Monday, 4 December 2023
TRENDING

“เทศกาลไหว้พระจันทร์” วันนัดหมายจีนโค่นมองโกล

วันไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีนที่มีขึ้นในกลางฤดูใบไม้ร่วง เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ วันไหว้พระจันทร์ 2565 ปีนี้ตรงกับวันที่ 10 กันยายน 2565 และในเทศกาลไหว้พระจันทร์นี้ ชาวจีนจะเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน ในบางประเทศ เช่น ฮ่องกง, ไต้หวัน, สิงคโปร์ หรือเวียดนาม จะจัดเป็นประเพณีใหญ่ มีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดง เป็นสีสันยามค่ำคืน หรือบางแห่งอาจมีการเชิดมังกร ทั้งนี้จะมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามแต่ท้องถิ่น
.
เทศกาลไหว้พระจันทร์ของทุกปี (วันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน) ทุกๆ ครัวเรือนจะซื้อขนมไหว้พระจันทร์มาไหว้พระจันทร์ พร้อมกับการชมพระจันทร์จนกลายเป็นประเพณีของจีนตลอดมา สำหรับประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในวันไหว้พระจันทร์นั้น เกิดขึ้นเมื่อสมัยมองโกลเข้ามาปกครองแผ่นดินจีน เมื่อชาวมองโกล กดขี่ข่มเหงและทำร้ายชาวจีนอย่างโหดเหี้ยม และเพื่อควบคุมดูแลชาวจีนอย่างใกล้ชิด ชาวมองโกลจึงส่งทหารของตนไปประจำอยู่ในบ้านของชาวจีนครอบครัวละ 1 คน เป็นอันว่าชาวจีนทุกๆ ครัวเรือนต่างต้องเลี้ยงดูทหารมองโกล 1 คน ทหารมองโกลเหล่านี้ยังก่อกรรมทำชั่วไปหมด
.
ทำให้ชาวจีนขุ่นเคืองใจเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาท่านหลิวปั๋วเวิน คิดได้วิธีหนึ่ง คือ ให้นำกระดาษเขียนข้อความ แล้วสอดไส้ไว้ในขนม เรียกร้องให้ชาวจีนทุกคนลงมือสังหารทหารมองโกลที่ประจำอยู่ในบ้านของตน อย่างพร้อมเพรียงกันในวันเพ็ญเดือนแปด ทั้งนี้เพื่อให้ชาวจีนที่ไปซื้อขนมมารับประทานกัน ต่างได้อ่านข้อความดังกล่าวและช่วยกันกระจายข่าวนี้ออกไป เพื่อก่อการปฏิวัติโดยพร้อมเพรียงกัน ณ วันเพ็ญเดือนแปด ทำให้สามารถโค่นล้มอำนาจการปกครองของมองโกลในที่สุด
.
เพื่อเป็นการฉลอง และรำลึกการกอบกู้แผ่นดินที่ประสบความสำเร็จ ประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในวันเทศกาลดังกล่าวจึงมีการสืบทอดกันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าแห่งหนใดที่มีชาวจีนเดินทางไปถึงก็จะพาประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ ไปด้วย สำหรับขนมไหว้พระจันทร์ที่แพร่หลายในไทยนั้น เป็นแบบของกวางตุ้งโดยส่วนใหญ่
.
หลายปีที่ผ่านมา ขนมไหว้พระจันทร์ที่ผลิตในไทย ไม่ว่าด้านคุณภาพ รสชาติ และการบรรจุล้วนมีระดับที่สูงขึ้น ซึ่งขนมไหว้พระจันทร์ในปัจจุบันได้มีการดัดแปลงทั้งรสชาติและรูปร่างหน้าตาให้ดูทันสมัยหลากหลายไส้มากขึ้น แต่ก่อนที่เราจะไปทราบว่าไส้ต่างๆ ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดมีอะไรบ้างเรามารู้กันสักนิดว่า "ขนมไหว้พระจันทร์" ทำไมต้องเป็นทรงกลม คำตอบก็คือเพราะขนมไหว้พระจันทร์เป็นขนมที่เราใช้ไหว้พระจันทร์ จึงต้องทำออกมาในลักษณะทรงกลมคล้ายดวงจันทร์นั่นเอง ส่วนตัวขนมจะทำจากแป้งและใส่ไส้เอาไว้ภายใน เจ้าไส้ที่ว่านี่แหละที่เป็นจุดเด่นที่ทำให้ขนมไหว้พระจันทร์มีจุดเด่นต่างกันออกไป ซึ่งส่วนใหญ่หากเป็นแบบต้นตำหรับจะเป็นธัญพืชต่างๆ เช่น ทุเรียน, เมล็ดบัว, แมคคาเดเมีย, พุทราจีน เป็นต้น
.
ไส้หลัก ๆ ของขนมไหว้พระจันทร์และความหมายที่แฝงเอาไว้
1. ไข่แดง หมายถึง พระจันทร์
2. เม็ดบัว หมายถึง สัญลักษณ์ของจิตใจบริสุทธิ์ อายุที่ยืนยาว ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความสงบสุข
3. ลูกพลัม หมายถึง สัญลักษณ์ของความกล้าหาญและความหวัง   เหมือนดอกพลัมที่ชูช่อในฤดูหนาว
4. ธัญพืช สัญลักษณ์ของโชคลาภ และความอุดมสมบูรณ์
5. เกาลัด หมายถึง ลูกชาย และสิ่งอันเป็นที่รัก


