Thursday, 21 September 2023
TRENDING

“หมอตำแย” หมอทำคลอดแท้ ๆ แต่ทำไม ? ต้อง “ตำแย”

ถ้าพูดถึงนางผดุงครรภ์คนส่วนใหญ่อาจจะไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่าหมอตำแย คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกันดีว่า หมายถึงหมอหรือผู้ชำนาญการในการทำคลอด
.
คำว่า “ตำแย” มีที่มาจากไหน ส.พลายน้อย เคยเล่าว่าพบคำว่า “daya” ในภาษาฮินดูสตานีหมายถึง หมอตำแย ในคัมภีร์ประถมจินดา หรือ ปฐมจินดา ซึ่งเป็นคัมภีร์แพทย์แผนไทยเกี่ยวกับการสูติกรรม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์อายุรเวทของอินเดีย มีการอ้างอิงถึงผู้แต่งคัมภีร์ว่าได้แก่มหาเถรตำแย
.
ดังในตอนหนึ่งของคัมภีร์ปฐมจินดาบันทึกไว้ว่า “ปุน จปรํ มาตุรัก์ขิปติฏ์ฐิตรํ ชีวกโกมาโรหรํ อาภตรํ ฐาเน อิทรํ สุตรํ อิติ เอต์ถ วจนัส์ส มหาเถรโต อโหสีติ (ปุน จปรํ) ว่าในถ้อยคำอนึ่งเล่า (อหํ) อันว่าเข้า (ชีวกโกมาโร) ชื่อชีวกโกมารภัจ (สุตํ) ได้สดับฟัง (มหาเถรโต) จากสำนักพระมหาเถรผู้ชื่อว่าตำแย (อาภตํ) เธอนำมา (ปติฏ์ฐิตํ) สำทับลงไว้ (มาตุคัพ์ภรัก์ขัม๎หิ) ในคัมภีร์ครรภ์ทรักษานี้ (เอต์ถ วจเน) ในถ้อยคำหนึ่งเล่า (อัส์ส มหาเถรัส์ส) แห่งพระมหาเถรนั้น (อิติ) ด้วยประการดังนี้”
.
บางท่านเห็นว่าคำ ตำแย เพี้ยนมาจากคำว่า อาเตรยะ ซึ่งเป็นชื่อของมหาฤๅษีผู้ทรงความรู้ทางด้านการแพทย์แห่งสำนักตักสิลา เชื่อกันว่าเป็นอาจารย์ของหมอชีวกโกมารภัจด้วย ส่วนคำว่า “ผดุงครรภ์” ว่ากันว่าเป็นคำที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ใช้ในการเรียกหมอตำแย จึงเป็นคำที่ใช้กันอย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นเรื่อยมา
.
นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ได้สืบค้นหารากศัพท์ในหลายแหล่งจนได้ความรู้มาว่า ในภาษาไทยยวนเรียกหมอตำแยว่า “แม่จ่าง” ภาษาไทใหญ่เรียกว่า “แม่เก็บ” ภาษาใต้แถบฝั่งอันดามันเรียกว่า “แม่ทาน” แต่ทางฝั่งอ่าวไทยเรียกว่า “หมอตำแย” ภาษาไทยดำในเมืองแถนหรือเดียนเบียนฟูเรียกว่า “หมอสิงแบ่” (สิง แปลว่า คลอด) หรือ “หมอเห็นหน้า” ภาษาจ้วงเรียกว่า “แม่ซึ้บเสง” ภาษาทางฝั่งอีสานใต้ สุรินทร์ ศรีษะเกษ เรียกว่า “แม่ตอบหมอบ” ภาษาลาวใต้ทางจำปาสัก ปากเซ เรียกว่า “แม่ตะหมอบ” ภาษาเขมรในเมืองเขมรเรียกว่า “ฉม็อบ (Chhmob)” หมายถึง หมอออกลูก ซึ่งในอีสานใต้และลาวอาจจะมีรากคำมาจากภาษาเขมรนั่นเอง แต่ในลาวเหนือหลวงพระบาง เวียงจัน เรียกว่า “หมอตำแย” หากในกลุ่มชาวมุสลิมก็เรียกว่า “โต๊ะบิแด” หรือ “บิดัน”
.
ทั้งคำว่าหมอตำแยและคำเรียกหมอตำแยในชื่อต่างๆ ของภาษาถิ่น นิพัทธ์พร เห็นว่า อาจสะท้อนให้เห็นความหลากหลายของความรู้ทางการแพทย์ท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรม การเรียกชื่อผู้ทำคลอดว่า หมอตำแย มีนัยเชื่อมโยงไปถึงการได้รับอิทธิพลของความรู้ทางการแพทย์แบบอายุรเวท ส่วนในพื้นที่ ๆ ไม่ได้รับอิทธิพลมากนักและมีความรู้ในการทำคลอดของตนเอง จึงยังมีชื่อเรียกผู้ทำคลอดตามวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ
.
ในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อมหาอำนาจชาติตะวันตกได้เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และอาณานิคมในดินแดนแถบตะวันออกเฉียงใต้ บรรดาคณะบุคคลต่างๆ ที่เข้ามาก็ได้นำเอาความรู้แขนงต่างๆ เข้ามาถ่ายทอดกับคนท้องถิ่นด้วย ความรู้ทางด้านการแพทย์แบบตะวันตกสมัยใหม่ก็เข้ามาในเวลานั้นด้วย บรรดาผู้ทรงความรู้ทางด้านการแพทย์ก็พยายามหักล้างความรู้ความเชื่อของท้องถิ่นด้วยวิทยาการทางการแพทย์แขนงต่างๆ เพื่อสร้างความศรัทธาต่อวิทยาการตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การปลูกฝี และการทำคลอดหรือการผดุงครรภ์แบบตะวันตกในดินแดนอาณานิคม
.
สำหรับสยามในเวลานั้น แม้จะไม่มีได้ตกเป็นอาณานิคมของชาติใด แต่การจูงใจให้หันมาใช้วิธีการทำคลอดแบบตะวันตกโดยหมอมิชชันนารีก็เป็นไปอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะหมอบรัดเลย์ (หรือนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ Dan Beach Bradley) หมอบรัดเลย์พยายามจูงใจให้บรรดาเชื้อพระวงศ์และขุนนางชั้นสูง เชื่อมั่นในวิธีการผดุงครรภ์แบบตะวันตกตั้งแต่ก่อนคลอดจนหลังคลอด และพยายามให้เลิกการอยู่ไฟด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทรมาน และได้รับทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เขียนตำรา “ครรภ์ทรักษา” พ.ศ. ๒๓๘๕ (ค.ศ. ๑๘๔๒) โดยตีพิมพ์เป็นจำนวน ๒๐๐ ฉบับ แจกจ่ายให้กับบรรดาหมอหลวงในเวลานั้น โดยย่อความจากคัมภีร์ครรภ์ทรักษาของแพทย์อเมริกาและแพทย์ยุโรปเวลานั้น
.
แต่ความตั้งใจของหมอบรัดเลย์ไม่สำเร็จผล จนเขาเห็นว่า “ประเพณีการคลอดของไทยนั้นมีอำนาจยิ่งกว่าอำนาจของพระมหากษัตริย์” ตลอดชีวิตของหมอบรัดเลย์ เขาไม่มีโอกาสเห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการทำคลอดของสยาม กระทั่ง ๑๖ ปี หลังจากหมอบรัดเลย์เสียชีวิต สิ่งที่เขาลงแรงวางรากฐานทางความคิดไว้จึงออกผล ใน พ.ศ. ๒๔๓๒ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ทรงเลิกการผทมเพลิง (การอยู่ไฟ) เมื่อประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า อัษฎางเดชาวุธ และทำให้ในพระราชวังก็ยกเลิกธรรมเนียมในการต่อมา และมีการจูงใจให้ชาวบ้านเลิกอยู่ไฟด้วย จนปัจจุบันนี้หมอตำแย แทบจะสูญไปจากสังคมไทย


