Thursday, 21 September 2023
TRENDING

วิธีสร้าง Passion ปลุกไฟในการอ่านหนังสือ

เชื่อว่าทุกคนจะต้องเคยมีรู้สึกเหนื่อย เบื่อ และท้อในการอ่านหนังสือกันอย่างแน่นอน เพราะเพียงแค่เริ่มอ่านก็เริ่มง่วงและไม่อยากอ่านต่อแล้ว จึงได้มีคำพูดเกิดขึ้นมาว่า หนังสือก็เหมือนยานอนหลับ ที่หยิบขึ้นมาอ่านตอนไหนก็รู้สึกง่วงได้อย่างง่ายดาย ทำให้กว่าจะอ่านหนังสือจบสักเล่มก็ใช้เวลานานเหลือเกิน ในบทความนี้จะมี 4 วิธีในการสร้าง Passion ปลุกไฟในการอ่านหนังสือให้ลุกโชนมาฝากกัน จะมีวิธีอย่างไรบ้าง ? ไปติดตามกัน 
.
1. สร้างเป้าหมายที่ชัดเจน แล้วพุ่งไปให้ถึง
ซึ่งสิ่งแรกที่จะต้องคิดเลยก็คือ เป้าหมายในการอ่านหนังสือ นั่นเอง ต้องรู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร ทำไปเพื่อใคร เช่น คนไหนที่ตั้งใจอยากจะสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็ต้องรู้เลยว่าเราจะต้องอ่านหนังสือแบบไหนบ้าง โดยอาจจะเน้นอ่านและฝึกทำแบบทดสอบในวิชาที่ไม่ค่อยถนัดก่อน แล้วค่อยทยอยอ่านในวิชาที่ถนัดขึ้นมาเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็จะไม่รู้สึกเบื่อในการอ่านหนังสือและชอบมันในที่สุด เป็นต้น
.
2. จัดตาราง วางแผน ในการอ่านให้ดี
หลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกผิดหวังจากการสอบที่ทำคะแนนได้ไม่ดีตามที่ต้องการ เช่น การสอบกลางภาค-ปลายภาค การสอบ O-NET การสอบ GAT/PAT เป็นต้น ซึ่งการสอบในแต่ละครั้งคะแนนที่หายไปก็หายไปเพียงไม่กี่คะแนนเท่านั้น แต่อย่ามัวนั่งเสียใจจนลืมไปว่าการสอบนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ครั้งเดียว
.
เราควรที่จะลุกขึ้นแล้วมาทำการวางแผนใหม่ จัดการกับสิ่งรบกวนรอบข้างออกไปหมด มาเริ่มจัดตารางการอ่านหนังสืออย่างจริงจังได้แล้ว เช่น การตัดโลกโซเชียลออกในเวลาอ่านหนังสือ แล้วให้บอกกับตัวเองเสมอว่า เราจะต้องทำได้ ต้องไม่พลาดอีก คราวนี้จะต้องดีกว่าครั้งที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็ทำการแบ่งเวลาในการอ่านหนังสือ และเวลาพักที่ชัดเจนในแต่ละวัน ฯลฯ

3. อย่าอ่านหนังสือคนเดียวตลอด
ในบางครั้งการนั่งอ่านหนังสือคนเดียวก็ทำให้เรารู้สึกเบื่อและไม่อยากอ่านได้ง่ายกว่าการไปนั่งอ่านหนังสือกับเพื่อนที่ขยัน ๆ เพราะมันจะเป็นการบังคับตัวเองให้อยากให้หนังสือไปด้วย เพราะเราจะรู้สึกกดดันที่เห็นเพื่อนอ่านหนังสือและไม่อยากที่จะรบกวนสมาธิในการอ่านหนังสือของเพื่อน จึงเลือกที่จะนั่งหนังสือไปด้วยนั่นเอง
.
นอกจากนี้เรายังได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ในหนังสือที่ได้อ่านมากับเพื่อนด้วย และถ้ามีส่วนไหนที่ไม่เข้าใจก็สามารถที่จะถามเพื่อนหรือปรึกษากันได้ ทำให้เราได้ความรู้เพิ่ม ได้มุมมองใหม่ ๆ


4. ไม่ไหว อย่าฝืน พักบ้าง
เมื่อน้อง ๆ รู้สึกไม่ไหว เพลีย ไม่มีสมาธิในการอ่านหนังสือ สิ่งที่น้อง ๆ จะต้องทำก็คือ อย่าฝืน!! ให้ลุกออกมาจากโต๊ะ พักสายตาก่อน เดินออกไปหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เพื่อเป็นการผ่อนคลายและหาแรงจูงใจใหม่ ๆ ในการอ่านหนังสือ เช่น น้อง ๆ อาจจะมานั่งดูหนัง ฟังเพลง กินขนม ฯลฯ แล้วค่อยกลับไปอ่านใหม่ก็ไม่สาย


ที่มา https://campus.campus-star.com/variety/88844.html?fbclid=IwAR37Jm_-xuocue2TPGORbd_x67HeW71wDPq77DUQY4rjLmQX4RYFhnul_Fk
 

อ่านหนังสือให้จำ กับเคล็ดไม่ลับ 6 ข้อถ้วน

หลายคน มีเคล็ดลับหรือเทคนิคในการอ่านหนังสือเรียน ที่แตกต่างกันออกไป แต่จะมีใครบ้างที่รู้ว่า การอ่านหนังสือ นอกจากที่เราจะต้องทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กับตอนอ่านหนังสือแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยด้วยกัน ที่จะช่วยทำให้การอ่านหนังสือขอเราเป็นเรื่องง่าย และทำให้จำได้ดียิ่งขึ้น วันนี้ THE STUDY TIMES นำเคล็ดไม่ลับ อ่านหนังสือให้จำได้ดี 6 ข้อถ้วนมาฝากกัน
.
1. ต้องรู้ว่า ตนเองอ่านหนังสือตอนไหนดีที่สุด
เตือนตัวเองเสมอว่า “วิธีการอ่านหนังสือของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเวลาในการอ่านหนังสือที่ดีของแต่ละคน ก็ไม่เหมือนกันด้วย” เพราะบางคนอาจจะอ่านในเวลาตอนเช้า หรือตอนกลางวัน หรือตอนเย็น แล้วสามารถเข้าใจได้ไม่เท่ากัน ต้องลองหันมาดูตนเองก่อนเลยว่า อ่านเวลาไหนแล้วจำได้ เข้าใจได้เร็ว เพราะนอกจากที่จะช่วยทำให้เราเข้าใจกับเนื้อหาที่อ่านไปแล้ว ยังทำให้เราไม่ต้องใช้พลังสมองไปเกินไปอีกด้วย แถมยังได้มีเวลาในการผ่อนคลายอีกด้วย
.
2. อ่านออกเสียง หรืออ่านไปพร้อมๆ กับพูดไปด้วย
การอ่านหนังสือ ไม่ใช่เพียงแค่อ่านผ่านๆ ไปเท่านั้น เพราะถ้าอ่านแบบนั้น รับรองเลยว่าจำไม่ได้อย่างแน่นอน แถมยังต้องเสียเวลากลับมาอีกรอบหรือหลายๆ รอบ อีกด้วย ดังนั้นควรเปลี่ยนวิธีการอ่านหนังสือใหม่ด่วนเลย ! ให้ลองอ่านออกเสียงหรือการอ่านที่เหมือนคุยกับตัวเองไปพร้อมๆ กันด้วย พร้อมทำความเข้าใจในแต่ละบทไปพร้อมกันเลย เช่น เรื่องของประวัติศาสตร์ ก็อ่านไปพร้อมๆ ทำความเข้าใจ แล้วลองพูดออกมาเป็นภาษาพูดของเรา เท่านี้ก็จะช่วยทำให้เราอ่านหนังสือได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นแล้ว
.
3. อ่านจบแล้ว ก็ทำสรุปสั้นๆ ไว้ด้วย
นอกจากที่จะต้องอ่านหนังสือทบทวนแล้ว การสรุปสั้นๆ เป็นภาษาของตนเอง ก็สามารถช่วยได้ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาได้มากยิ่งขึ้น โดยอาจจะทำสรุปหลายๆ ครั้ง ทั้งเขียน ทั้งวาดภาพประกอบ เพราะยิ่งเราสามารถอ่านแล้วสรุปได้เรื่อยๆ จะยิ่งทำให้เราจำได้เยอะขึ้น แถมยังเป็นการฝึกเขียนอธิบายไปในตัวอีกด้วย พอไปเจอข้อสอบเขียนบรรยายจริงๆ เราก็จะสามารถเขียนได้อย่างสบายเลย