ที่มา https://www.sanook.com/horoscope/69721/ 
 

“แว่นตา” ความชัดเจนที่ท้าทายคริสต์จักร

ต้นเค้ากำเนิด “แว่นตา” สันนิษฐานว่าเริ่มมาจากการค้นพบผลึกหินที่มีคุณสมบัติเป็นเลนส์ขยาย เมื่อราว 1,200 ปีก่อนคริสตกาล บนเกาะครีต อริสโตปานิส นักแต่งละครชาวกรีกก็เคยกล่าวถึงเลนส์ที่ทำจากผลึกหินนี้ในละครชวนหัวเรื่อง The Clouds
.
ในสมัยจักรพรรดินีโรแห่งจักรวรรดิโรมัน ก็ทรงใช้อุปกรณ์ที่ทำจากมรกต ส่องดูการแข่งขันต่อสู้ที่สนามโคลอสเซียม ซึ่งนับเป็นหลักฐานการใช้อุปกรณ์ช่วยมองเห็นยุคแรก ๆ ต่อมา มนุษย์จึงเริ่มนำแก้วที่มีลักษณะเป็นเลนส์มาใช้
.
ขณะที่ ซีนากา นักแสดงละครโศกนาฏกรรมสมัยโรมัน ราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 บันทึกไว้ว่าเขาเคยอ่าน “หนังสือหมดกรุงโรม” ผ่านลูกแก้วซึ่งมีลักษณะคล้ายลูกโลก ภายในบรรจุน้ำเต็มเพื่อขยายตัวอักษรให้ใหญ่มากยิ่งขึ้น
.
ถึงยุคกลาง เชื่อว่าแว่นตาได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้คิดค้นขึ้นเป็นคนแรก หลักฐานในช่วงเวลานั้นที่กล่าวถึงแว่นตา เช่น นิโคลัส บุลเลต นักบวชชาวฝรั่งเศส สวมใส่แว่นในการลงนามสัญญาฉบับหนึ่ง ใน ค.ศ. 1282, กวีชาวเยอรมันเคยกล่าวถึงความอัศจรรย์ของแว่นตา ในงานเขียนระหว่าง ค.ศ. 1260-1284, มาร์โคโปโล ที่เดินทางมายังเอเชียได้บันทึกใน ค.ศ. 1295 ว่าได้พบ “งูใส่แว่นตาในอินเดีย” ซึ่งหมายถึงส่วนหลังของงูเห่ามีลวดลายคล้ายแว่นตา
.
แต่การประดิษฐ์แว่นตาสันนิษฐานว่าน่าจะกระทำกันอย่างแพร่หลายในดินแดนอิตาลี โดยปรากฏหลักฐานที่เขียนขึ้นใน ค.ศ. 1301 ระบุว่า ศิลปะและการประดิษฐ์แว่นตาและแว่นขยายเป็นของ “สมาคมวิชาชีพแก้วเจียระไน” แห่งเวนิส นอกจากนี้ กิออร์คาโน ดาริวอลโต นักบวชคนหนึ่งได้กล่าวสรรเสริญแว่นตาที่โบสถ์ในเมืองฟลอเรนซ์เมื่อ ค.ศ. 1306 ว่า
.
“นับเวลาได้ 20 ปีแล้ว ที่ได้มีผู้ค้นคิดประดิษฐ์แว่นตาขึ้นมา ซึ่งช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น…ข้าพเจ้าสามารถมองเห็นในสิ่งที่แต่ก่อนเคยได้ยินแต่เสียงเท่านั้น…”
.
หากสังเกตแล้วจะพบว่า ผู้ที่ใช้แว่นตาในยุคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักบวช อันเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในการผูกขาดความรู้ต่าง ๆ ทุกระดับ ทุกแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอักษรศาสตร์และเทววิทยา แว่นตาจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญของคนกลุ่มนี้ จึงไม่แปลกที่ผู้สวมใส่แว่นตาจะถูกมองว่าเป็นผู้คงแก่เรียน
.
แต่อีกด้านหนึ่ง แว่นตาก็ถูกมองว่าเป็นการปฏิวัติคริสต์ศาสนา เป็นจุดเริ่มต้นของการกบฏและท้าทายต่อพระเป็นเจ้าและศาสนจักรก็ว่าได้ เพราะในสมัยนี้ที่ศาสนจักรกำลังเรืองอำนาจ ความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าการยุ่งเกี่ยวหรือเสริมเติมแต่งนอกเหนือจากสิ่งที่เป็นธรรมชาติโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์ที่ถือว่าเป็นผลงานของพระเจ้านั้น เป็นบาปและความผิดอย่างมหันต์
.
เลนส์แว่นในยุคแรกทำจากหินควอทซ์ มีลักษณะโค้งนูน จึงเหมาะสำหรับคนสายตายาว ดังนั้น แว่นตาในยุคแรกจึงถูกมองว่าเป็น “แว่นคนแก่” เพราะใช้กับคนสูงอายุที่มีปัญหาสายตายาว
.
ส่วนกรอบแว่นตาก็ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ กระดูกสัตว์ กระดองเต่า โลหะ ฯลฯ ส่วนรูปร่างนั้นจะเป็นแว่นขยายกลม ๆ 2 อัน มีแผ่นโลหะคล้ายรูปตัว V ติดเชื่อมกัน และมีหมุดยึดเพื่อให้ตั้งอยู่บนดั้งจมูก
.
กระทั่ง ราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 โยฮันเนส เคปเลอร์ นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันตีพิมพ์คำอธิบายคุณสมบัติที่แตกต่างของเลนส์นูนและเลนส์เว้า จึงเริ่มมีการประดิษฐ์แว่นตาสำหรับคนสายตาสั้น
.
จากนั้นแว่นตาได้รับการพัฒนาและปรับปรุงแว่นตาเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน นำมาสู่แว่นตาหลากรูปแบบ โดยในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 ช่างแว่นตาชาวสเปนคิดนำริบบิ้นผูกกับกรอบแว่นตาไว้กับใบหู ต่อมาใน ค.ศ. 1599 เอลกรีโอ นักบวชชาวสเปนก็คิดค้นขาแว่นตาชนิดคล้องหูได้สำเร็จ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องความเทอะทะ น้ำหนักมาก กดทั้งดั้งจมูกและใบหู ก่อนที่ใน ค.ศ. 1730 เอ็ดวาร์ด สการ์เลตด์ จักษุแพทย์ชาวอังกฤษจะพัฒนาปรับปรุงประดิษฐ์แว่นตาที่มีขาซึ่งสามารถปรับความกว้างให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่ได้เป็นผลสำเร็จ ไม่กดทั้งดั้งจมูกและใบหู 
.
ค.ศ. 1752 เจมส์ เอสคอฟ ช่างแว่นตาชาวอังกฤษก็คิดดัดแปลงให้ขาแว่นพับได้เพื่อเก็บสะดวกยิ่งขึ้น อันเป็นรูปแบบที่ใช้มาจนปัจจุบัน และ ค.ศ. 1756 เบนจามิน มาร์ติน ช่างทำแว่นตาชาวอังกฤษ ผลิตแว่นตาที่มีวงแหวนสีชาซ้อนในเลนส์แว่นอีกชั้นหนึ่ง วัตถุประสงค์เพื่อลดแสงที่เป็นอันตรายต่อดวงตา นับแว่นตาป้องกันแสงแดดในยุคแรก ๆ 
.
นอกจากนี้ เบนจามิน แฟรงกลิน ยังได้ค้นคิดเลนส์สองชั้นได้ในช่วง ทศวรรษ 1780 และเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายสำหรับคนสูงอายุที่มีปัญหาทั้งสายตาสั้นและสายตายาวให้สามารถใช้แว่นตาอันเดียวกันได้โดยสะดวกโดยไม่ต้องเปลี่ยนแว่นไปมาอีกต่อไป
.
แม้แว่นตาที่มีขาหนีบดั้งจมูกจะใช้ในยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แต่กลับได้รับความนิยมในศตวรรษที่ 19 ทั้งที่มีการพัฒนารูปแบบ และรูปทรงหลากหลาย ซึ่งมักเป็นแบบมีห่วงร้อยเชือกหรือสายคาดศีรษะ นี่แสดงให้เห็นว่า ผู้คนเชื่อว่าแว่นตาเป็นสิ่งที่ช่วยบ่งบอกฐานะและช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพให้ดูเป็นคนสำคัญ
.
ทั้งนี้ก็เพราะ แว่นตาถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย นิยมกันในหมู่ชนชั้นสูงผู้มีอันจะกิน หากยิ่งเป็นแว่นตาที่ผลิตจากวัสดุที่มีค่าด้วยแล้ว ก็จะทำให้แว่นตานั้นมีมูลค่าเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกที่คนในศตวรรษหลังถึงคิดหวนกลับไปนิยมแว่นตาที่มีรูปแบบอย่างเก่า
.
นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา แว่นตาได้พัฒนาและเปลี่ยนรูปทรงให้เหมาะสมกับรสนิยมของแต่ละยุคแต่ละสมัย ในกึ่งกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 18 พวกผู้ดีชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศสนิยมแว่นตาชนิดมีด้ามจับ ซึ่งมักนิยมติดกระจกเงาขนาดเล็ก ๆ ไว้ภายในที่ทำมุมเป็นองศาพอเหมาะที่จะสะท้อนให้ผู้ใช้ที่สอดรู้สอดเห็น สามารถแอบมองเหตุการณ์ด้านหลังของตนเองได้โดยไม่ต้องเสียมารยาทหันไปจ้องมอง
.
นอกจากนี้ชาวอังกฤษยังประดิษฐ์แว่นตาที่เรียกว่า แว่นวงแหวน ใน ค.ศ. 1800 และได้รับความนิยมจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีเลนส์กระจกเพียงข้างเดียวและใช้เหน็บที่เบ้าตาแทนการใส่ ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็มีการผลิตแว่นตาชนิดพิเศษที่เรียกว่า “เลนส์สัมผัส” หรือคอนแทคเลนส์ที่รู้จักกันอย่างดี
.
ขณะที่แว่นกันแดดยุคใหม่อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันนั้นได้รับการพัฒนาโดย บริษัท Bausch & Lomb โดยแบรนด์ “Ray-Ban” ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เดิมมีจุดประสงค์ผลิตแว่นตาป้องกันแสงจากดวงอาทิตย์สำหรับนักบิน มีชื่อรุ่นว่า Aviator โดยมีเลนส์แว่นมีขนาดใหญ่โค้งมนเพื่อกันแสงทุกมุม ภายหลังสื่อมวลชนจับภาพนายพล ดักลาส แมกอาร์เทอร์ สวมแว่นนี้ขณะตั้งฐานทัพในฟิลิปปินส์ส่งผลให้แว่นกันแดดได้รับความนิยมอย่างสูง
.
ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านจักษุก้าวล้ำมาก โดยเฉพาะการเข้ามาของการทำเลสิก (Lasik) ซึ่งสามารถแก้ไขค่าสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น ยาว เอียง นั่นทำให้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป
.
อย่างไรก็ตาม การสวมใส่แว่นตาอาจไม่ได้แค่ช่วยเรื่องปัญหาสายตา สำหรับบางคน แว่นตาช่วยสร้างบุคลิกภาพ สร้างความมั่นใจ สำหรับบางคน แว่นตามีมูลค่านำไปซื้อขายเพื่อเก็งกำไร สำหรับบางคน แว่นตามีคุณค่าต่อจิตใจ
.
แว่นตา จึงไม่เพียงแค่แว่นตาอีกต่อไป