ที่มา https://www.sac.or.th/conference/2017/หมอตำแย/  
 

โรค “คิดไปเองว่าป่วย” 20-30 ปี เจอมากสุด

ในทางการแพทย์ยังมีโรคหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินหรือไม่เคยรู้จักมาก่อน กับโรคที่มีชื่อว่า โรค “คิดไปเองว่าป่วย” หรือ “Hypochondriasis” ผู้ป่วยจะมีความเชื่อว่าตนเองป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่ง และถึงแม้จะหาหมอเป็นสิบๆ ครั้ง และหมอบอกว่าไม่ได้เป็นอะไรก็จะไม่ยอมเชื่อง่ายๆ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อยเลย
.
อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรค Hypochondriasis คือ
เมื่อมีอาการทางกายบางอย่างจะพาลคิดไปว่าตัวเองป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่ง และจะชอบหาหมอหลายครั้ง เพราะจากการหาครั้งแรกแล้วหมอวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นอะไรก็จะไม่ยอมเชื่อ ทำให้ต้องหาหมอซ้ำอีก เมื่อผลวินิจฉัยออกมาเหมือนเดิม ก็จะไม่ยอมเชื่ออยู่อย่างนั้น ทำให้ต้องวิ่งเข้าวิ่งออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น เพราะคนกลุ่มนี้จะเชื่อว่าตัวเองป่วยจริง ๆ
.
อาการดังกล่าวเกิดขึ้นจาก “ความวิตกกังวล” ของคนไข้เอง
เกิดจากอาการทางกายบางอย่างหรือหลายอย่าง ทำให้คนไข้เกิดความวิตกกังวลไปต่างๆ นานา ที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือต่อชีวิต ยกตัวอย่างเช่น อาการปวดท้อง อาจเป็นอาการท้องอืด ท้องเฟ้อธรรมดา แต่ในคนที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าวจะความรู้สึกไวกว่าคนปกติ และรู้สึกว่าปวดท้องหนักมาก ทำให้กังวลว่าจะเป็นโรคร้าย เป็นต้น เมื่อพบแพทย์แล้วแพทย์ทำการวินิจฉัยว่าไม่ได้ป่วยก็จะไม่ยอมเชื่อ
.
คนกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกว่าตัวเองป่วยจริงๆ และไม่ได้แกล้งทำ ซึ่งเกิดจากจิตใต้สำนึกของบุคคลนั้น ขณะที่บางรายมีอาการทางกายบางอย่าง แต่บางรายก็อาจไม่ได้มีอาการเลยก็ได้ เช่น การนั่งใกล้ผู้ติดเชื้อ HIV แล้วกังวลว่าตนเองจะได้รับเชื้อมาทางระบบทางเดินหายใจ เมื่อพบแพทย์และทำการวินิจฉัยโรคว่าไม่พบ ก็จะหายกังวลไปได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งแล้วกลับมากังวลใหม่ และพบแพทย์ใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ
.
ผู้ป่วยโรคนี้จะมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน
บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แต่ที่พบมากจะอยู่ในกลุ่มอายุ 20-30 ปี ส่วนมากคนที่มีความกังวลจะมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับโรคนั้นๆ เช่น การกังวลถึงการติดเชื้อ HIV ซึ่งเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ คนที่มีพฤติกรรมนี้ก็จะมีความกังวลต่อโรคนี้เป็นพิเศษ แต่ถ้าหากเป็นผู้สูงอายุที่เห็นคนใกล้ตัวเสียชีวิตเพราะโรคหัวใจ หรือพบเห็นข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้สูงอายุด้วยโรคหัวใจบ่อยๆ ก็จะมีความกังวลต่อโรคนี้มากกว่าโรคอื่นๆ เป็นต้น
.
นอกจากนี้การเป็นโรคของคนในครอบครัวก็มีส่วนที่ทำให้เกิดความกังวล อย่างผู้ป่วยบางรายที่อาจเคยมีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เมื่อตัวเองมีอาการแน่นหน้าอก ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดทั่วไป หากในคนปกติก็จะถอนหายใจสักสองสามครั้ง นั่งพักสักครู่ก็หาย แต่ถ้าเป็นคนป่วยด้วยโรค Hypochondriasis ซึ่งอาจมีความกังวลในเรื่องของโรคหัวใจอยู่แล้ว จากคนในครอบครัวที่เป็นโรคนี้มาก่อน เมื่อถอนหายใจแล้วจะสามารถหายไปได้ช่วงหนึ่ง แต่ก็จะกลับมาเป็นใหม่ เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับโรคดังกล่าวอยู่
.
วิธีการสังเกตตนเองว่าเป็นโรคนี้หรือไม่
ให้สังเกตที่จำนวนครั้งในการพบแพทย์ ในคนทั่วไปหากสงสัยว่าตนเองเป็นโรคอะไรอยู่ อาจมีการพบแพทย์ซ้ำเป็นครั้งที่สอง หากไม่เชื่อคำวินิจฉัยของแพทย์ในครั้งแรก อาจคิดว่าแพทย์ตรวจไม่พบ หรืออะไรก็ตาม แต่เมื่อพบแพทย์ครั้งที่สองแล้วไม่พบโรคอีก ก็จะเลิกพบไปในที่สุด แต่ถ้าหากมีการพบแพทย์ซ้ำมากกว่าสองครั้งขึ้นไป ก็เป็นไปได้ว่าอาจเป็นโรค Hypochondriasis อยู่
.
การวินิจฉัยโรคดังกล่าว
จะมีการตรวจทั้งทางกายและใจร่วมกัน ก่อนอื่นต้องตรวจให้แน่ใจก่อนว่าคนไข้ไม่ได้เป็นโรคที่กังวลอยู่จริงๆ หรือถ้าหากตรวจพบตามอาการที่คนไข้บอก ก็ต้องแน่ใจก่อนว่าอาการนั้นไม่ใช่โรคร้ายที่คนไข้กังวลอยู่ นั่นเป็นการตรวจทางกาย แล้วจึงตรวจทางใจร่วมกัน
.
วิธีการรักษาโรคดังกล่าว
โดยทั่วไปค่อนข้างรักษายาก เพราะเกิดจากความกังวลและเป็นตัวตนของคนไข้เอง ก่อนอื่นก็ต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจก่อนว่าร่างกายของคนไข้ปกติดี ไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไร ซึ่งต้องอาศัยท่าทีที่น่าเชื่อถือของแพทย์ร่วมด้วย หรืออาจอธิบายให้คนไข้เข้าใจว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้รุนแรงหรือเป็นโรคร้าย ขั้นต่อไปคือการให้ยาลดความวิตกกังวล รวมถึงการฝึกฝนคนไข้ใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมอง ความคิดของตัวเอง เกี่ยวกับอาการป่วยที่คนไข้กังวลอยู่ ในขั้นนี้จะเรียกว่าจิตบำบัด ที่สำคัญที่สุดคนรอบข้างต้องให้ความเข้าใจในตัวคนไข้อย่างมาก


ที่มา https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/โรคคิดไปเองว่าป่วย-hypochondriasis-หา/ 
 