4. อ่านอย่างเดียวไม่พอ ต้องฝึกทำโจทย์ด้วย
เมื่ออ่านแล้ว ทำสรุปแล้ว อีกหนึ่งเคล็ดลับการอ่านหนังสือที่ดี ที่ไม่ควรพลาดเลยก็คือ การฝึกทำโจทย์ นั่นเอง เพราะการฝึกทำโจทย์ไม่ใช่เพียงแค่ฝึกทำเพื่อให้เราได้คุ้นชินกับโจทย์อย่างเดียว แต่มันยังเป็นการเพิ่มความรู้ เทคนิคการแก้ไขโจทย์ในแต่ละข้อ และยังทำให้เราได้รู้แนวข้อสอบว่าจะออกประมาณไหน อีกด้วย ที่สำคัญเวลาที่ฝึกทำโจทย์ ห้าม!! นำมาเฉลยมาดูโดยเด็ดขาด จนกว่าจะทำเสร็จ ไม่งั้นที่เรากำลังฝึกทำโจทย์ก็จะไม่มีความหมายอะไรเลย
.
5. ถามตัวเองว่า ติดโซเชียลมากไปไหม
สำหรับ อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้หลายคนมีเวลาในการอ่านหนังสือน้อย หรืออ่านหนังสือไม่รู้เรื่องก็คือ การที่เราเล่นโซเชียลมากเกินไป เช่น วันนี้ตั้งใจที่จะอ่านหนังสือ 2 ชั่วโมงตอนเย็นหลังเลิกเรียน แต่พอกลับไปถึงบ้าน อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า กินข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้วกลับบอกว่า ขอเราเล่นโทรศัพท์ คุยกับเพื่อนสัก 10 นาทีแล้วกันค่อยไปอ่านหนังสือ แต่พอนั่งเล่นไปเล่นมาก็เพลิน จนเกินเวลาที่กำหนดเอาไว้ สุดท้ายก็เหลือเวลาในการอ่านหนังสือน้อยลงไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ไม่ได้อ่านหรืออ่านไม่รู้เรื่อง เป็นต้น ดังนั้น คนไหนที่รู้ว่าตนเองเป็นคนติดโซเชียล ต้องใจแข็งไม่เล่น ปิดเน็ตโทรศัพท์ และเอาไปเก็บไว้เลย อย่าเอามาวางใกล้ๆ เวลาที่เราอ่านหนังสือ
.
6. อย่าอ่านหนังสือจนถึงเช้า!!
สำหรับคนไหนที่คิดว่าการอ่านหนังสือจนถึงเช้าวันสอบแล้วจะช่วยทำให้เราจำได้ดีนั้น บอกเลยว่าคิดผิดอย่างมาก!! เพราะนอกจากที่เราจะสอบแบบง่วงๆ แล้ว บางคนยังมีอาการเบลอ เจอข้อสอบแล้วจำอะไรไม่ได้เลยก็มีนะ เขียนไม่ถูก ไม่รู้จะตอบยังไง เชื่อได้เลยว่าพังแน่นอน ดังนั้นควรที่จะนอนให้เต็มอิ่มในคืนก่อนไปสอบจริง


THE STUDY TIMES หวังว่าเคล็ดไม่ลับทั้ง 6 ข้อนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ อ่านหนังสือได้สนุกและจดจำเนื้อหาได้ง่ายขึ้นนะ 


ที่มา https://campus.campusstar.com/variety/51798.html?fbclid=IwAR1ZRziqHFpaQC2MR9z9sBBLaUd_c8M4dP6mD-GOqZRihRvealdyNB51bNo
 

“ดุริยางคศาสตร์” รีวิว คณะนี้เขาเรียนดนตรีอย่างเดียวหรือเปล่า ?

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันวงการเพลงของไทยกำลังเติบโตและมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความนิยมในการเรียนดนตรีในระดับมหาวิทยาลัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในไทยก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญทางด้านดนตรีมากขึ้น จึงได้มีการเปิดการเรียนการสอนคณะ/สาขาวิชาด้านดนตรีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

 