ที่มา https://www.silpa-mag.com/history/article_80336 
 

10 เทคนิค ที่จะช่วยพ่อแม่สื่อสารกับลูกวัยรุ่น

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา เพจ "สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์" โพสต์ข้อความระบุว่า ...
10 เทคนิคที่จะช่วยพ่อแม่สื่อสารกับลูกวัยรุ่น!
.
วันนี้เราก็มี 10 เทคนิคที่จะช่วยคุณพ่อคุณแม่ในการสื่อสารกับลูกวัยรุ่นที่ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจเด็กช่วงวัยนี้มากขึ้น !
.
1.คำชม ชมเพื่อให้ลูกรู้สึกถึงคุณค่าและภูมิใจใจตัวเอง แต่ต้องชมตามข้อเท็จจริง ชมได้ทุกครั้งเมื่อลูกทำสิ่งดีๆ
.
2.ตั้งกฎเกณฑ์ ให้ลูกร่วมกำหนดกฎระเบียบที่เหมาะสมกับวัย และปฏิบัติได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย เพื่อให้คนในบ้านรู้จักหน้าที่ของตน
.
3.เมื่อต้องจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ค่อยๆแก้ไขไปทีละเรื่อง
.
4.สร้างความสัมพันธ์ที่ดี เลือกใช้คำพูดที่เหมาะสม ไม่พูดประชดประชัน ส่อเสียด ไม่บีบคั้น
.
5.ให้คำปรึกษา ที่ถูกต้องเหมาะกับสถานการณ์ เพศและช่วงวัย จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย สร้างความเชื่อมั่นภายในจิตใจและวัยรุ่นจะเกิดการยอมรับในตัวผู้ปกครอง
.
6.เมื่อต้องลงโทษ สื่อสารให้ชัดเจนว่าทำไมลูกถึงถูกลงโทษ และหยั่งเสียงว่าลูกควรถูกทำโทษอย่างไรถึงจะเหมาะ
.
7.แสดงความเห็นอกเห็นใจ แสดงถึงความห่วงใย ห่วงหาอาทร ทำเป็นประจำให้เป็นเรื่องปกติในครอบครัว
.
8.การให้รางวัล ใช้เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีความรับผิดชอบต่องานตรงหน้า เน้นสร้างความภาคภูมิใจในตัวเด็กจากผลงาน ร่วมกับท่าทีที่ผู้ใหญ่ชื่นชมและเป็นกำลังใจ
.
9.บอกความรู้สึกของตนเอง ให้ลูกทราบว่าพ่อแม่เข้าใจความรู้สึกของลูกอย่างไร เพื่อสร้างความไว้วางใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
.
10. เรียนรู้ เทคนิค I Message กระบวนการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ สื่อสารบอกความรู้สึกของตนเองที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจ


ที่มา https://www.facebook.com/smartteencamri/posts/381814884131992 
 

“จดหมายเหตุ” คืออะไร? เรื่องในอดีตที่บันทึกไว้ให้ได้รู้

โดยปกติเมื่อกล่าวถึง “จดหมายเหตุ” เรามักจะนึกถึงการบันทึกเรื่องราวความเป็นไปที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เพื่อใช้อ้างอิงในอนาคต ส่วนความหมายของ “จดหมายเหตุ” ที่จริงแล้วมีความหมายอย่างไร บทความนี้จะอธิบายให้ได้ทราบถึงความหมายของคำนี้
.
จดหมายเหตุในภาษาอังกฤษตรงกับคำว่า“archives” หมายถึง เอกสารจดหมายเหตุ สถานที่เก็บรักษาเอกสาร และสถาบันหรือองค์กรที่เป็นเจ้าของเอกสารที่ใช้ปฏิบัติงาน ในระยะแรกนั้นยังจำกัดความหมายอยู่ที่เอกสารของหน่วยงานหรือองค์การของรัฐแต่ต่อมาความหมายนั้นรวมไปถึงเอกสารที่เก็บรักษาและรวบรวมโดยสถาบันเอกชนหรือครอบครัวด้วย
.
A Glossary of Archival and Records Terminology ได้ให้ความหมายของ archives ไว้ดังนี้
.
1. หมายถึง วัตถุใด ๆ ที่ผลิตหรือรับไว้โดยบุคคล ครอบครัว องค์กรภาครัฐหรือเอกชน อันเนื่องมาจากกิจกรรมหรือภารกิจและได้อนุรักษ์ไว้เนื่องจากสารสนเทศที่บันทึกไว้มีคุณค่าต่อเนื่อง หรือเป็นหลักฐานของภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ผลิตเอกสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุเหล่านั้นได้รับการดูแลรักษาไว้ซึ่งแหล่งกำเนิด ลำดับการจัดเรียง และควบคุมการรวบรวมให้เป็นเอกสารที่ถาวร (เทียบได้กับคำว่า “เอกสารจดหมายเหตุ”)
.
2. หมายถึง หน่วยงานที่อยู่ภายใต้องค์กร ซึ่งรับผิดชอบในการดูแลรักษาเอกสารที่มีคุณค่าต่อเนื่องขององค์กรนั้น ๆ(เทียบได้กับคำว่า “ หน่วยงานจดหมายเหตุ” หรือ “หอจดหมายเหตุของหน่วยงาน” เช่น หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย... หอจดหมายเหตุกระทรวง...เป็นต้น)