รู้จัก Samhainophobia โรคกลัววันฮาโลวีน

เทศกาลฮาโลวีนใกล้เข้ามาแล้ว น่าจะเป็นหนึ่งในเทศกาลที่หลายคนชื่นชอบกับการแต่งผีแล้วมา Trick or Treat หลอกหรือเลี้ยงกัน แต่รู้ไหมว่ามีคนบางกลุ่มที่ไม่ชอบและกลัววันฮาโลวีนอยู่ โดยอาการนี้เรียกว่า Samhainophobia
.
Samhainophobia รากศัพท์มาจากคำว่า Samhain Festival เป็นเทศกาลของกลุ่มเซลติค (Celtic) ราวๆ 2,000 ปีก่อน โดยถือว่าวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเป็นวันที่โลกของคนตายเข้าใกล้โลกของคนเป็นมากที่สุด ผู้คนเลยต้องแต่งตัวเป็นผี เพื่อให้วิญญาณสับสนแล้วไม่มาสิงร่างของตัวเอง
.
ส่วนอีกคำคือคำว่า phobia คำที่ใช้อธิบายถึงการเป็นโรคกลัวอะไรบางอย่าง พอสองคำรวมกันก็หมายถึงคนที่มีความกลัววันฮาโลวีน
.
อาการของ Samhainophobia นั้นก็คล้ายกับอาการโฟเบียอื่นๆ เช่น มีอาการเหงื่อออก ,หัวใจเต้นเร็ว ,รู้สึกไม่สบายใจ ,ร้องไห้ ,หนีความมืด ,พยายามวิ่งหนี ,เกิดอาการสั่นกลัว
.
สาเหตุของ  Samhainophobia ส่วนใหญ่สาเหตุและผู้ที่เป็นมักเป็นเด็ก เนื่องจากไม่สามารถแยกได้ว่าอะไรคือเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง การแต่งกายเป็นผีอาจจะทำให้เด็กกลัวไม่สามารถแยกได้ บางรายอาจกระทบจิตใจจนเป็นภาพจำที่ไม่ดี ถูกแกล้งหลอกผี ขังให้อยู่คนเดียวกับความมืด
.
สำหรับใครที่รู้สึกมีอาการแบบนี้ เบื้องต้นพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดอาการ พยายามทำความเข้าใจ หากกระทบต่อสุขภาพแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป


ที่มา https://www.innnews.co.th/lifestyle/news_433382/ 
 

สิ่งมีชีวิตแรกบนดาวอังคาร อาจทำให้ตัวเองต้องสูญพันธุ์

แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารไม่พบ แต่ข้อมูลใหม่ ๆ จากการสำรวจทำให้พวกเขาเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า อย่างน้อยในอดีตหลายพันล้านปีก่อน จะต้องเคยมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้แน่ แต่พวกมันอาจมีพฤติกรรมทำลายตัวเองจนต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด
.
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ฉบับวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา ชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เมื่อ 3,700 ล้านปีก่อน ดาวอังคารเคยมีจุลินทรีย์ซึ่งกินไฮโดรเจนและขับถ่ายมีเทนออกมา โดยในช่วงเวลาเดียวกันนั้น โลกก็ได้ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตแบบเดียวกันขึ้นมาแล้ว
.
มีการสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ เพื่อทำนายถึงผลกระทบที่จุลินทรีย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกบนดาวอังคารมีต่อสิ่งแวดล้อมบนดาวของมันเอง ทำให้พบว่าหากจุลินทรีย์กินไฮโดรเจนเคยมีอยู่จริง พวกมันจะส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศและการดำรงชีวิตของตนเองเป็นอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากผลกระทบของจุลินทรีย์ชนิดนี้ต่อโลก
.
เนื่องจากชั้นบรรยากาศของดาวอังคารมีองค์ประกอบหลักเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจน ซึ่งต่างก็เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ช่วยกักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์เอาไว้ ทำให้ดาวอังคารซึ่งอยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลก มีอุณหภูมิอบอุ่นพอที่จะให้กำเนิดชีวิตในยุคราว 4,000 ล้านปีก่อนได้
.
อย่างไรก็ตามการคำนวณด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ชี้ว่า หากจุลินทรีย์ที่กินไฮโดรเจนและขับถ่ายมีเทนออกมามีอยู่จริงในยุคต้นของดาวอังคาร พวกมันจะทำให้ไฮโดรเจนในชั้นบรรยากาศหมดไปอย่างรวดเร็ว จนดาวอังคารสูญเสียความสามารถในการกักเก็บความร้อน และพื้นผิวดาวเย็นลงจนไม่สามารถมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้อีก
.
การคาดการณ์ด้วยแบบจำลองชี้ว่า อุณหภูมิพื้นผิวของดาวอังคารที่มีชั้นบรรยากาศปกคลุมเพียงเบาบาง ลดต่ำลงจากเดิมที่อยู่ในช่วง 10-20 องศาเซลเซียส ไปอยู่ที่จุดหนาวเย็นสุดขั้วถึง -57 องศาเซลเซียส ทำให้บรรดาจุลินทรีย์ที่เป็นตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจต้องหนีหนาวลงไปอยู่ในชั้นดินหินลึกจากพื้นผิวถึง 1 กิโลเมตร ก่อนจะสูญพันธุ์ไปในเวลาราว 200-300 ล้านปีหลังจากนั้น
.
ภายในช่วงทศวรรษหน้า มนุษย์อาจได้มีโอกาสไปเหยียบดาวอังคารและทำการสำรวจหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตโบราณได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ว่าสมมติฐานข้างต้นเป็นความจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการพบร่องรอยของมีเทนบนดาวอังคาร ซึ่งเชื่อว่าอาจเกิดมาจากสิ่งมีชีวิตแล้ว
.
ดร. บอริส ซอเทอรีย์ ผู้นำทีมวิจัยจากสถาบัน IBENS ของฝรั่งเศส กล่าวสรุปว่า “องค์ประกอบต่าง ๆ ที่ให้กำเนิดชีวิต สามารถพบได้ทั่วไปในจักรวาล จึงมีความเป็นไปได้ว่าสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้นอยู่เสมอในดวงดาวทั้งหลาย แต่หากสิ่งมีชีวิตนั้นไม่สามารถรักษาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตเอาไว้ได้ ก็จะต้องสูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว”


