Monday, 4 December 2023
TRENDING

รีวิว”คณะมนุษยศาสตร์” คณะยอดฮิตของเด็กสายศิลป์

คณะมนุษยศาสตร์ คือหนึ่งในคณะยอดฮิตของน้องๆ มาดูกันสิว่า 4 ปี คณะนี้เขาเรียนอะไรบ้าง แล้วถ้าจบมาจะสามารถทำงานอะไรได้บ้างลองไปอ่านรีวิวกัน
.
•    คณะมนุษยศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับอะไร?
เรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการของมนุษย์ การปรับตัวของมนุษย์ รวมถึงวัฒนธรรมด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับภาษาและมนุษย์ สาขาที่เรียนก็มีความหลากหลาย เช่น ด้านภาษา ด้านสังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ครอบครัว การเมือง โบราณคดี
.
•    ปี 1 เรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป 
เรียนเหมือนกันทุกสาขา เช่น จิตวิทยา ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ในด้านภาษาและการสื่อสาร เน้นการ ฟัง พูด อ่าน เขียน
.
•    ปี 2  เริ่มเรียนในหมวดวิชาเฉพาะ 
เข้าสู่วิชาด้านมนุษยศาสตร์ เช่น วิชาวรรณคดี การเขียนเรียงความ ภาษาอังกฤษเพื่อการพูดนำเสนอและเรียนวิชาเอกของสาขาที่ได้เลือกไว้ เช่นเรียนมนุษยศาสตร์สาขาภาษาอังกฤษ ก็จะเน้นเรียนเกี่ยวกับภาษาอังกฤษมากขึ้น 
.
•    ปี 3 เรียนลึกลงไปเกี่ยวกับภาษาศาสตร์
ยกตัวอย่างมนุษยศาสตร์สาขาอังกฤษ เน้นศึกษาทักษะการเขียนเชิงวิชาการระบบไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ รวมถึงวิชาวรรณคดีเพิ่มเติม ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง บทละคร
.
•    ปี 4 เรียนวิชาการวิจัยและกระบวนวิชาเลือก
เทอมแรกจะได้เรียนวิชาวิจัย และกระบวนวิชาเลือกตามความถนัดและความสนใจในด้านทักษะการสื่อสาร ภาษาศาสตร์ วรรณคดี เทอมสอง ทำวิจัย ค้นคว้า นำเสนอผลงาน
.
•    เรียนมนุษยศาสตร์ จบมาทำงานอะไรได้บ้าง?
สามารถทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาและความเข้าใจด้านวัฒนธรรมได้หลากหลายประเภทดังนี้
1. สายวิชาการ เช่น ครู อาจารย์ ผู้ช่วยวิจัย
2. สายบริการ เช่น มัคคุเทศก์ เลขานุการ แอร์โฮสเตส พนักงานต้อนรับ
3. สายงานธุรกิจ เช่น ผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้แทนฝ่ายขาย ผู้จัดการฝ่ายขาย เจ้าหน้าที่การศึกษา เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน พนักงานฝ่ายต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ฝึกอบรม เจ้าหน้าที่แปลเอกสาร เจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษร เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ


ที่มา https://www.admissionpremium.com/content/5633?fbclid=IwAR0XlfIsaU7c6zyY6cyIWXYR69nAkjU_-W371uoTIOtxw5iWHNXu0X_c1Ro 
 

Coachella เทศกาลดนตรีและศิลปะระดับโลก ที่ ‘MILLI’ เป็นศิลปินไทยคนแรกบนเวทีนี้

เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับ ‘MILLI - ดนุภา คณาธีรกุล’ แรปเปอร์สาวน้อยสุดมหัศจรรย์ ที่เริ่มต้นจากการประกวดร้องเพลงในรายการ The Rapper ก่อนที่จะเข้าไปอยู่ภายใต้สังกัด YUPP และมีเพลงฮิตเช่น พักก่อน สุดปัง และเพื่อนเล่น ไม่เล่นเพื่อน ที่เธอได้รับเชิญ ft. กับวง Tilly Birds
.
และความเก่งของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับสากลจากการที่ชาวต่างชาติมีการทำ Reaction คลิปการร้องเพลงของเธอ ที่เรียกได้ว่าแต่ละคนนั้นทึ่งในความสามารถของเด็กไทยคนนี้
.
ก่อนหน้านี้คนไทยหลายคนเพิ่งรู้จัก Coachella เพราะวง ‘Blackpink’ เกิร์ลกรุ๊ปไอดอลชื่อดังจากเกาหลีใต้ ที่มีสมาชิกชาวไทยอย่าง ‘ลิซ่า ลลิษา มโนบาล’ ก็ได้ไปโชว์ที่งานนี้เมื่อปี 2019
.
แต่ปีนี้ MILL นับว่าเป็นศิลปินไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ไปขึ้นโชว์ โดยมีทางค่ายเพลง 88rising ซึ่งเป็นค่ายเพลงในนิวยอร์กที่ผลักดันศิลปินเอเชียให้แจ้งเกิดในสหรัฐฯ และเธอก็เรียกซีน เรียกเสียงตอบรับ และสร้างความสนุกให้กับผู้ชมนับหมื่นคนได้ไม่แพ้ศิลปินระดับโลกคนอื่นๆ


เทศกาลดนตรีและศิลปะหุบเขาโคเชลา (Coachella Valley Music and Arts Festival) หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ติดปากว่า Coachella หนึ่งในงานเทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก เหมือนกันกับ Wonderfruit , Glastonbury , Tomorrowland และอื่น ๆ อีกมากมาย ได้กลับมาจัดอีกครั้งหลังจากที่ถูกยกเลิกไป 2 ปี (2020 และ 2021) ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
.
งาน Coachella เป็นเทศกาลดนตรีและศิลปะประจำปีที่จัดขึ้น ณ เอ็มไพร์โปโลคลับ (Empire Polo Club) ในหุบเขาโคเชลา ทะเลทรายโคโลราโด (Colorado Desert) ในเมืองอินดิโอ (Indio) รัฐแคลิฟอร์เนีย (California) ก่อตั้งโดย พอล โทลเลทท์ (Paul Tollett) และ ริค แวน แซนเทน (Rick Van Santen) ตั้งแต่ปี 1999 และถูกจัดโดยโกลเดนวอยซ์ (Goldenvoice) บริษัทลูกของเออีจีพรีเซนท์ส (AEG Presents)
.
ภายในงาน Coachella ประกอบด้วยศิลปินดนตรีจากหลากหลายแนวเพลง ได้แก่ ร็อค ป๊อป อินดี้ ฮิปฮอป และดนตรีอิเล็คทรอนิคส์แดนซ์ ศิลปินดัง ๆ ที่เคยขึ้นเวทีมาแล้ว อาทิ บียอนเซ่ (Beyoncé) , วงปรินซ์ (Prince) , คู่หูดูโอ Daft Punk , แร๊พเปอร์สุดเก๋า Dr. Dre และ Snoop Dogg , คานเย เวสท์ (Kanye West) ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อที่ใช้ในวงการเหลือแค่ Ye หรือแม้แต่วงเกาหลีที่ดังที่สุดอย่าง BLACKPINK ก็เคยไปเยือนเวที Coachella มาแล้ว นอกจากนี้ภายในงานยังมีงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) และประติมากรรม ทั่วทั้งบริเวณ