3. องค์กรที่รวบรวมเอกสารของบุคคล ครอบครัว หรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อรวบรวมเป็นเอกสารจดหมายเหตุ (เทียบได้กับคำว่า “หอจดหมายเหตุ” หรือองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านจดหมายเหตุ เช่น สมาคมจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุเฉพาะด้าน เป็นต้น)
.
4. วิชาการที่สอนเกี่ยวกับการดำเนินงานเกี่ยวกับเอกสารจดหมายเหตุและองค์กรจดหมายเหตุ (เทียบได้กับคำว่า “วิชาจดหมายเหตุ”)
.
5. อาคารหรือส่วนของอาคารที่จัดเก็บเอกสารจดหมายเหตุ (เทียบได้กับคำว่า “คลังเอกสารจดหมายเหตุ”)
.
6. กลุ่มของเอกสารสิ่งพิมพ์ที่ให้ความรู้ในยุคสมัยใดสมัยหนึ่ง (เทียบได้กับคำว่า “เอกสารประวัติศาสตร์”)
.
แต่เดิมคำว่า “จดหมายเหตุ” มักจะใช้กับชุดเอกสารใดๆ ที่เป็นเอกสารเก่าหรือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ โดยไม่คำนึงถึงการรวมตัวของเอกสารว่ามีการรวมตัวอย่างไร ตามความหมายนี้เอกสารจดหมายเหตุจึงเป็นเอกสารเก่าที่อาจเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์ เช่น วารสารเก่าทางการแพทย์ เป็นต้น ในปัจจุบันวิชาชีพจดหมายเหตุจะคำนึงถึงคุณสมบัติของเอกสารจดหมายเหตุ ซึ่งเกิดจากภารกิจหน้าที่ มีกระบวนการอันเกิดจากการผลิตหรือรับมอบเอกสารอันทำให้เอกสารจดหมายเหตุมีโครงสร้างที่แสดงให้เห็นถึงภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของเอกสารหรือแหล่งกำเนิดของเอกสารนั่นเอง
.
เอกสารจดหมายเหตุเป็นเอกสารที่เกิดจากการดำเนินงาน หรือดำเนินกิจกรรมของหน่วยงานและบุคคล และได้รับการประเมินคุณค่าว่ามีคุณค่าทางจดหมายเหตุ (archival value ,permanent value, continuing value, enduring value) ซึ่งหมายถึง คุณค่าของเอกสารที่มีต่อการบริหารและดำเนินงาน, การเป็นหลักฐานในทางกฎหมาย, การแสดงสถานภาพทางการเงิน,การเป็นหลักฐานของการดำเนินงาน, การค้นคว้าวิจัยหรือทางประวัติศาสตร์และได้รับการประเมินว่าสมควรอนุรักษ์ไว้ตลอดไปในฐานะที่เป็นเอกสารจดหมายเหตุ
.
คุณค่าเหล่านี้มีประโยชน์ต่อทั้งเจ้าของเอกสารและผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากเอกสารจดหมายเหตุเพื่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัยในด้านต่าง ๆ เอกสารจดหมายเหตุจะแบ่งออกเป็นสองประเภทตามลักษณะของความเป็นเจ้าของเอกสาร ได้แก่ เอกสารจดหมายเหตุของหน่วยงาน และเอกสารส่วนบุคคล
.
คุณลักษณะของเอกสารจดหมายเหตุ คือ การเป็นเอกสารสำคัญที่มีอยู่ชิ้นเดียว มีความสมบูรณ์ครบถ้วน สะท้อนให้เห็นถึงภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานและบุคคลผู้เป็นเจ้าของเอกสาร และสะท้อนให้เห็นถึงสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และองค์ประกอบทางสังคมในยุคหรือสมัยใดสมัยหนึ่งที่เอกสารนั้นได้ผลิตขึ้น เอกสารจดหมายเหตุเป็นหลักฐานชั้นต้น (primary source) ที่ใช้ในการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยในด้านต่างๆ
.
เอกสารที่หน่วยงานหรือบุคคลผลิตหรือรับไว้ใช้ในการดำเนินกิจกรรมจะมีอายุการจัดเก็บที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับความจำเป็นของเอกสารต่อการอ้างอิง การเป็นหลักฐาน การแสดงถึงสิทธิตามกฎหมาย หรือหน่วยงานต้องจัดเก็บเอกสารตามระยะเวลาที่กฎหมาย หรือระเบียบกำหนดไว้ เป็นต้น เอกสารบางประเภทมีการอายุใช้งานหนึ่งปี ห้าปี สิบปี ยี่สิบปี หรือตลอดไป เช่น การกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บเอกสารของราชการที่ระบุไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 หมวดที่ 3 ว่าด้วยการเก็บรักษา ยืม และทำลายหนังสือ เอกสารที่ได้จัดทำหรือรับไว้เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมเมื่อมีการจัดเก็บจนครบกำหนดจะถูกกำจัดออกไปตามอายุการจัดเก็บ เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการจัดเก็บเอกสารใหม่ที่ต้องใช้งาน
.
การกำจัดเอกสารมีสองวิธี คือ การทำลายหรือย้ายโอนเอกสารไปยังหน่วยงานจดหมายเหตุ เอกสารที่ไม่ได้รับการประเมินว่ามีคุณค่าถาวรจะถูกทำลาย ส่วนเอกสารที่ได้รับการประเมินว่ามีคุณค่าถาวรจะได้รับการย้ายโอนไปยังหอจดหมายเหตุ เพื่อดำเนินการตามหลักจดหมายเหตุ ได้แก่ การจัดเรียงเอกสาร (arrangement) การจัดทำคำอธิบายเอกสาร (description) การจัดทำเครื่องมือช่วยค้นเอกสารจดหมายเหตุ (finding aids) การสงวนรักษาและอนุรักษ์(preservation and conservation) การให้บริการ และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ (reference service and public relation activities)
.
การทำลายเอกสารมีหลักสำคัญในการทำลายคือ ต้องทำลายเอกสารไม่ให้สามารถอ่านหรือเข้าถึงสารสนเทศที่บันทึกในเอกสารเหล่านั้น โดยการนำไปย่อยสลายด้วยการตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือลบทิ้งจากระบบในกรณีของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์

เอกสารจดหมายเหตุมีหลายประเภท ได้แก่ เอกสารลายลักษณ์ (textual records) เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ (audio-visual records)ได้แก่ ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว เสียงที่ได้รับการบันทึกไว้ เอกสารประเภทแบบแปลน แผนที่ แผนผัง (cartographic and architectural records )และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (electronics records) ซึ่งการดำเนินงาน การจัดเก็บ การอนุรักษ์ การซ่อมสงวนรักษาเอกสารแต่ละประเภทจะแตกต่างกันออกไป เพื่อให้เอกสารเหล่านั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ในการศึกษา ค้นคว้า อ้างอิง และวิจัยได้ตลอดไป
.
จดหมายเหตุจึงมีความสำคัญต่อประเทศทั้งในฐานะของเอกสารจดหมายเหตุ ในฐานะการดำเนินงานตามกระบวนการวิชาการจดหมายเหตุ และในฐานะของหน่วยงานจดหมายเหตุเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งเอกสารจดหมายเหตุที่เป็นบันทึกความทรงจำของชาติ และมีความจำเป็นต่อประเทศเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติ สิทธิประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และในฐานะของข้อมูลชั้นต้นที่ใช้ในการศึกษา ค้นคว้า อ้างอิง และวิจัย เป็นข้อมูลสารนิเทศที่สะท้อนเรื่องราวต่างๆของประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ประเพณี วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติประเภทหนึ่งซึ่งแสดงถึงพัฒนาการความเจริญรุ่งเรืองของชาติ จากอดีตสู่ปัจจุบัน


ที่มา https://www.nat.go.th/

“นะหน้าทอง” พิธีโบราณ แต่เป็นเทรนด์ฮิตของคนรุ่นใหม่ !!!