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะ/สาขาวิชาที่เปิดสอน ได้แก่
1.1 สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะคณะครุศาสตร์ สาขานี้จะเรียนเพื่อไปเป็นคุณครู/อาจารย์ โดยแบ่งออกเป็นสาขาดนตรีไทยและสาขาดนตรีสากล ใช้เวลาในการเรียนทั้งหมด 5 ปี และน้อง ๆ ที่สนใจอยากจะเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาดนตรีศึกษาจะต้องผ่านการทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พร้อมทั้งยังจะต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) และผลคะแนนสอบ GAT/PAT5 (วิชาความถนัดเฉพาะวิชาชีพครู) ด้วย
1.2 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ แบ่งออกเป็น สาขาดุริยางคศิลป์ไทยและสาขาดุริยางคศิลป์ตะวันตก และน้อง ๆ ที่สนใจอยากจะเข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาดนตรีศึกษาจะต้องผ่านการทดสอบทั้งภาคทฤษฎี (ประวัติศาสตร์ดนตรี ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับดนตรี) และภาคปฏิบัติ ฯลฯ
.
2. คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 
แบ่งออกเป็น 4 สาขา ได้แก่ สาขาการแสดงดนตรี, สาขาวิชาดนตรีแจ๊ส, สาขาวิชาดนตรีเชิงพาณิชย์, สาขาวิชาดนตรีและธุรกิจบันเทิง โดยการเรียนการสอนของที่นี่จะเน้นการเรียนรู้ที่ให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะในด้านดนตรี
ซึ่งจะเริ่มเรียนตั้งแต่ขั้นพื้นฐานของวิชาทฤษฎีการดนตรี, ประวัติศาสตร์ด้านดนตรี, การฝึกโสตทักษะ, คีย์บอร์ดพื้นฐาน, ทักษะคีย์บอร์ดสำหรับนักเปียโน, การขับร้อง, เครื่องเอก, การรวมวง, ออร์เคสเตรชั่น และการรวมวงแชมเบอร์ ซึ่งในแต่ละชั้นปีก็จะเพิ่มความยากขึ้นเรื่อย ๆ
ข้อดีของการเลือกเรียนที่นี่ คือ มีสาขาที่ไม่จำเป็นที่จะต้องเล่นดนตรีเป็นก็สามารถสมัครเรียนได้ และสามารถสอบเข้าในรอบ Admission ได้อีกด้วย คือ สาขาวิชาดนตรีและธุรกิจบันเทิง ซึ่งจะเป็นการสอนผู้เรียนให้เป็นนักธุรกิจดนตรีที่เข้าใจภาพรวมของวงการดนตรี
ส่วนสาขาวิชาดนตรีเชิงพาณิชย์ จะเน้นการผลิตทีมงานเบื้องหลังและนักดนตรีคุณภาพ ที่สามารถแต่งเพลงได้และอัดเพลงเป็นได้ด้วยตนเอง
.
3. วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล 
ได้มีการแบ่งสาขาที่เปิดสอนออกเป็น 2 สาขาวิชาด้วยกัน ได้แก่
3.1 สาขา Perform เรียนเกี่ยวกับ การปฏิบัติดนตรีคลาสสิก, ดนตรีแจ๊ส, การประพันธ์ดนตรี, ละครเพลง, ดนตรีสมัยนิยม, ดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก
3.2 สาขา Non-Perform เรียนเกี่ยวกับ ธุรกิจดนตรี (เรียนธุรกิจ), ดนตรีศึกษาและการสอน (เรียนเป็นครูดนตรี), เทคโนโลยีดนตรี (เรียนเพื่อเป็น Sound Engineer)
ในปัจจุบันวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดรับสมัครบุคคลเข้าศึกต่อทั้งหมด 4 รอบ และสามารถสอบเพื่อเข้าเรียนในภาคการศึกษาที่ 2 ได้ โดยการสอบจะใช้คะแนนสอบภาคทฤษฎี โสตทักษะ คะแนนสอบภาคปฏิบัติ และคะแนนสอบวิชาเฉพาะสาขา
.
4. วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต 
มีแขนงวิชาที่เปิดสอน ได้แก่ แขนงวิชาการแสดงดนตรี, แขนงวิชาดนตรีแจ๊สศึกษา, แขนงวิชาการแสดงขับร้อง, แขนงวิชาการสอนดนตรี (เรียนเพื่อเป็นครูสอนดนตรี), แขนงวิชาการประพันธ์เพลง (เรียนเพื่อเป็นนักประพันธ์เพลง), แขนงวิชาการผลิตดนตรี (เรียนเพื่อผลิตงานดนตรี/โปรดิวเซอร์), แขนงวิชาดนตรีประกอบภาพยนตร์และมัลติมีเดีย
โดยผู้สมัครสามารถแสดงความจำนงในการเลือกแขนงวิชาเอกได้ตั้งแต่ในขั้นตอนการรับสมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษา แต่นักศึกษาและวิทยาลัยอาจปรับเปลี่ยนแขนงวิชาเอกของนักศึกษาอีกครั้งเมื่อนักศึกษาเรียนไปได้ 2 ภาคการศึกษาแล้ว (จบการศึกษาชั้นปีที่ 1) ซึ่งดูจากผลการเรียนของวิชาบังคับสำหรับการสมัครแขนงวิชาเอกนั้น ๆ
ส่วนระบบการศึกษาจะใช้ระบบการศึกษาแบบทวิภาค โดย 1 ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษาปกติ 1 ภาคการศึกษาปกติจะมีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 15 สัปดาห์ และอาจมีภาคฤดูร้อนอีก 1 ภาคการศึกษา ซึ่งมีระยะการศึกษาไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์
.
5. คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 
มีสาขาวิชาที่เปิดการเรียนการสอน ประกอบด้วย
5.1 สาขาดุริยางคศาสตร์สากล คือ สาขาที่เน้นการปฏิบัติดนตรี มี 3 สาขาย่อย ได้แก่ ดนตรีคลาสสิก, การผลิตงานดนตรีเชิงธุรกิจ และดนตรีแจ๊ส สำหรับการสอบเข้าศึกษาต่อน้อง ๆ จะต้องสอบปฏิบัติ อ่านโน้ต ความเข้าใจในดนตรี และอื่น ๆ
5.2 สาขาดนตรีศึกษา สาขาที่เรียนเพื่อเป็นครูสอนดนตรี น้อง ๆ จะต้องสอบข้อเขียนเกี่ยวกับประวัติดนตรีไทยและดนตรีตะวันตก ทฤษฎีดนตรี ดนตรีศึกษา ความรู้ทั่วไปทางดนตรี ใช้เวลาเรียน 5 ปี 


นอกจากนี้ก็ยังมีมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่เปิดสอนด้านดนตรี ได้แก่ 
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน / คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น / 
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง / คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร / 
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม / คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต /
คณะดนตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ / วิทยาลัยศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยสยาม / 
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร / คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา / 
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา / คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม / คณะครุศาสตร์ และสำนักวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย / คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี / คณะครุศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ / คณะดนตรีและการแสดง, คณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา / 
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 


เรียนจบแล้วทำงานด้านไหนได้บ้าง?
1. นักดนตรี เล่นตามงานจ้างต่าง ๆ หรือเล่นตามร้านอาหาร/นักดนตรี รับจ้างอัดเสียงในอัลบั้มต่าง ๆ
2 .คอนดักเตอร์
3. Sound Engineer ในห้องอัด หรืองานคอนเสิร์ต
4 .รับราชการ ดุริยางค์ทหารเรือ ทหารบก ทหารอากาศ ตำรวจ หรือกรมศิลปากร
5 .นักแต่งเพลง/ประพันธ์เพลง (แต่งเนื้อ แต่งทำนอง หรือเรียบเรียงดนตรี )
6. อาจารย์สอนดนตรีตาม รร.ดนตรี หรือ สมัครเป็นอาจารย์ประจำหรืออาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยรัฐ เอกชน
7 .เปิดห้องซ้อมดนตรี หรือห้องอัดเสียง ให้เช่า ฯลฯ


ที่มา https://campus.campus-star.com/education/82210.html 
 

ไบโพล่าร์ โรคทางอารมณ์ที่ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวเอง

“โรคไบโพล่าร์” (Bipolar Disorder) หรือ “โรคอารมณ์สองขั้ว” คือโรคความผิดปกติทางอารมณ์แบบหนึ่งที่เกิดจากสารเคมีในสมองไม่สมดุล ทำให้ผู้ป่วยเกิดการแสดงออกของอารมณ์ที่ผิดปกติเป็นสองขั้วคือ ซึมเศร้ามาก และคึกคักพุ่งพล่านมาก จึงเรียก "โรคโบโพล่าร์" ว่า “โรคอารมณ์สองขั้ว” ไม่ใช่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวสนุกเดี๋ยวซึม อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ
.
ผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์มักจะไม่รู้ตัวเองในช่วงที่เป็น เพราะอาการของไบโพล่าร์มี 2 ระยะ คือ
1. ระยะพุ่งพล่านหรือที่เรียกว่า มาเนีย (Manic Episode) มีอาการคิดเร็ว ทำเร็ว มั่นใจในตัวเอง นอนน้อย เพราะอยากออกไปทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย อารมณ์พุ่งพล่าน ใช้เงินเยอะ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยและคนรอบข้างเข้าใจว่าเป็นแค่นิสัยไฮเปอร์ ไม่ได้ผิดปกติหรืออะไร และอาจเป็นแบบนี้อยู่นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน
2. อาการกลับตาลปัตรเข้าสู่ระยะซึมเศร้า (Depressive Episode) ทีนี้ล่ะ ผู้ป่วยจะเป็นตรงข้ามกับระยะมาเนียทุกอย่าง คือท้อแท้เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหารหรือกินมากกว่าปกติ รู้สึกตัวเองไร้ค่า สิ้นหวัง อ่อนเพลีย อยากฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง และอาจเป็นอาการซึมเศร้าอยู่นานติดต่อกันเป็นเดือน แล้วจึงกลับไปคึกคักเหมือนช่วงมาเนียอีกครั้ง
.
ดังนั้นเมื่อไหร่ที่สังเกตตัวเอง หรือคนรอบข้างมีอาการแบบนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ก่อนที่อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะในระยะพุ่งพล่านอาจก่อหนี้สินมากมายจากการใช้เงินแบบไม่ยั้ง ลงทุนฟุ่มเฟือย สะเปะสะปะ และหาเรื่องทะเลาะวิวาทกับคนอื่น และในช่วงซึมเศร้าอาจรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตนเองหรือมีความคิดฆ่าตัวตายได้
.
สาเหตุของ "โรคไบโพลาร์"
มีสาเหตุ และปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคนี้ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือมีสารเคมีบางอย่างในสมองผิดปกติไป ซึ่งอาการของโรคไบโพลาร์จะเกิดขึ้นเมื่อมีสารสื่อประสาทนอร์อะดรีนาลีน เซโรโทนิน และโดปามีน ในระดับที่ไม่สมดุลกัน ซึ่งจะทำให้มีอารมณ์ดี อยู่ในภาวะร่าเริงผิดปกติ และจะมีภาวะซึมเศร้า เบื่อหน่าย สลับกันไป นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากพันธุกรรม ผู้ป่วยไบโพลาร์มักมีญาติที่ป่วยเป็นโรคนี้หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางอารมณ์ โดยเฉพาะญาติสายตรง อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ป่วยได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยภายนอกที่กระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจ เช่น ความผิดหวัง ความเสียใจอย่างรุนแรงหรือฉับพลัน การเจ็บป่วยทางร่างกาย เป็นต้น
.
“โรคไบโพล่าร์” รักษาถูกทาง ก็หายได้
เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ การรักษาไบโพล่าร์หลักๆ จึงจำเป็นต้องได้รับยาโดยแพทย์จะให้กินยาเพื่อปรับอารมณ์ให้คงที่ขึ้นอยู่กับชนิดของไบโพล่าร์ที่ผู้ป่วยเป็น แต่สิ่งสำคัญที่ควรทำควบคู่กันเพื่อผลดีในระยะยาวคือการทำจิตบำบัด หรือกิจกรรมบำบัด เพราะจิตแพทย์จะสามารถค้นหาว่าอะไรคือสาเหตุที่ผู้ป่วยเกิดโรคไบโพล่าร์นอกเหนือจากกรรมพันธุ์ และจิตแพทย์ยังสามารถแนะนำวิธีดูแลผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์ให้กับครอบครัวหรือคนใกล้ชิดในการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้
.
และที่สำคัญที่สุดคือการกินยารักษาอย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาเอง หรือลดยาโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้โรครุนแรงกว่าเดิม และต้องเริ่มกระบวนการรักษาใหม่ตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยที่รู้ตัวว่าป่วยควรหันมาดูแลตัวเอง ห้ามอดนอน ควบคุมเวลานอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง พยายามหาวิธีแก้ปัญหา ลดความเครียด และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ ห้ามใช้สารเสพติด สุรา ร่วมด้วย


ที่มา https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/512457 
 

รู้ไหม ? “ผัดไทย” มาจาก “ก๋วยเตี๋ยว”

ผัดไทย หนึ่งในอาหารสุดอะเมซิ่งไทยแลนด์ที่ฝรั่งคนไหนมาก็ต้องลองชิมสักครั้ง ผัดไทย เป็นอาหารจานโปรดของใครหลายคน เช่นเดียวกับที่เราเคยเล่ามา อาหารมีความน่าสนใจอยู่ในตัวเสมอ รู้หรือไม่ว่า ผัดไทย มีที่มาจาก ก๋วยเตี๋ยว
.
ผัดไทย มาจาก ก๋วยเตี๋ยว ? จุดกำเนิดของ ผัดไทย ย้อนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นจีนได้เข้ามาที่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก หนึ่งในเมนูที่ได้รับความนิยมคือ ก๋วยเตี๋ยว ตอนนั้นเอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รณรงค์ให้ประชาชนหันมารับประทาน ก๋วยเตี๋ยว กันมากขึ้น เพื่อลดการบริโภคข้าวภายในประเทศ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากสงคราม
.
“อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยวมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม ทำเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละหนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอ ใช้เงินเก้าแสนบาทนั้นก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกัน ไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยชน์เต็มที่ในค่าของเงิน”
.
นี่คือสิ่งที่จอมพล ป. ได้กล่าวต่อประชาชน ที่อยากให้คนไทยในตอนนั้นหันมากิน ก๋วยเตี๋ยว แต่ตอนนั้นก็ติดอยู่นิดหน่อย ด้วยกระแสชาตินิยม ทุกคนเลยมองว่าก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารจีน เลยนำมาดัดแปลงให้เป็นอาหารไทยซะเลย
ก๋วยเตี๋ยวผัด ได้ถือกำเนิด
.
หลังจากมีแนวคิดจะดัดแปลงให้เป็นอาหารไทยเลยนำก๋วยเตี๋ยวมาผัดแทน ตอนนั้นใช้เส้นจันทบูร ส่วนหมูก็จะไม่ใส่เพราะกลัวถูกมองเป็นผัดซีอิ๊วซึ่งจะทำให้เหมือนอาหารจีนมากเกินไป เลยใส่กุ้งแห้ง ตามด้วยเต้าหู้เหลือง มะนาว ใบกระเทียม หัวปลี ถั่วงอก ทั้งหมดเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในประเทศไทย ทั้งหมดรวมกันและถูกตั้งชื่อว่า ก๋วยเตี๋ยวผัด ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย พอกาลเวลาผ่านไปเลยเหลือแค่ ผัดไทย
.
ผัดไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก !!! หลังผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน ผัดไทย ได้กลายเป็นอีกหนึ่งอาหารประจำชาติไทยที่ได้รับความนิยมและยอมรับไปทั่วโลก ไม่ต่างกับ ต้มยำกุ้งในแต่ละจังหวัดของประเทศไทย ผัดไทย จะมีวิธีปรุงและส่วนผสมที่แตกต่างกันออกไป ผัดกับกะทิบ้าง ปรุงด้วยน้ำพริกบ้าง ทานคู่กับมะม่วงบ้าง แล้วแต่พื้นที่


ที่มา https://www.sanook.com/campus/1408856/ 
 

10 สาขาคณะนิเทศ ฯ รีวิวครบจบทุกสาขา

วันนี้ขอนำเสนอ สาขาน่าเรียนของคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งถือเป็นอีกคณะที่น้องๆ ให้ความสนใจไม่เป็นสองรองคณะไหนเลย เอาล่ะ สำหรับน้องคนไหนที่สนใจและกำลังตัดสินใจว่าอยากจะเรียนต่อในคณะนิเทศศาสตร์ อย่ารอช้า รีบตามมาดูไว้เป็นแนวทางกันได้เลย
.
1. สาขาศิลปะการแสดง
สาขาที่น้องๆ หลายคนสนใจอยากเรียน ส่วนหนึ่งเพราะเชื่อว่าหากเรียนสาขานี้ มีโอกาสที่จะได้เข้าสู่วงการบันเทิงไม่ว่าจะเป็นเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง สาขานี้จะสร้างให้นักศึกษาเข้าใจและก้าวไปสู่ความเป็นหนึ่งในวงการภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขานี้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นต้น

2. สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ 
แค่ชื่อก็น่าเรียนแล้วใช่ไหม เรียกว่าสาขานี้เป็นสาขายอดนิยมสำหรับน้องๆ ที่อยากทำงานเบื้องหลังในสายการสื่อสารมวลชนทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ น้องๆ ที่เรียนจบสาขานี้ สามารถทำงานได้หลายด้านหรือแทบจะทุกด้านก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น นักจัดรายการวิทยุ (DJ), ช่างตัดต่อเสียง, ช่างตัดต่อภาพ, นักเขียนบทรายการ, โปรดิวเซอร์ หรืออาชีพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมบันเทิง ตลอดจนธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารมวลชน  มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขานี้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย เป็นต้น  
.
3. สาขาภาพยนตร์/เทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์
อีกสาขาที่โดดเด่นและน่าสนใจ ทุกคนที่อยากเรียนคณะนิเทศศาสตร์จะต้องรู้จัก นั่นคือ สาขาภาพยนตร์ จะเน้นการสอนในด้านการผลิตภาพยนตร์ พื้นฐานของการผลิตสื่อที่ให้ทั้งเสียงและภาพ โดยน้องๆ ที่จบสาขานี้สามารถทำงานได้หลายตำแหน่ง เช่น ผู้กำกับภาพยนตร์, ผู้กำกับศิลป์, ผู้กำกับภาพ, ผู้ผลิตรายการ, นักเขียนบท, ผู้ควบคุมการผลิต, ผู้จัดการกองถ่าย, ผู้อำนวยการสร้าง, อาจารย์ด้านภาพยนตร์, นักเขียน, นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และอาชีพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมบันเทิง ตลอดจนธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารมวลชนและการตลาด  มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขานี้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เป็นต้น  
.
4. สาขาประชาสัมพันธ์ 
สาขานี้จะเน้นไปในเรื่องของงานบริการ การวางแผนและจัดกิจกรรม เหมาะสำหรับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีทัศนคติที่ดีต่องานบริการ น้องๆ จะได้เรียนรู้เรื่องการวางแผนสื่อสาร หลักการจูงใจ การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย การผลิตและการใช้สื่อทุกรูปแบบ และสาขาการประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันนี้ ถือว่ามีความสำคัญมากในการทำธุรกิจ เพราะไม่ว่าจะองค์กรเล็กใหญ่แค่ไหน ก็จะต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดประสิทธิผลสูงสุด มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขานี้  เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยนเรศวร สถาบันราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นต้น  
.
5. สาขาการโฆษณา 
เรียนเกี่ยวกับการวางแผนเชิงกลยุทธ์ การสื่อสาร การตลาด การสร้างสรรค์งานโฆษณา การวางแผนการซื้อสื่อโฆษณา ตลอดจนการประเมินผล สำหรับอาชีพที่น่าสนใจถ้าน้องๆ เรียนจบแล้ว ได้แก่ นักสร้างสรรค์โฆษณา, ผู้กํากับศิลป์, ผู้เขียนบท, ผู้บริหารงานลูกค้า, ผู้วางแผนกลยุทธ์, ผู้วางแผนสื่อโฆษณา และผู้ขายสื่อโฆษณา หรืออาชีพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมบันเทิง ตลอดจนธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารมวลชน เป็นต้น มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขานี้  เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยหอการค้า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย เป็นต้น  
.
6. สาขาวารสารศาสตร์/วารสารสนเทศ/วารสารศาสตร์ดิจิทัล
เรียนเกี่ยวกับการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลจากบุคคลและสิ่งพิมพ์ต่างๆ จากนั้นนำข้อมูลมาประเมินคุณค่าเพื่อนำเสนอต่อผู้อ่านอย่างมีสาระและสร้างสรรค์ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาขานี้ ได้แก่ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์/วิทยุโทรทัศน์, ผู้ประกาศข่าว, บรรณาธิการ, นักเขียน, พิสูจน์อักษร, ช่างภาพ, กราฟิกดีไซเนอร์, สไตลิสต์, เจ้าหน้าที่ตัดต่อ, นักพากย์กีฬา, ผู้สื่อข่าวกีฬา, บล็อกเกอร์, นักรีวิวสินค้า, สถานที่ท่องเที่ยวหรืออาหาร หรืออาชีพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมบันเทิง ตลอดจนธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขานี้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นต้น  ดูรายละเอียดสาขานี้เพิ่มเติมที่
.
7. สาขาสื่อดิจิทัล/นิเทศศาสตร์ดิจิทัล
เรียนรู้การสร้างสรรค์งานด้าน 3D Animation, Visual Effects เรียนรู้ทักษะการสร้างแอนิเมชันและภาพยนตร์ ตลอดจนการบริหารจัดการการผลิตสื่อดิจิทัล การถ่ายภาพเพื่อใช้ในงานเชิงพาณิชย์หรือผลงานศิลปะ รวมถึงการใช้เครื่องมืออุปกรณ์เพื่อสร้างสรรค์เสียงและดนตรีในสื่อดิจิทัล รวมทั้งการเป็นผู้ประกอบการ อาชีพที่สามารถทำด้ เช่น Producer, Film Director, Production Crew, Web and Interactive Designer หรืออาชีพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมบันเทิง ตลอดจนธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารมวลชนและการตลาด เป็นต้น มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขานี้ เช่น สถาบันราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นต้น  
.
8. สาขาสื่อสารมวลชน 
เรียนเกี่ยวกับภาพรวมของนิเทศ ไม่ได้เจาะไปด้านใดด้านหนึ่ง สำหรับสิ่งที่แตกต่างจากคณะนิเทศศาสตร์ ก็คือพวกวิชาพื้นฐาน ที่เป็นพื้นฐานของคณะมนุษย์ศาสตร์ เช่น ประวัติศาสตร์ชาติไทย ปรัชญาและศาสนา ส่วนวิชาของสื่อสารมวลชลที่ต้องเรียน เช่น  การประชาสัมพันธ์ การโฆษณา การเขียนข่าว เขียนบทโฆษณา การตลาด อาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาขานี้ ได้แก่ นักข่าว นักจัดรายการ กองบรรณาธิการ คนเขียนสคริป นักประชาสัมพันธ์ บรรณาธิการ นักเขียน พิสูจน์อักษร ช่างภาพ หรืออาชีพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมบันเทิง มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขานี้  เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร สถาบันราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยปทุมธานี มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นต้น  
.
9. สาขาการสื่อสารการตลาด/การตลาดดิจิทัล
การสื่อสารการตลาดเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ช่วยสร้างคุณค่าต่อองค์กร เช่น การสร้างแบรนด์ การเพิ่มยอดขายและผลกำไรให้กับองค์กรต่างๆ งานด้านสื่อสารการตลาดจึงจำเป็นต้องมีบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถด้านการคิดสร้างสรรค์ การวางแผนกลยุทธ์ทางการสื่อสารการตลาด อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเรียนสาขานี้ ได้แก่ นักการตลาด นักสื่อสารการตลาด นักโฆษณา นักประชาสัมพันธ์ ทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน ตลอดจนธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารมวลชนและการตลาด มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขานี้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นต้น 
.
10. สาขาการสร้างสรรค์และออกแบบสื่อ/การออกแบบสื่อสารออนไลน์
สาขานี้คือการรวมศาสตร์ที่สำคัญเอาไว้ 3 อย่างคือ การสื่อสาร การออกแบบ และการตลาด เป็นการเรียนเพื่อนำศาสตร์ทั้งหมดผสมผสานประยุกต์ออกแบบให้เป็นงานที่สื่อสารกับสังคมอย่างสร้างสรรค์ สามารถออกแบบการสื่อสารได้กับทุกรูปแบบการนำเสนอ ที่มีความรู้ความชำนาญรอบด้าน และสามารถทำงานเบ็ดเสร็จได้ทุกตำแหน่งในคนคนเดียว มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขานี้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยหอการค้า มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นต้น 