ในปีนี้ Coachella 2022 ขายบัตรราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 449 ดอลลาร์ (15,000 บาท) และสูงสุดถึง 1,119 ดอลลาร์ (37,500 บาท) เพียงแค่การจำหน่ายตั๋วเข้าชมเพียงอย่างเดียว ยังไม่รวมรายได้จากผู้สนับสนุน และการเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการที่มีผู้มาเข้าชมงานอีกมากมายมหาศาลและ Coachella ยังเป็นเทศกาลดนตรีนานาชาติเพียงไม่กี่งานในโลกที่ทำรายได้จากการขายบัตรมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และที่สำคัญบัตรจะถูกให้จองล่วงหน้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม
 


ที่มา https://www.springnews.co.th/spring-life/823310 
 

6 ทักษะเพื่ออนาคต ปรับตัวรับก่อนถูกลืม

ทุกวันนี้หากมีโอกาสสอบถามเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบมาสัก 5-10 ปีว่า ได้ใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาในการทำงานยุคปัจจุบันนี้มากน้อยเพียงใด คำตอบที่ได้มักจะคล้ายคลึงกันนั้นคือ “น้อยมาก” เพราะทฤษฎีหรือวิชาการที่เรียนรู้มานั้นไม่ค่อยทันกับสถานการณ์ความเป็นไปของโลกธุรกิจในทุกวันนี้สักเท่าไรนัก
.
เช่นเดียวกับคนที่เรียนจบมานานกว่า เช่น 10-20 ปีที่ให้คำตอบคล้ายกันว่า ความรู้ในด้านวิชาการนั้นสู้เรื่องของความคิดเชิงตรรกะที่สมเหตุสมผล รวมถึงเรื่องทัศนคติเชิงบวกไม่ได้เลย ซึ่งสถาบันการศึกษาบ้านเรา ที่สร้างสมดุลเรื่องเหล่านี้ได้ดีย่อมบ่มเพาะบัณฑิตให้เติบโตมาเป็นคนคุณภาพในสังคมจนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานทุกวันนี้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกสถาบันที่ทำเช่นนั้นได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วเรายังเคยชินกับการนำเอาเนื้อหาความรู้ในอดีตมาสอนนิสิตนักศึกษาปัจจุบัน เพื่อหวังให้เขานำเอาความรู้ที่ได้ไปใช้งานในอนาคต ซึ่งแนวคิดแบบนี้อาจถูกต้องและเหมาะสมกับยุคก่อนหน้านี้ที่สังคมยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
.
ลองจินตนาการถึงยุคร้อยกว่าปีที่แล้ว ที่สถาบันการศึกษาในวันนั้นต่างก็ใช้องค์ความรู้ที่ได้รับมาจากผู้ทรงภูมิปัญญาในอดีต เมื่อลูกศิษย์ลูกหาได้รับการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ แล้วก็สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้ทันทีเพราะโลกในยุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
.
วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นจากยุคพ่อมาสู่ยุคลูกแทบจะไม่มีการเปลี่ยนสาระความรู้ใดๆ ความรู้จากรุ่นพ่อ จึงสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อรุ่นลูกมากมาย การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง จนในหนึ่งชั่วอายุคนแทบจะไม่เจอการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่พลิกชีวิตของแต่ละคนให้เปลี่ยนแปลงได้เลย
.
ตรงข้ามกับทุกวันนี้ที่ความรู้ในอดีตเมื่อ 10-20 ปีที่แล้วในบางสาขาวิชาชีพแทบจะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เพราะภูมิทัศน์ทางธุรกิจ สังคม และอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ทฤษฎีต่างๆ ที่เคยใช้ได้ผลกลับกลายเป็นสูญเปล่าเพราะมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาแทนที่
.
เหลือเพียงความคิดเชิงตรรกะที่นิสิตนักศึกษาได้รับทางอ้อมจากการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น ที่ช่วยให้เขาปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าคนอื่น ขณะที่คนที่ขาดความคิดในเชิงตรรกะจะปรับตัวได้ยากและถูกคนรุ่นใหม่แซงหน้าไปเรื่อยๆ 


การพัฒนาความคิดเชิงตรรกะสามารถทำได้ทุกช่วงทุกวัย ไม่จำกัดว่าต้องบ่มเพาะในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น ขอเพียงมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นด้านวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องสำคัญที่เราสามารถเรียนรู้ควบคู่ไปได้นั่น คือ 
.
ประการแรก การทำงานเป็นทีมหรือ Co-operation ซึ่งโลกในยุคปัจจุบันสะท้อนให้เราเห็นแล้วว่า คนที่ประสบความสำเร็จล้วนต้องอาศัยทีมงานที่แข็งแกร่ง และต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างเหนียวแน่น ซึ่งในทุกวันนี้ครูบาอาจารย์ก็พยายามสอนให้เด็กรุ่นใหม่ทำงานเป็นทีมได้ตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อปลูกฝังแนวคิดดังกล่าว
.
ประการที่ 2 คือการสื่อสารหรือ Communication เพราะหากมั่นใจว่าเรามีความคิดและแผนงานที่ดีเยี่ยมแล้ว การจะทำให้สำเร็จได้ก็จำเป็นต้องถ่ายทอดให้คนอื่นรับรู้ได้อย่างทะลุปรุโปร่งซึ่งต้องอาศัยการถ่ายทอดความคิดซึ่งก็คือการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
.
ทักษะที่สาม นั่นคือเนื้อหาสาระหรือ (Context) ซึ่งจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้มีคนเข้ามาหาตัวเราเพื่อพบปะพูดคุยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่องทั่วไป หรือเรื่องงาน ซึ่งเราจะเห็นคนบางคนมีบุคลิกลักษณะที่ชวนให้มีคนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยเสมอ
.
ทักษะประการที่สี่คือ ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ซึ่งต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และมีกระบวนการสังเคราะห์ความคิดที่ดี ไม่ใช่การคิดสะเปะสะปะไปทุกอย่างจนขาดแนวทางที่ชัดเจน การคิดเชิงวิพากษ์จะทำให้เราคิดเรียงลำดับก่อนหลังและเล็งเห็นผลว่าหากคิดและทำเช่นนี้แล้วผลที่ได้จะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นเป็นทอด ๆ
.
ทักษะที่ห้าคือ มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องอาศัยประสบการณ์และการบ่มเพาะมายาวนาน แม้บางคนจะชอบใช้ทางลัดด้วยการทำตามอย่างคนอื่นซึ่งเห็นผลเร็วกว่าเพราะ ไม่ต้องลงทุนลงแรงคิดค้นอะไรใหม่ ๆ แต่การเลียนแบบคนอื่นจะสร้างความสำเร็จได้ในระยะสั้นเท่านั้นการมีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เป็นของตัวเอง ย่อมสร้างความได้เปรียบอย่างยั่งยืนมากกว่า
.
ทักษะที่หกคือ มีความสามารถในการสร้างความเชื่อมั่น หรือ Confident เพราะหากเราไม่มั่นใจในตัวเองแล้ว โอกาสที่จะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าหรือนักลงทุนก็คงน้อยลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ก่อนที่จะขายความเชื่อมั่นให้กับใครเราจึงต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งและเชื่อมั่นในตัวเองให้ได้เสียก่อนเพราะนั่นจะหล่อหลอมให้กลายเป็นความมุ่งมั่นที่พร้อมเอาชนะปัญหาและอุปสรรคมากมายได้สำเร็จ
.
โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่เรากำลังประสบกับภาวะวิกฤติมากมาย ทั้งโรคโควิด-19 และความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทำให้เจ้าของธุรกิจและผู้บริหารจำเป็นต้องปรับตัวขนานใหญ่ ซึ่งทักษะแห่งอนาคตทั้ง 6 ประการนี้จะเป็นแนวทางสำคัญให้เราปรับตัวรอดได้


ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/social/912084 
 

กระดาษใบแรกของโลก ใครหนอช่างทำ ?

