพ เหมือนการเรียนรู้ในตำรา แต่นำมาประยุกต์ว่าเราสามารถทำอะไรกับบ้านเกิดของเราได้บ้าง

8.) หนูดีกล่าวว่า ความสำคัญของการเรียนรู้ผ่านวิถีบ้านเกิด นอกจากทำให้รู้ว่าที่ที่เราเกิดมามีอะไรดีบ้าง ยังทำให้รู้รากเหง้า สิ่งนี้จะสร้างให้เรารักในสิ่งที่เราเป็น และรักในสิ่งที่เรากำลังเรียนรู้อยู่ และรู้ว่าเราจะไปทำประโยชน์อะไรให้กับที่ที่เราอยู่ได้

9.) เรื่องของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หนูดีมองว่า หากมีความเหลื่อมล้ำ นั่นหมายความว่าโอกาสของแต่ละคนที่ได้ไม่เท่ากัน ทั้งโอกาสการเข้าถึงบทเรียน การเข้าถึงทรัพยากรในการเรียนรู้ เด็กบางกลุ่มไม่มีโอกาสในการเข้าถึงว่าบ้านตัวเองมีอะไรที่ดีบ้าง

10.) ในอนาคตหนูดีอยากเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ เพราะมองว่าสิ่งที่สำคัญมากๆ คือแรงบันดาลใจ ในการทำสิ่งต่างๆ ควบคู่กับการส่งเสริมด้านการศึกษา เนื่องจากการศึกษา เป็นรากฐานของทุกอย่าง ถ้าการศึกษาดี อะไรหลายๆ อย่างก็จะดีขึ้นตาม


ข้อมูลจากรายการ Click on Clear The Topic วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 : https://fb.watch/aXbE23e7LE/

ก้าวออกนอกกรอบ เรียนต่อต่างประเทศ สิ่งที่ได้นอกจากความรู้ คือ วิธีคิดที่กว้าง และประสบการณ์ที่หาจากไหนไม่ได้

1.) คุณปอนด์ สุทธินันท์ ดวงภุมเมศร์ เรียนปริญญาโทที่ Cornell University ประเทศสหรัฐอเมริกา สาขาการจัดการภาครัฐและองค์กรเอกชนไม่แสวงหาผลกำไร ในภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ โดยได้รับทุน UIS ซึ่งเป็นทุนของรัฐบาลไทย 

2.) คุณปอนด์เล่าว่า ตั้งแต่ช่วงป.6 ได้คุยกับแม่ว่าอยากไปเที่ยวอเมริกา แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ไม่ได้ไป ช่วงมัธยมตัวเองชอบพูดภาษาอังกฤษ สนุกที่ได้เรียนภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติ เมื่อมีเวลาช่วง ม.4 ได้ลองสอบ AFS ดู ปรากฎว่าสอบผ่าน จึงได้ไปอเมริกาครั้งแรก 

3.) คุณปอนด์เผยว่า การไปต่างประเทศถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิต ทั้งวิธีการคิด การเรียนรู้ เปลี่ยนทุกอย่างที่เคยประสบมาทั้งการเรียนและการใช้ชีวิต เพราะปกติคุณปอนด์เป็นเด็กที่อยู่ในกรอบ ไม่เคยขึ้นรถเมล์ ไม่เคยไปเที่ยวบ้านเพื่อน ไม่เคยออกไปไหน การไปอเมริกานับเป็นการออกจากบ้านครั้งแรกในชีวิต 

4.) ช่วงที่ไปอยู่อเมริกาสัปดาห์แรก คุณปอนด์ต้องกินข้าวในห้องน้ำ เพราะไม่มีเพื่อน อาย มีอุปสรรคในเรื่องภาษา กระทั่งคิดได้ว่าการมาแบบนี้ไม่ช่วยอะไร เลยฝ่าความกลัวของตัวเองออกไปลองผิดลองถูก สุดท้ายสิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่เรื่องของภาษา แต่เป็นการกล้าลองทำทุกๆ อย่าง   