ที่มา https://www.admissionpremium.com/commarts/news/1909 
 

รีวิว “คณะนิติศาสตร์” คณะที่ว่าด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

นิติศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สามารถแบ่งออกเป็นหลายแขนงได้ตามแง่มุมที่ศึกษา เช่น วิชานิติศาสตร์โดยแท้ (legal science proper), นิติศาสตร์ทางข้อเท็จจริง (legal science of facts) และ นิติศาสตร์เชิงคุณค่า (legal science of values)
.
นิติศาสตร์ (Jurisprudence) คำดังกล่าวในภาษาอังกฤษ เป็นคำเก่าที่ใช้ตั้งแต่สมัยโรมัน โดยมาจากภาษาละตินว่า jurisprudentium มีรากศัพท์จาก "juris" แปลว่า กฎหมาย และ "prudentium" แปลว่า ความฉลาด ซึ่งรวมแล้วแปลว่า "ความรู้กฎหมายหรือวิชากฎหมาย" โดยในประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียน จะกล่าวไว้ในมูลบทนิติศาสตร์ฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วว่า "jurisprudence is the knowledge of things devine and human; the science of the just and the unjust"
.
การเรียนการสอนนิติศาสตร์ในประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2440 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้ทรงก่อตั้ง "โรงเรียนกฎหมาย" ขึ้นในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเปิดการเรียนการสอนโดยคณาจารย์ส่วนใหญ่เป็นตุลาการ ต่อมาได้มีการยุบโรงเรียนกฎหมายไปจัดตั้งเป็น "คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์" ขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2476 หลังจากนั้นเพียง 8 เดือน นักเรียนโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมเดิม ไม่พอใจที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือน (ปัจจุบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย แต่โรงเรียนกฎหมายไม่ได้ยกฐานะ ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงรับปากว่าจะช่วย


ในที่สุดจึงมีการออก "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" ให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปสังกัดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งปัจจุบัน คือ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงอาจกล่าวได้ว่าการโอนโรงเรียนกฎหมายไปสังกัดคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการโอนไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น ทำให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคณะนิติศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย อันสืบทอดโดยตรงจากโรงเรียนกฎหมายเดิม
.
นิติศาสตร์ เรียนอะไรบ้าง?
เรียนเกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย ทำความเข้าใจข้อบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ศึกษาเกี่ยวกับ กฎเกณฑ์ ความประพฤติ ของบุคคลที่อยู่ร่วมกันในสังคม โดยกำหนดออกมาเป็น กฎหมาย เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกัน อย่างมีระเบียบและมีความสุข
.
ปี 1 เรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป
เรียนเหมือนกันทุกสาขา เช่น จิตวิทยา ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ในด้านภาษาและการสื่อสาร เน้นการ ฟัง พูด อ่าน เขียน และเริ่มเรียนความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับกฎหมายและระบบกฎหมาย
.
ปี 2 เริ่มเรียนวิชาบังคับ
ปีนี้จะเริ่มเรียนกฎหมายในลักษณะหนี้ กฎหมายลักษณะละเมิด เช่นซื้อขาย เช่า จำนอง จำนำ กู้ยืม ฯลฯ เรียนกฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายมหาชนเบื้องต้น และเรียนวิชาเลือกที่เกี่ยวกับกฎหมาย เช่นการใช้ศัพท์และสำนวนกฎหมายภาษาอังกฤษ


ปี 3 เรียนในด้านกฎหมายเข้มข้นขึ้น
เรียนเกี่ยวกับกฎหมายปกครอง กฎหมายลักษณะครอบครัว กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กฎหมายภาษีและวิชาเลือก
.
ปี 4 เรียนในเชิงลึกขึ้น
ปีสุดท้ายที่เรียนก็จะมีเรียนกฎหมายนิติปรัชญา เช่นแนวความคิดปรัชญาทางกฎหมาย ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และเรียนหลักวิชาชีพนักกฎหมาย กฎหมายแรงงาน หลักวิชาชีพนักกฎหมาย กฎหมายการคลัง การภาษีอากร และวิชาเลือกทางกฎหมายที่คณะกำหนด


คณะนิติศาสตร์ จบมาทำงานอะไร?
ผู้พิพากษา/ตุลาการ
พนักงานอัยการ
ทนายความ
ผู้สอนในสถานศึกษา
ที่ปรึกษากฎหมาย/นิติกร
ประกอบธุรกิจ/อาชีพอิสระ
รับราชการ


ที่มา https://www.sanook.com/campus/1401628/ 
 

ส่อง 10 อันดับคณะ ที่เด็กรุ่นใหม่เลือกเข้าเรียนมากที่สุด ประจำปีการศึกษา 2564

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ประกาศผลคะแนน GAT (การทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป) และ PAT (การทดสอบวิชาความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ) ปี 2565 เป็นที่เรียบร้อย และวันที่ 20 เมษายน 2565 จะมีการประกาศผลวิชาสามัญ ผ่านเว็บไซต์ student.mytcas.com และระหว่างวันที่ 21-28 เมษายน 2565 จะเปิดให้ขอทบทวนผลคะแนน GAT PAT และวิชาสามัญ กรณีได้คะแนนน้อยหรือสงสัยว่าอาจเกิดข้อผิดพลาดในการประมวลผล
.
ซึ่งคะแนน GAT PAT และวิชาสามัญ จะนำมาใช้ รอบ 3 Admission รับสมัครวันที่ 2-10 พฤษภาคม 2565 ประกาศผลสอบในระบบรอบที่ 1 วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 และรอบที่ 2 วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ยืนยันสิทธิในระบบ 18-19 พฤษภาคม 2565
.
ซึ่งเราจะชวนทุกคนย้อนดู 10 อันดับคณะที่เด็กรุ่นใหม่เลือกเข้าเรียนต่อมากที่สุดในปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา โดยอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีดังต่อไปนี้
.
อันดับที่ 1 : คณะสหเวชศาสตร์ หลักสูตร วท.บ.เทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจำนวนคนสมัคร 3,342 คน (ระบบ Admission 2)
.
อันดับที่ 2 : คณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (พย.บ.) ภาคปกติ มหาวิทยาลัยบูรพา มีจำนวนคนสมัคร 3,103 คน (ระบบ Admission 1)
.
อันดับที่ 3 : คณะอักษรศาสตร์ หลักสูตร อ.บ. มหาวิทยาลัยศิลปากร มีจำนวนคนสมัคร 3,012 คน (ระบบ Admission 2)
.
อันดับที่ 4 : คณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยนเรศวร มีจำนวนคนสมัคร 2,991 คน (ระบบ Admission 1)
.
อันดับที่ 5 : คณะวิทยาศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล มีจำนวนคนสมัคร 2,526 คน (ระบบ Admission 2)
.
อันดับที่ 6 : คณะนิติศาสตร์ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจำนวนคนสมัคร 2,428 คน (ระบบ Admission 1)
.
อันดับที่ 7 : คณะเภสัชศาสตร์ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจำนวนคนสมัคร 2,426 คน (ระบบ Admission 2)
.
อันดับที่ 8 :คณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (พย.บ.) ภาคปกติ มหาวิทยาลัยบูรพา มีจำนวนคนสมัคร 2,286 คน (ระบบ Admission 2)
.
อันดับที่ 9 : สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา มีจำนวนคนสมัคร 2,249 คน (ระบบ Admission 1)
.
อันดับที่ 10 : คณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยพะเยา มีจำนวนคนสมัคร 2,149 คน (ระบบ Admission 1)


