Thursday, 21 September 2023
NEWSFEED

SMEs โตอย่าง ‘ยั่งยืน’ ได้จริง ง่ายๆ ด้วยหลัก ABC

A = Act
to Reduce Harm
เริ่มที่ไม่สร้างผลกระทบทางลบกับใคร เริ่มง่ายๆ กับพนักงาน

.

B = Benefit
to Stakeholder
ตามด้วยหาทางสร้างสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้า คู่ค้า และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ

.

C = Contribute
Solution
ขยายผลด้วยการลงมือทำอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งมอบสู่คนรุ่นต่อไป

.

ที่มา : ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

9 ขั้นตอนธุรกิจสตาร์ทอัพ ปั้นสินค้าออกสู่ตลาด

>> PRELAUNCH เตรียมพร้อมก่อนนำสินค้าออกสู่ตลาด

- ตั้งเป้าหมายที่ถูกต้อง

- ทำความเข้าใจลูกค้าและึุณค่าของสินค้า

- เริ่มต้นในตลาดที่เหมาะสม

.

>> PRODUCT LAUNCH STRATEGY กลยุทธ์การนำสินค้าออกสู่ตลาด

- ใช้เครื่องมือและช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

- สื่อสารถึงลูกค้าด้วย STORYTELLING

- ทำให้กลุ่มเป้าหมานสนใจทดลองสินค้า

.

>> AFTER LAUNCH PRODUCT WITH GROWTH MARKETING เร่งการเติบโตด้วยตลาด

- เก็บ FEEDBACK เพื่อนำมาปรับปรุง

- สินค้าเริ่มตอบโจทย์ตลาด วัดจาก ORGANIC GROWTH 

- เร่งการเติบโตด้วย GROWTH MARKETING

.

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ชม “จันทรุปราคาเต็มดวง” ในวันลอยกระทงกันนะปีนี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  เผย ในวัน “ลอยกระทง 2565” 8 พฤศจิกายนนี้ เตรียมชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ตั้งแต่เวลาประมาณ 15:02 – 20:56 น. (ตามเวลาประเทศไทย
.
โดยสามารถสังเกตได้จากหลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ทวีปยุโรปตอนเหนือและตะวันออก ,ทวีปเอเชีย ,ทวีปออสเตรเลีย ,ทวีปอเมริกาเหนือ ,บางส่วนของทวีปอเมริกาใต้ ,มหาสมุทรแปซิฟิก ,มหาสมุทรแอตแลนติก ,มหาสมุทรอินเดีย , ขั้วโลกเหนือ ,และบางส่วนของขั้วโลกใต้
.
สำหรับประเทศไทย ตรงกับคืนเดือนเพ็ญ และเป็นวันลอยกระทงของปีนี้ด้วย ดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลา 17:44 น. จึงไม่สามารถสังเกตช่วงแรกของการเกิดปรากฏการณ์ได้ และจะเริ่มเห็นได้ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงพอดี สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของประเทศไทย บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17:44 น. เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดคราสเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏเป็นสีแดงอิฐ จนถึงเวลา 18:41 น. รวมระยะเวลานาน 57 นาที
.
หลังจากนั้นจะเริ่มเห็นดวงจันทร์ปรากฏเว้าแหว่งบางส่วนและค่อย ๆ ออกจากเงามืดของโลก จนกระทั่งเข้าสู่เงามัวหมดทั้งดวงในเวลา 19:49 น. เปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัวที่สังเกตได้ยาก เนื่องจาก ความสว่างของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสุดท้ายดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 20:56 น. ถือว่าสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในครั้งนี้โดยสมบูรณ์
.
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง หรือช่วงขึ้น 14 – 15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ ผู้สังเกตบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปเรื่อย ๆ จนดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก
.
พิเศษกว่าเดิม ! คืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 สดร. จัดกิจกรรมสังเกตการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงคืนวันลอยกระทง พบกันได้ที่จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ,หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ,หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
.
เวลา 18:00 – 22:00 น. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 081-8854353
.
ข้อมูล :  NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ


