Thursday, 21 September 2023
TRAVEL

“วัดชลธาราสิงเห” สวยงามคลาสสิก เสน่ห์ใต้สุดด้ามขวาน

เราจะพาไปสัมผัสมนต์เสน่ห์ของ “วัดชลธาราสิงเห” อันสวยงามคลาสสิก จนถูกยกให้เป็นอันซีนไทยแลนด์ พร้อมกับมุมลับซ่อนเร้นที่มากไปด้วยเรื่องน่าสนใจ รวมถึงเรื่องราวความสำคัญที่ชวยปกป้องผืนดินไทยบางส่วนเอาไว้ จนได้ชื่อว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”
.
ที่ริมชายแดนสุดปลายด้ามขวาน ห่างจากชายฝั่งทะเล อ.ตากใบ เพียงไม่กี่ร้อยเมตร เป็นที่ตั้งของ “วัดชลธาราสิงเห” วัดที่นอกจากจะเป็นอันซีนไทยแลนด์แล้ว ยังมีความสำคัญยิ่งเพราะสามารถช่วยปกป้องพิทักษ์ผืนแผ่นดินไทยส่วนหนึ่งเอาไว้ได้ จนได้ชื่อว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย”
.
วัดชลธาราสิงเห ตั้งอยู่ริมแม่น้ำตากใบ ที่บ้านท่าพรุ ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2403 ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๔ โดยผู้สร้างคือ “พระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด)” ได้เลือกพื้นที่ป่าริมแม่น้ำตากใบที่มีความสงบ มีวิวทิวทัศน์สวยงามสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมา โดยท่านพระครูพุดต้องไปขอที่ดินสร้างวัดจากเจ้าเมืองกลันตัน เพราะอำเภอตากใบสมัยนั้นยังอยู่ในเขตรัฐกลันตัน
.
เดิมวัดแห่งนี้ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “วัดท่าพรุ” หรือ “วัดเจ๊ะเห” ตามชื่อหมู่บ้านและตำบลที่ตั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 “ขุนสมานธาตุวฤทธิ์ (เปลี่ยน กาญจนรัตน์)” นายอำเภอตากใบสมัยนั้น ได้เปลี่ยนชื่อวัดแห่งนี้ใหม่เป็น “วัดชลธาราสิงเห” ที่มีความหมายว่า “วัดริมน้ำที่สร้างด้วยภิกษุที่มีบุญฤทธิ์ประดุจราชสีห์” โดยคำว่า “ชลธารา” มาจากที่ตั้งของวัดที่อยู่ติดริมแม่น้ำตากใบ ส่วน “สิงเห” มาจาก “สิงห์” หรือ “ราชสีห์” ซึ่งเปรียบดังพุทธคุณบารมีของท่านพระครูพุด ที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธาและเป็นที่เกรงขามประดุจดังสิงห์หรือราชสีห์
.
ปัจจุบันวัดชลธาราสิงเห เป็นวัดที่ร่มรื่นสงบงามริมแม่น้ำตากใบ เป็นหนึ่งในวัดคู่บ้านคู่เมืองนราธิวาส วัดแห่งนี้โดดเด่นไปด้วยงานฝีมือจากช่างท้องถิ่นที่ผสมผสานงานศิลปกรรม ทั้งไทยพุทธ มุสลิม และจีน ให้เข้ากันได้อย่างสวยงามกลมกลืน เหมือนวิถีชีวิตของคนที่นี่ที่เป็นพหุวัฒนธรรม
.
สำหรับไฮไลท์น่าสนใจอันโดดเด่นของที่นี่ ก็นำโดยพระอุโบสถหรือโบสถ์หลังปัจจุบัน ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2416 ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หันหน้าออกไปทางแม่น้ำตากใบ (โบสถ์หลังแรกสร้างยื่นเข้าไปในแม่น้ำตากใบ ปัจจุบันไม่มีแล้ว)
.
โบสถ์หลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ศิลปะรัตนโกสินทร์ที่สวยงามสมส่วน หลังคาซ้อน 3 ชั้น มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ถัดไปเป็นซุ้มเสมา ตรงซุ้มประตูทางเข้าโบสถ์ด้านหน้ามีรูปเคารพท้าวเวสสุวรรณ 2 องค์ สีแดง-เขียว ที่มีเอกลักษณ์คือมีผ้าขาวม้าเคียนเอว (บางทีก็นุ่งผ้าขาวม้าแบบโสร่ง)
.
ตรงหน้าบันของโบสถ์ด้านหน้า ชั้นบนสุดประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ถัดลงมาเป็นรูปเทวดา 2 องค์ ถือป้ายตัวเลขระบุปีที่สร้างโบสถ์ (2416)
.
บริเวณโบสถ์รอบนอกมีมุมอันซีนประดับไว้ ให้เราได้แหงนหน้าชมภาพจิตรกรรมที่เขียนเป็นช่อง ๆ ปิดทับด้วยกระจกใส (ดูคล้ายกรอบรูป) ในคานรองรับหลังคา (ซ้อนชั้น 3) ซึ่งหาชมไม่ได้ง่าย ๆ
.
ขณะที่ภายในโบสถ์ประดิษฐาน “หลวงพ่อใหญ่” หรือ “พ่อท่านใหญ่” พระประธานปางมารวิชัยปิดทองอร่าม ด้านหลังองค์พระทาสีข่าวปล่อยโล่ง
.
ที่ผนังด้านขวา-ซ้าย และด้านหน้า (ตรงข้ามองค์พระ) ประดับด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือจิตรกรพื้นบ้านนำโดย “พระธรรมวินัย (จุ้ย)" และ “ทิดมี” ช่างชาวสงขลา ที่บรรจงวาดภาพถวายเป็นพุทธบูชาออกมาได้อย่างสวยงามคลาสสิก ซึ่งปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการบูรณะใหม่โดยคงไว้ตามลักษณะเดิม
.
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่นี่เขียนเรื่องไตรภูมิ พุทธประวัติตอนต่าง ๆ ภาพเทพชุมชน รวมถึงภาพศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ประเพณี การละเล่นต่าง ๆ โดยเฉพาะการละเล่นกีฬา “ชนแพะ” ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนพื้นที่ในสมัยนั้น
.
พร้อมกันนี้ยังมีภาพเหตุการณ์ร่วมสมัยของยุคนั้น ที่มีชาวจีน แขก และฝรั่งต่างชาติเข้ามาในบ้านเรา มีคาราวานสินค้า และเรือแพที่ใช้โดยสารติดต่อกัน ซึ่งช่างท้องถิ่นบรรจงวาดสร้างสรรค์ภาพออกมาได้อย่างสวยงาม ประณีต ใช้สีสันจัดจ้าน และมีรายละเอียดลูกเล่นของช่างแทรกอยู่ทั่วไป จนได้ได้ชื่อว่าเป็นภาพจิตกรรมฝาผนังที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้
.
ด้านข้างโบสถ์ (ฝั่งขวาเมื่อมองเข้าไป) มีรูปเคารพของ “พระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด)” ผู้สร้างวัดแห่งนี้ให้กราบสักการะ
.
ส่วนที่ลานโล่งหน้าโบสถ์ (ฝั่งแม่น้ำ) ในอดีตเป็นสถานที่ทำพิธี “ล้างตัว” ของชาวบ้าน ใช้ในกรณีที่ชาวบ้านทะเลาะพิพาทกัน แล้วเมื่อจะให้อภัยกัน ผู้นำชุมชนก็จะนำคู่กรณีมาทำพิธีล้างตัวดื่มน้ำสาบานต่อหน้าองค์พระประธานคือหลวงพ่อใหญ่ เพื่อให้เลิกแล้วต่อกัน ซึ่งปัจจุบันพิธีความเชื่อแบบนี้หายไป เปลี่ยนมาใช้กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายแทน
.