“กระดาษ” เป็นสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อไว้สำหรับการจดบันทึก เรื่องราวของกระดาษนั้นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาก ว่ากันว่ากระดาษถูกคิดค้นและมีการใช้กระดาษครั้งแรก จากชาวอียิปต์และชาวจีนโบราณ จุดประสงค์หลักของมันถูกสร้างขึ้นเพื่อการจดบันทึกด้วยกันทั้งสิ้น แต่ในปัจจุบันกระดาษไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ใช้จดบันทึกตัวหนังสือ หรือข้อความเท่านั้นยังใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้มากมาย เช่น กระดาษห่อของขวัญ กระดาษสำหรับทำกล่อง กระดาษชำระ เป็นต้น

กระดาษ ของชาวอียิปต์โบราณผลิตจากต้นกกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ปาปิรุสหรือปาปิรัส (papyrus) มีวิธีการทำโดยการเฉือนต้นปาปิรัสบางๆ ตามแนวยาวแล้วนำไปตากแดด น้ำลำเลียงในลำต้นจะทำให้เยื่อไม้ติดกันเป็นแผ่น ส่วนขนาดของแผ่นกระดาษจะขึ้นอยู่กับจำนวนแผ่นของลำต้น เมื่อตากแดดจนแห้งแล้วก็สามารถม้วนเก็บไว้ได้ จึงเรียกกระดาษชนิดนี้ว่า กระดาษปาปิรุส นักประวัติศาสตร์เชื่อว่ามีการใช้งานกระดาษปาปิรุสตั้งแต่ปฐมราชวงศ์ของอียิปต์ (ราว 3000 ปีก่อนคริสตกาล)



ผู้คนสมัยในโบราณจะใช้วัสดุต่างๆ หลากหลายเพื่อการบันทึก ทั้งแผ่นโลหะ ใบลาน เปลือกไม้ แม้กระทั่งหิน และเมื่อราว ค.ศ. 105 สมัยพระเจ้าจักรพรรดิโฮตี่ ชาวจีนได้ประดิษฐ์กระดาษโดยชาวเมืองลีบางชื่อว่า ไซลุง (Ts’ai’Lung) ใช้เปลือกไม้เศษมาต้มจนได้เยื่อกระดาษและมาเกลี่ยบนตระแกรงปล่อยให้แห้งและหลังจากนั้นวิธีผลิตกระดาษเช่นนี้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว


กระดาษ ถูกนำจากประเทศจีนสู่โลกมุสลิมผ่านสงครามทัลลัส (Tallas) ในปี ค.ศ. 751 ที่กองทัพจีนรบกับกองทัพมุสลิม เชลยศึกชาวจีน 2 คนได้เปิดเผยวิธีการทำกระดาษแก่ชาวมุสลิมและได้รับการปล่อยตัวไป จากนั้นมุสลิมได้ทำให้การทำกระดาษเปลี่ยนจากศิลปะไปเป็นอุตสาหกรรมกระดาษ ทำให้มีการพัฒนาการศึกษาในโลกมุสลิมอย่างกว้างขวาง มุสลิมในสมัยกลางจึงเจริญก้าวหน้าด้านศิลปวิทยาการที่สุดในโลก



ประวัติการใช้กระดาษในประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ประเทศไทยมีกระดาษที่เรียกว่า สมุดไทย ผลิตจากเยื่อไม้ทุบละเอียด ต้มจนเปื่อย ใส่แป้งเพื่อให้เนื้อกระดาษมีความเหนียว แล้วนำไปใส่ในกระบะเล็กๆ ปล่อยไว้จนแห้ง จากนั้นลอกออกมาเป็นแผ่น พับทบไปมาจนตลอดความยาว จึงได้เป็นเล่มสมุด ที่เรียกว่า สมุดไทยขาว หากต้องการ สมุดไทยดำ ก็จะผสมผงถ่านในขั้นตอนการผลิต

เนื่องจากกระดาษจัดเป็นวัสดุสิ้นเปลือง ในปัจจุบัน จึงมีการสนับสนุนให้นำกระดาษกลับมาใช้อีก (Reuse) เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์นำมาพับถุงกระดาษ กระดาษสำหรับเขียนแม้ใช้แล้วทั้งสองหน้า ก็สามารถนำไปพิมพ์อักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอดได้ เมื่อหมดสภาพแล้ว ก็นำไปเข้าโรงงานแปรรูปเป็นสินค้าประเภทลังกระดาษ ได้อีก


ที่มา https://www.longmaadoo.com/ 
 

“วิชาลดภาวะซึมเศร้า” โปรแกรมเพื่อสร้างสุขภาพจิตที่ดีในยุคปัจจุบัน

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้จำนวนผู้เรียนมีภาวะสุขภาพจิตแย่ลง โดยผลสำรวจของยูนิเซฟ (UNICEF) และกรมสุขภาพจิตของไทยที่สำรวจเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 183,974 คน พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 32% ประกอบกับการเรียนการสอนออนไลน์ในปัจจุบันมีหลายวิชาที่เพิ่มความเครียดให้กับผู้เรียน เพราะมีภาระงานที่มากและเนื้อหาที่หนัก ทำให้ในหนึ่งวันผู้เรียนต้องใช้สมองในการเรียนรู้กับวิชาต่าง ๆ แทบไม่มีเวลาหยุดพัก จนหลงลืมการดูแลสุขภาพของ “จิตใจ” ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของคนเรา จะเป็นไปได้หรือไม่หากจะมีวิชาที่ช่วยเยียวยาและสอนให้ผู้เรียนรู้จักดูแล “จิตใจ” ของตนเอง
.
โรงเรียนบางแห่งมีการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์กับยุคสมัยมากขึ้น โดยมีการออกแบบหลักสูตรและเพิ่มรายวิชาเลือกที่หลากหลาย เช่น วิชารู้เท่าทันสื่อ วิชารู้ทันการเงิน และวิชาการพัฒนาบุคลิกภาพ ฯลฯ อย่างไรก็ตามวิชาเหล่านี้เป็นการเปิดแนวทางการเรียนรู้ของคนยุคใหม่ เพราะการเรียนรู้ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบ แต่เป็นการเรียนเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิตและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง


วิชาต่าง ๆ ล้วนมีส่วนในการพัฒนาทักษะการคิดของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียน “คิดเป็น” อย่างไรก็ตามการพัฒนาเพียงความคิดอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะปัญหาในชีวิตของผู้เรียน โดยเฉพาะในช่วงนี้ก็คือ ปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากสนับสนุนให้โรงเรียนหันมาสนใจปัญหานี้ผ่านการพัฒนาวิชาเรียน โปรแกรมสนับสนุน หรือกิจกรรมอื่นที่เหมาะสมกับบริบทที่หลากหลาย ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างแนวทางการดูแลและบำบัดจิตใจของผู้เรียนในประเทศสหรัฐอเมริกา 2 โปรแกรมหลัก ดังนี้
.
1. โปรแกรมการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ เนื่องจากทั้งสังคมและอารมณ์มีความเกี่ยวข้องกัน ดังนั้นการสอนเกี่ยวกับการดูแลและบำบัดสุขภาพจิตได้ด้วยตนเองก็เปรียบเสมือนกับการสอนให้ผู้เรียนมีทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วย ก่อนที่โรงเรียนในสหรัฐอเมริกาจะมีโปรแกรมดังกล่าวเข้ามาในหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน ทางโรงเรียนได้จัดทักษะที่เกี่ยวข้องให้กับบุคลากร รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่อยู่ในโรงเรียนด้วย โรงเรียนได้จัดโปรแกรมนี้ให้กับผู้เรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาผ่านการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกันตามพฤติกรรมที่แสดงออกตามช่วงวัย ยกตัวอย่าง ในระดับประถมศึกษาก็จะมีการสอนเกี่ยวกับการระบุและการจัดการความรู้สึกเชิงลบ การนั่งสมาธิแล้วกำหนดลมหายใจเข้า – ออก
.
2. โปรแกรม TRAILS คือ โปรแกรมสำหรับช่วยลดภาวะซึมเศร้าและช่วยพัฒนาทักษะด้านการเผชิญปัญหาชีวิตของผู้เรียน โดย TRAILS เป็นศูนย์บริการทางสุขภาพที่คอยให้บริการเกี่ยวกับสุขภาพจิตทั้งผู้เรียนและบุคลากรในโรงเรียน โดยมีแนวทางการดำเนินการ 3 ระดับดังนี้
ระดับที่ 1 การศึกษาและการให้ความรู้อย่างครอบคลุมทั้งผู้เรียนและบุคลากรในโรงเรียน เนื่องจากหากทุกคนในโรงเรียนมีสุขภาพจิตที่ดี ก็จะเอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขด้วย โดยทางโรงเรียนจะการจัดการเรียนการสอน เรื่องการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ (SEL) ควบคู่กับการเรียนรู้วิชาการทั่วไป โดยเน้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง
ระดับที่ 2 การเข้าไปช่วยเหลือในเบื้องต้น สำหรับผู้เรียนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต เป็นการบำบัดพฤติกรรม (CBT) และสติด้วยการฝึกอบรม และเสริมด้วยการใช้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตจากผู้เชี่ยวชาญ
ระดับที่ 3 การจัดการความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย สำหรับผู้เรียนที่อยู่ในภาวะวิกฤต เป็นการประสานงานด้านการดูแลระหว่างโรงเรียน ครอบครัว หน่วยงานด้านสุขภาพจิตชุมชน และโรงพยาบาล มีการใช้เครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายให้กับผู้เรียนขั้นวิกฤตทุกคน 


จากโปรแกรมทั้ง 2 โปรแกรมล้วนมีวัตถุประสงค์เหมือนกัน คือช่วยผู้เรียนดูแล บำบัด และส่งเสริมสุขภาพจิตซึ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือต้องสอนให้ผู้เรียนเข้าใจอารมณ์ของตัวเองเสียก่อน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการเลือกวิธีดูแล บำบัด และส่งเสริมได้อย่างตรงจุด อย่างไรก็ตาม โรงเรียนควรเริ่มต้นด้วยการดูแลและบำบัดสุขภาพของครู รวมทั้งบุคลากรในโรงเรียน เพื่อเป็นหลักในการนำวิธีดำเนินการมาประยุกต์กับผู้เรียน ดังนั้น หากมีวิชาว่าด้วย “จิตใจ” ก็จะสามารถตอบโจทย์พัฒนาผู้เรียนให้ “เก่ง ดี มีสุข” ได้อย่างแท้จริง


ที่มา https://www.educathai.com/knowledge/articles/589 
 

“Mr. และ Mrs.” รู้กันไหม ? ว่าสองคำนี้มาจากไหน ?

Mister และ Missus (Missis) คือการย่อคำให้เป็น Mr. และ Mrs. ซึ่งเป็นคำที่ดูเหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับ ทั้งชายและหญิง Mr. และ Mrs. ถือเป็นคำสรรพนามที่ใช้เรียกแทนผู้คนมาอย่างยาวนาน เคยสงสัยไหมว่า ทั้งสองคำนี้มีที่มาจากไหน? 
.
Mister แปรเปลี่ยนมาจากคำว่า Master ซึ่งมาคำภาษาอังกฤษแบบเก่าแก่ “Maegester” ความหมายคือ “มีอำนาจควบคุม” ใช้เรียกคนที่อยู่ภายใต้อำนาจของอัศวินในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 “Mister” จึงกลายมาเป็นคำเรียกให้เกียรติ ใช้กันทั่วไปในภาษาอังกฤษ กล่าวกับบุรุษที่มีฐานะทางสังคมสูงกว่า ส่วนข้าทาสในบ้านของชาวอังกฤษมักใช้ชื่อของสมาชิกคนโตในครอบครัว ซึ่งในปัจจุบันไม่ใช้กันแล้ว
.
Mrs. ย่อมาจากภาษาอังกฤษในยุคกลาง “Maistresse” ใช้เรียกครูผู้หญิงหรือครูผู้หญิงซึ่งรับจ้างอบรมบุตรตามบ้านผู้ดี และคำว่า Mistress เลิกใช้ประมาณปลายศตวรรษที่ 14 แต่อย่างไรก็ตามการออกเสียงยังคงเหมือนเดิม โดยในช่วงศตวรรษที่ 15 ถูกพัฒนาเป็นคำเสื่อมเสียที่ใช้กับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว เมื่อต้นศตวรรษที่ 17 Mr., Mrs. ,Ms. และ Miss ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของภาษาอังกฤษ
.
แล้วเมื่อไหร่ที่ต้องใช้ Mrs.??? ถ้าอ้างอิงตาม Emily Post Institute จะพบว่า Mrs.(อ่านว่า มีซซิซ) เป็นคำที่ใช้เรียกผู้หญิงที่แต่งงานแล้วส่วน Ms.(อ่านว่า “มิส” เช่นเดียวกัน แต่ออกเสียงท้ายคำเป็นตัว z (miz) ) เป็นคำเรียกที่เหมาะสมในการใช้เรียกผู้หญิงโดยไม่คำนึงสถานะสมรส ซึ่งเป็นคำเรียกที่ช่วยลดการคาดเดาลงได้ Miss ใช้เรียกผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน ซึ่งอาจเป็นเด็กหญิงที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ก็ได้
.
แล้วคำเรียก Mx. คืออะไร? Mx. (อ่านว่า มิกซ์) บางก็ระบุคำเต็ม ๆ ว่า Mixter คือคำนำหน้าบุคคลแบบไม่ระบุเพศ ไม่สนใจหรือไม่อยากจะระบุว่าเป็นผู้ชายผู้หญิงหรืออะไร ตัว M ใช้ตามธรรมเนียมคำนำหน้านามทั่วไป ส่วน x มาจากค่า “ไม่รู้ (unknown)” แบบค่า x ในทางคณิตศาสตร์ ปัจจุบัน Mx. กลายเป็นคำศัพท์อย่างเป็นทางการโดยถูกบรรจุไว้ในพจนานุกรม Oxford English Dictionary แล้วเป็นคำที่ใช้เรียกสำหรับคนที่แปลงเพศแล้วนั่นเอง


ที่มา https://www.dictionary.com/e/mr-mrs/ 
 

How to select เลือกคณะที่ใช่ เลือกยังไงให้เหมาะกับเรา

ช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยและคณะที่จะเรียนต่อสำหรับน้องๆ ม.6 ถือเป็นอีกหนึ่งการตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิตเลยก็ว่าได้ แม้ว่าหลายคนจะมีเป้าหมายในใจอยู่แล้ว หรือบางคนที่ยังคงลังเลอยู่ว่าจะเลือกที่ไหนดี ซึ่งสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เลยก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของคะแนนและความสามารถของตัวเอง เพราะถือได้ว่าเป็นตัวชี้ชะตาของเราเลยว่าจะได้เรียนที่ไหน 
.
นอกจากนี้แล้วก็ยังมีเหตุผลและปัจจัยอื่นๆ ที่เราควรจะนำมาตัดสินใจร่วมอีกด้วย ซึ่งบทความนี้จะรวมเอา How to และปัจจัยการเลือกคณะที่ใช่ให้ตรงใจน้องๆ มาฝาก เผื่อจะเป็นอีกตัวช่วยในการตัดสินใจ ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง !


 

ข้อที่ 1 คณะที่เราสนใจมีกี่มหาวิทยาลัย ? ที่เปิดสอน
สิ่งแรกเลยคือให้น้องๆ ลองหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะที่เราสนใจมีกี่มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน ลองเอาหลักสูตรรายวิชาของแต่ละที่มาเปรียบเทียบกันดูว่ามีความแตกต่างกันตรงไหนบ้าง ถึงแม้ว่าชื่อคณะเหมือนกันแต่หลักสูตรหรือรายวิชานั้นอาจจะต่างกัน พอเราได้เห็นรายชื่อวิชาที่ต้องเรียนจะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้น และเลือกได้เหมาะสมกับตัวเรา ทั้งนี้ก็อย่าลืมดูจำนวนการเปิดรับของแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อที่เราจะได้วางแผนการจัดอันดับล่วงหน้า
.
ข้อที่ 2 ความแตกต่างของภาคปกติ-ภาคพิเศษ-นานาชาติ
บางคณะหรือสาขาวิชามีการเปิดสอนมากกว่า 1 หลักสูตร ซึ่งในระเบียบการมักจะเขียนระบุเอาไว้ชัดเจนโดยใช้เป็นวงเล็บต่อท้ายชื่อคณะ/สาขา ว่าเป็นหลักสูตรไหน น้องๆ ต้องสังเกตรายละเอียดให้ดี เพราะแต่ละหลักสูตรก็จะมีบางส่วนที่แตกต่างกันออกไปโดยเฉพาะค่าเทอม ซึ่งแต่ละหลักสูตรจะมีการเรียนการสอนดังนี้
-    ภาคปกติ มีการเรียนการสอนในเวลาราชการก็คือ เรียนวันจันทร์-ศุกร์ เริ่มเวลา 08.30 - 17.30 น. ซึ่งตารางเวลาอาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของแต่ละมหาวิทยาลัย
-    ภาคพิเศษ เนื้อหาและรายวิชาที่ได้เรียนก็ไม่ได้ต่างจากภาคปกติ เพียงแค่มีการเรียนการสอนคนละช่วง หรือสอนนอกเวลาราชการ เช่น บางที่มีการเรียนช่วงบ่าย-ค่ำ หรือมีการนัดเรียนเพิ่มเติมในวันเสาร์-อาทิตย์
-    นานาชาติ แน่นอนว่าหลักสูตรนี้ต้องมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ทั้งนี้อาจจะได้เรียนกับอาจารย์ไทยที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ หรืออาจารย์ชาวต่างชาติก็ได้
โดยส่วนใหญ่แล้วค่าเทอมของภาคพิเศษและนานาชาติจะสูงกว่าภาคปกติ 1-2 เท่า ซึ่งขึ้นอยู่กับหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย สาเหตุที่ค่าเทอมของหลักสูตรเหล่านี้สูงกว่าเพราะว่าต้องมีการจ้างอาจารย์ที่มาสอนนอกเวลา และอาจารย์ชาวต่างชาตินั่นเอง
.
ข้อที่ 3 วุฒิการศึกษาและระยะเวลาของหลักสูตร
หลักสูตรในระดับปริญญาตรีตามที่เราทราบกันดีก็จะมีตั้งแต่ 4 - 6 ปี  บางคณะ/สาขาก็จะมีระยะเวลาในการเรียนแตกต่างกันออกไปตามหลักสูตร ซึ่งก็มีบางสาขาที่หลังเรียนจบแล้ววุฒิการศึกษาที่ได้อาจจะไม่ตรงตามชื่อคณะที่เลือกเรียนก็ได้ 


แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าแต่ละสาขาเรียนกี่ปี ? จบไปได้วุฒิการศึกษาอะไร ? ให้สังเกตและอ่านรายละเอียดในหน้าแรกของหลักสูตรแต่ละสาขาวิชาซึ่งจะเขียนระบุรายละเอียดเอาไว้ว่าเป็นชื่อปริญญาและสาขาอะไร บางมหาวิทยาลัยก็บอกระยะเวลาตลอดทั้งหลักสูตรด้วยว่าจะต้องเรียนทั้งหมดกี่ปี
.
ข้อที่ 4 ค่าธรรมเนียมการศึกษา
เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเลือกมหาวิทยาลัยเลยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงมากๆ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกอยากให้ลองอ่านรายละเอียดของค่าธรรมเนียมการศึกษาตลอดหลักสูตรให้เข้าใจก่อนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนไหนบ้าง บางมหาวิทยาลัยมีการแบ่งจ่ายเป็นเทอมตามจำนวนหน่วยกิต หรือบางที่ก็เป็นแบบเหมาจ่าย 
ทั้งนี้ก็เพื่อที่เราจะได้นำไปปรึกษาผู้ปกครอง และเลือกให้สอดคล้องกับความพร้อมของครอบครัว เพื่อที่จะได้วางแผนค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้ล่วงหน้า แต่ถ้าหากน้องๆ สอบติดและอยากเรียนที่นี่จริงๆ แต่กำลังเงินของผู้ปกครองอาจจะสู้ไม่ไหว บางมหาวิทยาลัยก็มีทุนช่วยเหลือสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เรียนฟรีจนจบหลักสูตร แต่ก็จะมีเงื่อนไขตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
.
ข้อที่ 5 ที่ตั้งของมหาวิทยาลัย
ถ้าหากว่ามีโอกาสอยากให้ลองไปสำรวจมหาวิทยาลัยที่น้องๆ สนใจดูก่อน เพราะจะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้น แต่ในยุคโควิดแบบนี้อาจจะต้องระวังตัวกันให้มาก ๆ ถ้าไม่อยากเสี่ยงลองหารีวิวในอินเตอร์เน็ตอ่านดู หรือทักไปคุยกับรุ่นพี่ให้เล่าถึงบรรยากาศ สภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เราฟัง ซึ่งบางคนอาจใช้ระยะทาง หรือความสะดวกในการเดินทางมาเป็นตัวตัดสินใจ ถ้ามหาวิทยาลัยอยู่ใกล้บ้านก็อาจจะไป-กลับไม่นอนหอ หรือใครที่อยากอยู่หอก็อาจจะต้องสำรวจเพิ่มเติมในเรื่องของหอพักไปด้วย
.
ข้อที่ 6 โอกาสในการทำงานในอนาคต
ส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นอีกประเด็นที่สำคัญเหมือนกัน พอน้องๆ เลือกคณะ/สาขาได้แล้วก็ต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางการทำงานที่ได้จากสาขาวิชานั้นด้วย ลองวิเคราะห์ดูว่าสิ่งที่เราเรียนสามารถทำอาชีพอะไรได้บ้าง ? ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ประกอบกันไป เช่น แหล่งฝึกงาน ความต้องการของตลาดแรงงาน ความมั่นคงทางการงาน รายได้ และความรับผิดชอบ


ที่มา https://www.dek-d.com/tcas/59781/?fbclid=IwAR1qVLeltyIWgUyOJ_jSS14Xkn2kXF-xzaBTuuwnBb66sHi7C9HTOkv16z8
 