“ลงนะหน้าทอง” กลายเป็นเทรนด์ฮิตบนโลกออนไลน์ ภายหลังมีกลุ่มวัยรุ่นและคนวัยทำงาน โดยเฉพาะผู้หญิงนิยมไปประกอบพิธีกรรมเสริมมงคลตามความเชื่อ แต่มีหลายคนถูกหลอกจากกลุ่มมิจฉาชีพ จนสูญเสียเงินและถูกล่วงละเมิดทางเพศ หากขาดสติไม่ศึกษาให้ดี ก่อนตัดสินใจทำ
.
“อัมรินทร์ สุขสมัย” ผู้ศึกษาด้านโหราศาสตร์และไสยเวท กล่าวว่า พิธีกรรมไสยศาสตร์ขณะนี้ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะพิธีกรรมเกี่ยวกับด้านเมตตามหานิยม ทำให้มีวัยรุ่นและคนวัยทำงานมาลงนะหน้าทองตามสำนักต่างๆ จำนวนมาก
.
ตามตำราโบราณการลงนะหน้าทอง เป็นการเสริมสิริมงคลให้กับใบหน้า เป็นศาสตร์ชั้นสูง ต้องใช้แผ่นทองบริสุทธิ์ปิดลงบริเวณใบหน้า หรือร่างกาย โดยห้ามนำแผ่นทองไปติดบริเวณต่ำกว่าเอว ผู้ชายนิยมนำแผ่นทองติดบริเวณใบหน้า หน้าอก หลัง ต้นแขน และท้อง ส่วนผู้หญิงติดบริเวณใบหน้า ต้นคอ ท้ายทอย
.
“วิชาลงนะหน้าทองเป็นศาสตร์โบราณมีการสืบต่อกันมา สายที่มีชื่อเสียงอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ ผู้ประกอบพิธีกรรมส่วนใหญ่เป็นฆราวาส หากยังบวชอยู่อาจปิดทองโดยสัมผัสแขนลูกศิษย์ เพื่อติดทองลงบนร่างกายของผู้ที่มาลง ป้องกันไม่ให้ผิดศีล ขณะเดียวกันตอนนี้มีหลายคนศึกษาผ่านโลกออนไลน์ แล้วโปรโมทตนเองให้มีความน่าเชื่อถือ และตั้งสำนักรับทำนะหน้าทอง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากกระแสนี้เป็นจำนวนมาก”
.
ปกติตามตำราโบราณการลงนะหน้าทองมีจุดมงคลที่เรียกว่า “มหาสิริทั้ง 9” บริเวณใบหน้าประกอบด้วย หน้าผาก โหนกแก้ม แก้ม กระพุ้งแก้ม คาง ต้นคอหน้า-หลัง ลูกกระเดือก และจมูก
.
ส่วนการติดแผ่นทองบริเวณใบหน้ามีด้วยกัน 2 แบบ คือ 1.การตกทอง นำทองคำเปลวมาติดตามจุดต่างๆ บริเวณใบหน้า 2.นำแผ่นทองคำเปลวมาขยี้ให้ทั่วทั้งใบหน้า เพื่อให้เนื้อทองซึมเข้าไปในผิวหนัง โดยพิธีกรรมลงนะหน้าทองต้องเสกแผ่นทองตามตำราก่อนติดลงบนใบหน้าทุกครั้ง ส่วนใหญ่ใช้เวลาทำพิธีประมาณ 10 นาที และด้วยพิธีกรรมที่รวดเร็วทำให้คนรุ่นใหม่สนใจทำจำนวนมาก
.
แต่เมื่อลงนะหน้าทองแล้วก็มีข้อห้ามตามตำราโบราณที่เป็นเหมือนกุศโลบายการปฏิบัติตนของคนโบราณประกอบด้วย ห้ามด่า ละเว้นโกรธอาฆาต ไม่ให้มุดลอดราวตากผ้า ใต้บันได และห้ามพูดโกหก
.
ผลร้ายวิชาสายดำ ใช้แรงผีเข้าช่วย อาจตายได้ โดย “อัมรินทร์” เล่าถึงพิธีกรรมการลงนะหน้าทอง หากทำไม่ถูกวิธี หรือทำกับคนที่ใช้วิชาสายดำ จะทำให้เกิดโทษต่อตนเองระยะยาว เพราะส่วนใหญ่ไปทำแล้วจะเห็นผลระยะแรกอย่างรวดเร็ว แต่ไม่นานจะเสื่อมลง จนทำให้คนที่ลงนะต้องไปหาคนที่ลงของใหม่ โดยกลุ่มคนพวกนี้ใช้สิ่งที่เรียกว่า “แรงผี” ด้วยการเลี้ยงผีพราย ภูตผี ให้มาช่วยทำงานจนประสบความสำเร็จ แต่ผลเสียคือ ผีพวกนี้จะกัดกินวิญญาณของคนในบ้าน จนทำให้เสียชีวิต ล้มป่วย โดยเฉพาะคนแก่ เด็ก คนที่มีอาการป่วยเรื้อรัง
.
ส่วนผลกระทบระยะยาวจะทำให้คนที่ไปทำมามีใบหน้าหมองคล้ำ ขาดสง่าราศี อารมณ์แปรปรวน อาจถึงขั้นเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นคนที่สนใจพิธีกรรมนี้ควรใช้ความระมัดระวัง ศึกษาให้ลึกซึ้งก่อนตัดสินใจเชื่อ เพราะอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี หากทำกับบุคคลที่หลอกลวง

ขณะเดียวกันอย่าหลงเชื่อตามการโปรโมทบนโลกออนไลน์ เพราะสมัยนี้ใครก็สามารถสร้างตัวตนให้มีชื่อเสียงได้ ทั้งที่ไม่ได้มีความรู้แท้จริงในศาสตร์นั้น และการลงนะหน้าทองตามศาสตร์โบราณได้แฝงหลักการดำเนินชีวิต เพื่อมุ่งหวังไม่ให้หลงงมงายจนขาดสติและกลายเป็นเหยื่อของคนที่แสวงหาผลประโยชน์จากความเชื่อ.
.
ผู้เขียน : ปักหมุด


ที่มา https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2469789 
 

3 สัญญาณ เตือนว่านี่คือ “แชร์ลูกโซ่”

คนไทยเราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า “แชร์ลูกโซ่” กันเป็นอย่างดี หรืออย่างน้อยก็ได้ยินคำคำนี้ผ่านสื่อมาบ่อยๆ อีกทั้งยังมีตัวอย่างของการหลอกลวงฉ้อฉลทางการเงินลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง อาทิเช่น แชร์แม่ชม้อย, แชร์ล็อตเตอรี่ หรือแม้แต่แชร์ลูกโซ่ที่โด่งดังระดับโลกอย่างกรณีของ Bernard Madoff ที่สร้างความสูญเสียทางการเงินอย่างมากมายมหาศาล  หรืออย่างกรณีไทยๆเช่น แชร์แม่ชม้อย, แชร์ชาร์เตอร์ , คดีซินแสที่ต้มตุ๋นด้วยการลอยแพม, แชร์แม่มณี, แชร์ Forex3D และอีกหลายต่อหลายกรณีที่ตามกันออกมา และดูเหมือนว่าแชร์ลูกโซ่ก็ยังคงมีการพัฒนาการ การหลอกลวงเงินจากประชาชนอยู่เรื่อย ๆ พร้อมการปรับเปลี่ยนรูปแบบและตัวเลขของการหลอกลวงที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เชื่อเหลือเกินว่าแชร์ลูกโซ่จะคงมีอยู่คู่กับบ้านเราไปอีกยาวนาน แต่เราจะรับมือหรือล่วงรู้ได้อย่างไร ? มาดูสัญญาณเตือนกันว่าแบบไหนที่น่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ 
.
1. ผลตอบแทนสูงมาก แถมความเสี่ยงต่ำสุดๆ ได้แน่ๆ ได้ชัวร์ๆ
เหล่านายหน้าของแชร์ลูกโซ่ที่มีหน้าที่ชักชวนคนมาลงทุนมักจะใช้เหตุผลข้อนี้มายั่วยวน ล่อใจเหยื่อกระเป๋าหนักให้ควักเงินใส่เข้าไปในแชร์ลูกโซ่ และสัญญาว่านักลงทุนจะได้กำไรอย่างงดงามแน่นอนด้วยความเสี่ยงที่ต่ำมากๆ นักลงทุนที่ดีต้องไม่หลงเชื่อคำพูดดังกล่าว แล้วค่อยๆพิจารณาเสียก่อนว่าผลตอบแทนดังกล่าวมีความสมเหตุสมผลกับความเป็นจริงหรือไม่ คำถามที่คุณควรถามกลับไปก็คือ “ถ้ามันดีได้ขนาดนั้น ทำไมไม่กู้เงินมาทำซะเองเลยล่ะ
.
2. ที่มาของกำไรหรือผลตอบแทนไม่ชัดเจน, ซับซ้อน หรือฟังดูแปลกประหลาดมหัศจรรย์
นายหน้าของกลุ่มแชร์ลูกโซ่เหล่านี้ มักจะใช้ศัพท์ทางการเงินยากๆ และมักอวดอ้างความเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการเงินที่จะสร้างผลตอบแทนได้อย่างมหัศจรรย์ (แน่นอนต้องอาศัยเงินคุณไปลงทุน) เพราะฉะนั้นจงระมัดระวังคนที่เข้ามาชักชวนให้ลงทุนกับอะไรที่เข้าใจยาก ดูลึกลับซับซ้อน 82 สายงาน 24 ดาวน์ไลน์ 18 ขา 56 อันดับ พีระมิดคว่ำ พีระมิดหงาย หรือบ้างก็ว่าจะเอาไปลงทุนกับล็อตเตอรี่, แสตมป์, ตั๋วเดือนรถเมล์, บัตรเติมเงินโทรศัพท์ ฯลฯ จงระวังพวกนี้เอาไว้ให้ดี
.
3. เสี่ยงผิดกฎหมาย แต่จะมีการรับรองความปลอดภัยแบบลอย ๆ
ด้วยความที่แชร์ลูกโซ๋เป็นกิจกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมาย ทำให้คนกลุ่มนี้มักจะดำเนินการกันแบบลับๆเป็นการภายใน เริ่มต้นเวลาชักชวนนักลงทุนก็จะต้องย้ำว่า นี่เป็นการลงทุนที่เพิ่งเกิดใหม่ซึ่งรู้เฉพาะคนวงในเท่านั้น และมักจะอวดอ้างบุคคลใหญ่ๆโตๆในแวดวงต่างๆว่าให้การสนับสนุน รวมไปถึงเอาเงินมาลงทุนเองด้วย ดังนั้นจงระลึกเสมอว่า ยิ่งดูลึกลับซับซ้อน ดูเป็นคนวงในมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต่อการที่มันจะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และแน่นอนเสี่ยงต่อการถูกหลอกด้วยเช่นกัน
.
ทั้ง 3 ข้อข้างต้นคือลักษณะเบื้องต้นของแชร์ลูกโซ่ที่คุณสามารถสังเกตเห็นได้ทันทีตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รับการชักชวน คราวต่อไปถ้าหากมีใครมาชวนให้ลงทุนอะไรแปลก ๆ แผลง ๆ ก็ลองตรวจสอบลักษณะ 3 ข้อดังกล่าว เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องตกเป็นเหยื่อ