วัดชลธาราสิงเหยังมี “พิพิธภัณฑ์วัดชลธาราสิงเห” เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ไม่ควรพลาดสำหรับผู้ที่ล่องใต้มาเยือนวัดนี้พิพิธภัณฑ์หลังนี้เดิมคือ “กุฏิสิทธสารประดิษฐ์” เป็นสถาปัตยกรรมพื้นบ้านภาคใต้ที่สวยงามคลาสสิก ซึ่งกรมศิลป์ได้มาบูรณะและปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ.2545
.
อาคารพื้นถิ่นภาคใต้หลังนี้ มีหลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องดินเผา ตรงยอดจั่วประดับรูปครุฑ มีลวดลายฉลุไม้ประดับอยู่ตามเชิงลาย รวมถึงตามผนังที่ฉลุเป็นช่องเล็ก ๆ ทั่วอาคารเพื่อรับลมระบายอากาศ ส่วนบันไดทางเดินมีหลังคาคลุมลงมาจนถึงชาน สะท้อนความเป็นพื้นที่ฝนตกชุกของปักษ์ใต้บ้านเรา
.
บนเพดานที่โถงด้านหน้า ส่วนหนึ่งกรมศิลป์ได้นำภาพวาดเขียนสีบนแผ่นไม้ฝีมือช่างท้องถิ่นมาประดับทำเป็นฝ้าเพดาน มีไฮไลท์คือภาพอันซีนที่น่าจะมีหนึ่งเดียวในเมืองไทย คือภาพวาด “พระพุทธรูปปางนาคปรกยิ้ม” กับพญานาค 7 เศียรที่แผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้าซึ่งมีใบหน้ายิ้มร่าอย่างน่ารัก สันนิษฐานว่าช่างที่วาดคงจะอารมณ์ดีมาก ๆ ตอนวาดภาพนี้
.
ส่วนภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุและเรื่องราวของอำเภอตากใบ ไม่ว่าจะเป็น ธรรมมาสน์, ตู้พระธรรมลายรดน้ำเท้าสิงห์หายาก,เครื่องถ้วยยุโรป-จีน, อุปกรณ์ทำมาหากินของชาวบ้าน, ไม้กวาดแกะสลักลงสีที่สวยงามมากจนถูกยกให้เป็นหนึ่งในไม้กวาดที่สวยที่สุดในเมืองไทย, ปลากุเลาตากใบจำลองที่หลายคนเห็นแล้วอดน้ำลายไหลไม่ได้ ฯลฯ
.
รวมถึงมีภาพวาดและงานแกะสลักอันซีนที่มีเอกลักษณ์ประดับแฝงอยู่ทั่วไป ให้เราได้สอดส่ายสายตาค้นหา ไม่ว่าจะเป็นรูปทหารมอญที่บานประตู ภาพพระเดินเรียงแถวบิณฑบาต งานแกะสลักรูปดอกไม้ หน้ากาล ค้ำยันลวดลายต่าง ๆ เป็นต้น
.
นอกจากนี้ที่นี่ยังมีการจัดแสดงและจำลองหุ่นขี้ผึ้งการลงนามสนธิสัญญาไทย-อังกฤษ หรือ “สนธิสัญญาแลกเปลี่ยนสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ระหว่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้แทนฝ่ายไทย และนายราลฟ์ แปชยิต ผู้แทนฝ่ายอังกฤษ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2451 ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญของชาติไทย
.
นอกจากโบสถ์ และ พิพิธภัณฑ์ ที่ถือเป็น 2 จุดไฮไลท์สำคัญแล้ว วัดชลธาราสิงเหยังมีสิ่งน่าสนใจชวนชมอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น “กุฏิอดีตเจ้าอาวาส” ที่เป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นภาคใต้อันสวยงามสมส่วน ซึ่งวันนี้กรมศิลป์บูรณะปรับปรุงใหม่ ภายในมีภาพจิตกรรมประดับอยู่บนเพดาน คาน หัวเสา และบางส่วนของฝาผนัง เป็นภาพจากฝีมือช่างพื้นบ้านที่เขียนด้วยสีพาสเทลดูสบายตา โดยมีภาพอันซีนที่ดูน่ารัก ๆ แฝงซ่อนอยู่หลายจุดด้วยกัน
.
“พระพุทธไสยาสน์” หรือพระนอนที่องค์พระประดับด้วยกระจก ที่ฐานและผนังด้านหลังประดับด้วยเครื่องถ้วยชามจีนที่ดูสวยงามเป็นเอกลักษณ์
.
นอกจากนี้ก็ยังมีเจดีย์ทรงลังกา และสถาปัตยกรรมเรือนไทยพื้นถิ่นภาคใต้อันสวยงามคลาสสิก คือ หอระฆังทรงมณฑป หอระฆังทรงจตุรมุข ศาลาโถง และศาลาท่าน้ำ
.
รวมถึงมี “ศาลาริมน้ำทรงมณฑป” ที่รัชกาลที่ ๖ เคยเสด็จทางชลมารคมาอำเภอตากใบ แล้วประทับที่ศาลาหลังนี้เพื่อทอดพระเนตรการแข่งเรือและถวายจตุปัจจัยบำรุงวัด เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2458
.
อย่างไรก็ดีเนื่องจากปัจจุบันศาลาทรงมณฑปรับเสด็จอายุกว่า 100 ปี ได้มีสภาพทรุดโทรมมาก กรมศิลป์จึงรื้อถอนเพื่อทำการก่อสร้างศาลาหลังใหม่ ซึ่งชาวบ้านก็รอกันว่าเมื่อไหร่กรมศิลป์จะได้ลงมือดำเนินการเสียที เพราะนี่คืออีกหนึ่งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของอำเภอตากใบ
.
วัดชลธาราสิงเห มีอีกหนึ่งชื่อเรียกขานคือ “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย” เนื่องจากวัดนี้สามารถช่วยปกป้องพิทักษ์ผืนแผ่นดินไทยส่วนหนึ่งเอาไว้ไม่ให้เสียดินแดนจากการรุกรานล่าอาณานิคมของ (โจร) มหาอำนาจตะวันตก
.
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในยุคล่าอาณานิคมของมหาตะวันตกเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในสมัยรัชกาลที่ ๕ อังกฤษที่เข้ามายึดครองแหลมมลายู ได้หาเรื่องยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้ของสยามประเทศ โดยต้องการผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพมาลายาซึ่งอังกฤษยึดครองอยู่
.
จักรวรรดิอังกฤษจึงได้บีบให้สยามลงนามในสนธิสัญญาไทย-อังกฤษ หรือ “สนธิสัญญาแลกเปลี่ยนสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ซึ่งประเทศไทยเราเสียเปรียบอย่างมาก รวมถึงต้องเสียดินแดน 4 รัฐในแหลมมลายู คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส แต่ถ้าไทยไม่ยินยอมก็จะถูกอังกฤษรุกราน และอาจบุกยึดครองประเทศไทยจนสูญเสียเอกราช
.
นอกจากนี้จากสนธิสัญญาครั้งนั้น อังกฤษได้กำหนดเส้นปักปันเขตแดนใหม่ กินแดนเข้ามาถึงบ้านปลักเล็ก (เลยวัดชลธาราสิงเหเข้ามาในประเทศไทยอีกประมาณ 26 กิโลเมตร)
.
อย่างไรก็ดีไทยเราได้หยิบยกเอาพุทธสถานวัดชลธาราสิงเห มาอ้างอิงถึงการเป็นชุมชนชาวพุทธที่มีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ของไทย ทำให้อังกฤษยอมเลื่อนเส้นแบ่งเขตแดนลงไปทางใต้อีกจนถึงแม่น้ำโกลก ช่วยให้ไทยไม่ต้องเสียพื้นที่ 4 อำเภอของนราธิวาส คือ ตากใบ แว้ง สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี ให้ตกเป็นของมาเลเซีย
.
ด้วยเหตุนี้วัดชลธาราสิงเหจึงเป็นที่รู้จักในอีกนามหนึ่งว่า “วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย” ที่มีความสำคัญยิ่งต่อประเทศไทย