ที่มา https://www.prachachat.net/education/news-912943 
 

“แป๊ะเจี๊ยะ” โรงเรียน คืออะไร ? จำเป็นต้องจ่ายไหม ?

ธรรมเนียมในการจ่ายค่า “แป๊ะเจี๊ยะ” ของโรงเรียนอยู่คู่กับสังคมไทยมานานแล้ว เราเคยได้ยินกระแสข่าวอยู่พักหนึ่งแล้วก็หายเงียบไปตามระเบียบ แม้ว่าโรงเรียนในไทยจะมีอยู่มากมาย แต่เมื่อผู้ปกครองที่มีกำลังทรัพย์ก็มักจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกเสมอ สิ่งนี้ทำให้โรงเรียนที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดมีคนแห่มาสมัครกันจนเต็มโควตา แทนที่หลายโรงเรียนจะใช้วิธีการสอบเพื่อคัดเลือกเป็นเกณฑ์หลักในการรับนักเรียน แต่มีอีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันมากที่สุดก็คือ “แป๊ะเจี๊ยะ” นั่นเอง เป็นวิธีที่ง่าย สะดวกรวดเร็ว ขอแค่ผู้ปกครองมีเงินถึง
.
แล้วคำถามที่ว่าเราจำเป็นต้องจ่ายไหมคำตอบก็คือ “แล้วแต่คุณ” แต่โอกาสที่เด็กจะได้เข้าเรียนนั้นมีต่ำมากๆ จะเอาอะไรไปเทียบกับคนที่จ่ายเงิน ไม่ว่าจะเรียนเก่งแค่ไหนถ้าเกิดเด็กเส้นเต็มแล้ว ทำยังไงก็คงไม่ผ่านเข้าไปเรียนได้ ผู้ปกครองบางคนดูเหมือนว่าจะยินดีที่จะจ่ายเพื่อให้ลูกเข้าไปเรียน ในขณะที่บางคนมีฐานะยากจนแต่อยากให้ลูกเรียนดี ก็ต้องลำบากหาเงินมาจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะตามไปด้วย เพราะกลัวจะสู้คนอื่นไม่ได้
.
การจ่ายแป๊ะเจี๊ยะสร้างปัญหาตามมาหลายอย่าง อาทิ 
1. เกิดความไม่เท่าเทียมกับของสังคม ยกตัวอย่างเด็กที่เรียนดีเรียนเก่ง แต่ไม่เข้าเรียนได้เพราะถูกเบียดเบียนจากบรรดาพ่อแม่ที่ร่ำรวย ให้เป็นแป๊ะเจี๊ยะเพื่อฝากลูกเข้าเรียน
2. ส่งเสริมความทุจริต สนับสนุนให้วงจรดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด
3. ไม่สามารถตรวจสอบเงินได้ว่าเอาไปทำอะไร ใครได้เงินไป ผู้ปกครองมีแนวโน้มที่จะจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่มีเกณฑ์ในการจ่ายเงิน ใช้ความรู้สึกเอาว่าเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ส่วนใหญ่มักจะให้เยอะเอาไว้ก่อน ในขณะที่คนอื่นอาจให้เงินน้อยกว่านี้
.
มีแนวทางใดในการแก้ไขปัญหานี้ได้บ้าง ? 
เรารู้ว่าบางโรงเรียนมีความจำเป็นต้องรับภาระที่เกินตัว ในขณะที่หลายแห่งได้เงินแป๊ะเจี๊ยะจนเคยตัวจนไม่เป็นอันทำอะไร มีค่าใช้จ่ายก็มาอ้างเพื่อขอรับบริจาคไปเรื่อย เมื่อเป็นแบบนี้แล้วถ้าบริสุทธิ์ใจและต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพการเรียนให้ดีขึ้น ทำไม ? ไม่เปิดกองทุนรับบริจาคให้ถูกต้องไปเลย เชื่อว่ามีผู้ปกครองยอมจ่าย หากรู้ว่าเงินที่บริจาคให้นำไปใช้ทำประโยชน์อะไร ถูกต้องหรือไม่ วิธีการแบบนี้ไม่ได้เป็นการบังคับ ไม่ได้กำหนดว่าต้องบริจาคเท่าไหร่ สามารถนำไปตรวจสอบได้ แต่เชื่อเถอะว่าจะมีบรรดาผู้ปกครองแห่กันมาบริจาค เพราะอยากมีชื่อเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของสังคม ถ้าเมื่อไหร่ที่หันมาใช้วิธีนี้ได้ ไม่นานธรรมเนียมจ่ายเงินใต้โต๊ะก็จะหมดไปในไม่ช้า 
.
แล้วคุณล่ะ มองเรื่องค่าแป๊ะเจี๊ยะกันยังไง ? 


ที่มา https://bchomeschool.net/ 
 

เคล็ดลับสร้าง 7 ลักษณะนิสัย ที่ช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จ ซึ่งสามารถฝึกได้ในครอบครัว

ดร. มิชเชล บอร์บา นักจิตวิทยาการศึกษาชื่อดังในสหรัฐอเมริกา เคยตั้งข้อสังเกตทำไมเด็กบางคนถึงมีความมุ่งมั่นที่จะไขว่คว้าความสำเร็จกว่าเด็กคนอื่นๆ แม้จะมีสภาพแวดล้อม พื้นฐานครอบครัว หรือพบเจอปัญหาคล้ายๆกัน
.
และหลังจากที่ได้ศึกษาข้อมูลงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับความสามารถในการสร้างความมุ่งมั่นของเด็ก ดร. มิชเชล บอร์บา ได้สรุปถึง 7 ลักษณะนิสัยที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในจิตใจ ทักษะทางสังคม ความยืดหยุ่น และคุณธรรมที่ดีให้กับเด็ก และที่สำคัญก็คือ ผู้ปกครองสามารถฝึกลูกๆได้เองที่บ้านอีกด้วย