ที่มา https://www.bbc.com/thai/articles/c99881p49kwo 
 

5 วิธีแก้อาการหลงลืม ก่อนเป็นหนักจนเกินแก้

ปัจจุบันใน ทุก ๆ ช่วงวัย ต่างมี กิจวัตรประจำวัน หรือ การทำงาน เข้าร่วมอยู่ด้วย โดย อาการ "หลงลืม" หรือ นิสัย "ขี้ลืม"  เกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเกินไปอาจไม่เกิดผลดีและอาจเป็นสัญญาณของการมีปัญหา สุขภาพ ได้ ซึ่งเรื่องการหลงลืม ที่เกิดขึ้นตามวัยนั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสูญเสียเวลา เงินทอง มิตรภาพ สุขภาพ และอาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน การเรียน และการเข้าสังคมได้
.
1. พักผ่อนให้เพียงพอ
เริ่มด้วยวิธีนี้ ถือเป็นเคล็ดลับของการมี สุขภาพ ที่ดีอย่างหนึ่ง ซึ่ง การพักผ่อนให้เพียงพอ ในแต่ละวันตั้งแต่ 6-8 ชั่วโมง เพราะการนอนสงผลโดยตรงต่อระบบสมอง หากการพักผ่อนน้อย อาจทะให้ตื่นมารู้สึกมึนงง หรือ สับสน รวมถึง มีส่วนทำให้ขาดสมาธิในการทำบางสิ่งจนเกิดอาการ ลืม ได้ และยังทำให้เกิดผลเสียต่อ สุขภาพ ที่จะตามมาอีกด้วย
.
2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
การรับประทานที่มีประโยชน์ หรือ อาหาร 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เค็มจัด หวานจัด และไปเน้นเสริมอาหารที่มีส่วนช่วยในเรื่องสมาธิ และความจำ เช่น อาหารที่มีโอเมก้า 3 (ไข่ ปลาทะเล) ใบแปะก๊วย ซุปไก่สกัด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี แอปเปิล อะโวคาโด ผักโขม แครอท ธัญพืชและถั่วต่าง ๆ อาหารเหล่านี้คือตัวช่วยเรื่องสุขภาพและช่วยลดอาการ "หลงลืม"  ได้ดี
.
3. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกาย เป็นอีกหนึ่งวิธีการช่วยให้สภาวะนิสัย "ขี้ลืม" ให้หายไปได้ และยังเป็นประโยชน์ต่อ สุขภาพ ได้อีกด้วย เพราะ การออกกำลังกาย ไม่เพียงแต่ทำให้ ร่างกายแข่งแรง แต่การออกกำลังนั้น คือการที่ทำให้เราได้สร้างวินัยให้กับตัวเองอย่างเป็นประจำ และ ให้ใช้เวลาคิดทบทวนกับตัวเองให้มากขึ้นจะทำให้เรามีสมาธิที่ดี การออกกำลังกาย จึงเป็นอีกวิธีที่ทำให้เห็นผลได้อย่างยิ่ง
.
4. ลดการดื่มแอลกอฮอล์
การมีสภาวะ "หลงลืม" หรอ นิสัย "ขี้ลืม" อาจเป็นผลมาจาก การดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงใช้ยาหรือสารต่าง ๆ เพราะทุกประเภทมีฤทธิ์ ไปกดประสาทและส่งผลโดยตรงกับตัวคุณ รวมไปถึงอาการ "หลงลืม" ก่อนถึงวัยอันสมควรได้
.
5. หากิจกรรมทำใหม่ ๆ 
การหากิจกรรมทำใหม่ ๆ ให้กับชีวิต ทำให้สมองเราเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เกิดความคิด ไอเดีย ต่าง ๆ จะช่วยให้ระบบประสาท ลดความเครียด และลดโอกาสเป็น โรคความจำเสื่อม ได้อีกด้วย การทำสิ่งใหม่ ๆ ในปัจจุบันในโลกที่ทุกอย่างเข้าถึงได้ง่าย จึงไม่ยากหากคุณคิดจะเริ่มทำ เช่น การเรียนออนไลน์ , การเรียนภาษา , อ่านหนังสือ หรือการ คิดทำคอนเทนท์อะไรใหม่ ๆ ที่ปัจจุบัน มีให้เลือกมากมาย


ที่มา https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/health/532669 
 

คนไทยเริ่มดื่ม “กาแฟ” ตั้งแต่เมื่อไหร่ ? กันนะ

ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า คนไทยเริ่มดื่ม “กาแฟ” กันมาตั้งแต่เมื่อใด?
.
ในที่นี้ต้องเท้าความไปที่ประวัติความเป็นมาของกาแฟกันสักหน่อย กาแฟมีถิ่นกำเนิดบริเวณทวีปแอฟริกา แล้วแพร่พันธุ์นำมาปลูกในดินแดนอาระเบีย ก่อนจะกระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก
.
ในช่วงที่กาแฟถูกนำไปเผยแพร่ในดินแดนอาระเบียนั้น ดินแดนที่ตอบรับกาแฟเป็นแห่งแรกคือ เยเมน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ถึงต้นศตวรรษที่ 15 ในช่วงเวลานั้น กาแฟส่วนใหญ่เป็นของรับประทานสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายซูฟี โดยเชื่อว่าการเคี้ยวเมล็ดกาแฟจะใช้ขจัดความง่วงในระหว่างการดำเนินพิธีกรรมทางศาสนาในช่วงกลางคืน และเพื่อใช้เป็นยาเสริมความสามารถในการเข้าถึงพระเจ้า