ที่มา https://mgronline.com/travel/detail/9650000098165 
 

วัดป่าดอยพระบาท เชียงราย วัดโบราณ นอกกระแสหลักของการท่องเที่ยว

ความเงียบสงบท่ามกลางความร่มรื่นของแมกไม้บนเนินเขาเล็กๆในตำบลบ้านดู่ เป็นที่ตั้งของ “วัดดอยพระบาท” หรือที่สมัยก่อนชาวบ้านเรียกกันว่า วัดป่าดอยพระบาท อีกหนึ่งวัดเก่าแก่อายุหลายร้อยปีที่ซ่อนตัวอยู่ในเมืองเชียงราย
.
วัดป่าดอยพระบาท เชียงราย ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักจากนักท่องเที่ยวขาจร หากกล่าวว่าเป็นวัดที่อยู่นอกกระแสหลักของการท่องเที่ยวก็ได้ แต่วัดโบราณที่สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ในสมัยพ่อขุนเม็งรายมหาราชแห่งนี้ ก็มีสิ่งที่น่าสนใจให้แวะมาชื่นชม สักการะ พร้อมทั้งเป็นแหล่งปฏิบัติธรรมที่มีบรรยากาศเหมาะสำหรับใครที่ต้องการปลีกความวุ่นวายมาสู่ความสงบ
.
วัดเป็นสถานที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ประทับบนก้อนหินใหญ่อยู่บนเนินเขา รอยพระพุทธบาทจำลองนี้ มีการพบครั้งแรกในสมัยสงครามโลก ครั้งที่สอง
.
สันนิษฐานกันว่า วัดสร้างมานาน และมีอายุกว่า 700 ปี เดิมชื่อวัดป่าดอยพระบาท และกลายเป็นวัดร้างไม่มีพระสงฆ์ในช่วงเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อมีการพบรอยพระพุทธบาท ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ ราวปี พ.ศ. 2480 และยังทำให้พบศิลาแลง รวมถึงอิฐเป็นจำนวนมาก จากการพิสูจน์หลักฐานทางโบราณคดีพบว่าเป็นหินสีเขียวโบราณที่มีอายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 18- 23 โดยฐานเป็นรูปสี่เหลียมกว้าง 10 ซม. ยาว 12 ซม.
.
วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2518 โดยมีเรื่องเล่าเป็นตำนานสืบต่อกันมา พระพุทธองค์ทรงเสด็จมายังเนินเขาแห่งนี้ ได้ประทับรอยพระบาทไว้ จึงเป็นที่มาของชื่อเนินเขา “ดอยพระบาท”
.
ต่อมาได้มีการสร้างพระธาตุไว้บริเวณใกล้กับรอยพระบาท ซึ่งเป็นพระธาตุองค์ใหม่ สร้างคร่อมองค์เดิมที่เป็นซากปรักหักพังไปแล้ว ลักษณะพระธาตุ มีฐานปัทม์สูงสองชั้น คั่นด้วยฐานบัวแก้วต่อหน้ากระดานรับเรือนธาตุ ไม่ย่อมุม เรือนธาตุมีซุ้มจระนำประดิษฐ์ฐานพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ ประดับลวดลายซุ้มแบบพม่า
.
มณฑปรอยพระพุทธบาท ยังมีจุดที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็น บ่อน้ำทิพย์ แต่เดิมเคยมีน้ำไหลออกมาตลอดเวลา แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว บริเวณด้านล่างนอกจากมีวัดเก่าแก่ยังมีการสร้างปูนปั้นรูปต่างไป และรูปปั้นของนรกภูมิอีกด้วย
.
วัดมีการบูรณะและเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา เช่น ใน พ.ศ. 2539 แม่ลาวัลย์ ได้สร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และได้สร้างบันไดขึ้นไปยังรอยพระพุทธบาทจำนวน 942 ขั้น
.
ในปี พ.ศ. 2546 มีการพบเครื่องทรงประเภทเครื่องประดับ เช่น มงกุฎ ปิ่นปักผม เป็นทองและเงินจำนวนมาก ขณะเตรียมการก่อสร้างวิหารหลังใหม่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นของโบราณสมัยพ่อขุนเม็งรายมหาราช
.
ในทุกปีประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีการสรงน้ำรอยพระพุทธบาท โดยมีกิจกรรมมากมายมีการประกวดจุดบั้งไฟ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการขอฝน และการเดินทางขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาท
.
วัดดอยพระบาท ตั้งอยู่บนดอยพระบาท หมู่ 7 ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย


ที่มา https://mgronline.com/travel/detail/9650000097586 
 

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ลพบุรี ที่เที่ยวใกล้กรุงฯ ชวนนั่งรถชมวิวสวย

เที่ยวใกล้กรุงเทพ ที่เราจะพาไปปักหมุดกันในวันนี้ ก็คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พิกัดเที่ยวสุดชิล ของ ลพบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพเลย แค่เพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น เหมาะกับคนที่อยากมานั่งชิล รับลมเย็นๆ ชมวิวสวยๆ บอกเลยว่าไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง มาปล่อยกายพักผ่อนแบบสโลว์ไลฟ์กันสักหน่อย รับรองว่าจะถูกใจแน่นอน
.
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตั้งอยู่ใน ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นเขื่อนดินที่ไว้สำหรับเก็บกักน้ำที่ยาวที่สุดในไทย สร้างขึ้นจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม โดยครอบคลุมพื้นที่ของ 2 จังหวัด นั่นคือ ลพบุรีและสระบุรี นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลพบุรีอีกด้วย
.
บริเวณเขื่อนจะมี สวนเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ริมอ่างเก็บน้ำ บรรยากาศจะมีลมพัดเย็นๆ อยู่ตลอดเวลา และมีต้นไม้ร่มรื่น จุดนี้จะเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนชมวิวธรรมชาติ สูดอากาศบริสุทธิ์กัน ทั้งเอาเสื่อมาปูนั่งเล่นนอนเล่น หรือจะนั่งชิลรับประทานอาหาร ถ่ายรูปวิวสวยๆ ให้อาหารปลาในอ่างเก็บน้ำก็ชิลสุดๆ ไปเลย
.
จุดท่องเที่ยวของบริเวณ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นั้น จะมีทั้ง สถานีรถไฟเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่อยู่บริเวณทางเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สามารถไปถ่ายรูปสวยๆ กันได้เลย อาคารอเนกประสงค์ริมอ่างเก็บน้ำ ที่จะมีสถานที่ปล่อยปลาและจุดนั่งชมวิวริมอ่างเก็บน้ำชิลๆ หอคอยเฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ฯ ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และ สันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีบริการรถรางนำเที่ยวชมวิวบริเวณสันเขื่อนฯ ที่มีความยาวกว่า 9,720 เมตรนั่นเอง
.
โดยรถรางของที่นี่ จะมีบริการตั้งแต่ 08.00-16.30 น. ค่าบัตรโดยสารอยู่ที่ 25 บาท (เด็ก 10 บาท) ซึ่งจะเป็นรถรางที่ใช้รถไถลากไปแบบเรื่อยๆ ตามสันเขื่อนที่ผ่านจากเขต จังหวัดลพบุรี ไปจนถึง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรีเลย เรียกได้ว่านั่งรับลม ชมวิวของเขื่อนกันได้แบบเต็มอิ่มเลย ระหว่างทางนั้น รถรางจะวิ่งไปจนถึงจุดพักบริเวณพระพุทธรูปสีขาวองค์ใหญ่ คือ พระพุทธรัตนมณีมหาบพิตรชลสิทธิ์มงคลชัย หรือ หลวงปู่ป่าสัก ที่จะให้นักท่องเที่ยวแวะลงไปกราบสักการะและถ่ายรูปกัน
.
นอกจากนี้บริเวณจุดพักยังมีร้านค้าขายของขึ้นชื่ออย่าง เมล็ดทานตะวัน ทั้งแบบอบน้ำผึ้ง อบเกลือ ให้ได้แวะซื้อไปกินเพลินๆ ระหว่างชมวิวอีกด้วย ใช้เวลาทั้งหมด 1 ชั่วโมงในการนั่งชมวิวบนรถรางนี้ สำหรับทริปในวันเสาร์อาทิตย์แบบนี้ คงจะไม่มีอะไรดีกว่านี้แล้ว เรียกว่าได้พักผ่อนปล่อยใจไปกับสายลมจริงๆ ใครกำลังหาที่เที่ยวในวันหยุดแบบนี้ แนะนำให้มาที่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 
.
การเดินทาง ไป เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ถ้าตรงมาจากตัวเมืองลพบุรี เราสามารถใช้ถนนเส้นทางลพบุรี-โคกตูม-พัฒนานิคม หรือ  ถนนทางหลวงหมายเลข 3017 ตรงมาได้เลย โดยจะใช้ระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร หรือถ้าใครไม่มีรถส่วนตัว ที่นี่ก็มีบริการรถสองแถวลพบุรี-วังม่วง โดยสองแถวจะผ่านหน้า เขื่อนป่าสักชลสิทธ์ สามารถไปขึ้นรถได้จากสถานีขนส่งลพบุรีได้เลย


ที่มา https://travel.trueid.net/detail/95ZK74qZNVA 
 

“หอวชิราวุธานุสรณ์" แหล่งเรียนรู้เรื่องราว “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”