1. ความเชื่อมั่นในตัวเอง
ผู้ปกครองส่วนใหญ่เชื่อว่า การให้ลูกนับถือตัวเองสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่ว่า การสร้างความเชื่อมั่นนั้นไม่สามารถทำได้เพียงการพร่ำบอกเด็กว่า "ลูกเป็นคนพิเศษ" "ลูกทำได้ทุกอย่าง" แต่เป็นการไว้ใจให้ลูกจัดการกับสิ่งต่างๆในชีวิตด้วยตนเอง แทนที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือทุกอย่าง ดังนั้นควรปล่อยให้เด็กได้เผชิญหน้า แก้ปัญหาด้วยตัวเอง แม้จะต้องเจอความล้มเหลวบ้าง แต่สิ่งเหล่านี้จะสร้างให้เด็กมีความนับถือตนเอง เชื่อมั่นว่าตนทำได้ จัดการปัญหาของตัวเองได้
.
2. การเอาใจเขามาใส่ใจเรา
ความสามารถในการเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจคนรอบข้าง จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางสังคมที่ดี รู้จักสังเกตและเข้าใจผู้อื่น โดยผู้ปกครองสามารถฝึกให้ลูกๆเรียนรู้ได้ด้วยการอธิบายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดอย่างชัดเจน เช่น "วันนี้ดูลูกมีความสุข" "โกรธเรื่องอะไรมา?" "เป็นอะไรถึงทำหน้าเศร้า?"  และให้ตั้งคำถามว่าทำไมจึงรู้สึกเช่นนั้น การแชร์ความรู้สึกของกันและกันในครอบครัว และการให้ชี้เด็กสังเกตอารมณ์ ความรู้สึกของคนอื่นๆ จะช่วยให้เด็กเป็นคนเอาใจเขามาใส่ใจเราเมื่อโตขึ้นได้ 
.
3. รู้จักควบคุมตนเอง
หนึ่งในความสามารถที่สำคัญมากที่ช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิต ก็คือการรู้จักที่จะควบคุมอารมณ์ และการแสดงออกของตนเองได้อย่างเหมาะสม คิดไตร่ตรองก่อนทำ ซึ่งจำเป็นต้องฝึกให้เด็กเรียนรู้ที่จะหยุด มีสติ คิดทบทวนเมื่อเจอปัญหาก่อนที่จะตอบโต้ เช่น การให้เด็กค่อยๆนับ 1 -10 ในใจเมื่อรู้สึกโกรธ การชื่นชมเมื่อเด็กรู้จักห้ามใจตนเองได้ เป็นสิ่งที่จะสนับสนุนทักษะการรวบคุมตัวเองของเด็ก
.
4. คุณธรรม
คุณธรรมนั้นเปรียบเหมือนรูปแบบของความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม คุณค่าประจำตนที่จะเป็นเข็มทิศในการใช้ชีวิตอย่างถูกครรลองในวันข้างหน้า แต่ทั้งนี้พ่อ แม่ก็ไม่ควรที่จะสอนสิ่งเหล่านี้ด้วยการเอาความคาดหวังของตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่ควรให้เด็กได้ทำความเข้าใจถึงเหตุผลที่การทำความดีที่จะเป็นที่ยอมรับ และชื่นชมจากผู้อื่น ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้หลักเหตุผลในการอธิบายให้เด็กเข้าใจ อาทิ ได้รับคำชมเชยเพราะสามารถตื่นเช้าได้เองตามที่สัญญา  เป็นที่ชื่นชมของเพื่อนๆเพราะมีน้ำใจ รู้จักแบ่งปันของเล่นให้เพื่อนๆ เป็นต้น
.
5. ความสนใจใคร่รู้
ความสนใจใครรู้ เป็นเหมือนแรงกระตุ้นให้เด็กแสวงหาคำตอบ มีแรงจูงใจในการไปให้ถึงเป้าหมายแม้จะมีคำถาม หรืออุปสรรคที่ยากแค่ไหนก็ตาม ซึ่งทักษะนี้สามารถพัฒนาได้ด้วยการใช้ของเล่นที่ต้องใช้จินตนาการ ตัวต่อปริศนา ภาพวาดระบายสี นิทานปลายเปิด ของเล่นที่ไม่มีคำตอบที่ตายตัวจะช่วยเสริมสร้างจินตนาการ และความอยากรู้ของเด็กในการแสวงหาคำตอบในแบบของตัวเองได้
.
6. ความมุมานะ 
แม้ว่าทุกๆความสำเร็จไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยง่าย และก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเช่นกันที่หลายคนล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำสิ่งใดให้สำเร็จก่อนบรรลุเป้าหมายเพียงเพราะขาดความมุมานะ แต่สิ่งที่ผู้ปกครองควรระวัง คือการโยนบทเรียนที่ยากเกินกว่าความสามารถของเด็ก จนทำให้เขาขาดความมั่นใจ และล้มเลิกความพยายามเมื่อเจออุปสรรคที่ยาก 
.
ดังนั้นจึงควรย่อยโจทย์เป็นชิ้นเล็กๆ เรียงลำดับความยากง่ายให้เหมาะสมกับวัย เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าพวกเขามีพัฒนาการ จนสามารถผ่านด่านที่ยากที่สุดได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยฝึกความมุมานะแล้ว ยังฝึกให้เด็กได้รู้จักจัดเรียงความสำคัญ ตีโจทย์แตกเมื่อเจอปัญหาใหญ่ๆได้ในอนาคต

7. การคิดบวก
ผู้เชี่ยวชาญเน้นหนักว่า กรอบความคิดของเด็กที่มีพื้นฐานคิดบวก กับคิดลบนั้น แตกต่างกันมาก  โดยเด็กที่คิดบวกจะมองปัญหาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานแล้วจะผ่านไป เป็นสิ่งที่สามารถก้าวผ่านได้เสมอ แต่ในทางตรงกันข้าม เด็กที่คิดลบจะมองว่ามีปัญหาเกิดขึ้นตลอดเวลาในชีวิตเขา เป็นเรื่องยุ่งยากที่ปิดกั้นพวกเขาจากความสำเร็จเสมอ
.
แต่การสร้างทัศนคติคิดบวก เริ่มต้นจากที่บ้าน ซึ่งเด็กส่วนใหญ่มักเรียนรู้ และพัฒนากรอบความคิดของตนจากการฟังคำพูดของผู้ใหญ่ ที่มีส่วนกำหนดค่านิยมคิดบวก และลบให้กับเด็กๆ เช่นเมื่อพูดถึงการทำงาน การใช้คำพูดระหว่าง ทำงานเสร็จไป"แค่ครึ่งเดียว" กับ ทำงานเสร็จไปแล้ว "ตั้งครึ่งทาง" ให้ความรู้สึกในเชิงบวก และลบที่ต่างกัน ซึ่งเด็กๆก็จะรู้สึกได้เช่นกัน 


ดังนั้นการสร้างลูกที่คิดบวก พ่อและแม่จำเป็นต้องแสดงตัวอย่างของแนวคิดเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ให้ลูกๆได้เห็นในครอบครัวจะเห็นผลดีที่สุด
.
ดร. มิชเชล บอร์บาได้สรุปว่า 7 ลักษณะนิสัยเหล่านี้  มิใช่พรสวรรค์ที่มีแต่กำเนิด แต่สามารถสร้างในครอบครัว ที่นอกจากจะสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรัก และความปลอดภัยแล้ว ผู้ปกครองควรไว้ใจ ให้พื้นที่ในการ พัฒนาด้านร่างกายและจิตใจด้วยตนเอง ให้เด็กเติบโตเป็นคนที่มีจิตใจมุ่งมั่น เข้มแข็ง มีคุณธรรม ไม่ย่อท้ออุปสรรคได้อย่างแน่นอน


อ้างอิง
CNBC News
“Thrivers: The Surprising Reasons Why Some Kids Struggle and Others Shine” - Michele Borba Ed. D.
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top