.
ต่อมา กาแฟก็ได้แพร่กระจายไปทั่วทั้งคาบสมุทรอาระเบียไปพร้อมกับผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายซูฟี ทั้งในไคโร ดามัสกัส และเมกกะ จากนั้นการดื่มกาแฟก็ได้รับความนิยมควบคู่กับการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.
กาแฟจึงน่าจะแพร่เข้าสู่ดินแดนประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
.
ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บันทึกถึงกาแฟว่า “อนึ่ง แขกมัวร์ในประเทศสยามดื่มกาแฟ ซึ่งมาจากเมืองอาหรับ และชาวปอรตุเกศนั้นดื่มโกโก้ เมื่อมีส่งมาจากมนิลาเมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งนำมาจากอินเดียภาคตะวันออกในเขตคุ้มครองของสเปญอีกทอดหนึ่ง”
.
เชื่อว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาอาจมีคนไทยได้ทดลองดื่มกาแฟบ้างแล้วเป็นแน่ แต่คงไม่เป็นที่นิยมมากนัก คงดื่มมากกันในหมู่แขกมัวร์ หรือก็คือชาวมุสลิมจากเปอร์เซีย (แถบประเทศอิหร่านในปัจจุบัน) ส่วนเครื่องดื่มของคนไทยสมัยนั้นที่นิยมคือ น้ำเปล่า หรือน้ำบริสุทธิ์อบให้หอม น้ำชาอย่างจีน เหล้า ทั้งที่เป็นเหล้าองุ่น และเหล้าพื้นบ้านที่หมักจากข้าว
.
ถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยังคงปรากฏหลักฐานของกาแฟ อยู่ในบทพระราชนิพนธ์ “อิเหนา” ในสมัยรัชกาลที่ 2 ความว่า
.
“บ้างตั้งเครื่องบูชาระย้าแก้ว   เป็นถ่องแถวสดสีไม่มีหมอง
คลังสมบัติจัดขันน้ำพานรอง   กระโถนทองเหลืองตั้งเป็นแถวทิว
กรมท่าต้มน้ำชาเร็วรวด   น้ำตาลกรวดลูกกาแฝ่แก้หิว
ใส่ถ้วยอย่างใหม่ลายริ้วริ้ว   มีหูหิ้วลายทองรองจาน”
.
จะเห็นได้ว่า น้ำชา (อย่างจีน) ยังคงเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอยู่ ส่วนกาแฟก็เริ่มมีบทบาทเข้ามาเป็นเครื่องดื่มอีกชนิดในสังคมชนชั้นสูง โดยเฉพาะการใส่ถ้วย “อย่างใหม่” นี้ก็น่าจะสะท้อนถึงถ้วยและจานรองกาแฟแบบตะวันตกที่เข้าสู่สยามแล้ว
.
แต่ที่มีบันทึกเป็นหลักฐานค่อนข้างแน่ชัดว่า คนไทยโดยเฉพาะขุนนางและชนชั้นสูงเริ่มดื่มกาแฟนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
.
โดยหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามายังสยามกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ โดยภายหลังจากหมอบรัดเลย์ปลูกฝีสำเร็จ จนได้รับความดีความชอบจากรัชกาลที่ 3 พระราชทานเงินให้หมอบรัดเลย์ 3 ชั่ง ราว 145 ดอลลาร์ หมอบรัดเลย์เดินทางไปรับเงินพระราชทานที่บ้านของพระคลัง ซึ่งน่าจะเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เจ้าพระยาพระคลังในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้ดื่มกาแฟในบ้านของขุนนางผู้ใหญ่แห่งตระกูลบุนนาค ดังที่หมอบรัดเลย์บันทึกว่า
.
“พระเจ้าอยู่หัวทรงซาบซึ้งพระราชหฤทัยในการทำงานบริการประชาชนของข้าพเจ้า แต่แทบไม่เคยคิดเลยว่าจะได้เห็นในรูปอื่นนอกเหนือจากเป็นวาจาเท่านั้น พระคลังส่งคนรับใช้มาพาข้าพเจ้าไปที่บ้านเพื่อรับพระราชทานเงินหลวงนั้น ข้าพเจ้าทำตาม และได้รับการต้อนรับอย่างให้เกียรติเป็นพิเศษ มีของกินคือกาแฟอย่างดี ซึ่งขณะนั้นเป็นเครื่องดื่มอันหายากในสยาม ตระเตรียมไว้โดยเฉพาะสำหรับข้าพเจ้า พวกผู้ดีและเจ้าขุนมูลนายบางคนกำลังเริ่มกินกาแฟเลียนแบบชาวต่างชาติ พระคลังรู้ว่าข้าพเจ้าชินต่อการกินกาแฟทุกวันจึงจัดหามาไว้ให้”
.
จากบันทึกของหมอบรัดเลย์ชี้ชัดว่า กาแฟในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นของหายาก จึงสันนิษฐานได้ว่า กาแฟในสมัยนั้นคงมีราคาสูง และยังไม่เป็นที่นิยมในหมู่ราษฎรโดยทั่วไป
.
ในยุคแรกคงมีแต่ชนชั้นสูงและขุนนางชาวสยามรวมทั้งชาวต่างชาติเท่านั้นที่ได้ลิ้มรสชาติของกาแฟ