ชวนไปเดินเล่นเรียนรู้ที่"หอวชิราวุธานุสรณ์" ในรั้วหอสมุดแห่งชาติ ที่นี่เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลต้นฉบับ ลายพระราชหัตถ์ พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของ "รัชกาลที่ 6
.
ปีพ.ศ. 2524 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 6 ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก
.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นองค์ที่ 2 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
.
ในด้านวรรณคดีและหนังสือพิมพ์ ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรมมาแต่ทรงพระเยาว์ มีพระราชนิพนธ์ร้อยแก้ว ร้อยกรอง และบทความวิจารณ์ต่างๆ มากมาย
.
การก่อตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์นั้นเกิดขึ้นในช่วงที่มีการฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 100 ปีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อในวันที่ 1 มกราคม 2524 ม.ล.ปิ่น มาลากุล จึงได้ก่อตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์ เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับต้นฉบับ ลายพระราชหัตถ์ พระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
.
หอวชิราวุธานุสรณ์ ตั้งอยู่บริเวณภายในรั้วหอสมุดแห่งชาติ เป็นลักษณะอาคารทรงไทย 4 ชั้น และได้ปรับปรุงภายในเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 ปัจจุบันเปิดให้ประชาชนเข้าไปศึกษาหาความรู้ และควรติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม
.
ถ้าเข้าไปชั้นที่ 1 ห้องโถงห้องอัศวพาหุ ด้านหน้าจะพบพระบรมรูปหุ่นฉลองพระองค์เครื่องทรงมหาพิชัยยุทธ พอขึ้นมาชั้นที่ 2 จะพบห้องสมุดรามจิตติ ห้องสมุดเฉพาะที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวพระองค์ ที่นั่นสามารถค้นดูนามสกุลพระราชทาน 6,432 นามสกุล
.
ห้องสมุดรามจิตติแห่งนี้ตั้งจากพระนามแฝงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เป็นห้องสมุดเฉพาะที่รวบรวมพระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
.
ส่วนใหญ่ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศประเภทสิ่งพิมพ์ คือ หนังสือ วารสาร นิตยสารมีจำนวนมากกว่า 10,000 เล่มซึ่งได้รับมาจากกลุ่มพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ และการบริจาค มีคอลเล็คชั่นพิเศษที่นอกเหนือจากหนังสือทั่วไป มีการรวบรวมหนังสือที่ม.ล.ปิ่น มาลากุลแต่งขึ้น มีสัญลักษณ์พิเศษคือ ติดแถบสีแดง,หนังสืองานศพที่รวบรวมไว้ มีสัญลักษณ์
.
พิเศษคือ ติดแถบดำจัดเรียงตามตัวอักษรชื่อผู้ตายและสำเนาลายพระราชหัตถ์ เป็นเอกสารสำเนาพระราชนิพนธ์ต่างๆที่เป็นลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จัดเรียงตามตัวอักษรชื่อหนังสือ
.
ส่วนสำเนาบัตรนามสกุลพระราชทานของรัชกาลที่ 6 ฉบับลายพระราชหัตถ์ได้มาจากการบริจาคของต้นตระกูลต่างๆ จัดเรียงตามตัวอักษร ก-ฮ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถค้นคว้าและถ่ายเอกสารสำเนาบัตรนามสกุลพระราชทานได้ ขณะนี้มีจำนวนประมาณ 651 นามสกุล นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวพระราชประวัติ รัชกาลที่ 6 ยุคต่อสยามสู่ความเป็นสากล อาทิ ต้นกำเนิดกิจการลูกเสือ การวางรากฐานการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ฯลฯ
.
ส่วนห้องพระบรมราชะประทรรศนีย์ ซึ่งเป็นห้องจัดแสดงพระบรมรูปหุ่นในพระอิริยาบทต่างๆ  ขณะทรงปฎฺิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญในรัชกาล โดยวางพระบรมรูปหุ่นในตำแหน่งที่ใกล้ผู้ชมราวกับอยู่ในเหตุการณ์ 
.
โดยนำเสนอทั้งเรื่องราวการส่งเสริมการปกครองในระบบประชาธิปไตย จำลองเมืองสมมุติดุสิตธานี อันประกอบด้วยพระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท พระที่นั่งบรมราชพิมาน และพระที่นั่งอัมพรพิรายุธ ซึ่งพระที่นั่งทั้งสามจำลองแบบจากพระที่นั่งดุสิตมหาประสาท
.
ในด้านการศึกษา ทรงปรับปรุงโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาทรงสถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
.
และทรงตั้งกองเสือป่า โดยมีพระราชประสงค์ฝึกอบรมข้าราชการพลเรือนให้ได้รับการอบรมอย่างทหาร เป็นพลเมืองที่มีระเบียบวินัย ส่วนกองลูกเสือ โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งเป็นกิจการของเยาวชน ตั้งขึ้นคู่กับกองเสือป่า
.
เหมือนเช่นที่กล่าวมา ในหอวชิราวุธานุสรณ์ พระบรมรูปหุ่นมีการจัดตั้งในตำแหน่งที่ใกล้ผู้ชม ราวกับอยู่ในเหตุการณ์ จึงเป็นความพิเศษอย่างหนึ่งที่อยากชวนไปดู
.
ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร
ติดต่อ :โทร. 0-2282-3264, 0-2282-3419
เวลาทำการ :เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น. (การเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องติดต่อล่วงหน้า)
ปิดบริการ : วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์


ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/travel/1030175 
 

หาดทรายแก้ว ชุมพลทหารเรือ ทะเลสวยใส ใกล้กรุงเทพ ฯ

หาดทรายแก้ว : ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงเรียนชุมพลทหารเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ บริเวณอ่าวน้อย ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่อยู่ทั้งสิ้น 116 ไร่ แต่เดิม หาดทรายแก้ว ชื่อ “หาดน้อย” ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2546 พลเรือเอกทวีศักดิ์ โสมาภา ผู้บัญชาการทหารเรือ (ในขณะนั้น) มีนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยว จึงได้สั่งการให้ โรงเรียนชุมพลทหารเรือดำเนินการสำรวจและพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนของกำลังพลของกองทัพเรือ และบุคคลภายนอก  โดยมีแนวทางการท่องเที่ยวที่เน้นในเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ   ในแง่ของการพักผ่อนอยู่กับธรรมชาติอย่างแท้จริง ชายหาดมีความยาว 1,700 เมตร ภูมิประเทศบริเวณหาดทรายแก้วรายรอบด้วยภูเขามีป่าละเมาะซึ่งยังคงสภาพสมบูรณ์ มีพื้นที่ราบหลังหาดประมาณ 100 ไร่ ซึ่งพบมีร่องรอยของเตาเผาถ่านเก่าโบราณอยู่จำนวน 8 เตา หาดทรายมีลักษณะไม่ลาดชัน พื้นท้องทะเลเป็นทรายปนปะการังและหาดหิน ถือเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว ดำน้ำ และพักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งหนึ่ง เพราะสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดปี แต่ช่วงที่เหมาะสมที่สุด คือ ช่วงตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนธันวาคม เนื่องจากลมไม่แรงและคลื่นลมสงบ
.
จุดเด่น : เป็นหาดทรายปนปะการัง ลักษณะเม็ดทรายละเอียดขาว อันเกิดจากการทับถมของทรายและปะการัง คล้ายหาดในฝั่งทะเลอันดามัน น้ำทะเลใสสะอาด มีพันธุ์ไม้ธรรมชาติขึ้นอยู่หลากหลายชนิด   มีอุปกรณ์กีฬาทางน้ำให้บริการ เช่น เรือคายัก อุปกรณ์ดำน้ำ ฯลฯ และมีอุปกรณ์เพื่อการค้างแรม เช่น เต็นท์ เตียงผ้าใบ ในส่วนของที่พักก็มีบังกะโลและบ้านพัก ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ให้บริการนักท่องเที่ยว
.
เวลาทำการ : ทุกวัน 6.00-18.00 เมื่อเข้ามาที่โรงเรียนชุมพลทหารเรือให้เลี้ยวซ้ายแลกบัตรกันก่อน ใช้บัตรประชาชน ใบขับขี่หรือว่าหนังสือที่ทางราชการออกให้ 
.
ในวันหยุด ส.-อ. และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ต้องใช้บริการรถสองแถวของหาดทรายแก้วในการเดินทางเข้าไปชายหาด 