“สลากกินแบ่ง” ตำนานแห่งความหวัง สู่เส้นทางความร่ำรวย

ประมาณวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือนคือ "วันแห่งความหวัง" หรือ วันสู่เส้นทางรวยของคอหวยหรือวันที่นักเก็งกำไรสลากกินแบ่งรัฐบาลจะตั้งตาลุ้นเลขเด็ดกันอย่างคึกคัก ลองมาไล่ไทม์ไลน์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของ "สลากกินแบ่งรัฐบาล" ในประเทศไทย จนกลายมาเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีการส่งรายได้เข้ารัฐมากที่สุด

ปี 2562 ส่งรายได้เข้ารัฐกว่า 41,916 ล้านบาท / ปี 2563 นำส่ง 46,598 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.17%
ปี 2564 ล่าสุดนำส่ง 51,124 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 9.71% เป็นที่สังเกตว่าแม้ในสถานการณ์ "โควิด-19" แต่รายได้จากการขาย "หวย" หรือ "สลากกินแบ่งรัฐบาล" ในช่วงปี 2563 - 2564 ไม่ได้ลดลงกลับเพิ่มในอัตราเฉลี่ยถึง 10% ต่อปี 
.
ไทม์ไลน์ของสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เราสามารถไล่ได้เป็นช่วงเวลาดังนี้


ปี 2417 หรือ 147 ปีก่อนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมทหารมหาดเล็กออก  "ลอตเตอรี่" เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เนื่องจากในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาโดยให้นายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ เป็นผู้อำนวยการในการออกลอตเตอรี่ โดยได้มีการศึกษาและทำตามวิธีการชาวยุโรป เริ่มพิมพ์ครั้งแรก 20,000 ฉบับ ราคาฉบับละ 1 ตำลึง หรือ 4 บาท โดยรางวัลที่ 1 จะได้รับเงินรางวัล 100 ชั่ง เท่ากับราว 8,000 บาท ในปัจจุบัน / รางวัลที่ 2 ได้รับ 50 ชั่ง หรือราว 4,000 บาท / รางวัลที่ 3 ได้รับ 25 ชั่ง หรือ 2,000 บาท 
.
การออกลอตเตอรี่ครั้งที่ 2 นั้น ล่วงเลยมาอีกครั้งในปี 2460 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกสลากลอตเตอรี่ของสภารักชาติ ประเทศอังกฤษ จำหน่ายใบละ 5 บาท โดยมีเงื่อนไขการจ่ายเงินรางวัลเป็นสัญญาเงินกู้ของคณะกู้เงินในการสงคราม โดยมีสภารักชาติแห่งประเทศอังกฤษ สาขากรุงเทพ เป็นผู้ลงนามและมีประเทศสหพันธรัฐมลายู เป็นผู้ค้ำประกัน


ต่อมาในปี 2466 เป็นการออกลักษณะพิเศษ คือ ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาทในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อหารายได้ซื้อปืนพระราชทานให้กองเสือป่า และรัชกาลที่ 6 พระราชทานปืนรุ่นนี้ว่า ปืนพระราม 6 ซึ่งมีข้อมูลของหอจดหมายเหตุระบุว่า การออกลอตเตอรี่ได้ออกครั้งนี้และเงียบไปเนื่องจากเกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง
.
ปี 2476 หรือ หลังจากนั้น 10 ปี รัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายที่จะลดการจัดเก็บเงินรัชชูปการ หรือเงินที่เรียกเก็บจากชายไทยที่ไม่ต้องรับราชการทหาร ทำให้รัฐขาดรายได้ส่วนนี้ไป รวมถึงเพื่อนำรายได้ไปใช้จ่ายในด้านการศึกษาและพยาบาล จึงเกิดโครงการออกลอตเตอรี่รัฐบาลขึ้นเรียกว่า "ลอตเตอรี่รัฐบาลสยาม" ให้กรมสรรพกรเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งมีการพิมพ์ออกจำหน่ายทั้งหมด 1 ล้านฉบับ ฉบับละ 1 บาท โดยใน 1 ปีจะออกรางวัล 4 งวด


ในปี 2477 คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยออก "สลากกินบำรุงเทศบาล" โดยวัตถุประสงค์คือเพื่อนำเงินไปบำรุงกิจการทางเทศบาล ทั้งนี้กำหนดว่าหากเดือนไหนออกสลากให้งดจำหน่ายสลาก โดยเริ่มจำหน่ายงวดแรกเดือน พ.ย.2478 และเริ่มออกสลากเดือน เม.ย.2479 ทั้งหมด 500,000 ใบ ฉบับละ 1 บาท ก็มีการออกสลากมาเรื่อย ๆ ด้านกระทรวงมหาดไทยและกรมสรรพากร


ปี 2482 คือยุคที่มีการดำเนินการสลากกินแบ่งรัฐจริงจัง รัฐบาลพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ได้โอนย้ายกิจการสลากกินแบ่งรัฐบาล และสลากบำรุงเทศบาล ให้มาสังกัดกระทรวงการคลัง และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งประธานกรรมการคนแรกคือ พระยาพรหมทัตศรีพิลาส หลังจากนั้นปี 2494 ได้ตั้งกองการพิมพ์เพื่อพิมพ์สลากเอง หลังจากนั้นก็มีการออกสลากเรื่อยมา และมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น เช่น 2 บาท 3 บาท 4 บาท 6 บาท 10 บาท 20 บาท เป็นต้น
.
ปี 2546 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้มีการออกรางวัลแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว เพื่อมาแก้ปัญหาหวยใต้กินและปัญหาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา โดยเริ่มมีการจำหน่ายงวดแรก 1 ส.ค.-16 พ.ย.2549 รวมทั้งหมด 80 งวด


ปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ปรับปรุงและขนาดของสลาก โดยจากเดิมเป็นจำหน่ายเป็นคู่ ราคาคู่ละ 80 บาท หรือฉบับละ 40 บาท ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นฉบับเดียว ราคา 80 บาท ซึ่งเงินรางวัลขณะนี้คือ
 รางวัลที่ 1 ออก 1 ครั้ง เงินรางวัล 6,000,000 บาท / รางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 คือรางวัลที่เลขตัวสุดท้ายของรางวัลที่หนึ่ง มากกว่าหรือน้อยกว่า 1 หลัก มี 2 รางวัล เงินรางวัล 100,000 บาท / รางวัลที่ 2 ออก 5 ครั้ง เงินรางวัล 200,000 บาท / รางวัลที่ 3 ออก 10 ครั้ง เงินรางวัล 80,000 บาท / รางวัลที่ 4 ออก 50 ครั้ง เงินรางวัล 40,000 บาท / รางวัลที่ 5 ออก 100 ครั้ง เงินรางวัล รางวัล 20,000 บาท / รางวัลเลขหน้า 3 ตัว ออก 2 ครั้ง เงินรางวัล 4,000 บาท / รางวัลเลขท้าย 3 ตัว ออก 2 ครั้ง เงินรางวัล 4,000 บาท / รางวัลเลขท้าย 2 ตัว ออก 1 ครั้ง เงินรางวัล 2,000 บาท


ที่มา https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/502197 
 

“เด็กรุ่นใหม่” ไม่นับถือศาสนา แค่ไม่เชื่อ ไม่เข้าใจ หรือ ไม่จำเป็น

หากพวกเราหยิบบัตรประชาชนคนไทยมาตรวจสอบ เราจะพบเลยว่า ‘คนไทยมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่านับถือศาสนาพุทธ’
.
หากเราพูดถึงอดีต เรื่องนี้อาจจะไม่ได้ผิดแปลกอะไรมากนัก แต่ในปัจจุบัน ในวันที่โลกเคลื่อนตัวไปด้วยความทันสมัย ‘เด็กรุ่นใหม่’ หลายคนเลือกที่จะนับถือศาสนาพุทธแค่ในบัตรแต่ถ้าหากคุณเดินไปไถ่ถามหนุ่มสาวด้วยประโยคที่ว่า “คุณนับถือศาสนาอะไร?”