ที่มา https://www.silpa-mag.com/history/article_87804 
 

“วิทยุทรานซิสเตอร์” รู้ต้นกำเนิด อุปกรณ์ข่าวและบันเทิงของคนไทย

แม้ยุคนี้จะเป็นยุค 4จี 5จี และอินเทอร์เน็ตทำให้การเชื่อมต่อโลกง่ายขึ้น แต่! รู้ไหมว่าเมื่อพูดถึงคำว่า “วิทยุทรานซิสเตอร์” แทบทุกคนรู้จักและเข้าใจคำนี้ แม้วิธีการเข้าถึงวิทยุของแต่ละคนจะต่างกัน โดยเฉพาะมันคืออุปกรณ์หนึ่งที่ทั่วโลกนำไปบรรจุไว้ในถุงยังชีพเมื่อประสบภัยพิบัติ 
.
จุดกำเนิดของวิทยุเริ่มต้นขึ้นเมื่อ เจมส์ คล้าค แมกซ์ เวลล์ (James Clerk Maxwell) ชาวสกอตแลนด์ ค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในปี 2407 ต่อมาอีก 22 ปี คือในปี 2429 รูดอล์ฟ ไฮน์ริช เฮิรตซ์ (Rudolph Heinrich Hertz) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน จึงคิดผลิตเครื่องที่เอาคลื่นไฟฟ้าในอากาศของแมกซ์เวลล์มาใช้ประโยชน์ได้ โดยตั้งชื่อสิ่งที่ค้นพบนี้ว่า Hertzain Waves และต่อมาการเรียกคลื่นวิทยุก็ใช้ชื่อ “เฮิรตซ์” เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบ
.
ในปี 2438 กูกลิเอลโม มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) ชาวอิตาเลียน ได้นำเอาทฤษฎีของเฮิรตซ์มาทดลองถ่ายทอดกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งสัญญาณ เครื่องมือทดลองในเบื้องต้นมีเพียงแบตเตอรี่ ลวดทองแดง แผ่นทองแดง และว่าว โดยมาร์โคนีนั่งเรือจากเกาะอังกฤษไปขึ้นบกที่นิวฟันด์แลนด์ แล้วเอาว่าวที่สายป่านเป็นลวดทองแดงชักขึ้นไปในอากาศ สายลวดทองแดงจึงเปรียบเสมือนสายอากาศนั่นเอง โดยทำหน้าที่ส่งสัญญาณไปยังเครื่องรับ ซึ่งมาร์โคนีได้คิดค้นไว้แล้ว
.
ผลสำเร็จในครั้งนั้นมีเพียงเสียงครืด ๆ เท่านั้น แต่นั่นคือเสียงแห่งความสำเร็จ และเป็นเสียงแรกสำหรับชาวโลกจากเครื่องรับวิทยุ
.
จากนั้น 3 ปีต่อมา มาร์โคนีก็สร้างสถานีวิทยุกระจายเสียงออกอากาศให้คนได้ฟังเมื่อต้นปี 2441 แม้จะเป็นการออกอากาศได้ในระยะไม่ไกลนัก ซึ่งหนังสือพิมพ์ Daily Express ในลอนดอน ได้ซื้อเครื่องรับส่งของมาร์โคนีเพื่อการทำข่าวไว้ 1 ชุด จากนั้นมาร์โคนีก็ได้ปรับปรุงเครื่องส่งวิทยุเรื่อยมาจนประสบความสำเร็จในการส่งวิทยุกระจายเสียงข้ามช่องแคบอังกฤษได้ในวันที่ 7 มีนาคม 2442 อีกหนึ่งปีต่อมามาร์โคนีก็เพิ่มประสิทธิภาพให้เครื่องส่งสามารถส่งกระจายเสียงข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้สำเร็จ
.
ดังนั้น เครื่องรับวิทยุสมัยแรกจึงเป็นวิทยุแร่ ผู้ฟังต้องใช้เครื่องฟังครอบหู เพราะเครื่องรับในขณะนั้นทั้งไม่ชัดเจน และเสียงเบามาก ผู้แก้ปัญหานี้คือ จอห์น แอมโบรส เฟลมมิง (John Ambrose Fleming) ได้นำเอาหลอดไฟฟ้าของโธมัส เอดิสัน มาใช้เป็นหลอดวิทยุแทนแร่ ผลงานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จในปี 2447 ทำให้วิทยุกระจายเสียงส่งคลื่นได้ไกล และรับฟังได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
.
ส่วนประเทศไทยวิทยุกระจายเสียง ถือกำเนิดขึ้นระยะแรก ราวปี พ.ศ. 2470-2472 โดยพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ซึ่งทรงริเริ่มทดลองส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรก และทำให้ประเทศไทยมีการใช้งานวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ
.
ในปี 2497 “เบลแล็ป” ได้คิดค้นสิ่งที่เรียกว่า “ทรานซิสเตอร์” ได้สำเร็จ โดยตัวทรานซิสเตอร์เปรียบเสมือนวาล์วควบคุมกระแสไฟฟ้าเข้าออก และเปิด-ปิด และมีการพัฒนาจนมีขนาดเล็กนำไปบรรจุลงในวิทยุได้ และสามารถพกพาไปฟังได้ทุกที่ ที่สุดมีการตั้งชื่อวิทยุรุ่นนี้ว่า “วิทยุทรานซิสเตอร์” แต่ภายหลังเรียกไปเรียกมา ตัดทอนลงมาเหลือแค่ “ทรานซิสเตอร์”
.
ตัวเลขผลสำรวจพฤติกรรมการรับฟังรายการวิทยุทั่วประเทศ ในช่วงปี 2565 จากจำนวนผู้ฟัง 3,655 คน อ้างอิงจากสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. และสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า...
.
อุปกรณ์หลักในการรับฟังวิทยุ จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 68.9 ของกลุ่ม ผู้ฟังวิทยุยังนิยมรับฟังจากเครื่องรับวิทยุ ทั้งจากวิทยุในบ้าน วิทยุพกพา หรือวิทยุในรถยนต์ รองลงมาร้อยละ 19.3 รับฟังจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทั้ง 3G 4G และ wifi ตามมาด้วย ร้อยละ 7.8 เป็นการรับฟังจากวิทยุที่อยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และแท็บเล็ต และน้อยที่สุด ร้อยละ 0.3 เป็นการรับฟังผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน๊ตบุ๊ก แล็ปท็อป และคอมพิวเตอร์พกพา
.
นอกจากนี้ อ้างอิงข้อมูลของ บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ระบุถึงพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ ปี 2022 จำนวนผู้ฟังวิทยุรายเดือน แยกตามช่วงอายุ Generation โดยข้อมูลล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2565 พบว่า...
.
ผู้ฟังกลุ่ม Gen X อายุ 40-59 ปี เป็นกลุ่มที่ฟังวิทยุมากที่สุดถึงกว่า 3.5 ล้านคน รองลงมาคือ ผู้ฟังกลุ่ม Gen Y อายุ 20- 29 ปี ฟังวิทยุกว่า 3.3 ล้านคน ขณะที่ผู้ฟังกลุ่ม Baby Boomer อายุ 60-71 ปี ฟังวิทยุสูงเกือบ 2 ล้านคน และผู้ฟังกลุ่ม Gen Z อายุ 12-19 ปี ก็มีการฟังวิทยุถึงกว่า 8 แสนคน ซึ่งตัวเลขข้อมูลดังกล่าวนี้สามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ช่องทางการสื่อสารผ่านวิทยุเป็นช่องทางที่ยังได้รับความนิยมและเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มวัย
.
“ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยประสบภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิ หรือเสรีภาพของประชาชนในวงกว้าง การปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จึงมีความสำคัญในการเผยแพร่และนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการเตรียมพร้อม เพื่อป้องกัน แก้ไขและบรรเทาเหตุภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น หรือคาดหมายได้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในช่วงที่เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศขณะนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสื่อสารถึงประชาชนในทุกช่องทางการสื่อสาร เพื่อแจ้งเตือนประชาชนผ่านทุกช่องทาง ไปถึงชุมชน หมู่บ้าน ให้ประชาชนรับทราบ และเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในเบื้องต้น ซึ่งวิทยุถือได้ว่าเป็นสื่อที่ยังเข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุด มีแทบทุกตำบล ทุกอำเภอ มีความเสถียร มีกฎ กติกา ที่ชัดเจนที่จะต้องออกอากาศในเวลาที่มีภัยพิบัติ”