ที่มา https://www.mendetails.com/money/3-signs-ponzi-scheme/ 
 

“เกาะมันใน” เกาะของเต่าหนึ่งเดียวในโลก จาก“ทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระราชินีองค์หนึ่ง” เรื่องดี ๆ ของระยอง เรื่องดี ๆ ของประเทศไทย

#เรื่องดีๆที่ระยอง
…..มีเกาะแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง มีพื้นที่ ๑๓๔ ไร่ ชื่อว่า “เกาะมันใน”...
... ครั้งหนึ่งในอดีต เกาะแห่งนี้ เคยเป็น “ทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระราชินีองค์หนึ่ง”
... ต่อมา ใน ปี พุทธศักราช ๒๕๑๘ เกาะแห่งนี้ กลายเป็นของ “ทรัพย์สินของแผ่นดิน” เพราะ “พระราชินีพระองค์นั้น” ทรงพระราชทานให้กรมประมง จุดประสงค์คือเพื่อดูแลอนุรักษ์เต่าทะเล ...
... ปัจจุบัน กรมทรัพยากรทางทะเลฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ เป็นเกาะแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีเป้าหมายเพื่อดูแลเต่าโดยเฉพาะ...
... เกือบ ๔๗ ปีที่ผ่านมา มีลูกเต่านับหมื่นเคยอยู่ที่นี่ ก่อนลงสู่ท้องทะเล มีพ่อเต่าแม่เต่านับพัน เคยพักรักษาตัว ก่อนกลับบ้าน เพื่อสืบสายพันธุ์อีกครั้ง...
... ณ เวลานี้ พ่อเต่าแม่เต่าลูกเต่าหลายตัวก็ยังอยู่บนเกาะ บ่อใหญ่ ๓๐ ไร่ในทะเล ยังเป็น “ที่พักพิงสุดท้าย” ของเต่าบาดเจ็บจากการติดขยะทะเล ขาขาด พิการจนไม่สามารถกลับบ้านได้...
... “เกาะมันใน” ยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของระบบนิเวศ ทั้งทะเลทั้งบก ...
... แนวปะการังสมบูรณ์ตามธรรมชาติที่สุดแห่งหนึ่งของภาคตะวันออก ก็อยู่ที่นี่ ...
... นอกจากนี้ “เกาะมันใน” ยังเป็นแหล่งฝึกงานของนิสิตวิทยาศาสตร์ทางทะเล / ประมง หลายต่อหลายรุ่น หลายต่อหลายมหาวิทยาลัย...
... ผมเคยมาฝึกงานที่มันในตั้งแต่เป็นนิสิต กลับมาคุมลูกศิษย์ฝึกงานก็ที่เกาะมันใน ยังมีผู้มาเยือนเดินทางมาเกาะมันในปีละหลายพัน บางปีนับหมื่น...
... ความรักทะเล รักเต่าทะเล ของคนหลายคน ของเด็กหลายคน เริ่มต้นที่นี่ ประมาณ ๔๗ ปีที่ผ่านมา ตัวเลขแห่งความรักนั้นมีจำนวนเท่าไหร่นั้น?? ก็ไม่อาจทราบได้ ...
... แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้น เริ่มต้นที่
“พระราชินีพระองค์หนึ่ง” พระราชทานเกาะแห่งนี้ให้เต่า ...
“... ในโลกใบนี้ ไม่ทราบว่า โลกนี้เคยมีพระราชินีพระองค์ไหนยกเกาะให้เต่ามาก่อนหรือไม่?? ...”
... โลกนี้ยังมีเรื่องเล่ามากมาย แต่มีความจริงที่สายตาเห็นบางประการ เห็น “ความจริง” ได้แม้จากภาพที่ได้มาจากดาวเทียม ไม่ว่ากาลเวลาผ่านไปเนิ่นนานเพียงไหน “เกาะมันใน” ก็คือ “เกาะของเต่า”...
... เป็นประจักษ์พยานของ ความรักที่ทรงมอบให้แก่ท้องทะเล...
... ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายพระพรชัยมงคล แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ทรงพระเกษมสำราญ ทรงพระเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ...
ม.จ. จุลเจิม ยุคล 
ที่มา : ตามรอยพ่อ ... 