ที่มา https://www.facebook.com/TV5HD1/posts/3284707685113796 
 

ศธ.ปรับ 5 รูปแบบ การเรียนรับเปิดเทอม

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินหน้าจัดกระบวนการเรียนการสอนใหม่ รองรับเปิดเทอม ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ พร้อมดึงเด็กนักเรียนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด
.
(29 ต.ค. 65) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในรายการคุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า...
.
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ส่งผลกระทบให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะระบบการศึกษา เนื่องจากต้องมีการปิดการเรียนการสอน รัฐบาลจึงหาแนวทางโดยจัดวัคซีนมาฉีดให้กับครูเป็นกลุ่มแรก เพื่อให้ทันต่อการเปิดภาคเรียน จากนั้นทยอยนำวัคซีนมาฉีดให้กับเด็ก จนปีการศึกษาที่ผ่านมาสามารถเปิดเรียนได้ถึง 100% 
.
พร้อมกันนี้ ทางกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้จัดกระบวนการเรียนการสอน 5 รูปแบบ เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนให้เหมาะสมแต่ละภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ การเรียนแบบ On- site, On-Line, On-Air, On-demand และ On-hand 
.
“ขอขอบคุณครูทุกคนที่ช่วยกันจัดกระบวนการเรียนการสอน ทำให้เด็กไม่ขาดกระบวนการเรียนรู้ รวมถึงจัดทำคลิปผ่านสื่อการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรมไว้ในแพลตฟอร์ม ‘ครูพร้อม’ เพื่อให้ครูและผู้ปกครองได้เข้าไปศึกษาและทำการสอนเด็ก”
.
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี ได้มีความเป็นห่วงจากผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงได้จัดสรรงบประมาณให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กับผู้ปกครองกว่า 2 หมื่นล้าน
.
“หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และมีการเปิดภาคเรียนแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ทำความตกลง MOU) ร่วมกับ 7 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง สำรวจเด็กหลุดจากระบบการศึกษา เพื่อนำเด็กนักเรียนดังกล่าว กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด ภายใต้โครงการนำน้องกลับมาเรียน” นางสาวตรีนุช กล่าว