ที่มา https://www.ejan.co/general-news/9l0te3kpwa , https://www.silpa-mag.com/history/article_93421 , https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/60018 
 

ปรับเทคนิคการสื่อสาร รับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมวัยรุ่น

วัยรุ่นถือเป็นช่วงวัยเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์และความรู้สึก รวมทั้งความสัมพันธ์กับคนรอบตัวก็ต่างออกไปจากวัยเด็กเป็นอย่างมาก วัยรุ่นบางส่วนมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงอันเกิดจากการสะสมประสบการณ์ และเลียนแบบจากตัวอย่างที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อตนเองทั้งทางด้านการเรียน ความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบข้างตามมามากมาย
.
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงของวัยรุ่นนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจถึงความเปราะบางทางจิตใจ และอารมณ์ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและฮอร์โมน รวมทั้งมุมมองของวัยรุ่นที่มีต่อปัญหาซึ่งอาจส่งผลต่ออนาคตของตนเองในเบื้องต้นก่อน การใช้วิธีการรุนแรงหรือการลงโทษไม่อาจแก้ไขปัญหาพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงของวัยรุ่นที่ต้นเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากวิธีการที่รุนแรงจะทำให้วัยรุ่นหยุดหรือลดการกระทำสุ่มเสี่ยงเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ภายในจิตใจอาจเกิดความรู้สึกต่อต้าน และพยายามหลีกเลี่ยงวิธีการรุนแรงมากกว่าจะแก้ไขปัญหาทางพฤติกรรมที่แท้จริง
.
“การสื่อสารกับปรับพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงในวัยรุ่น”
หากจะกล่าวถึงการสื่อสารเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของวัยรุ่น การใช้ภาษา ท่าทาง รวมทั้งสิ่งแวดล้อมบรรยากาศของการสื่อสารประเด็นปัญหาของวัยรุ่นกับวัยรุ่นนั้นล้วนคำนึงถึงความละเอียดอ่อน และความเข้าอกเข้าใจ วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการปรับพฤติกรรม คือ การสื่อสารเชิงบวก การสื่อสารด้วยคำพูด ข้อความ การแสดงออกและกิจกรรมที่สร้างสรรค์ รูปแบบการสื่อสารจะดำเนินการด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย เพื่อร่วมค้นสาเหตุของปัญหาที่ต้องเผชิญอย่างเป็นกลาง ผ่านการรับฟัง การตั้งคำถามสะท้อนความคิดความรู้สึกให้เกิดการวิเคราะห์ไตร่ตรองด้วยตนเอง และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาในเชิงตำหนิรวมทั้งไม่นำความคิดเห็นหรือมุมมองของตนเองไปตีกรอบคำตอบหรือตัดสินพฤติกรรมก่อนที่จะได้รับคำตอบจากตัววัยรุ่นเอง
.
“เทคนิคการสื่อสารเชิงบวกเพื่อการปรับพฤติกรรม”
ประการแรก การทักทาย ด้วยท่าทีและการแสดงออกที่เป็นมิตรใช้ภาษากาย สีหน้า แววตา ท่าทาง สื่อให้วัยรุ่นรู้สึกได้ดีกว่าคำพูด ทำให้เกิดความเป็นกันเอง อยากเข้าใจ อยากช่วยเหลือ ไม่ตัดสินความผิด การสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองอาจเริ่มด้วยการถามเรื่องง่ายๆ โดยพยายามเรียกชื่อของวัยรุ่นมากกว่าการใช้สรรพนาม โดยก่อนการสื่อสารหรือการสนทนา ครู ผู้ปกครองควรตระหนักถึงข้อดีจุดเด่นด้านบวกของวัยรุ่น เนื่องจากสามารถหยิบยกมาใช้เป็นจุดเริ่มต้นได้
.
ประการที่สอง การสำรวจลงไปในปัญหา โดยใช้เทคนิคการถามเพื่อสำรวจลงลึกถึงความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาที่วัยรุ่นกำลังเผชิญ สร้างทัศนคติให้วัยรุ่นรู้สึกว่า “ผู้ใหญ่สนใจและฟัง” ในขณะเดียวกันจะต้องให้ความเชื่อมั่นเรื่องการรักษาความลับเป็นสำคัญ โดยระหว่างนั้นควรสังเกตท่าที ระดับความร่วมมือและการเปิดเผยข้อมูลเพื่อประเมินความไว้วางใจที่วัยรุ่นมีให้มากน้อยเพียงไร รวมทั้งมีเรื่องใดที่ยังกังวลหรือลังเลที่จะเปิดเผย
.
ประการที่สาม กระตุ้นให้บอกเล่าและถามสะท้อนความคิด ความรู้สึก ความต้องการ ผู้ใหญ่ควรฝึกให้วัยรุ่นมีทักษะการสื่อสาร กล้าพูด กล้าบอกความคิด ความรู้สึกและความต้องการ โดยเข้าใจและยอมรับว่าการบอกเรื่องเหล่านี้กับเพื่อนและคนอื่นๆ ได้เป็นเรื่องปกติ การกระตุ้นให้เล่าเรื่องราว ทำได้โดยใช้ชุดคำถามที่จูงใจ ตามปัญหาหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น ลองสำรวจในเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องความสัมพันธ์ของพ่อแม่ ความสัมพันธ์กับน้อง หรือญาติคนอื่นๆ
.
ประการที่สี่ การฟังอย่างตั้งใจและคิดวิเคราะห์ไปด้วย ครูและผู้ปกครองสนใจฟังอย่างให้เกียรติความคิดวัยรุ่นโดยไม่ตีกรอบหรือตัดสิน ระวังทัศนคติของตนเองที่อาจไม่ชอบพฤติกรรมนั้น จนทำให้รีบตักเตือนสั่งสอนเร็วเกินไปเพราะอาจทำให้วัยรุ่นหยุดการสนทนาหรือเปิดเผยเรื่องราวได้ การพยายามเข้าใจ จดจำรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ได้ ทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าผู้ใหญ่สนใจและพยายามเข้าใจความคิดความรู้สึกของเขาจริงๆ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันมากขึ้น ซึ่งช่วยจูงใจให้วัยรุ่นเปิดเผยและเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เมื่อใดที่เกิดข้อสงสัยให้สอบถาม ถามความคิดหรือความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องที่คุยกันเป็นระยะๆ อย่างเป็นมิตรเพื่อให้วัยรุ่นขยายความต่อ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมวัยรุ่นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ข้อควรระวังของการตั้งคำถาม คือ ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า “ทำไม” เวลาวัยรุ่นกล่าวถึงพฤติกรรมบางอย่างไม่ดี เพราะทำให้วัยรุ่นรู้สึกถูกตำหนิ และอาจพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเองมากขึ้น ซึ่งอาจนำมาซึ่งการสูญเสียความสัมพันธ์ได้ง่าย
.
ประการที่ห้า เทคนิคของการชมเชย การตำหนิวัยรุ่นอย่างรุนแรงก่อให้เกิดการต่อต้าน ซึ่งเกิดขึ้นโดยกลไกปกป้องตนเองทางจิตใจ และเมื่อความสัมพันธ์เริ่มต้นด้วยการไม่ยอมรับ ไม่สนใจฟัง ไม่เชื่อ ไม่เห็นด้วย แม้ว่าเรื่องที่ครู ผู้ปกครองพูดจะเป็นเรื่องจริงก็ตาม วิธีการที่ทำให้วัยรุ่นยอมรับ และไม่เสียความรู้สึกด้านดีของตนเอง ทำได้ด้วยการตำหนิที่ พฤติกรรม แทนการตำหนิที่ตัววัยรุ่น เมื่อเกิดพฤติกรรมไม่ดี ครูควรมีเทคนิคในการตักเตือนให้นักเรียนค่อยๆ คิด และยอมรับด้วยตัวเองเป็นการส่วนตัว โดยไม่สร้างความรู้สึกอับอายเสียหน้า เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในทางกลับกัน เมื่อเกิดพฤติกรรมดี ถ้ามีโอกาสควรชมต่อหน้าผู้อื่นหรือให้ผู้อื่นร่วมชื่นชมด้วย เพื่อสร้างความภาคภูมิใจและเสริมให้เด็กรู้สึกดีและชื่นชมตัวเอง เทคนิคการประคับประคองอารมณ์และจิตใจ วัยรุ่นจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อเกิดความหวังด้านบวก ความเข้าใจที่ดีขึ้น การได้ระบายความรู้สึก ได้รับการช่วยเหลือและมองเห็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ก่อนจะจบการพูดคุย ครู ผู้ปกครองควรแสดงความคาดหวังด้านบวกที่มีต่อวัยรุ่น มองเขาในแง่ดี และให้โอกาสเขาได้ใช้เวลาคิด ไตร่ตรองพฤติกรรมด้วยตัวเอง
.
ในระยะสุดท้าย สรุปและยุติการสนทนา ในช่วงท้ายของการสื่อสารนั้น ควรมีการสรุปสิ่งที่ได้คุยกัน โดยให้วัยรุ่นสรุปด้วยตนเองก่อน อีกทั้งตอบคำถามที่วัยรุ่นอาจจะมีข้อสงสัย วางแผนอนาคต หรือทำการนัดหมายครั้งต่อไป การยุติการสนทนาที่ดีจะช่วยให้วัยรุ่นเกิดความหวังในการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดียิ่งขึ้น
.
เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างครู ผู้ปกครองกับวัยรุ่นดีขึ้น โดยสังเกตจากท่าทีที่เริ่มยอมรับ และยอมฟังมากขึ้นนั้น การสื่อสารสิ่งที่คิด รู้สึก และต้องการอย่างนุ่มนวลแต่ชัดเจน ใช้วิธีการสื่อสารทางบวกซึ่งเป็นเทคนิคที่สร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพสำหรับการให้คำแนะนำ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับวัยรุ่น ให้เกิดกำลังใจ ให้เกิดความหวังในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมและดียิ่งขึ้น