Credit Withaya Watanastian


จาก https://www.facebook.com/agrinaturetwo/posts/5559237360799239 
 

“ทุ่ม-โมง-ยาม” กับความเป็นมา จะได้เข้าใจว่าทำไม ? เราไม่ใช้คำว่า “นาฬิกา” แบบสากล

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นอกจากจะโปรดเกล้าฯให้ใช้ “พุทธศักราช” แทน “รัตนโกสินศก” แล้ว ยังให้ใช้คำว่า “นาฬิกา” แทน “ทุ่ม-โมง” ที่คนไทยเรานิยมใช้มาแต่โบราณด้วย เพื่อให้สะดวกในการติดต่อกับต่างประเทศ แต่ในทุกวันนี้คำว่านาฬิกาเป็นคำที่ใช้กันเป็นทางการเท่านั้น แต่ในคำพูดเรายังนิยมใช้ทุ่ม โมง กันอย่างเดิม ซึ่งคำเหล่านี้มาจากไหน
.
สมัยโบราณเรายังไม่มีนาฬิกาใช้กันอย่างทุกวันนี้ จึงต้องมีสัญญาณบอกให้รู้เวลา โดยเฉพาะกำหนดเปลี่ยนเวรยาม และเพื่อให้รู้ว่าเวลาที่บอกนั้นเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน จึงใช้อุปกรณ์ที่บอกให้แตกต่างกัน โดยการบอกเวลากลางวันใช้ฆ้อง ส่วนกลางคืนใช้กลอง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการเรียกขานเวลาตามเสียงสัญญาณที่บอก เสียงฆ้องก็เป็น “โมง” เสียงกลองก็เป็น “ทุ่ม”
.
ส่วนการเปลี่ยนจากกลางวันเป็นกลางคืน กลางคืนเป็นกลางวัน ก็จะรัวเสียงสัญญาณให้รู้ว่าเป็นช่วงต่อของกลางวันกับกลางคืน โดยตอน ๖ นาฬิกาก็ย่ำรัวสัญญาณบอกว่าเป็นเวลา “ย่ำรุ่ง” พอ ๑๘ นาฬิกาก็รัวอีกครั้งบอกว่าเป็นเวลา “ย่ำค่ำ”
.
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีประกาศใช้ทุ่มโมงยาม มีความว่า
.
“มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า วิธีนับทุ่มโมงยามเปนการใช้กันมาแต่โบราณในประเทศสยาม มักมีคนใช้ผิดเพี้ยน เมื่อในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาคราวหนึ่งแล้ว ครั้นมาในบัดนี้ มีผู้ใช้ทุ่มโมงยามผิดเพี้ยนขึ้นอีก คือ ใช้ว่า ๖ โมงเช้าบ้าง ๖ โมงเย็นบ้าง ๓ ทุ่มบ้าง ๖ ทุ่มบ้าง ๙ ทุ่มบ้าง แต่นี้ต่อไป ผู้ใดจะกราบบังคมทูลพระกรุณาด้วยวาจาก็ดี จะใช้ในหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาฤๅใช้ในหนังสือราชการก็ดี ให้ใช้ให้ถูกต้อง ดังต่อไปนี้ คือ ย่ำรุ่ง, โมงเช้า ฤๅเช้าโมงหนึ่ง ๒ โมงเช้า ๓ โมงเช้า ๔ โมงเช้า ๕ โมงเช้า เที่ยง ฤๅย่ำเที่ยง บ่ายโมง ฤๅบ่ายโมงหนึ่ง บ่าย ๒ โมง บ่าย ๓ โมง บ่าย ๔ โมง บ่าย ๕ โมง ย่ำค่ำ ทุ่มหนึ่ง ๒ ทุ่ม ยามหนึ่ง ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม ๒ ยาม ๗ ทุ่ม ๘ ทุ่ม ๓ ยาม ๑๐ ทุ่ม ๑๑ ทุ่ม ฤๅตี ๑๑ ย่ำรุ่ง ให้ใช้ให้ถูกต้องดังนี้
.
ประกาศมาณวันที่ ๒๓ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ เปนวันที่ ๑๑๕๗๗ ในรัชกาลปัตยุบันนี้”
.
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้อธิบายคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการนับเวลาของไทยไว้ดังนี้
.
โมง หมายถึง วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางวัน ถ้าเป็นเวลาก่อนเที่ยงวัน ตั้งแต่ ๗ นาฬิกา ถึง ๑๑ นาฬิกา เรียกว่า โมงเช้า ถึง ๕ โมงเช้า ถ้าเป็น ๑๒ นาฬิกา นิยมเรียกว่า เที่ยงวัน ถ้าหลังเที่ยงวัน ตั้งแต่ ๑๓ นาฬิกา ถึง ๑๗ นาฬิกา เรียกว่า บ่ายโมง ถึง บ่าย ๕ โมง ถ้า ๑๘ นาฬิกา นิยมเรียกว่า ๖ โมงเย็น หรือ ย่ำค่ำ
.
ทุ่ม หมายถึง วิธีนับเวลาตามประเพณีสำหรับ ๖ ชั่วโมงแรกของกลางคืน ตั้งแต่ ๑๙ นาฬิกา ถึง ๒๔ นาฬิกา เรียกว่า ๑ ทุ่ม ถึง ๖ ทุ่ม แต่ ๖ ทุ่ม นิยมเรียกว่า สองยาม

ตี หมายถึง วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางคืน หลังเที่ยงคืน ตั้งแต่ ๑ นาฬิกา ถึง ๖ นาฬิกา เรียกว่า ตี ๑ ถึง ตี ๖ แต่ตี ๖ นิยมเรียกว่า ย่ำรุ่ง
.
แต่ในวันนี้ นอกจากภาษาพูดเราจะไม่ใช้คำว่านาฬิกากันแล้ว ยังใช้กันคลาดเคลื่อนจากประกาศในสมัยก่อนอีก อย่าง ๑๐ นาฬิกา ตามประกาศในรัชกาลที่ ๕ ต้องเรียกว่า “๔ โมงเช้า” แต่ก็นิยมเรียกกันว่า “๑๐ โมงเช้า” เวลา ๘ นาฬิกา ต้องเรียกว่า “๒ โมงเช้า” แต่ก็เรียกกันว่า “๘ โมง”
.
จะเรียกอะไรก็ตาม เอาที่เขานิยมตามสมัยก็แล้วกัน ไม่งั้นคงไปตามนัดไม่ตรงกันแน่


ที่มา https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000070621 
 

“มนุษย์เป็ด” ไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไร เพราะทำอะไรก็จอยไปหมด