ที่มา https://thestatestimes.com/post/2022102917 
 

เมื่อพื้นที่สถานีรถไฟใต้ดิน ถูกนำมาใช้เป็นฟาร์มผักกาด

หลายท่านอาจเคยใช้งานรถไฟใต้ดินกันมาบ้าง ย่อมมีความรู้สึกต่อการคมนาคมประเภทนี้แตกต่างกันไป แต่ไต้หวันกำลังจะผลักดันสถานีรถไฟใต้ดินไปอีกขั้น เมื่อมีการเปลี่ยนสถานีรถไฟให้กลายเป็นฟาร์มผักกาด
.
ปัจจุบันที่ดินถือเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดโดยเฉพาะในประเทศขนาดเล็ก หลายแห่งขาดแคลนพื้นที่ทำให้ที่ดินมีราคาสูงจนยากจะจับต้อง แนวทางการใช้งานจึงจำเป็นต้องดึงศักยภาพของที่ดินผืนนั้นออกมาให้ถึงขีดสุด เพื่อไม่ให้มูลค่าที่กำลังสูงขึ้นทุกวันนี้สูญเปล่า นั่นทำให้หลายประเทศเริ่มนำพื้นที่ในตัวเมืองมาใช้งานให้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อไต้หวันกำลังเปลี่ยนพื้นที่ในรถไฟใต้ดินให้กลายเป็นแปลงการเกษตร
.
สำหรับเมืองหรือมหานครขนาดใหญ่หนึ่งในสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือสถานีรถไฟใต้ดิน หลายประเทศรวมถึงไทยเองก็มีใช้งานในทุกวันนี้ โดยเฉพาะในเมืองที่ต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้คุ้มค่า แต่ล่าสุดไต้หวันกำลังจะก้าวล้ำไปอีกขั้น กับการเปลี่ยนพื้นที่ในสถานีรถไฟใต้ดินเป็นฟาร์มการเกษตร
.
แนวคิดนี้เกิดขึ้นในสถานี Nanjing Fuxing ของเมืองไทเป บริษัท Unimicron Technology ได้ทำการสร้างฟาร์มแนวตั้งจากเทคโนโลยีอันล้ำหน้า โดยการควบคุมความชื้น อุณหภูมิ และปริมาณแสงจากหลอด LED ก่อเกิดเป็นสวนผักกาดที่ไม่ต้องใช้ดิน ภายในสถานีรถไฟใต้ดินขนาด 40 ตารางเมตร
.
ข้อดีของฟาร์มนี้คือการควบคุมปัจจัยในการเพาะปลูกรอบด้าน ช่วยให้ผลผลิตเจริญงอกงามโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งยาฆ่าแมลงหรือสารกำจัดศัตรูพืช และด้วยการควบคุมเข้มงวดแม้แต่การคัดกรองด้านอากาศ จึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะมีไข่แมลงหรือสารพิษเข้ามาเจือปนผักที่เรารับประทานอีกต่อไป
.
ข้อดีอีกประการของฟาร์มแนวตั้งนี้คือ ไม่จำเป็นต้องใช้ดินเพื่อการเพาะปลูกให้พืชเจริญเติบโต อาศัยเพียงปุ๋ยและแร่ธาตุที่ต้องการมาละลายในน้ำสะอาดด้วยอัตราส่วนที่พอเหมาะ นอกจากเพื่อการเกษตรแล้ว ที่นี่จะถูกจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เด็กนักเรียนเข้ามาศึกษาเพิ่มเติมอีกด้วย
.
ถือเป็นแนวคิดในการสร้างฟาร์มรูปแบบใหม่เพื่อให้เข้ากับชุมชนเมือง รวมถึงเป็นการพัฒนาฟาร์มอัจฉริยะอีกด้วย แนวคิดฟาร์มแนวตั้ง หรือ ฟาร์มอัจฉริยะ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะไต้หวันที่เป็นดินแดนเกาะอาณาเขตไม่กว้างนัก มีทรัพยากรที่ดินเพียง 36,197 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่มีประชากรถึง 23.57 ล้านคน จึงเริ่มมีแนวคิดเพื่อพัฒนาที่ดินที่มีอยู่เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตให้มากขึ้น
.
ฟาร์มอัจฉริยะคือ การอาศัยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลต่อพืชผลทางการเกษตร โดยใช้ทรัพยากรที่ดินและแรงงานในปริมาณน้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเป็นการดึงดูดคนหนุ่มสาวให้กลับมาสนใจงานภาคการเกษตรมากขึ้น
.
โดยฟาร์มแนวตั้งในสถานีรถไฟใต้ดินนี้ สามารถสร้างผลผลิตผักกาดหอมได้ราว 36 กิโลกรัม/สัปดาห์ โดยปัจจุบันมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องเพื่อศึกษาและวิเคราะห์หาแนวทางเพิ่มผลผลิต อีกทั้งยังมีแนวคิดในการขยายพืชเพาะปลูกไปยังมะเขือเทศ พริกหยวก และบร็อคโคลี่ ที่ค่อนข้างให้ผลลัพธ์ที่ดีเมื่อมีการทดลองปลูกในแนวตั้ง