ที่มา https://www.educathai.com/knowledge/articles/391 
 

ปิดเทอมไม่ว่างเปล่า ??? “เลี้ยงลูกตามใจหมอ” เขาแนะนำ

จากการโพสต์ของเพจ #เลี้ยงลูกตามใจหมอ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เกี่ยวกับ #ปิดเทอมสร้างสรรค์ #อัศจรรย์วันว่าง  มีความน่าสนใจที่ THE STUDY TIMES ต้องนำเนื้อหามาฝาก โดยมีเนื้อหาดังนี้ 
.
"ปิดเทอม" คำสั้น ๆ ที่สัมผัสได้ 2 อารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ... ทางหนึ่ง คือ ความผ่อนคลายของเด็ก ๆ ที่ได้พักอกพักใจจากการเรียนในห้องเรียน ช่วงเวลาที่ 'อาจ' เป็นโอกาสที่เด็ก ๆ จะได้ลงมือทำอะไรสักอย่างตามความสนใจของตัวเอง แต่ในอีกทางหนึ่ง คือคำว่า "ปิดเทอมอีกแล้วเหรอนี่" ที่ดังก้องในใจของพ่อแม่ 555 ฉันจะทำอย่างไรกับ 'ช่วงพัก' ของลูกดี บางคนคิดถึงการหอบหิ้วลูกไปที่ทำงานของพ่อแม่ บางคนคิดถึงความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ลูกเริ่มปิดเทอมไปอีกหลายสัปดาห์ 
.
"ปิดเทอม" แล้วทำอะไรดี คือ ประเด็นที่ทั้งพ่อแม่และเด็กต้องช่วยกันครุ่นคิด แล้วเราจะใช้ "เวลา" ที่ได้มานี้อย่างสร้างสรรค์หรือจะแค่ปล่อยให้มันว่าง ๆ ชิล ๆ กันไปดีล่ะ ... 
.
ถ้าปล่อยชิลสุด ๆ ไปเลย เราจะพบว่าเด็ก ๆ จะใช้เวลาช่วงปิดเทอมไปกับ #หน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นการดูคอนเทนต์ออนไลน์ และ
.
การใช้เวลากับโซเชียลมีเดีย และเกมออนไลน์ต่าง ๆ เรียกว่าทุ่มเวลาทั้งหมดไปกับหน้าจอให้สุด นั่นก็มากไปครับ เพราะมันคือ 'ความเสี่ยง' ที่จะทำให้เด็ก ๆ เข้าสู่ด้านสีเทาของโลกออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหยาบคาย พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เรื่องลามกอนาจาร และโอกาสที่จะรู้จักกับคนแปลกหน้าที่อาจนำมาสู่การล่อลวงได้ เราก็เห็นข่าวกันอยู่เรื่อย ๆ ไม่ได้อยากให้คุณพ่อคุณแม่มองโลกในแง่ร้ายนะ แต่มองร้ายนิดนึงก็ดี เอ๊ะ ยังไง 555 ยิ่งพ่อแม่ไม่อยู่ ไม่รู้ ไม่ติดตามการใช้หน้าจอของลูกยิ่งเสี่ยงต่อสิ่งเหล่านี้ได้ 
.
แล้วอย่างไรดีกับช่วงเวลาปิดเทอม ปล่อยชิลเกินก็ไม่ดี จะให้เรียนพิเศษรัว ๆ ก็ไม่ดี เพราะเราต่างรู้ว่า กวดวิชาเพื่อสอบมิได้ช่วยเรื่องการพัฒนาลูก ๆ ในระยะยาวเลย ... ซึ่งช่วงเวลาปิดเทอมนี่แหละที่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้ตัวเอง และเรียนรู้สังคมได้เป็นอย่างดีหากลองให้โอกาสลูกได้เลือกกิจกรรมที่เขาสนใจ
.
ข้อมูลน่าสนใจจาก สสส. พบว่า จริง ๆ แล้วเด็ก ๆ เองก็ต้องการทำกิจกรรมในช่วงปิดเทอมเพื่อผ่อนคลาย และได้เป็นอิสระในการทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ซึ่งนั่นรวมถึง #การพัฒนาทักษะ ในด้านที่เขาสนใจ โดยพบว่าเด็กวัยรุ่นวัย 13-22 ปีค้นหาคีย์เวิร์ดที่น่าสนใจอย่าง "การหางาน" "การฝึกงาน" รวมทั้ง "การเรียนภาษา" และ "การทำคอนเทนท์ออนไลน์" ในการรีวิวสินค้าออนไลน์ บอกเลยว่า #เด็กวัยรุ่นมีดีกว่าที่เราคิดมาก เพราะนี่คือช่วงเวลาที่ดีที่เขาจะใช้ในการค้นหาตัวเองได้
.
นอกจากนั้นกิจกรรมที่เกิดประโยชน์อย่าง "การอ่านหนังสือ" "การฟังเพลง" "การเรียนเสริมทักษะ" "การออกกำลังกาย" และ "กิจกรรมอาสา" ก็เป็นกิจกรรมที่เด็ก ๆ ให้ความสนใจไม่ใช่น้อย ซึ่งพ่อแม่ก็อาจจับกิจกรรมเหล่านี้ออกไปต่อยอดให้โอกาสลูกได้ทดลองลงมือทำก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย 
.
กลุ่มหนึ่งใช้ปิดเทอมเพื่อหยุดนิ่ง ดูหน้าจอ เล่นเกม ไม่ไปไหนไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ในขณะที่อีกกลุ่มได้โอกาสพัฒนาตัวเอง และได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ยิ่งปล่อยไว้เด็กสองกลุ่มนี้จะยิ่งต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นนอกจากพ่อแม่ที่ต้องมองหาโอกาสใน 'วันว่าง' ของลูกให้ลูกได้พัฒนาตัวเองผ่านความสนใจของเขาเอง

ไปครับ ปิดเทอม พาลูกไปทำกิจกรรมกันเท่าที่เราสามารถให้โอกาสเขาได้ 
.
ใครกำลังมองหากิจกรรมในช่วงปิดเทอม มีกิจกรรมจากทั้งภาครัฐและเอกชนมากมายที่จัดในช่วงปิดเทอมให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำที่แพลตฟอร์มนี้ด้วยครับ https://happyschoolbreak.com   หมอคิดว่าวันว่างๆ ของเด็กๆ หากจับจุดให้ถูก หรือให้เขาได้ทำสิ่งที่ชอบ เพื่อค้นหาตัวเอง จะทำให้เด็กๆ รู้จักตัวเอง บางคนอาจถึงขั้นมีอาชีพ มีรายได้ ตั้งแต่อายุน้อยก็ได้ครับ

#หมอวินเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ #เลี้ยงลูกตามใจหมอ 


ที่มา https://www.facebook.com/SpoiledPediatrician/posts/5378233835606890 
 

กรมสมเด็จพระเทพฯ รับสั่งถึง “ชาวนา” ในกวีของจิตร ภูมิศักดิ์และหลี่เชิน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีผลงานพระราชนิพนธ์แปลจากภาษาจีนจำนวนไม่น้อย ทั้งที่เป็นเรื่องสั้น, บทกวี ฯลฯ หนึ่งในจำนวนนั้นคือพระราชนิพนธ์แปลที่ชื่อ “พูดเรื่องจิตร ภูมิศักดิ์” ที่ทรงอธิบายงานกวีที่ชื่อว่า “เปิบข้าว”ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งคาราวานนำบางส่วนไปใส่ทำนองเป็นบทเพลงโดยใช้ชื่อเดียวกันซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไป กับทรงแปลร้อยกรองเพื่อชีวิต ที่ชื่อ “สงสารชาวนา” ของหลี่เชิน
.
ในส่วนผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์นั้น กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงอธิบายว่า “เมื่อครั้งเป็นนิสิต เคยอ่านทอดพระเนตรผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียดหรือวิเคราะห์อะไร เพียงแต่ ได้ยินคําเล่าลือว่าเขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวางและลึกซึ้งถี่ถ้วน ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกัน ได้มีผู้นําบทกวีของจิตรมาใส่ ทํานองร้องกัน ฟังติดหูมาจนถึงวันนี้
.
เปิบข้าวทุกคราวคํา  จงสูจําเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน  จึงก่อเกิดมาเป็นคน
.
ดูจากสรรพนามที่ใช้ว่า ‘กู’ ในบทกวีนี้ แสดงว่าผู้ที่พูดคือ ชาวนา ชวนให้คิดว่าเรื่องจริงๆ นั้นชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ “ลําเลิก” กับใครๆ ว่าถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรําอย่างพวกเขา คนอื่นๆ จะเอาอะไรกิน อย่าว่าแต่การลําเลิกทางบุญคุณเลย ความช่วยเหลือที่สังคมมีต่อคนกลุ่มนี้ในด้านของปัจจัยในการผลิต การพยุงหรือประกันราคา และการรักษาความยุติธรรมทั้งปวงก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้
.
ทําให้ในหลายๆ ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ชาวนาต่างก็ละทิ้งอาชีพเกษตรกรรม ไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการ ซึ่งทําให้ตนมีรายได้สูงกว่าหรือได้ในเร็วกว่า แน่นอนกว่า มีสวัสดิการดีกว่า
.
แต่ก็ยังมีชาวนาอีกเป็นจํานวนมากที่ไม่มีทางที่จะขยับขยายตัวให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นได้ อาจแย่ลงเสียด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่มี สิทธิที่จะอุทธรณ์ ฎีกา กับใคร ถึงจะมีคนแบบจิตรที่พยายามใช้จินตนาการ สะท้อนความในใจออกมาสะกิดใจคนอื่นบ้าง”
.
ส่วนร้อยกรองเพื่อชีวิต ที่ชื่อสงสารชาวนา ของหลี่เชิน กวีสมัยราชวงศ์ถัง เป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น อยู่ในชนบท เห็นความเป็นอยู่ของประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ที่ตรากตรำทำงานในไร่นา เกิดความสะเทือนใจจึงได้บรรยายความรู้สึกออกเป็นบทกวีกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงแปลเป็นภาษาไทยว่า
.
“1. หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ ข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
.
2.  ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน ชาวนายังดายหญ้าพรวนดิน
เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นกล้า
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส”
.
พระองค์ยังมีพระราชวิจารณ์เปรียบเทียบบทกวีทั้งสองว่า
“เวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันปีกว่า สมัยจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเอง ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก ฉะนั้น ก่อนที่ทุกคนจะหันไป กินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องของชาวนาก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป”


ที่มา https://www.silpa-mag.com/history/article_71610 
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top