คำตอบอย่าง “ผม/หนู ไม่มีศาสนา” น่าจะเป็นที่คำตอบที่พบได้ง่ายมากขึ้น หากมองตามสถิติทั่วโลก จากรายงานของ Pew Research Center เราจะพบว่า ผู้คนจำนวนมากถึง 1,100 ล้านคนทั่วโลก ไม่นับถือศาสนา สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ ‘ชาวจีน’ มีจำนวนประชากรที่ไม่นับถือศาสนามากถึง 700 ล้านคน (อาจเพราะการปกครองแบบสาธารณรัฐ)
.
ถึงแม้ในประเทศไทย ยังไม่ได้มีการศึกษาหรือทำการวิจัยที่ชัดเจน แต่เราก็พอเข้าใจได้ว่า เรื่องของการไม่นับถือศาสนาเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากพุทธ คริสต์ หรืออิสลามที่ระบุอยู่ในหน้าบัตรประชาชน
.
ปัจจุบันมีการระบุศาสนาที่แปลกใหม่ เช่น ลัทธิเบคอน หรือลัทธิเจได เป็น 2 ลัทธิใหม่ที่กำลังแพร่หลายไปทั่วโลก (หลายคนมองว่า นี่คือรูปแบบหนึ่งในการแสดงออกว่าไม่นับถือศาสนา แต่เป็นในเชิงล้อเลียนมากกว่า อย่างไรก็ตาม 2 ลัทธิดังกล่าว ก็มีแนวทางปฏิบัติ อย่างการศรัทธาในเบคอน และการศรัทธาในพลัง ‘force’ แบบเจได เป็นแก่นอยู่เช่นกัน)
.
จากการวิเคราะห์ของ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องรัฐและศาสนาก็พอทำให้เราเห็นภาพได้ว่า ศาสนาในประเทศไทยไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนรุ่นใหม่เท่าไหร่นัก อาทิ การสอนด้วยความกลัว / การใช้ศาสนาเป็นสัญญะในเชิงอำนาจ / การใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือลิดรอนสิทธิเสรีภาพ / บางเรื่องของศาสนา (นรก-สวรรค์) พิสูจน์ไม่ได้ / ผิดหวังกับพฤติกรรมของตัวแทน (พระสงฆ์) เป็นต้น ซึ่งเราก็ต้องยอมรับตามตรงว่า ศาสนา และการนำเสนอในไทย ดูเหมือนจะผิดเพี้ยนไปจากแก่นเดิมอยู่มาก เพราะมักมีเรื่องของเครื่องราง โชคลาภ และผีสางปะปนอยู่ด้วย

การ ‘ไม่นับถือศาสนา’ ของเด็กรุ่นใหม่ก็มีหลายระดับ แล้วแต่ความเหมาะสมที่ตนเลือกปฏิบัติ ตั้งแต่ไม่เข้าวัดเลย ไม่ไหว้พระเลย ไม่ยุ่งกับกิจกรรมทางศาสนาเลย ไปจนถึงก็เข้าวัดได้ ก็เข้าร่วมพิธีกรรมได้ แต่ก็ทำเป็นพิธี พอให้คนรอบข้างได้สบายใจ พอให้เข้าสังคมได้เท่านั้น แต่ในใจไม่รู้สึกอะไรด้วยเลย
.
แต่ในบางทีพวกเราอาจจะเป็นอย่างที่อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ มองคนรุ่นใหม่ไว้ก็ได้
“ศาสนาเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ละเอียดอ่อนมาก เมื่อเราอยู่ในวัยหนุ่มมันเป็นวัยที่เรากำลังฝึกปรือเรื่องความคิด เรากำลังกระโจนออกไปสู่โลกกว้างแล้วพาหนะในการที่จะนำพาเราออกไปสู่โลกกว้างภายนอกคือความคิด เราเลยตื่นตาตื่นใจ แต่เมื่อไปถึงจุดจุดหนึ่ง เมื่อชีวิตเราเติบโตพอสมควรแล้ว มันมีความหมายอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งโลกที่น่าตื่นใจไม่ใช่ข้างนอก แต่เป็นมิติที่อยู่ภายใน ทีนี้กระบวนการเข้าไปสู่พื้นที่ภายในของเรามันเป็นมิติทางศาสนา”

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อาจารย์ระบุต่อว่า ถึงแม้จะคุยกับเพื่อนต่างศาสนาเรื่องจิตวิญญาณที่อยู่ภายใน ถึงแม้จะมีศัพท์ที่ต่างกัน แต่ความรู้สึกมันเหมือนกัน “แต่ผมอาจจะไม่ได้ใช้คำว่าผมไว้เนื้อเชื่อใจพระผู้เป็นเจ้า ผมใช้คำว่า ผมไว้เนื้อเชื่อใจธรรมชาติ และสิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าผมคือสิ่งที่ธรรมชาติจัดสรรให้ปรากฏ ถ้าเป็นเพื่อนชาวคริสต์เขาจะบอกว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าจัดสรรให้ เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ถ้าเราไม่ติดใจเรื่องคำ มันคือความหมายเดียวกัน”
.
สุดท้ายนี้ไม่ว่าใครจะนับถือหรือไม่นับถืออะไร ตัวผู้เขียนเชื่อว่า ทุกความเคารพและความรักควรมาจากความตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นศาสนา หรือเรื่องใดก็บังคับกันไม่ได้ทั้งสิ้น
.
แล้วคุณล่ะครับ คิดอย่างไรกับการที่คนรุ่นใหม่เริ่มนับถือศาสนาน้อยลง?


ที่มา https://www.brandthink.me/content/newgenisnotreligious
 

นรกโชซอน เมื่อคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ มองประเทศตัวเองเหมือนนรก

ทำไมคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ มองประเทศตัวเองเหมือนนรก? จากผลสำรวจทัศนคติชาวเกาหลีใต้จำนวน 5,000 คน ราว 75% ที่พบว่าคนรุ่นใหม่รู้สึกเป็นกังวลกับชีวิตตัวเองมากกว่าคนรุ่นก่อน มองประเทศตัวเองเป็นเหมือนนรก อยากย้ายออกจากประเทศนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใด ประชาชนประเทศเกาหลีใต้จึงมองประเทศตนเองเช่นนั้น