ที่มา http://www.thainavyland.com/sai-keaw-beach/ 
 

วัดผาลาด (สกทาคามี) ดินแดนสงบ ร่มเย็น เชิงดอยสุเทพ

วัดผาลาด หรือวัดสกทาคามี เป็นวัดที่อยู่บนแผ่นดินล้านนามาช้านาน ในสมัยราชวงค์เม็งราย ยุคของพระเจ้ากือนา ในช่วงสมัยนั้นได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากสุโขทัยใส่หลังช้างมาเพื่อเสี่ยงทาย สถานที่เพื่อก่อสร้างพระธาตุดอยสุเทพ ช้างที่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุนั้น ได้เดินทางมุ่งตรงไปทางดอยอ้อยช้าง ทิศตะวันตกของเมือง พระเจ้ากือนาพร้อมทั้งพญาลิไทยจากเมืองสุโขทัย และเหล่าเสนาอำมาตย์ ก็แห่ฆ้อง กลอง ตามหลังช้างไป  วัดผาลาด เป็นจุดที่ 2 ที่ช้างมาหยุดอยู่  จึงได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานไว้ ณ ที่วัดแห่งนี้ นับจากในสมัยของพระยากือนา มาถึงปัจจุบันนี้ เป็นเวลา 645 ปี บทบาทหน้าที่ของวัดที่มีมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือการทำวัดเพื่อเป็นสถานที่ให้การศึกษาและปฏิบัติธรรม ของผู้คนที่ต้องการแสวงบุญ รวมถึงผู้ที่ต้องการขึ้นไปไหว้พระบรมธาตุดอยสุเทพ และยังเป็นสถานที่ศึกษา และการปฏิบัติธรรมแก่พระสงฆ์และชาวบ้าน ที่มีความปรารถนาที่จะศึกษาธรรมะมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้
.
พัฒนาการของวัดผาลาดนี้ จะมีเรื่องเล่า อยู่ประมาณ 3 ยุค
.
1. ยุคแรก ยุคตำนานเรื่องเล่า ได้มีการบอกเล่าว่า วัดผาลาดเป็นวัดที่มีมานานแล้ว วัดแห่งนี้เป็นที่อยู่ของฤๅษี 5 องค์  หนึ่งในฤๅษี 5 องค์ ก็คือ ท่านสุเทวะฤๅษี  ท่านปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดแห่งนี้ ตอนที่ปฏิบัติธรรมอยู่เดิมเป็นพระสงฆ์ มีอยู่ช่วงหนึ่ง พระอินทร์ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าให้มาโปรดแสดงธรรมให้แก่ผู้คนล้านนา พระพุทธองค์ก็ได้มาโปรดฤๅษีและได้มาแสดงธรรม ณ วัดผาลาดแห่งนี้ หลังจากที่ได้แสดงธรรมแล้ว ฤๅษีทั้ง 5 องค์ ก็ได้กราบขออนุญาตลาสิกขากับพระองค์  พระพุทธองค์จึงสอบถามกับฤๅษีทั้ง 5 ว่ามีเหตุผลใดที่ต้องการลาสิกขา ฤๅษีทั้ง 5 ได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า เนื่องจากได้อยู่กับชนเผ่า ซึ่งชนเผ่าเหล่านี้ยังมีความเคารพนับถือ ประเพณี ภูมิปัญญาของท้องถิ่นอยู่ ซึ่งมีกิจกรรมหลายอย่างที่ชาวบ้านต้องพึ่งพานักบวช ผู้นำทางสติปัญญา และมองว่าการครองเพศเป็นพระนั้น ลำบาก จึงขอกราบลาสิกขาเพื่อกลับไปเป็นฤๅษีดังเดิม พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต หลังจากนั้นท่านสุเทวะฤๅษีได้ฟังเทศของพระพุทธองค์เสร็จแล้ว ท่านก็ขอพระพุทธองค์ได้ไปโปรดพ่อกับแม่ของท่านด้วย ซึ่งก็คือปู่แสะ ย่าแสะ ยักษ์ซึ่งเป็นอารักษ์ของเมืองเชียงใหม่ พระพุทธองค์ก็ทรงเสด็จไปโปรดปู่แสะที่ตีนพระธาตุดอยสุเทพ ที่บริเวณกาแล และก็เสด็จไปโปรดย่าแสะ ที่ตีนพระธาตุดอยคำ จึงกลายเป็นตำนานของเชียงใหม่มาจนถึงปัจจุบัน
.
2. ยุคที่สอง คือยุคของราชวงค์เม็งราย ในการสร้างพระธาตุ สร้างบ้านสร้างเมือง ซึ่งเป็นยุคที่ได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากสุโขทัย ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น
.
3. ยุคปัจจุบัน  เป็นยุคที่ได้มีการฟื้นฟู วัดผาลาด ไม่ได้ในฐานะที่เป็นวัด ในฐานะที่เป็นสถานที่ฟื้นฟูจิตวิญญาณที่ดีงามของผู้คน โดยมีเจตนารมณ์ของการฟื้นฟูในครั้งนี้ว่า หนึ่ง จะต้องรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมไว้ให้ดีที่สุด จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันวัดผาลาด เป็นวัดที่มีความร่มรื่น และต้นไม้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก  สอง รักษาโบราณสถาน ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญา ที่บรรพชนได้สร้างเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นพระธาตุ วิหาร รวมไปถึงสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เป็นมรดกที่สืบทอดมาช้านาน  สาม สานต่อเจตนารมณ์ เพื่อให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ศึกษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เป็นที่เข้าหาธรรมะ ของพระพุทธเจ้า
และทางแห่งการขึ้นดอยสุเทพนั้น ในสมัยโบราณนั้น มีจุดที่ช้างหยุดอยู่ 4 จุดคือ
•    บริเวณสามยอบ  (วัดโสดาบัน หรือวัดศรีโสดา)
•    ผาลาด (วัดผาลาด หรือวัดสกทาคามี)
•    ม่อนพญาหงส์ (วัดม่อนพญาหงส์ หรือวัดอนาคามี)
•    ดอยสุเทพ (วัดพระธาตุดอยสุเทพ หรือวัดอรหันต์)
.
ที่ 4 จุดนี้ พญาลิไท ซึ่งเป็นพระสหายของพระเจ้ากือนา ได้ให้ข้อคิดเห็นแก่พระเจ้ากือนาว่า ในการเดินทางขึ้นดอยนั้น ขนาดช้างยังหยุดเพื่อพักเหนื่อย  คนที่เดินขึ้นดอยก็คงจะเหนื่อยเหมือนกัน เราควรจะสร้างที่พักริมทางไว้ให้ผู้คนได้พัก แต่แทนที่จะเป็นที่พักนั้น พญาลิไท จึงดำริว่าบอกกับพระเจ้ากือนาว่า คนที่เดินทางสู่วัดพระธาตุ เหมือนกับได้เดินทางเข้าสู่เส้นทางการปฏิบัติธรรม เดินทางจากบ้านจากเมืองมา จนถึงวัดสามยอบ ก็เหมือนได้บรรลุโสดาบัน พอเดินทางมาถึงวัดผาลาดก็เหมือนได้บรรลุธรรมขั้นที่สองคือสกทาคามี  พอเดินทางไปถึงวัดม่อนพญาหงส์ ก็เหมือนได้บรรลุธรรมขั้นที่สามคือ อนาคามี  ถ้าใครมีความเพียรพยายามเดินไปจนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ เหมือนได้บรรลุพระอรหันต์  ดังนั้นเส้นทางแห่งการขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ จึงไม่ใช่เส้นทางของการเดินทางเพื่อไปไหว้พระธาตุเท่านั้น แต่ยังเป็นเส้นทางแห่งการศึกษาและปฏิบัติธรรม เพื่อให้คนนั้นเข้าสู่อารยธรรมตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นนัยยะสำคัญ ครูบาศรีวิชัยได้อาศัยภูมิปัญญา ที่คนโบราณได้สร้างขึ้นนี้ ตอนที่ท่านได้สร้างทางเส้นใหม่ ขึ้นพระธาตุดอยสุเทพนี้ ครูบาศรีวิชัยท่านก็ได้เอาแนวคิดนี้ ได้เชิญชวนศรัทธา ญาติโยม จุดแรกที่ลงจอบเป็นที่แรก ครูบาฯ ได้เริ่มที่วัดสามยอบ หรือวัดโสดาบัน (ปัจจุบันชื่อ วัดศรีโสดา) เลยขึ้นไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร ก็เป็นวัดผาลาด (วัดสกทาคามี) ถัดขึ้นไปอีก 4 กิโลเมตร ก็เป็นวัดอนาคามี  และขึ้นไปอีก 3 กิโลเมตร ซึ่งเป็นยอดดอย ให้เป็นวัดอรหันต์ (วัดพระธาตุดอยสุเทพ) ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่มีมาแต่โบราณ
.
การเข้าเดินทางไปวัดผาลาด : วัดผาลาด ตั้งอยู่ติดถนนห้วยแก้วอยู่ระหว่างทางขึ้นดอยสุเทพ  โดยห่างจากประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประมาณ 5.5 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้สองทางคือทางรถ สามารถเข้าถึงวัดได้โดยสะดวก เมื่อเดินทางถึงป้ายหน้าวัดที่ติดถนนให้ท่านเลี้ยวซ้ายไปตามทางประมาณ 200 เมตร จึงจะถึงตัววัด และอีกเส้นทางคือการเดินเท้าจากสถานีส่งสัญญาณช่อง 7 เดินลัดเลาะไปตามทางเดินจนบรรจบถึงบริเวณน้ำตกวัดผาลาด