.
น่าเสียดายที่ในปัจจุบันปริมาณพืชที่สามารถปลูกได้ด้วยกรรมวิธีนี้มีจำกัดเพียงไม่กี่ชนิด พืชพันธุ์หลายประเภทไม่เหมาะสมในการปลูกด้วยกรรมวิธีแบบนี้นัก จากข้อจำกัดทั้งปริมาณสารอาหารและพื้นที่ ปัจจุบันการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นจึงอยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
.
แนวคิดฟาร์มแนวตั้ว/ฟาร์มอัจฉริยะทำไมจึงสำคัญ ?  แน่นอนคำตอบแรกจากข้อจำกัดด้านพื้นที่โดยเฉพาะดินแดนที่มีพื้นที่จำกัดไม่สอดคล้องต่อประชากร เมื่อไม่สามารถขยายพื้นที่เพาะปลูกอาหารออกไปได้นี่จึงเป็นแนวทางที่จำเป็น แต่หลายประเทศที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่เองก็ให้ความสนใจ และพัฒนาฟาร์มอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารจนหลายท่านอาจสงสัยว่าทำไม ? 
.
สาเหตุมาจากสถานการณ์ของโลกและมนุษยชาติที่กำลังเดินหน้ามุ่งตรงเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาหารอย่างชัดเจน
.
ดังที่เราทราบกันว่าประชากรโลกทุกวันนี้แม้หลายประเทศจะประสบปัญหาเด็กเกิดใหม่ แต่เมื่อมองในภาพรวมประชากรทั่วโลกทวีจำนวนขึ้นทุกวัน โดยปัจจุบันโลกมีประชากรราว 7 พันล้านคน คาดว่าในปี 2050 ประชากรโลกอาจถึง 9 พันล้านราย ซึ่งจะทำให้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารยิ่งร้ายแรง
.
สำหรับประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารเพียงพออาจไม่เดือดร้อน แต่หลายประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกไม่เพียงพอเริ่มมองเห็นปัญหา การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตทางอาหารและการสร้างฟาร์มอัจฉริยะทั้งหลายจึงเกิดขึ้น เพื่อรองรับความต้องการด้านอาหารในอนาคต
.
อีกทั้งปัจจุบันข้อมูลจากสหประชาชาติประเมินว่า ผืนดินกว่า 40% ทั่วโลกอยู่ในภาวะทรุดโทรม ไม่สามารถนำมาใช้เพาะปลูกอย่างได้ผล จากผลของกิจกรรมมากมายของมนุษย์ทั้งการทำฟาร์ม, สร้างเขื่อน, สร้างที่อยู่อาศัย, ทำเหมือง ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ลดพื้นที่ผลิตอาหารซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต
.
นอกจากที่ดินเสื่อมโทรมและจำนวนประชากรแล้วยังมีเหตุไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งสภาพอากาศแปรปรวนส่งผลให้ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นทุกปี ภัยพิบัติในอนาคตที่อาจส่งผลเป็นวงกว้าง หรือแม้แต่สงครามซึ่งอาจทำลายพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรจนอาจกลายเป็นความเสี่ยงได้เช่นกัน
.
ฟาร์มอัจฉริยะ หรือ ฟาร์มแนวตั้ง จึงอาจเป็นทางออกของปัญหาเพื่อให้เราใช้ทุกตารางนิ้วอย่างคุ้มค่า
.
หลายท่านอาจรู้สึกว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องไกลตัว ฟาร์มอัจฉริยะอาจไม่มีประโยชน์ต่อประเทศที่ไม่ขาดแคลนอาหารมากนัก แต่อย่างน้อยการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรให้ก้าวหน้า ก็ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตให้สูงขึ้น ถือเป็นหัวใจสำคัญที่บรรดาเกษตรกรต้องการเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตและกำไรให้กับภาคการเกษตร
.
ดังนั้นการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีนี้จึงไม่มีทางเป็นเรื่องสูญเปล่าและควรเกิดขึ้นในทุกประเทศบนโลก