5.) ช่วงที่ไปแลกเปลี่ยน AFS คุณปอนด์ได้พบกับ Culture shock หลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ความตรงไปตรงมาของทุกคน สิ่งนั้นสอนให้ต้องตรงไปตรงมาในการพูด และอีกสิ่งคือการต่อสู้เพื่อตัวเองในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง การยืนกรานในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ ไม่เช่นนั้นเราจะถูกเอาเปรียบ สิ่งนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของคนอเมริกัน ให้รู้ว่าสิทธิไหนเป็นสิทธิส่วนบุคคล และสิทธิไหนที่เราต้องต่อสู้

6.) สาเหตุที่คุณปอนด์เลือกเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกานั้น เพราะเคยมีประสบการณ์อยู่มาแล้ว ทำให้สามารถหันไปโฟกัสที่การเรียนได้มากกว่าการปรับตัว ต่อมาคือเรื่องของความหลากหลายในอเมริกา ทั้งเชื้อชาติ อายุ อุดมการณ์ทางการเมือง ภาษาและวัฒนธรรม ความหลากหลายนี้ทำให้คุณปอนด์มองว่าการเรียนนโยบายสาธารณะที่สหรัฐอเมริกา จะทำให้สามารถนำกลับไปใช้ในเรื่องของการออกนโยบายสาธารณะในประเทศไทยได้

7.) การเรียนปริญญาโทที่ Cornell นอกจากเรียนและทำกิจกรรมแล้ว คุณปอนด์ยังได้แบ่งเวลามาทำงาน Part time ที่คลินิกในมหาลัย เพราะมีช่วงที่เรียนหนักและเครียดมาก จึงหาช่วงที่จะได้พักผ่อนจากการใช้สมองอย่างหนัก  

8.) Cornell ถือเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกและของอเมริกา ในแต่ละสายวิชาจะมีความถนัดแตกต่างกันไป เช่น Cornell มีความถนัดในเรื่องของสัตวแพทย์ การโรงแรม และต้องยอมรับว่า Cornell มีแคมปัสสวยเป็นอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา มีวิวที่สวยงาม ครบทั้ง 4 ฤดู 

9.) การเตรียมตัวเรียนต่อต่างประเทศนั้น คุณปอนด์แนะนำว่า เรื่องภาษาอังกฤษสำคัญ แต่ไม่ใช่ประเด็นเดียว คุณปอนด์เลือกมหาวิทยาลัยไว้ 3 แบบ คือ 1. มหาวิทยาลัยที่อยากเรียน 2. มหาวิทยาลัยที่มีลุ้น 3. มหาวิทยาลัยที่คิดว่าติดแน่ๆ จากนั้นควรไปสอบวัดภาษาอย่างน้อยสองครั้ง ครั้งแรกไปลองข้อสอบ ครั้งที่สองดูข้อสอบและใช้ทริคที่ได้จากการสอบรอบแรก และถึงแม้ได้คะแนนภาษาอังกฤษน้อย ให้ลองแนบกิจกรรม เรซูเม่ เข้าไปด้วย สิ่งเหล่านี้จะสามารถเพิ่มโอกาสในการเข้าเรียนได้

10.) คุณปอนด์ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้เยาวชนรุ่นใหม่ของไทยทุกคนกล้าคิด กล้าลอง กล้าพูด กล้าทำ อย่าไปกลัว เพราะอุปสรรคเป็นเรื่องของอนาคต ถ้าไม่ลองเราจะไม่รู้ ประสบการณ์จะเป็นสิ่งที่ช่วยสอนเรา ว่าสิ่งไหนสมควร สิ่งไหนไม่สมควร ดังนั้นกล้าคิด กล้าลอง แล้วเราจะเป็นคนที่ไม่ได้เก่งเฉพาะความรู้เท่านั้น แต่จะเก่งในเรื่องความคิดและการแก้ปัญหา


ข้อมูลจากรายการ THE STUDY TIMES Story วันที่ 26 เมษายน 2564 : https://www.youtube.com/watch?v=DCH7O0Vm32Y&ab_channel=THESTUDYTIMES


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top