ที่มา https://travel.trueid.net/detail/0q1ddnwLPPae 
 

เยือน “วัดพิชัยญาติ” วัดงาม พระปรางค์ใหญ่ ตำนานคดีดังสมัย ร.๓

วัดงามวัดนี้ก็คือ วัดพิชัยญาติ ที่วงเวียนเล็ก ฝั่งธนบุรี ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ได้บูรณะขึ้นเมื่อราว พ.ศ.๒๓๗๒ จากเดิมเป็นวัดร้าง เมื่อบูรณะเสร็จได้น้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “วัดพระยาญาติการาม” ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามใหม่เป็น “วัดพิชยญาติการาม” แต่คนทั่วไปเรียกกันว่า “วัดพิชัยญาติ”
.
ขณะที่บูรณะวัดนี้ขึ้นนั้น ท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา ตำแหน่งจางวางพระคลัง มีหน้าที่ดูแลการเงิน การค้า และภาษีอากร มีเรือสำเภาไปค้าขายกับเมืองจีนเป็นประจำ จึงนำกระเบื้องสีและหินจากเมืองจีนมาประดับ ตามสถาปัตยกรรมในสมัยนั้นที่นิยมแบบไทยผสมจีน ต่อมาวัดนี้ได้รับการบูรณะจากพระมหากษัตริย์ตลอดมา และเป็นไปตามพระราชนิยมของแต่ละยุคสมัย วัดนี้จึงเป็นที่ผสมผสานวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทั้ง ไทย จีน และตะวันตก อย่างกลมกลืน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในขณะนี้
.
จุดเด่นของวัดนี้คือ พระปรางค์องค์ใหญ่ วัดโดยรอบ ๖๗ เมตร ส่วนสูงถึงยอดนภศูล ๔๒.๗๕ เมตร ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ๔ องค์ หันพระพักตร์ไป ๔ ทิศ ขนาบด้วยพระปรางค์เล็กอีก ๒ องค์ วัดโดยรอบองค์ละ ๓๐ เมตร สูง ๒๒.๘๐ เมตร องค์ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระโพธิสัตว์พระศรีอารย์ องค์ทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองบนแผ่นศิลา ๔ รอย เป็นของโบราณไม่ปรากฏที่มา
.
ที่มาของวัดงามวัดนี้มีเบื้องหลังมาจากคดีพิศวาสโด่งดังในรัชกาลที่ ๓ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงค์ กล่าวว่า อ้ายพลาย กับ อีทรัพย์ ทาสของ พระสุริยภักดี บุตรชายคนเดียวของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ อ้างว่าพระยาสุริยภักดีได้ใช้ให้อีทรัพย์กับอีหนูทาสอีกคนหนึ่ง ไปพูดจาแทะโลมและส่งของกำนัลให้เจ้าจอมอิ่ม พระสนมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กลัวว่าตัวจะมีความผิดไปด้วย จึงนำเรื่องราวไปร้องต่อเจ้าพระยาธรรมา เสนาบดีกระทรวงวัง จากการไต่สวนได้ความว่า พระสุริยภักดีกับเจ้าจอมอิ่มยังไม่เคยพบปะพูดจากันเลย เป็นแต่ส่งเพลงยาวหรือจดหมายรักและของกำนัลให้กัน เจ้าจอมอิ่มได้สั่งความให้มาบอกพระสุริยภักดีว่า จะขอลาออกจากราชการมาอยู่บ้านพ่อแม่สักพักก่อน แล้วจึงให้ส่งเถ้าแก่ไปสู่ขอ ทั้งยังระบุด้วยว่า พระสำราญราชหฤทัย (อ้าว) ซึ่งสังกัดกรมวังรู้เห็นเป็นใจรับจะสู่ขอเจ้าจอมอิ่มกับพระมหาเทพ ผู้เป็นบิดาของเจ้าจอมอิ่มให้ โดยมีหมอดู หมอเสน่ห์ของทั้งสองฝ่ายทราบเรื่องอีกรวม ๗ คน
.
พระสุริยภักดีนั้นมีอายุ ๒๗ ปี มีเมียมีลูกแล้ว นอกจากจะมีลูกกับภรรยาหลวง ๓ คนแล้วยังมีลูกกับภรรยาอื่นอีก ๑๑ คน

หนังสือ “โครงกระดูกในตู้” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เล่าความต่อไว้ว่า เมื่อตระลาการนำคำไต่สวนขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้พระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษาเข้าเฝ้า มีพระราชกระแสรับสั่งว่า พระสุริยภักดียังเป็นหนุ่มรุ่นคะนอง ย่อมจะทำผิดพลาดไปโดยไม่ทันได้คิดถึงความผิดถูก อีกทั้งก็ยังมิได้พบปะพูดจากันเลย จึงมีพระกรุณาธิคุณจะยกโทษให้ แต่เมื่อมีเรื่องราวกล่าวโทษมีโจทก์ขึ้นมาเช่นนี้แล้ว จะทรงปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปเลยก็ไม่ได้ ทรงพระมหากรุณารับสั่งให้พระยาพระคลังทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นมา และขอทำทัณฑ์บนไว้ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษให้
.
พระยาพระคลังกราบทูลว่า ท่านเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย เมื่อบุตรของท่านทำผิดบทพระอัยการร้ายแรงเช่นนี้ ยิ่งสมควรจะรักษากฎหมายของบ้านเมืองไว้ มิฉะนั้นจะเป็นการเสียหายต่อแผ่นดิน เสมือนเป็นบุตรของท่านแล้วย่อมมีอภิสิทธิ์ทำอะไรก็ไม่มีความผิด ขอให้ลงพระราชอาญาตามแต่คณะลูกขุนจะพิจารณาเถิด
.
ในที่สุด คณะลูกขุนศาลาซึ่งก็มีพระยาพระคลังร่วมอยู่ในคณะด้วย ได้ดำเนินการพิจารณาโทษของพระสุริยภักดีไปตามพระกฤษฎีกาที่ได้กำหนดโทษไว้ว่า ชายใดบังอาจสมรักด้วยนางใน ก็ให้ประหารชีวิตเสียทั้งชายและหญิง ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องรู้เห็นเป็นใจ ก็ให้ประหารชีวิตเสียด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ พระสุริยภักดีและเจ้าจอมอิ่มกับผู้ที่รู้เห็นเป็นใจอีก ๗ คน จึงถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิตทั้งหมดที่สำเหร่
.
ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติได้สร้างวัดพิชัยญาติขึ้น ส่วนท่านผู้หญิงน้อย ผู้เป็นมารดา ก็ได้สร้าง “วัดอนงคาราม” ในที่ดินซึ่งเป็นสวนกาแฟของท่าน อยู่ฝั่งตรงข้ามคลองสมเด็จเจ้าพระยากับวัดพิชัยญาติ อุทิศส่วนกุศลให้บุตรชาย
.
เรื่องนี้เป็นเรื่องโด่งดังในยุคนั้น และทำให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่าน่าจะมีอะไรแอบแฝง เช่น ทาสที่ฟ้องนายของตัวเองต่อเสนาบดีกระทรวงวัง เป็นเรื่องที่ทาสไม่น่าจะกล้าทำ ที่สำคัญยังยื่นฟ้องด้วยการเขียนหนังสือ ซึ่งทาสไม่น่าจะรู้หนังสือถึงขาดนั้น ต้องมีคนเขียนให้แน่ จึงตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะมีคนถือโอกาสนำเรื่องนี้มาสกัดกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมือง ด้วยขณะนั้นทั้งพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา (ทัต) และเจ้าพระยาสุริยวงศ์โกษา (ดิศ) พี่ชาย ซึ่งว่าการคลังมาก่อนจะว่ากลาโหม ต่างก็มีอำนาจในราชการอยู่มาก เนื่องจากเป็นบุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณพระราชพันธ์นวล พระขนิษฐาในสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระอัครมเหสีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงเป็นที่ไว้วางใจมาทุกรัชกาล อาจเป็นที่ขัดขวางความใฝ่ฝันในอำนาจของบางคนได้
.
แต่อย่างไรก็ตามต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทั้งสองท่านก็ได้รับโปรดเกล้าฯพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดของขุนนาง คือ สมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ และ สมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ หรือที่เรียกกันว่า “สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่” กับ “สมเด็จเจ้าพระยาองศ์น้อย”
.
สิ่งต่างๆในบ้านเมืองทุกวันนี้ โดยเฉพาะที่มีมาแต่อดีตอันยาวนาน ย่อมมีที่มาและความเป็นไป หากสนใจใคร่รู้ ก็จะได้รู้ที่มาของสิ่งเหล่านั้นที่เป็นสมบัติของชาติในวันนี้