ที่มา https://www.posttoday.com/post-next/innovation/2063 
 

โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน”สะกดทัพ” กับเบื้องหลัง ฉาก-ประติมากรรม สุดอัศจรรย์

การสร้างฉากและประติมากรรมประกอบการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ  ตอน”สะกดทัพ” ปีนี้ ได้พัฒนาให้อลังการมากขึ้น   นอกจากมีส่วนสำคัญยิ่งกับการแสดงโขนและช่วยให้คนดูมีความรู้สึกและจินตนาการไปกับเรื่องราว  ยังมีส่วนสำคัญในการสืบสานงานศิลปกรรมช่างไทยทุกแขนงด้วย
.
ก่อนการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จะโลดแล่นบนเวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยปลายเดือนตุลาคมนี้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชวนชมห้องปฏิบัติงานสร้างฉากโขนสะกดทัพ  ณ อาคารเรียน-รู้-เรื่อง-โขน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยาโดยมีอาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการสร้างประติมากรรม และเครื่องประกอบฉาก พาชมเบื้องหลังการจัดสร้างประติมากรรมยักษ์หนุมานแปลงกายสุดยิ่งใหญ่ ที่เหล่าช่างฝีมือมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กว่า 50 ชีวิต  จัดทำด้วยความมุ่งมั่น  รวมถึงงานจิตรกรรมฉากที่ทีมเพาะช่างเกือบ 20 คน บรรจงรังสรรค์ ภายใต้การนำทีมของอาจารย์วิชัย รักชาติ ผู้ดูแลการเขียนฉาก
.
อาจารย์สุดสาคร ชายเสม   กล่าวว่า การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน”สะกดทัพ” มีความคืบหน้างานฉากและประติมากรรมประกอบการแสดงโขน 95%  มีฉากไฮไลท์ที่แตกต่างจากเดิม เนื่องจากเป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ได้แก่ ฉากหนุมานแผลงฤทธิ์ แปลงร่างใหญ่ยักษ์ 4 พักตร์ 8 กร สูงเทียมฟ้า ประติมากรรมหนุมานแปลงกายอ้างอิงมาจากภาพจิตรกรรมวัดพระแก้วและภาพหนุมานแปลงกายจากตู้พระธรรมโบราณสมัยอยุธยา  พร้อมมีเทคนิคพิเศษในการออกแบบกลไกให้เคลื่อนไหวได้เพื่อให้เป็นไปตามบทพระราชนิพนธ์  ที่หนุมานใช้มือจับแมลงภู่ในหุบเขาไร้รักแล้วขยี้จนตาย ไมยราพที่ฝากดวงใจไว้ในแมลงภู่ก็ขาดใจตายในที่สุดจากนั้นหนุมานช่วยพระรามที่ถูกขังไว้ในดงตาล เข้าสู่ฉากสุดท้ายเหล่าเทพมาชุมนุมยินดี
.
“เหตุที่เลือกฉากจบ ตอน”สะกดทัพ” ตามบทพระราชนิพนธ์ร.1 เพราะมีความพิเศษตอนที่หนุมานใช้มือขยี้แมลงภู่ ห้ามกระพริบตา  นอกจากนี้ ยังได้โชว์หนุมานขนาดใหญ่สูงถึง 7.50 เมตร  ถือเป็นประติมากรรมหนุมานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา ยิ่งกว่านั้นเด็กๆ ชอบฉากหนุมานมาก” อาจารย์สุดสาคร ย้ำไฮไลท์
.
นอกจากนี้ อาจารย์สุดสาครเผยมีฉากที่เคยสร้างความประทับใจอย่าง ฉากหนุมานอมพลับพลา ขนาดใหญ่ สูง 8.50 เมตร ซึ่งนำโครงสร้างเดิมนำกลับซ่อมบำรุงปรับปรุงใหม่ให้อลังการและมีความคงทนถาวรมากขึ้น เพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้ง ฉากกึ่งถาวรนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้งานศิลปกรรมฉากให้กับคนรุ่นหลัง ซึ่งตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระพันปีหลวงสัมฤทธิ์แล้วในการฟื้นฟูโขน ฟื้นฟูศิลปะราชสำนัก ตระกูลช่างหลวง ชาติไทยเรารักษาเก่ง เป็นสิ่งที่เราประสบความสำเร็จ สมเด็จพระพันปีหลวงพระวิสัยทัศน์กว้างไกล
.
“ การสร้างสรรค์งานฉากและประติมากรรมประกอบการแสดงโขนเป็นความตั้งใจถวายพระเกียรติพระองค์ท่าน  งานฉากทั้งรูปแบบและความงดงามเป็นตัวเล่าเรื่องและขยายจินตนาการของผู้ชมที่เคยฝันไว้ในบทพระราชนิพนธ์ออกมาเป็นจริง  ช่วยขยายความท่าร่ายรำตัวละครโขนอยู่ในเหตุการณ์อะไร  สร้างรสนิยมให้ผู้ชมในการชมศิลปะการแสดงในราชสำนักชั้นสูง เพิ่มอรรถรส และความตื่นเต้นให้กับคนดู  เช่น ฉากเขาชนกัน ซึ่งหนุมานต้องฝ่าด่านภูเขาไฟที่ร้อนระอุ นอกจากงานฉาก ยังมีเทคนิคแสง สี เสียง ทำงานร่วมกัน โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดแล้ว อยากให้คนไทยได้มาชมพระอัจฉริยะภาพของสมเด็จพระพันปีหลวง รวมถึงมาให้กำลังให้คนทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง  “ อาจารย์สุดสาคร กล่าว
.
การสร้างฉากที่จะดึงดูดสายตาผู้ชมโขน ตอน”สะกดทัพ” อาจารย์สุดสาคร เล่าว่า  ฉากออกแบบและเขียนใหม่เกือบทั้งหมดระดมช่างฝีมือดีมาช่วยกันสร้างสรรค์ฉากให้สวยสมบูรณ์แบบ โดยมีฉากใหญ่ 4 ฉาก เช่น ฉากเขาชนกัน ฉากป่าตาล ฉากป่าทึบ ฉากม่านพระ และฉากขา ซึ่งเป็นฉากย่อย
.
ความพิเศษเป็นฉากม่านพระจัดทำขึ้นใหม่แทนฉากเดิมที่ทอด้วยพรมของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต  ซึ่งชำรุดเสียหายไปหมดแล้ว โดยฉากม่านพระใช้ผ้าทอไร้รอยต่อจากประเทศจีน สูง 12 เมตร ยาว 20 เมตร ออกแบบภายใต้แนวคิดการจัดงานพิธีที่ต้องอัญเชิญพระพุทธเจ้า และทวยเทพทุกพระองค์  อาทิ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระภรตมุนี พระพิฆเนศวร พระวิษณุกรรม พระประโคนธรรพ พระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นต้น  นับเป็นฉากที่ต้องใช้ความปราณีตในการจัดทำ มีความยาก วาดด้วยลายรดน้ำสีทองบนพื้นสีดำ ใช้เวลาทำเพียง 1 สัปดาห์ นับเป็นอีกความอัศจรรย์ของงาน และเป็นความสิริมงคลกับผู้ชม
.
“ ฉากออกแบบให้มีความประสานกับนาฏศิลป์โขนละครที่จะแสดง รวมถึงได้แรงบันดาลใจจากจิตรกรรมฝาผนังชั้นครู เพื่อให้คนไทยเห็นคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมที่ครูบาอาจารย์สั่งสมงานศิลปกรรมให้กับลูกศิษย์ได้ใช้สร้างงานจนทุกวันนี้ ซึ่งงานเขียนฉากทีมศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ รับผิดชอบทุกปี  ตนมีแนวคิดจัดทำหนังสือกว่าจะเป็นการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ในอนาคต “ อาจารย์สุดสาคร กล่าว
.
ความวิจิตรบนเวทีนอกจากฉากและประติมากรรม ยังมีความวิจิตรเครื่องโขนที่เตรียมสะกดทุกสายตา ทั้งพัสตราภรณ์ เครื่องแต่งกายโขน และถนิมพิมพาภรณ์ เครื่องประดับตกแต่ง ซึ่งจัดทำโดยช่างฝีมือรุ่นใหม่ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่มีทักษะฝีมือและความเชี่ยวชาญมากว่า 10 ปี ครั้งนี้ มีการสร้างเครื่องแต่งกายของไมยราพและตัวโขนอื่นๆเพิ่มอีกกว่า 100 ชุด เพื่อให้พัสตราภรณ์งดงามสมการรอคอยโขนมากว่า 3 ปี  

สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน”สะกดทัพ” กำหนดจัดแสดงวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 5 ธันวาคม 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จฯ มาทอดพระเนตรการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในวันที่ 28 ต.ค.นี้


ที่มา https://www.thaipost.net/news-update/245213/ 
 

"ม.วลัยลักษณ์" ได้รับการจัดอันดับโลกครั้งแรก จาก World University Rankings โดย Times Higher Education

เมื่อเร็วๆนี้ Times Higher Education ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก World University Rankings 2023 ผ่านเว็บไซต์ https://www.timeshighereducation.com ผลปรากฏว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับการจัดอันดับโลกแล้ว โดยจัดให้อยู่ในอันดับที่ 1501+ ของโลก จากมหาวิทยาลัยทั้งหมด 26,000 แห่งทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศไทย จากมหาวิทยาลัย 18 แห่งที่ผ่านเงื่อนไขและได้รับการจัดอันดับในปีนี้
.
โดยก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เคยได้รับการจัดอันดับจาก THE Impact Ranking ปี 2021 อยู่ในอันดับที่ 600-800 ของโลก อันดับที่ 15 ของไทย ได้รับการจัดอันดับจาก QS Asia University Rankings อันดับที่ 19 ของไทย และได้รับการจัดอันดับจาก SCImago อยู่ในอันดับที่ 422 ของโลก อันดับที่ 9 ของไทย
.
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์  รักษาการแทนอธิการบดีม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ม.วลัยลักษณ์ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยแนวหน้าของโลก(Frontier Research University) ตามนโยบายของกระทรวงอว. ม.วลัยลักษณ์ได้พัฒนาผลงานวิจัยให้มีคุณภาพ คณาจารย์ทุกคนได้ร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยอย่างเข้มข้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีจำนวนผลงานวิจัยมากขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยปีล่าสุดมีมากกว่า 700 บทความ
.
ที่สำคัญผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Scopus Q1,Q2 กว่า 82% อยู่ในอันดับ 3 ของประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของอาจารย์ผู้สอน และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตผลงานวิจัยของเราจะมีจำนวนมากขึ้น มีคุณภาพสูงขึ้น การอ้างอิงก็จะมีจำนวนสูงขึ้นตามไปด้วย
.
“ม.วลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับโลก World University Rankings จาก Times Higher Education เป็นครั้งแรก ถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจร่วมกันพวกเราชาววลัยลักษณ์ ที่ได้ร่วมกันทำงานกันอย่างหนัก มุ่งมั่นตั้งใจจนประสบผลสำเร็จมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับสากล อย่างไรก็ตามเรายังคงมุ่งมั่นเพื่อก้าวต่อไป วันนี้มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับโลกแล้ว หากผลงานวิจัยของเรามีจำนวนมากขึ้นเชื่อมั่นว่าอันดับโลกจะขยับดีขึ้นต่อไป”ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว


ที่มา https://www.komchadluek.net/news/education/533906 
 

'สภาวะล่องลอย' อีกหนึ่งภัยเงียบจาก 'การติดมือถือ' ของคน GENZ

ทุกวันนี้หลายคนคงคุ้นเคยกับ 'โนโมโฟเบีย' (No mobile phone phobia) หรือโรคกลัวการขาดโทรศัพท์มือถือ ที่สะท้อนผ่านความกระวนกระวาย เครียด หงุดหงิด มีอาการคลื่นไส้และเหงื่อออกตามร่างกาย อาการของเเต่ละคนที่เป็นโรคขึ้นอยู่กับระดับการติดโทรศัพท์มือถือของเเต่ละบุคคลว่าจะแสดงอาการออกมามากน้อยแตกต่างกัน
.
แต่อาการที่ว่านั้น ดูเล็กไปเลย เมื่อเทียบกับสภาวะใหม่ของคนติดมือถือยุคนี้ที่กำลังเผชิญอยู่แบบไม่รู้ตัว โดยเรื่องนี้ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...
.
ไม่นานมานี้ การวิจัยที่อิตาลีได้ค้นพบว่า อาการ 'ติดมือถือ' ก่อให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า Flow Experience หรือ อาการล่องลอยหมกมุ่นอยู่กับการทำอะไรบางอย่างจนลืมเวลา ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์แบบยับยั้งตัวเองไม่ได้ 
.
โดยการทดลองนี้ทำกับกลุ่ม Gen Z แต่ก็น่าเชื่อได้ว่าคนเจนอื่นก็อาจจะมีผลคล้าย ๆ กัน แต่ผู้ใหญ่ที่มีงานและภารกิจอื่น หรือมีวุฒิภาวะและความยับยั้งชั่งใจมากกว่า อาจมีโอกาสน้อยลงกว่า Gen Z
.
ผู้วิจัยสรุปว่า คนที่ใช้มือถือในทางไม่สร้างสรรค์ จะใช้มือถือเพื่อควบคุมความรู้สึกทางลบของตัวเอง (เช่น ความเบื่อ หรือหาความสนุกเพลิดเพลิน ตื่นเต้น) เพื่อนำไปสู่สภาวะล่องลอย และเชื่อมต่อไปยังพฤติกรรมช็อปแหลกแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว (และนักการตลาดสมัยนี้ก็สรรหาสิ่งจูงใจมาล่อหลอกตลอดเวลาเสียด้วย) 
.
ส่วนตัวเชื่อว่า ถ้ามาวิจัยกับคนไทย น่าจะได้ผลที่สูงยิ่งกว่าอิตาลี (เพราะคนไทยใช้มือถือและช็อปออนไลน์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก)


ที่มา https://thestatestimes.com/post/2022102607 
 

"เหลืองปิยะรัตน์" พืชชนิดใหม่ของโลก ค้นพบโดยนักวิจัย มช.