แม้สถิติจะเผยให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่เพศหญิงรู้สึกแย่กับประเทศจนอยากย้ายออกนอกประเทศมากกว่าคนรุ่นใหม่ที่เป็นเพศชาย แต่ก็ถือว่ามีจำนวนที่ไล่เลี่ยกันไม่แตกต่างกันอย่างชัดเจนนัก ดังนั้น ถ้ามองจากผลสำรวจพบว่าความอึดอัด คับแค้นใจที่คนรุ่นใหม่เผชิญ เป็นประเด็นที่ไปไกลกว่าเรื่องเพศ แต่เป็นเรื่องความไม่พอใจในวิถีชีวิตที่เป็นอยู่
.
โชซอนเป็นชื่อเรียกแทนอาณาจักรโชซอนที่มีกษัตริย์ปกครองเป็นประมุขสูงสุดของประเทศ มีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์มีอำนาจสิทธิขาดในการปกครองประเทศ ซึ่งมีคำเรียกอีกคำว่า Tal-Jo เป็นการผสมคำสองคำเข้าไว้ด้วยกันคือคำว่า ออกจาก กับคำว่า นรก เมื่อสองคำรวมกันจึงกลายเป็น ออกจากนรก
.
คนรุ่นใหม่ชาวเกาหลีใต้เล่าว่า พวกเขาใช้คำว่า นรกโชซอน เพราะมันเป็นคำที่สะท้อนว่าประเทศชาติมีประวัติศาสตร์ที่แย่ ยุคสมัยปัจจุบันนี้ไม่ต่างอะไรกับยุคสมัยโชซอนที่เป็นยุคที่มีการปกครองแย่ บางคนให้สัมภาษณ์ว่า เราเรียกประเทศเกาหลีใต้ว่า นรกโชซอน และพูดคุยกันเหมือนเป็นเรื่องตลก แต่ถ้ามีโอกาสที่ดี พวกเราก็อยากจะย้ายออกไปทำงานนอกประเทศ

ทั้งนี้ พวกเธอเล่าต่อว่า การจะออกไปทำงานต่างประเทศได้นั้น ส่วนใหญ่ก็จะต้องเป็นคนที่อย่างน้อยต้องเรียนจบแพทย์ หรือเป็นพยาบาล หรือเป็นพวก UX designer แต่พวกเธอและเพื่อนเรียนธุรกิจและศิลปศาสตร์ จึงขาดโอกาสที่จะไปทำงานต่างประเทศ
.
การทำงานต่างประเทศหรือการไปอาศัยอยู่ต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้ามันง่าย ก็คงไม่มีคนเรียกร้องอยากออกนอกประเทศ แต่จะออกไปเลยไม่ต้องเรียกร้อง แต่ที่เรียกร้องก็เพราะขาดความสามารถในการเข้าถึงโอกาสนั้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่ติดตัว ทักษะ หรือแม้แต่ปัจจัยทางการเงินก็เป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่บางคนให้สัมภาษณ์ว่า มันเป็นวิกฤตของคนชั้นกลางที่อยู่ในประเทศที่ร่ำรวย
.

นรกโชซอนที่คนรุ่นใหม่ชาวเกาหลีใต้เรียกติดปาก จนอยากย้ายออกนอกประเทศนั้น มีเหตุผล มีที่มาที่ทำให้คนเกิดความคับแค้นใจไม่อยากอยู่ในประเทศที่ตัวเองถือกำเนิดเกิดมา พวกเขาเปรียบเทียบตัวเองกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ก็พบว่า ยุคของพ่อแม่นั้น อาจจะมีเรื่องวัตถุนิยมน้อยกว่า แต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็มีชีวิตที่มีความหวังมากกว่า ในทุกๆ ปีพวกพ่อแม่ของเขาจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่สิ่งนั้นไม่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ที่นี่

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นนรกโชซอนมีหลายเรื่องเช่นเรื่องการว่างงาน จากข้อมูลจาก องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่า อัตราการว่างงานของเกาหลีใต้อยู่ที่ 3.8% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อีกทั้งการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลต่อการจ้างงานพนักงานชั่วคราวเเละรายวัน โดยมีอัตราการจ้างงานลดลง 6.5% เเละ 7.1% ตามลำดับ ขณะที่ข้อมูลจาก Statista ระบุว่า อัตราการว่างงานของคนอายุ 20-29 ปีนั้นสูงถึง 9.3% 
.
รวมถึงเมื่อเข้าไปทำงานเเล้วอาจไม่ได้หมายถึงความสำเร็จเสมอไป เพราะโครงสร้างบริษัทเกาหลีใต้ที่ยังเป็นโครงสร้างเเนวดิ่ง ทำให้มนุษย์เงินเดือนต้องทำงานหนัก เเละต้องต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในบริษัทจากระบบอุปถัมภ์ประกอบกับผู้หญิงยังต้องดิ้นรนในวัฒนธรรมสังคมชายเป็นใหญ่ รายงาน Economy Survey ของ OECD ปี ค.ศ.2020 ระบุว่า คนเกาหลีใต้ทำงานปีละ 1,970 ชั่วโมงหรือ 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยชั่วโมงการทำงานของประเทศสมาชิกกว่า 300 ชั่วโมง
.
อสังหาริมทรัพย์ราคาแพง เอื้อมมือไปเท่าไร ก็ไม่มีเงินจ่ายถึง คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยลงทุนในหลักทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินเท่าไรนัก มักจะปล่อยให้เงินจมไปกับการซื้อบ้านซึ่งถือเป็นการออมเงินอีกแบบหนึ่ง คนเกาหลีใต้มีทั้งหมดราว 51 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 24 ล้านคน อาศัยอยู่ทั้งภายในเมืองและรอบๆ โซล
.
อัตราการฆ่าตัวตายของคนหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้สูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ซึ่งมีอัตราส่วนอยู่ที่ 24.6 ต่อ 100,000 ราย อยู่ในอัตราที่สูงกว่าญี่ปุ่นซึ่งอยู่ที่ 15.2 (กลุ่มสมาชิกประเทศ OECD มี 36 ประเทศ) อัตราที่สูงขนาดนี้ไม่ได้เกิดเพียงแค่ปัจจัยเดียวแต่มันเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางสังคมด้วย แม้รัฐบาลจะออกแผนการเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายมาถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ทำให้จำนวนการฆ่าตัวตายลดลงแต่อย่างใด ยิ่งมีเหล่า Celeb คนดังฆ่าตัวตายนำแล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แฟนคลับรู้สึกอยากทำตามไปด้วย

ทุ่มเทอย่างหนักกับการเรียน การสอบ จบออกมา.. ไม่มีงานทำ คนรุ่นใหม่ชาวเกาหลีใต้รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ชีวิตไม่ยุติธรรม พวกเขาเรียนหนัก ทำงานอย่างหนักเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับมันไม่เป็นอย่างที่พวกเขาทุ่มเท ทำให้เขามองประเทศเป็นเหมือนนรก ชาวเกาหลีใต้นับล้านๆ รายถูกบังคับให้เรียนอย่างหนักมาตลอด เพื่อที่จะเอาความรู้ที่สั่งสมมาทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ แต่..ความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาหวัง
.
Lee Jin-hyeong อายุ 35 ปี เล่าว่า เขาเรียนอย่างหนักทุกวัน เริ่มเรียนตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึงตี 1 ของอีกวันหนึ่ง เขาเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หวังว่าเรียนจบมาจะได้ทำงานตำรวจ แต่จนป่านนี้ เขายังไม่มีงานประจำทำเลย หลายต่อหลายคนเรียนจบแต่ยังว่างงาน
.
“Hell Joseon” หรือ “นรกโชซอน” คือนิยามที่หมายถึงการขาดโอกาสในการเข้าถึงการทำงาน ขาดโอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัว ขาดความหวังในการมีชีวิตอยู่ ผู้เชี่ยวชาญจากสแตนฟอร์ดมองว่า วัฒนธรรมเกาหลีใต้คือการทุ่มให้กับการศึกษาอย่างสุดโต่งจนเกินไป จนทำให้คนรุ่นใหม่ป่วย ขาดความเตรียมพร้อมที่จะเผชิญโลกในชีวิตจริง บางคนบอก คนรุ่นใหม่ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่พวกเขาถูกทิ้งไว้ข้างหลังจริงๆ


ที่มา https://brandinside.asia/why-young-korean-call-south-korea-hell-joseon/


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top