ที่มา https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000089072 
 

แอ่ว “เจียงใหม่” ไหว้พระวัดอุโมงค์ วัดโบราณ สงบงามท่ามกลางเมือง

ในช่วงที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม เนื่องจากความเรียบง่ายของคนเมือง วิถีชีวิตที่น่ารักอบอุ่น ตลอดจนมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “วัดอุโมงค์ เชียงใหม่” วัดโบราณที่ตั้งอยู่กลางใจเมือง แต่กลับเงียบสงบ ร่มเย็น และเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมที่งดงาม รอให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสความสงบ กราบพระขอพร และถวายสังฆทาน
.
วัดอุโมงค์ ประวัติที่มาเป็นอย่างไร ? จากตำนานเล่าว่า เดิมทีบริเวณวัดอุโมงค์ หรือสวนพุทธธรรม เป็นพื้นที่วัดของกษัตริย์ในยุคสมัยของพระเจ้ามังรายมหาราช เพราะพระองค์ได้ทำนุบำรุงพระศาสนา และสร้าง “วัดเวฬุกัฏฐาราม” (วัดไผ่ 11 กอ) ขึ้น
.
เมื่อยุคสมัยและการปกครองของผู้นำเปลี่ยนผ่าน ก็ยังมีการฟื้นฟูบริเวณวัดเรื่อยๆ จนเข้าสู่ยุคของพระเจ้ากือนาธรรมาธิราช พระองค์ได้ทำการบูรณะ ซ่อมแซมเจดีย์ และสร้างอุโมงค์ทางเดิน 4 ทิศ เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระมหาเถรจันทร์ และตั้งชื่อว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” หรือ “วัดอุโมงค์ เชียงใหม่”
.
จุดเด่นวัดอุโมงค์ เชียงใหม่ ที่ไม่ควรพลาด : 
.
1. อุโมงค์ทางเดิน 4 ทิศ
อุโมงค์ทางเดิน 4 ทิศขนาดใหญ่เป็นหนึ่งจุดเด่นสำคัญ เนื่องจากด้านในมีการเจาะช่องผนังสำหรับวางเทียน ทำให้ภายในอุโมงค์นั้นค่อนข้างมืด เงียบ และสงบ ตามทางเดินจะมีรูปจิตรกรรมฝาผนังเกือบตลอดเส้นทาง นอกจากนี้ภายในอุโมงค์จะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ นักท่องเที่ยวสามารถเดินลอดใต้อุโมงค์เพื่อเข้ามากราบไหว้พระ ขอพร ตลอดจนชมความงดงามของภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปต่างๆ ได้ เช่น ภาพจิตรกรรมนก ดอกโบตั๋น ดอกบัว เมฆ เป็นต้น
.
หากใครที่มีโอกาสได้ไปเที่ยวที่วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ในช่วงฤดูฝน หรือปลายฝนต้นหนาว จะพบว่าบริเวณด้านหน้า หรือรอบๆ ของอุโมงค์มีมอสส์สีเขียวขึ้นปกคลุม สร้างความสวยงาม สบายตา ในขณะเดียวกันก็ร่มรื่นและเงียบสงบด้วย
.
2. เจดีย์ 700 ปี วัดอุโมงค์ เชียงใหม่
เจดีย์วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับทางเข้าอุโมงค์ทางขึ้นลงเจดีย์มีบันไดนาคที่งดงามอยู่ด้านข้าง โดยจะเป็นสถาปัตยกรรมทรงระฆังกลม บริเวณทรงกรวยด้านบนของเจดีย์จะเป็นรูปกลีบดอกบัว บริเวณฐานส่วนล่างจะมีปูนปั้นลวดลายสวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมของศิลปะพม่า ทั้งนี้เจดีย์วัดอุโมงค์ถือว่าเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมเก่าแก่และสะท้อนให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม
.
3. เศียรพระพุทธรูปฝีมือช่างพะเยา
อีกหนึ่งจุดเด่นวัดอุโมงค์ คือ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ที่บริเวณลานด้านข้างทางเข้าอุโมงค์จะมีการจัดตั้งเศียรพระพุทธรูปจำนวนมาก ซึ่งพระพุทธรูปส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นโดยชาวพะเยาที่มีฝีมือช่วง พ.ศ.1950-2100 เป็นหนึ่งในคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ
.
นอกจากนี้วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ยังมีจุดเด่นอีกหลายๆ แห่งที่น่าสนใจและควรค่าแก่การมาเยี่ยมเยือน เช่น เสาหินอโศกจำลองจากประเทศอินเดีย หลักศิลาจารึกบันทึกประวัติความเป็นมาของวัดอุโมงค์ เชียงใหม่ หอสมุดธรรมโฆษณ์ โรงภาพปริศนาธรรม ตลอดจนมีสำนักปฏิบัติธรรมวัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม สำหรับผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรมท่ามกลางความเงียบสงบ
.
วัดอุโมงค์ เปิดกี่โมง วันไหนบ้าง?
วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น. นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ทั้งในช่วงกลางวัน และสามารถเดินทางมากราบไหว้ขอพรพระที่วัดอุโมงค์ช่วงกลางคืนได้ไม่เกินเวลา 2 ทุ่ม ทั้งนี้ควรงดใช้เสียงดัง และแต่งกายด้วยชุดสุภาพเหมาะสม
.
วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม หากใครมีโอกาสได้เดินทางมาเชียงใหม่หรือเดินทางมายังภาคเหนือ ก็สามารถแวะเข้ามา วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ ขอพร ถวายสังฆทาน ตลอดจนสัมผัสความเงียบสงบท่ามกลางเมืองใหญ่ได้ตลอดทั้งปี