เพราะเราต่างอาศัยอยู่ในยุคที่อินเตอร์เน็ต รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น การเข้าถึงข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ จึงเป็นไปอย่างง่ายดาย และสะดวกรวดเร็ว เมื่อโลกและวิสัยทัศน์ของเรานั้นไร้ซึ่งพรมแดนแห่งการเรียนรู้เราจึงสามารถเข้าถึงสิ่งต่าง ๆมากมายได้อย่างไร้ขีดจำกัด และเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้โดยที่ไม่หยุดแต่เพียงภายในห้องเรียนสี่เหลี่ยม หรือกรอบสังคมรอบข้างเท่านั้น 
.
จอร์จ โลเวนสไตน์ (George Loewenstein) นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังแห่งสหรัฐอเมริกาได้กล่าวไว้ว่า “ความสงสัยใคร่รู้ในตัวของมนุษย์นั้นเป็นความดีเลิศและนั่นจะไม่มีวันสิ้นสุดจนจวบวาระสุดท้าย” และด้วยความใคร่รู้ของมนุษย์ ผนวกกับโลกอินเตอร์เน็ตไร้พรมแดนนั้นทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เกิดความชอบ ความสนใจ และความสามารถที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรามักจะพบเจอกับกลุ่มคนประเภทนี้ได้ในหลากหลายสาขาอาชีพ โดยมักเรียกกลุ่มคนพวกนี้ว่า “มนุษย์เป็ด”
.
“มนุษย์เป็ด” เป็นคำพูดที่คนไทยใช้นิยามบุคคลที่มีความสามารถที่หลากหลาย ประเภทที่ว่าทำนู่นทำนี่ได้หมด แต่กลับไม่ได้เก่งแบบสุดโต่งเฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งเปรียบเสมือน “เป็ด” ที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายนก มีปีกแต่ก็บินได้ไม่สูง แถมยังมีตีนที่แบนทำให้สามารถว่ายน้ำ และหาอาหารในน้ำได้ แต่ก็ยังไม่สามารถดำน้ำได้ลึกเหมือนปลา ทำได้แค่ว่ายบนผิวน้ำเท่านั้น เรียกได้ว่า ‘ทำได้หลายอย่าง แต่ไปไม่สุดสักทาง’ undecided
.
ถึงแม้ความเป็น “มนุษย์เป็ด” อาจทำให้รู้สึกสับสนกับตัวเองว่า “ฉันชอบอะไรกันแน่” หรือ “ฉันทำได้นะ แต่ทำไมฉันดูไม่เก่งในทางไหนซักทางเลย” หากใครที่กำลังตั้งคำถามหรือกกำลังเผชิญกับความรู้สึกที่น่าอึดอัดนี้อยู่ ขอให้ลบล้างความรู้สึกที่ไม่ดีกับตัวเองหรือ mindset แบบนั้นไปซะ! เพราะไม่ใช่ว่าคุณไม่เก่ง หรือค้นหาตัวเองไม่เจอ แต่แท้จริงแล้วคุณคือ “Multipotential” หรือ “ผู้ที่มีศักยภาพหลากหลาย” ต่างหากล่ะ
.
เอมิลี แวปนิก (Emilie Wapnick) นักพัฒนาสังคม และนักเขียนหนังสือ ได้ขึ้นพูดที่เวที TEDxBend ในหัวข้อ “Why Some of Us Don't Have One True Calling” ซึ่งเธอได้กล่าวว่า “ผู้ที่มีศักยภาพหลากหลาย (Multipotential) คือคนที่มีความสนใจและงานอดิเรกมากมาย มันไม่ยากเลย ที่จะเห็นความมีศักยภาพหลากหลายของคุณ เป็นข้อจำกัด หรือความเจ็บปวดภายในใจ ที่คุณจะต้องก้าวผ่านมันไปให้ได้”
.
อีกทั้งเธอยังได้กล่าวว่ากลุ่มคนประเภทนี้เป็นหนึ่งใน “Super Power” แห่งศตวรรษที่ 21 ที่ขับเคลื่อนให้หลาย ๆ สายอาชีพก้าวข้ามข้อจำกัดของคำว่า “งานเฉพาะทาง (Specification)” สู่การ “การทำงานร่วมกัน (Collaboration)”  ด้วยการนำหยิบยกสิ่งที่ตนเองชอบผนวกกับการนำศาสตร์และศิลป์มาประยุกต์ใช้การทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยการใช้เทคนิคในการทำงานทั้ง 3 ประการ ดังนี้
•    Idea Synthesis (การสังเคราะห์ความคิด) คือ การนำหลาย ๆ ความคิดมาเชื่อมโยงปะติดปะต่อเพื่อสร้างสรรค์และนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างผลงานที่มีความแตกต่างและแปลกใหม่
•    Rapid Learning (การเรียนรู้อย่างรวดเร็ว) การเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องที่ศึกษาอย่างรวดเร็ว พร้อมที่จะก้าวกระโดดออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง เพื่อเปิดรับความคิดใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา
•    Adaptability (ความสามารถในการปรับตัว) การปรับตัวในการทำงานด้วยการหยิบไอเดียต่าง ๆ มาประยุกต์และนำมาใช้ได้จริง เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน อีกทั้งการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์หรือตามบริบทต่าง ๆ ของสังคมได้อย่างรวดเร็ว
.
ซึ่งการเป็น “มนุษย์เป็ด” พบว่าตนเองนั้นมีความชอบที่หลากหลาย สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของกระแสนิยมโลกได้ไว และสามารถทำอาชีพได้อย่างหลากหลาย อาทิ สายการตลาด สายบริหาร หรือแม้กระทั่งสายออนไลน์ 
คอนเทนต์ เป็นต้น 
.
เรียกได้ว่าไปได้หมดทุกทางจริง ๆ แต่ทั้งนี้ก็ต้องถามตัวเองด้วยว่า “คุณชอบในสิ่งนั้นไหม” หรือ “คุณรู้สึกว่ามันท้าทายความสามารถไหม” ขอแค่ลองถามตัวเองแค่ไหนว่าใจคุณรักหรือชอบไหม แล้ว Let’s Do It ออกไปลุยเลย เพื่อปลดล็อกและแสดงศักยภาพที่มีออกมา 
.
เราไม่ได้มากับเรื่องราวที่เราอยากจะมาเล่าและแบ่งปันความรู้แต่เพียงเท่านั้น เรายังมีแบบทดสอบ “ความเป็นเป็ด” หรือ “Multipotentialite Test” ให้เพื่อน ๆ ได้ลองค้นหาตัวเองด้วย เพียงเข้าไปที่ www.puttylike.com 


ที่มา https://xn--12cas3c2av3m3a0g7c.com/%E2%80%9C%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%94%E2%80%9D%20%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%2021/?fbclid=IwAR1B3LdC-JfEI2inrvtsxhlrI8zXIArBYQrLq1W10sVgnY9pIAJT2DP6DLA 
 

อาการ “เพลงติดหู” Earworm เกิดจากอะไร ? แล้วแก้แบบไหน ?

หลายคนอาจจะเคยเกิดอาการ มีเพลงอะไรวนหลอนอยู่ในหัวหรือในหูไปทั้งวัน บางครั้งอาจจะได้ยินเพลงมาสักท่อน แล้วท่อนนั้นก็ติดหูเราไปตลอด อาการนี้เรียกว่า Earworm อ่านว่า เอียร์เวิร์ม แล้วหากเกิดอาการแบบนี้ จะต้องแก้ยังไงดี วันนี้เรามาลบเพลงออกไปจากหูกัน 
.
“Earworm หรือ เอียร์เวิร์ม” มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการคือ Involuntary Musical Imagery (INMI) ให้เข้าใจง่ายๆคือ อาการที่มีเพลงสักท่อนติดอยู่ในหัวเรา วนไปวนมา แล้วเราจะพยายามลบออกไปจากหัวก็ทำไม่ค่อยจะได้  
.
Earworm เกิดขึ้นได้ยังไง ? 
มีการทำบททดสอบง่ายๆ โดยให้กลุ่มตัวอย่างนั่งฟังเพลงและดูว่าเพลงไหนจะทำให้เกิดอาการ Earwormมากที่สุด ผลทดสอบที่ออกมาคือ เพลงแนวป๊อปที่มีจังหวะค่อนข้าวเร็ว เมโลดี้จำง่าย มีเนื้อร้องซ้ำๆ จะทำให้เกิด Earwormมากที่สุด ทุกคนสามารถเกิดอาการนี้ได้หมด ใครที่ฟังเพลงบ่อยๆหน่อย โดยเฉพาะการฟังเพลงผ่านวิทยุหรือช่องทางอื่นๆที่อาจจะมีการสุ่มเพลงขึ้นมาให้ฟังก็อาจจะเกิดอาการแบบนี้ได้ง่ายๆ
.
นอกจากนี้ยังมีผลรายงานอีกว่าอาการนี้อาจเกิดขึ้นได้กับกลุ่มคนที่มีความจำดี มีอาการย้ำคิดย้ำทำ หรือมีความ sensitive ที่ค่อนข้างสูง แน่นอนว่าอาการนี้ไม่อันตราย มันเป็นเพียงอาการเท่านั้นไม่ใช่โรคแต่อย่างใด แต่หากใครรู้สึกหงุดหงิดอยากเอาออกไปจากหัวลองทำตามนี้ดู
.
วิธีแก้อาการEarworm
•    หากเพลงหรือท่อนไหนติดอยู่ในหัว ลองร้องให้จบเพลงหรือฟังให้จบเพลงไปเลย
•    เคี้ยวหมากฝรั่ง
•    ทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด
•    คุยกับใครสักคน 
•    ปล่อยไปเดี๋ยวก็หายเอง 
.
Earworm นั้นอาจจะดูน่ารำคาญ แต่ในอีกแง่สำหรับศิลปินหรือโฆษณาก็คงจะถูกใจไม่น้อยเพราะเหมือนเราได้ติดหูกับสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อไปเสียแล้ว ใครเคยมีอาการแบบนี้บ้าง แล้วเพลงที่ติดหูคือเพลงอะไร? ใช่ “วอเอ๊ะ ๆๆๆ หรือเปล่า?” 


ที่มา  https://www.innnews.co.th/lifestyle/news_103766/ 
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top