THAMMASAT METAVERSE CAMPUS “วิทยาเขต” แห่งใหม่ในโลกเสมือน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท แบรนด์เวิร์ส จำกัด เปิดตัว T-Verse: Thailand Multiverse Bridge Platform แห่งแรกของไทย
.
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ สถาบันการศึกษา รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 52 องค์กรในครั้งนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโลกอย่าง “เมตาเวิร์ส” มาพัฒนา เพื่อสร้างแพลทฟอร์มของการเชื่อมต่อ การทำธุรกิจ การศึกษา ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ บนจักรวาลของ T-Verse ซึ่งจะสนับสนุนให้ประเทศมีการพัฒนาก้าวล้ำหน้า พร้อม ๆ ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
.
“Thammasat Metaverse Campus” ที่จะให้บริการทางการศึกษาแก่ผู้คนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกบนแพลทฟอร์ม T-Verse ซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ งานวิจัย รวมทั้งนวัตกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะเข้ามาร่วมกันสร้างแพลทฟอร์มแห่งนี้ เพื่อที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในการพัฒนาศักยภาพของทุกคน โดยตอบโจทย์ 4 ด้านคือ
1. Immersive Learning Classrooms ที่จะยกระดับประสบการณ์การเรียนการสอนรูปแบบใหม่
เราได้เห็นข้อจำกัดจากการขาดปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในการเรียนออนไลน์ หรือแม้แต่การเรียนออนไซต์แบบเดิมก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ในวิชาการแพทย์ จำนวนอาจารย์ใหญ่ที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการศึกษาก็ลดลงอย่างน่าใจหาย เป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนแต่เมตาเวิร์สจะนำนักศึกษาเข้าเรียนในโลกเสมือนจริง สามารถฝึกฝนกับร่างจำลอง ได้เรียนรู้ทักษะมากกว่าการอ่านจากหนังสือ หรือการเรียนในด้านสังคม มนุษยศาสตร์ เราก็สามารถเข้าไปทดลองทำ Social Experiment ได้โดยไม่กระทบกับผู้คนอื่น
.
2. VR Museum of History, Culture and Democracy นอกจากการเรียนวิชาการแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมุ่งเน้นการเรียนการสอนนอกห้องเรียน โดยจะเปิดพื้นที่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประชาธิปไตยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีมาอย่างยาวนาน ให้ทุกคนสามารถย้อนเวลาผ่านยุคสมัยเพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์ได้มากกว่าการท่องจำ และเข้าใจบริบทต่าง ๆ จากประสบการณ์ที่ได้รับบนเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง หรือ Virtual Reality (VR) Technology
.
3. Next Generation Omnichannel Marketplace จากการทำงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ร่วมสนับสนุนและมีโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนต่าง ๆ มาเป็นเวลาหลายปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะนำพาธุรกิจเหล่านี้สู่ขั้นถัดไป ด้วยการเพิ่มช่องทางการขายบนโลกเสมือนจริงแบบไร้รอยต่อ โดยผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ผ้าซิ่น อาจนำมาขายได้ในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล (NFT) เพื่อเป็นชุดมาสวมใส่อวตารของผู้ใช้งาน ขณะที่ตัวผลิตภัณฑ์จริงก็จะถูกส่งไปที่บ้านของผู้ซื้อสินค้าได้ เป็นต้น
.
4. 88 Sandbox Spaces เป็นการต่อยอด 88 Sandbox ที่เป็นโครงการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพให้เป็น Next Unicorn ของประเทศ โดยภายใน Thammasat Metaverse Campus ผู้เข้าร่วมจะสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับบรรดาที่ปรึกษา (Mentor) นักลงทุน (Venture Capitalist) และระหว่างสตาร์ทอัพกันเอง โดยจะมีพื้นที่สำหรับการขายงาน (Pitching) การประชุม ตลอดจนการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกันระหว่างสตาร์ทอัพ และ Mentor
สำหรับแพลทฟอร์ม T-Verse จะเป็นระบบเมตาเวิร์สพื้นฐานของประเทศไทยแห่งแรก ที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาใช้งานและออกแบบเมตาเวิร์สที่ต้องการให้เป็น ขณะเดียวกันผู้ใช้งานยังสามารถข้ามไปมาระหว่างเมตาเวิร์สแต่ละแห่งได้ โดยใน T-Verse จะประกอบด้วยวงแวนจำนวน 13 วง พร้อมกับดาวทั้งหมด 985 ดวง และข้อดีคือข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บอยู่ภายใต้เมตาเวิร์สของตนเอง ส่วนผู้คนที่เข้ามาใช้ชีวิตในโลก T-Verse จะสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ช็อปปิ้ง เรียน หรือแม้แต่เข้ามาทำงานก็ได้เช่นเดียวกัน
ที่มา:https://tu.ac.th/thammasat-020365-thammasat-metaverse-campus-tverse