ที่มา https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/2502186 
 

“ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

สำหรับการพัฒนาพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)  หรือ อพท. ได้ผนึกกับภาคีร่างแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ยกระดับฐานทุนทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม สู่แนวทางการท่องเที่ยววิถี “โหนด-นา-เล” ปั้น 5 เส้นทางท่องเที่ยวตอบโจทย์ตลาดท่องเที่ยวยุคใหม่  ยืนยันเป็นหน่วยงานกลาง บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป้าหมายใช้การท่องเที่ยวยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่ให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  
.
โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.  กล่าวว่า ลุ่มน้ำทะเลสาบลงขลา เป็นพื้นที่ที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติและมีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูง  การดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบของ “พื้นที่พิเศษ” จะสามารถช่วยให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดความยั่งยืน ด้วยการใช้หลักการเชิงวิชาการ เชิงเทคนิค มาวิเคราะห์และกำหนดสถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคด้านการท่องเที่ยวที่มีความสอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่
.
ซึ่งการประกาศพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นับเป็นกลไกหนึ่งในการบริหารและพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงบูรณาการ โดยมีองค์กรกลางทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ และเป็นผู้ประสานงานกับท้องถิ่นหรือเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวให้มีการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ
.
ขณะที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)  หรือ อพท. มีความเชี่ยวชาญในการทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับทุกภาคี เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว  รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคีที่เกี่ยวข้องด้วยการบริหารจัดการพื้นที่พิเศษอย่างมีส่วนร่วม ตามหลักการทำงานแบบ Co-Creation & Co-Own  โดยมีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นจากการท่องเที่ยว
.
โดยพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช.  เป็นที่เรียบร้อย  และอพท. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ที่สอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยว และความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้องที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
.
ซึ่ง อพท. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฉบับสมบูรณ์ ซึ่งจากผลการศึกษาเบื้องต้นกำหนดไว้  5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่  1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน  2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ตามวิถี เขา-โหนด-นา-เล 3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดอัตลักษณ์ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 4.ยุทธศาสตร์การพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว และ 5.ยุทธศาสตร์การพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการการท่องเที่ยว
.
ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีการดำเนินการท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ขาดการจัดการในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว โดยการเข้าไปพัฒนาของ อพท. จะใช้วิธีบูรณาทำงานร่วมกัน โดยดึง “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” เป็นแกนหลักในการพัฒนาพื้นที่นับตั้งแต่ทะเลสาบตอนบน  เป็นจุดกำเนิดแหล่งน้ำจืด ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ไหลมารวมกันเป็นทะเลน้อย ที่อยู่ตอนบนของจังหวัดพัทลุง ทำให้เป็นแหล่ง 3 น้ำในทะเลสาบตอนใน  มีพื้นที่ราบเหมาะต่อการทำการเกษตร  และไหลบรรจบที่ ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง จังหวัดสงขลา จึงเป็นทะเลสาบแบบ “ลากูน” ขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ประกอบกับความโดดเด่นด้านฐานทุนวัฒนธรรมจากการเคลื่อนย้ายของคนหลายสัญชาติ จึงนำมาสู่การพัฒนาภายใต้ธีม “ โหนด นา เล”
.
ขณะที่ภายใต้ยุทธศาสตร์ตามที่กล่าวมา อพท. จะนำหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) และเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย(CBT) มายกระดับมาตรฐานการให้บริการของชุมชน และผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผ่านการนำเสนอ 5 เส้นทางการท่องเที่ยว ภายใต้วิสัยทัศน์ของแผนการขับเคลื่อนที่กำหนดไว้ว่า “วิถีชีวิตแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน”   ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  เส้นทางท่องเที่ยววิถีโหนดนาเล เส้นทางท่องเที่ยววิถีชีวิตทะเลสาบสงขลา เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวด และเส้นทางท่องเที่ยวโนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมโลก
.
พร้อมกันนี้ อพท. ได้วางแผนพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาภายใต้แนวคิด โหนด นา เล โดยในความหมายของ “โหนด” มาจากคำว่า “ตาลโตนด” ที่เป็นสัญลักษณ์แทนความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติพันธุ์พืช พันธ์สัตว์  ที่เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญ  “นา” คือ ฐานสำคัญทางความมั่นคงด้านอาหารด้วยเป็นพื้นที่ลุ่ม จึงมีการทำนา และมีข้าวพันธ์ดีคือข้าวสังข์หยดที่มีชื่อเสียง โดยข้าวสังข์หยดที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นจากข้าวพื้นเมือง ที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์  ส่วน “เล” แหล่งทรัพยากรทางน้ำ อาหาร เส้นทางการค้าที่ทำให้ผู้คนมั่งคั่งและมีชีวิตชีวา  ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ ของความอุดมสมบูรณ์ที่ขับเคลื่อน 15 อำเภอ ใน 3 จังหวัด สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราชให้มีความเจริญมาอย่างยาวนาน  โหนด- นา- เล จึงสะท้อนวิถีดั้งเดิมที่ยังคงรากวัฒนธรรมเดิมๆ ได้เป็นอย่างดี


ที่มา https://siamrath.co.th/n/365120 
 

กรุงเทพมหานคร จุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของนักเดินทางทั่วโลก จากการเปิดเผยข้อมูลจาก "อโกด้า"

“อโกด้า” แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวระดับโลก เผยอันดับจุดหมายปลายทางยอดนิยมทั่วโลกในถดูร้อน ขณะที่การเดินทางระหว่างประเทศค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติ และผู้คนมากขึ้นหันไปท่องเที่ยวนอกประเทศอีกครั้ง
.
หลังจากที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 บรรเทาลงมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงประเทศไทยยกเว้นการลงทะเบียน Thailand Pass เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นักเดินทางชาวไทยต่างก็เตรียมตัวพร้อมบินไปพักผ่อนที่เมืองฮิตในทวีปเอเชียและยุโรป(อีกครั้ง) จากข้อมูลการจองห้องพักของอโกด้า ซึ่งรวบรวมตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2565 จุดหมายปลายทางต่างประเทศยอดนิยม 5 อันดับแรกของนักเดินทางชาวไทย คือ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เวียดนาม ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ
.
เมื่อมองที่จุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลก ปีนี้กรุงเทพมหานครกลับขึ้นมาครองอันดับ 1 อีกครั้ง ด้วยข้อบังคับด้านเดินทาง และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่ผ่อนคลายลงเกือบทั้งหมด รวมถึงสถานบันเทิงยามค่ำคืน ชายหาด วัดวาอาราม วัฒนธรรม และอาหารมากมายหลากหลายที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ส่วนจุดหมายปลายทางอื่นในท็อป 5 ได้แก่ เกาะเชจู กัวลาลัมเปอร์ โตเกียว และโซล ตามลำดับ นอกจากนี้พัทยายังเลื่อนขึ้นมาอยู่ในอันดับ 8 ในท็อป 10 อีกด้วย เมืองชายฝั่งทะเลแห่งนี้ขึ้นชื่อในด้านความมีชีวิตชีวาของสถานบันเทิงยามค่ำคืน หาดทรายสีทอง อาหารรสเลิศ และโรงแรมสวยงาม
.
จุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลกปีค.ศ.2022
1. กรุงเทพฯ    2. เกาะเชจู    3. กัวลาลัมเปอร์    4. โตเกียว    5. โซล
6. สิงคโปร์    7. บาหลี        8. พัทยา        9. มะนิลา    10. ปีนัง
11. ฮ่องกง    12. ปูซาน    13. โอซาก้า    14. ยะโฮร์ บาห์รู    15. ไถจง
.
คุณออมรี มอร์เกนสเติร์น, ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร, อโกด้า กล่าวว่า “อโกด้ามองว่าการเดินทางระหว่างประเทศกำลังค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติในปีนี้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางนั้นลดลงมาก แสดงให้เห็นว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมาผู้คนตั้งหน้าตั้งตารอไปท่องเที่ยวอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในประเทศ หรือที่ประเทศอื่นในทวีปเอเชีย รวมถึงวางแผนที่จะใช้เวลาช่วงวันหยุดอย่างเต็มที่”
.
“การได้หวนนึกถึงความทรงจำดี ๆ และกลับไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่เคยไปดูเหมือนจะเป็นธีมของการเดินทางท่องเที่ยวในฤดูร้อนนี้ เรามุ่งมั่นที่จะทำให้ผู้คนสามารถเดินทางได้มากขึ้นด้วยการนำเสนอตัวเลือกสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวที่ดีที่สุดทั้งบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน เช่น ส่วนลดราคาห้องพัก และบัตรโดยสารเครื่องบิน รวมถึงอื่นๆอีกมากมาย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางที่ใกล้เข้าสู่สภาวะปกติมากขึ้นเรื่อย ๆ” 
.
ใครที่กำลังวางแผนเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นในประเทศ หรือต่างประเทศ สามารถไปเลือกดูหลากหลายข้อเสนอสุดคุ้มตามความต้องการ รวมถึงอ่านข้อจำกัดด้านการเดินทางล่าสุดได้ที่ Agoda.com 
.
กรุงเทพมหานครเป็นจุดหมายปลายทางในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกอันดับ 1 สำหรับนักเดินทางชาวสหรัฐอเมริกา และ
สหราชอาณาจักร รวมถึงยังอยู่ในในท็อป 3 สำหรับทุกภูมิภาคทั่วโลก
.
ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 สำหรับนักเดินทางชาวอินเดีย ตามมาด้วยอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ
.
มาเลเซียเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 สำหรับนักเดินทางชาวสิงคโปร์ ตามมาด้วยไทย และอินโดนีเซีย
.
บาหลีต้อนรับนักเดินทางชาวออสเตรเลียมากที่สุด ตามมาด้วยนักเดินทางชาวสิงคโปร์ เกาหลี และอินเดีย
.
จุดหมายปลายทางยอดนิยม 3 อันดับแรกในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกสำหรับนักเดินทางชาวอเมริกัน คือ กรุงเทพมหานคร มะนิลา และโตเกียว


ที่มา https://siamrath.co.th/n/366342 
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top