นักวิจัย "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก “เหลืองปิยะรัตน” ที่ จ.นราธิวาส พืชหายากในวงศ์กระดังงา ดอกสวยงามและมีกลิ่นหอม แต่หายากและเสี่ยงสูญพันธุ์ วางแผนวิจัยต่อด้านเภสัชเวทและเภสัชวิทยาเพื่อเป็นพืชสมุนไพรรักษาโรค
.
หลังจากค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลมหาพรหม ซึ่งได้รับพระราชทานนาม “พรหมจุฬาภรณ์” เมื่อปี 2562 ล่าสุด นักวิจัยสังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู และนักศึกษาระดับปริญญาเอก ได้แก่ นางสาวฉัตรธิดา วิยา (สาขาวิชาชีววิทยา) และนางสาวอานิสรา ดำทองดี (สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์) พร้อมทั้งนายนายกิติศักดิ์ อ๋องย่อง และนายอับดุลรอแม บากา นักวิจัยอิสระ
.
ได้ร่วมกันศึกษาตัวอย่างพืชจากอำเภอจะแนะ และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โดยบูรณาการข้อมูลสัณฐานวิทยาและวิวัฒนาการชาติพันธุ์เชิงโมเลกุลเข้าด้วยกัน พบว่า เป็น พืชชนิดใหม่ของโลก ในวงศ์กระดังงา (Annonaceae) จำนวน 1 ชนิด คือ เหลืองปิยะรัตน์
.
เหลืองปิยะรัตน์ มีชื่อวิทยาศาสตรว่า Phaeanthuspiyae Wiya, Aongyong & Chaowasku โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นักวิจัยอาวุโสผู้ริเริ่มการศึกษาพืชวงศ์กระดังงาในประเทศไทย และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Taiwania ปีที่ 66 ฉบับที่ 4 หน้าที่ 509-516 พ.ศ. 2564
.
โดยงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยอนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงาในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
.
เหลืองปิยะรัตน์ มีลักษณะเด่น คือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 3 เมตร มีก้านดอกยาว กลีบดอกชั้นนอกมีขนาดเล็กคล้ายกลีบเลี้ยง กลีบดอกชั้นในเมื่อเจริญเต็มที่จะมีสีเหลืองเข้ม ที่โคนกลีบมีสีม่วงอมน้ำตาล ดอกมีกลิ่นหอม ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยมีเมล็ดเดียว เมื่อสุกสีแดงสด
.
จากการสำรวจพบเหลืองปิยะรัตน์เพียงไม่กี่ต้นในหย่อมป่าดิบชื้นที่ถูกรบกวน ซึ่งรายล้อมไปด้วยสวนยางและสวนผลไม้ สุ่มเสี่ยงที่จะถูกแผ้วถางจนสูญพันธุ์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ก่อนที่จะไม่เหลือให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชมและศึกษา
.
นอกจากเหลืองปิยะรัตน์แล้ว ในประเทศไทยยังพบพืชสกุล Phaeanthus อีก 1 ชนิด คือ หัวลิง ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phaeanthus Iucidus Oliv. โดยพบที่จังหวัดนราธิวาสและยะลา
.
“เหลืองปิยะรัตน์มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวยงามและมีกลิ่นหอม นอกจากนี้พบว่าผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้พืชสกุล Phaeanthus ชนิดอื่น ๆ เป็นพืชสมุนไพรรักษาโรคตา ดังนั้นอาจพัฒนาเหลืองปิยะรัตน์เป็นพืชสมุนไพรได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมทางด้านเภสัชเวทและเภสัชวิทยาต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/health/education/1033980 
 

ไปวิจัยที่ “จีน” ดีกว่า เมื่อทุน “ญี่ปุ่น” ช้าเหลือเกิน

ญี่ปุ่นใช้เงินทุนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘ไม่ส่งเสริม’ ให้นักวิจัยหนุ่มสาวอยากทำงานในประเทศ
.
หนังสือพิมพ์ ‘อาซาฮี ชิมบุน’ ของญี่ปุ่น เผยแพร่รายงานล่าสุดที่ระบุว่า นักวิชาการวัยหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นกำลังเลือกย้ายมาทำการวิจัยที่มหาวิทยาลัยของจีน เพื่อโอกาสทางอาชีพที่ก้าวหน้ากว่า
.
หนังสือพิมพ์ยกกรณี นายโมโตยูกิ ฮัตโตริ นักวิชาการหนุ่ม เลือกเดินทางออกจากญี่ปุ่นเมื่อ 7 ปีก่อน เพื่อรับตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น นครเซี่ยงไฮ้ ตะวันออกของจีน
.
ฮัตโตริ ปัจจุบันอายุ 40 ปี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างและหน้าที่ของตัวลำเลียงสารผ่านเข้าออกเซลล์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเมื่อ 7 ปีก่อน เขาต้องการตั้งห้องปฏิบัติการของตัวเองให้เร็วที่สุด แต่กระบวนการนี้ในญี่ปุ่นใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี เขาจึงตัดสินใจย้ายมาจีน
.
สาเหตุข้อหนึ่งคือ ญี่ปุ่นใช้ระบบเงินทุนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ส่งเสริมให้นักวิจัยหนุ่มสาวอยากทำงานในประเทศ ขณะที่ภูมิทัศน์ทางวิชาการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในจีน ทำให้นักวิชาการหนุ่มสาวญี่ปุ่นคิดตัดสินใจมาจีนได้เร็วขึ้น
.
ฮัตโตริบอกว่า สิ่งสำคัญสำหรับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์คือการมีนักวิชาการจำนวนมากในหลากหลายด้าน รัฐบาลจีนสนับสนุนมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานทางวิชาการ เรื่องนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ที่นี่ (จีน) มีประสิทธิภาพกว่า
.
ภาพและข้อมูล จาก...Xinhua | Young Japanese scholars are moving to China for better opportunities: Asahi Shimbun | https://english.news.cn/.../e3c43d0cb8364fc3b33b3a.../c.html 


ที่มา https://www.facebook.com/ChinaReportAseanThailand/posts/533252322142900 
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STUDY TIMES
Take Me Top